• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขนมเด็ก

ขนมเด็ก โฆษณา ปัญหาสุขภาพ และพฤติกรรมการเลี้ยงดู

ล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ทั้งทางตรงและทางอ้อม การมอง "เด็ก" คือจุดขายสินค้าของผู้ผลิต นักการตลาดและนักทำโฆษณา ทำให้ "เด็ก" ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง...บางรายอ้วนตกเกณฑ์และเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ และรอวันตาย...
 

บางรายผอมตกเกณฑ์ ขาดสารอาหารระยะที่ 2 สภาพน้องๆ เด็กเอธิโอเปีย คือมีร่างกายที่ผอมโซพุงโร
ก้นปอด ซี่โครงบาน เวลาเดินไปไหนจะมีแร้งคอยบินตาม ถ้าล้มลงเมื่อไรแร้งจะเข้ามาจิกเนื้อกินเมื่อนั้น
ซึ่งแร้งไม่รู้หรอกว่าเด็กขาดสารอาหารเนื้อกินไม่อร่อย บางรายอายุน้อยกว่า 8 ขวบ แต่ใช้จ่ายเงินหมดไปกับค่าขนม (อาหารขยะ) เฉลี่ยวันละ 100 บาท ซึ่งยังไม่รวมถึงค่ารักษาพยาบาล และความสูญเสียที่เกิดจากการขาดงานของพ่อแม่ผู้ปกครอง
 

เหล่านี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคการค้าเสรี มีแต่โลกาภิวัตน์ทั่วไปหมด "หมอชาวบ้าน" ตระหนักถึงพัฒนาการของเด็กที่เป็นกำลังของชาติ และต้องการให้ลูกหลานของคนผลิตงานโฆษณา ญาติพี่น้องของนายทุนผลิตขนมเด็ก เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ มีพัฒนาการทั้งกาย ใจ และสังคมที่ดี รวมทั้งมีความสุขด้วย
 

"ขนมเด็ก" ฉบับนี้ได้รับความรู้และข้อมูลจาก นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี และรองศาสตราจารย์ ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล ที่ห่วงใยเด็กไทยอนาคตของชาติ


ขนมกับสุขภาพเด็ก

ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว ความรู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่เองก็นับขนมเป็นอาหารว่างชนิดหนึ่ง มีคำว่าอาหารหลัก ก็มีคำว่าอาหารว่าง
 

อาหารหลัก ก็ต้องตั้งหลักให้ดี อาหารหลักก็คืออาหารครบ 5 หมู่ และ 3 มื้อ ขณะนี้อาหารว่างในความหมายของมันก็คือ นอกเหนือจากอาหารหลักครบ 5 หมู่ 3 มื้อนี้แล้ว  ยังมีอาหารว่างเข้ามาชดเชยในบางจังหวะ เช่น ถ้าเป็นการเจริญเติบโตในเด็กแล้ว เด็กจะมีการใช้พลังงาน เช่น บางครั้งไปวิ่ง บางครั้งไปเล่น มีความจำเป็นที่จะต้องมีอาหารว่างต่างๆ เหล่านี้เข้าไปเสริมชดเชยพลังงานที่สูญเสียไปอย่างรวดเร็ว หลังการออกกำลังกาย เพราะอาหารว่างที่ดีที่สุดโดยคำนิยามของมันก็คือ ผลไม้

ผลไม้จึงนับเป็นอาหารว่างที่ดีที่สุด ในความเป็นจริง อาหารว่างที่เป็นผลไม้ปัจจุบันนี้ถูกละเลยไป กินก็ยาก เคี้ยวก็ยาก หาซื้อก็จะลำบาก เก็บรักษาก็ลำบาก ในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกประโคมไว้ในรูปของขนมต่างๆ แทน เพราะฉะนั้นขนมก็กลายมาเป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งในยุคโลกาภิวัตน์จริงๆ แล้วขนมมีมาแต่ดั้งเดิมในวิถีชีวิตไทยๆ  ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมี แต่ขนมที่เรียกว่าวิถีชีวิตไทยๆ มีประโยชน์ต่างกันมาก
ขนมวิถีชีวิตไทยๆ เช่น พอถึงเทศกาล ถึงวาระต่างๆ ก็จะมีการทำขนมกันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง กระยาสารท ข้าวต้มมัด (ข้าวต้มผัด) ฟักทองแกงบวด แกงบวชชี จะมีตัวขนมเป็นลักษณะที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตไทยแบบเดิมๆ
 

ถ้าดูโฆษณาบางชิ้นจะพบว่า วิถีชีวิตไทยเดิมๆ จะมีการรวมกลุ่มกันระหว่างหมู่บ้าน พอถึงเทศกาลงานบุญวาระต่างๆ ก็จะมีบ้านนั้นบ้านนี้มารวมตัวกันที่บ้านศูนย์กลาง และช่วยกันทำความสมัครสมาน  สามัคคีหรือว่าการสร้างพฤติกรรมอารมณ์ให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะเกิดขึ้นในวิถีชีวิตไทยๆ แบบนี้ และเมื่อสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาก็จะทำไปตามวาระและเทศกาลตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้าว่าไปแล้ว ขนม ไม่ใช่เพิ่งจะมีมา แต่มีมานานแล้ว และขนมในวิถีไทยเดิมจะออกมาในรูปของขนมที่มีประโยชน์
 

ยกตัวอย่างเช่น ข้าวต้มมัด 1 ชิ้น มีข้าวเหนียว มีกล้วย มีถั่วดำ จริงอยู่อาจจะมีความหวานอยู่ในตัวมันเองบ้าง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ออกมาจะเป็นโมเลกุลเชิงซ้อน โมเลกุลเชิงซ้อนในลักษณะที่พูดถึงอยู่นี่คือ เมื่อร่างกายกินหรือรับเข้าไปแล้วจะต้องผ่านกระบวนการย่อยสลาย คือต้องมีการย่อยสลาย แล้วถึงจะนำเอาไปใช้ประโยชน์ ถ้าเป็นน้ำตาลที่อยู่ในตัวกล้วย เองก็จะต้องเข้าไปสู่กระบวนการย่อยสลายที่กระเพาะและลำไส้ แตกตัวออกมาเป็นโมเลกุลเล็กแล้วถึงจะดูดซึมเข้าไป เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้มันจะใช้เวลา มันจะไม่เหมือนกับในสิ่งซึ่งปัจจุบันที่มีการเติมน้ำตาลเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นความมันที่เพิ่มเติมเข้าไปแล้วออกมาในรูปของโมเลกุลเชิงเดี่ยว คือพลังงานที่กินเข้าไปสามารถดูดซึมได้เลย อาจจะไม่จำเป็นต้องย่อยมากมายเท่าใดนัก นั่นคือขนมในวิถีชีวิตตรงนั้น
 

อาหารว่าง ในความหมายที่ดีที่สุดก็คือ ผลไม้สด ถ้าเป็นผลไม้ที่แปรรูปออกมาในลักษณะของการเชื่อมบ้าง ดองบ้าง อย่างนั้นไม่ถือว่าเป็นอาหารว่างที่ดี เราย้อนกลับมาดูขนมเด็กในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร
มีข้อมูลที่รวบรวมไว้แล้วว่าขนมเด็กๆ แบ่งออกได้ประมาณ 4-5 ประเภทใหญ่ๆ
 
1.ขนมธรรมดาที่ไม่เคลือบน้ำตาล เช่น ขนมปังแครกเกอร์ มันฝรั่งทอดรสธรรมดา หรืออาจจะเป็นขนมปังแป้งสาลีอบบ้าง หรือกรอบบ้าง แต่ไม่ได้เคลือบ

2.ขนมกรอบเคลือบน้ำตาล และอาจจะบวกด้วยรสชาติต่างๆ เช่น ช็อกโกแลตเคลือบน้ำตาล  กลุ่มของที่เป็นคุกกี้ หรืออาจ จะเป็นในรูปของเวเฟอร์ต่างๆ เหลานี้ก็จะจัดอยูในกลุมนี้

3.ลูกอมน้ำตาล หรือขนมเหนียวติดฟัน ไม่ว่าจะเป็นหมากฝรั่ง ลูกอมชนิดต่างๆ อาจจะเป็นเยลลี หรืออาจจะเป็นลูกอมช็อกโกแลต

4.ขนมโปรตีนอบแห้ง จำพวกปลาหมึกอบแห้ง หรืออาจจะเป็นเมล็ดธัญพืช เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโม หรือเมล็ดอะไรต่างๆ เหล่านี้

5.ขนมไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นขนมชั้น ขนมหม้อแกง ข้าวต้มมัด เผือกกวน
 

ถ้าจะวิเคราะห์ขนมกับเด็กๆ ออกมา ก็จะจัดได้อยู่ประมาณ 4-5 ประเภทนี้ และถ้ามองดูรายละเอียดเองจะพบว่าประเภทที่เคลือบน้ำตาล หรือประเภทที่เหนียวติดฟัน เป็นประเภทที่ต้องบอกเลยว่าจะได้รับน้ำตาลค้อนข้างมาก แล้วส่งผลทำให้เป็นโรคภัยต่างๆ มากมาย ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ก็คือว่า ทอฟฟี่ 1 เม็ดจะมีน้ำตาลประมาณ 1 ช้อนชา เค้ก 1 ชิ้นจะมีน้ำตาลประมาณ 6 ช้อนชา ขนมหม้อแกง 1 ชิ้นจะมีน้ำตาล 5 ช้อนชา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะมีความหวานของมันอยู่ในตัวของมันเองด้วย ในทั้ง 5ประเภทนี้ก็บอกได้เลยว่าขนมที่มีลักษณะเหนียวติดฟัน และขนมที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบเป็นหลักถือว่าเป็นขนมที่เราไม่แนะนำอย่างยิ่งเลย
 

เด็กควรกินขนมเมื่อไหร่
ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักปฏิบัติอันหนึ่งว่า ขนมไม่ใช่อาหารหลัก ข้อนี้อยากจะย้ำว่า ขนมไม่ใช่อาหารหลัก ถ้าจะจัดขนมไว้อย่างมากก็จัดขนมเป็นอาหารว่าง แต่ถ้าถามว่าขนมเป็นอาหารว่างที่ดีที่สุดหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ใช่ ผลไม้เป็นอาหารว่างที่ดีที่สุดต่างหาก แต่ถ้าจำเป็นจะต้องกินขนมขึ้นมาก็ย้อนกลับไปเลือกที่เป็นรสชาติใกล้เคียงธรรมชาติให้มากที่สุด มีความเหนียวติดฟันน้อยที่สุด หรืออย่างเช่นประโยชน์แบบขนมไทยๆ เพราะเขาอาจจะได้โปรตีนในรูปแบบต่างๆ เช่น ออกมาในรูปของฟักทอง กล้วย หรือออกมาในรูปของบัวลอยไข่หวาน ซึ่งจะมีไข่อีก จะได้โปรตีนในรูปแบบนี้อีกด้วย ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าขนมไม่ใช้อาหารหลัก จะกินเมื่อไหร่ ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่ากินอาหารหลักหรือยัง อาหารครบ 5 หมู่ 3 มื้่อกินหรือยัง รับได้ไหม
 

สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับทันตแพทยสภาให้คำแนะนำประชาชน แม้แต่บุคลากรทางสาธารณสุข ในประเด็นอาหารว่างดังนี้ อาหารว่างคือ อาหารระหว่างมื้ออื่นๆ ควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ทำจากเนื้อสัตว์หรือถั่ว หลีกเลี่ยงอาหารว่างที่ทำจากแป้งหรือน้ำตาล แต่หากจะกินควรกินหลังมื้ออาหารหลักทันที ชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบันของเด็กเปลี่ยนไปหมดแล้ว เขากินขนม ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตั้งหลักไม่ดี ไม่เข้าใจตรงนี้ ก็จะกลายเป็นชดเชยด้วยขนม ขนมจะกลายเป็นอาหารหลัก แน่นอนตรงนี้ก่อเรื่อง ถ้าเป็นเด็กที่มีพื้นฐานกินอะไรทุกอย่างขวางหน้า คนที่กินขนมพวกนี้เพิ่มเข้ามาด้วยก็จะได้พลังงานสูญเปล่าเข้าไปเก็บสะสมมากเกิน ท้ายที่สุดเด็กกลุ่มนี้จะกลายเป็นโรคอ้วน
 

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่กินขนมเป็นอาหารหลักโดยที่พ่อแม่อาจไม่มีเวลาหรือความรู้ในการเลี้ยงดูลูก ปล่อยให้ลูกกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือกินอาหารไม่ครบ 3 มื้อหลัก ท้ายที่สุดจะกลายเป็นเด็กขาดสารอาหาร สิ่งสำคัญที่สุดก็คือขาดธาตุเหล็ก เพราะว่าขนมต่างๆ เหล่านี้จะให้เพียงพลังงานสูญเปล่า กล่าวคือได้แต่ลักษณะ ของพลังงาน แต่ขาดคุณค่าทางโปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่  จึงเรียกว่า อาหารขยะ เพราะไม่ได้ ก่อประโยชน์ต่อร่างกาย อาจจะทำให้ ขาดวิตามิน เกลือแร่ และโปรตีนบางประเภทด้วยซ้ำไป กลุ่มนี้ถึงแม่พยายามที่จะกินก็อาจจะเกิดภาวะซีด (เลือดจาง) ได้ด้วยเหมือนกัน น่าตกใจตรงที่พบว่าเด็กไทยในปัจจุบัน 1 ใน 3 ได้รับพลังงานจากอาหารขยะเต็มไปหมด ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากจะฝากคุณพ่อคุณแม่ไปด้วยว่าเด็กควรกินขนมมั้ย คำตอบก็คือถ้เป็นไปได้ไม่ควรกินเลย แต่พอพูดว่าไม่ควรกินเลยมันเป็นไปไม่ได้หรอกสำหรับชีวิตเด็กๆ เพราะขนมกับเด็กดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่คู่กัน ดังนั้นจึงแนะนำให้กินขนมให้น้อยที่สุด ขอให้กินหลังมื้ออาหารทันที แล้วต้องกินไม่เกิน 1 หน่วยบริโภค (1 ถุง หรือ 1 ซองเล็ก) ต่อวัน ถ้าเมื่อไหร่ที่หยิบถุงที่ 2 ขึ้นมา นั่นจะต้องคิดไว้เลยว่ากำลังจะก่อโรค
อาจจะมีฟันผุตามมา หรืออาจจะเป็นเด็กที่ผอม หรือกลายมาเป็นเด็กที่อ้วน
 

เด็กติดขนมมากกว่าติดข้าว
เกิดอะไรขึ้นในปัจจุบัน ตุ่มรับรสที่ลิ้นมีพัฒนาการมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม และตุ่มรับรสที่ดีที่สุดเร็วที่สุดคือ ตุ่มรับรสหวาน ความหวานมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคำว่าหวานมัน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ถ้ากินอาหารที่มีรสหวาน นำที่อยู่ห้อมล้อมตัวเด็ก  ขณะที่อยู่ในท้องแม่ก็จะมีรสหวานเพิ่มขึ้น เพราะร้อยละ 40 ของน้ำคร่ำประกอบไปด้วยกลูโคสและฟรักโทส เด็กที่กินรสชาติค้อนข้างไปทางหวาน มักจะมีความคุ้นเคยต่อรส   หวานตั้งแต่ขณะอยู่ในท้องแม่เลย ไม่ใช่หมายถึงว่าติดหวานหรอกแต่คุ้นเคย รู้จักว่ารสชาติประมาณนี้คือรสหวาน พอคลอดออกมา ถ้ามีโอกาสที่จะได้รับรสหวาน ก็จะนึกถึงรสชาติที่คุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในท้องได้ทันที
 

พอพ้น 6 เดือนขึ้นไป อาหารเสริมทั้งหลายที่ออกมาในรูปแบบพิเศษ โดยเฉพาะอาหารกล่อง อาหารสำเร็จรูป มักจะมีการเติมเพิ่มความหวานอยู่แล้วและไม่ถือเป็นความหวานตามธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเด็กจะคุ้นเคยกับการกินอาหารต่างๆ เหล่านี้แล้วเด็กจะไม่มากินอาหารที่คุณพ่อคุณแม่ เตรียมด้วยตนเอง ถ้าเป็นอาหารประเภทหวานมัน ลูกชอบแม่ก็จะหยิบยื่นสิ่งที่ลูกชอบตามประสาแม่ที่รักลูกอยู่แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่าจะทำให้เด็กเริ่มติดตั้งแต่ตรงนั้น แล้วพอเติบโตขึ้นมา ความคุ้นเคยที่มีแรงเสริมบวกกับสังคมที่มองภาพความหวานมันออกมาในรูปของรางวัลที่ล่อใจตลอด ผลที่เกิดขึ้นคือเด็กติดหวานมัน
 

มีผลสรุปชัดเจนจากการวิจัยของโรงพยาบาลเด็ก เด็กที่ขาดสารอาหารมักจะชอบกินอาหารรสหวาน
และเด็กอ้วนมีอัตราการกินอาหารรสหวานร้อยละ 71.4 แสดงว่าการกินอาหารหวานมัน มีแนวโน้มทำให้ผอมก็ได้ อ้วนก็ได้ อยู่ที่ว่าเด็กคนนั้นมีพื้นฐานอารมณ์กินข้าวเก่งหรือไม่เก่ง ถ้าเป็นเด็กที่กินเก่งอยู่แล้วและไปกินขนมถุง น้ำอัดลม โอกาสที่จะอ้วนสูง ถ้าเป็นเด็กที่กินข้าวไม่ค่อยเป็น เรียกว่าอุตสาห์หิว แต่ไปกินขนมแทนข้าว ก็ลงเอยด้วยความผอม 
 

มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันเด็กกินขนม    ประจำประมาณร้อยละ 70 และอายุที่เริ่มกินขนมครั้งแรกโดยเฉลี่ย 8.5 เดือน โดยมีอัตราการกินขนมเพิ่มขึ้นตามอายุของเด็ก เด็กอายุ 6-12 เดือน กินขนมประมาณร้อยละ 40 อายุ 13-24 เดือน กินขนมประมาณร้อยละ 83.8 และอายุ 25-30 เดือน จะกินขนมเกือบจะทุกคน อายุที่เริ่มซื้อขนมได้โดยเฉลี่ยคือ 19 เดือน
 

น่าตกใจว่าเด็กวัยก่อน 2 ขวบจะคิดเป็นที่ไหน ว่าอะไรคืออาหาร หลัก อะไรคืออาหารว่าง ค่าขนมโดยเฉลี่ยของเครือข่ายรณรงค์เด็กไทยไม่กินหวาน และโรงพยาบาลเด็กคือ 16 บาทต่อคนต่อวัน
 

ขนมเด็ก ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
พฤติกรรมการกินขนมของเด็ก ส่งผลต่อสุขภาพต่างๆ ดังนี้

1.กินขนมมากและกินอาหาร หลัก 3 มื้อมาก จะทำให้เด็กอ้วน ซึ่งจะมีอันตรายตามมาอีกมากมาย ถ้า เป็นเด็กผู้หญิง ก็จะมีประจำเดือนเร็ว  มีประจำเดือนมา ก่อนวัยอันควร แล้วก็กระดูกจะปิดเร็ว ท้ายที่สุดจะเตี้ย สูงน่อยกว่า 150 เซนติเมตร เช่น เด็กหญิง ควรจะสูงไปได้ 160-170 เซนติเมตร แต่เพราะพฤติกรรมที่เขากินหวานมันค่อนข้างมากมาตั้งเล็กๆ จนเขา อ้วนและเข้าสู่วัยรุ่นเร็ว ก็อาจจะเหลือประมาณ 155 ไม่ถึง 160 เซนติเมตร คือสูงไม่ได้ตามศักยภาพของเขา

2.กินขนมมาก แต่กินอาหารหลัก 3 มื้อน้อย จะทำให้เด็กผอม รวมทั้งอาจขาดวิตามิน เกลือแร่ทำให้ซีด (เลือดจาง) หรือภาวะขาดสารอาหาร พวกนี้ฮอร์โมนการเจริญเติบโต หลั่งไม่ดี ก็จะเข้าสู่วัยรุ่นช้า และท้ายที่สุดก็จะมีรูปร่างเตี้ยด้วยเหมือนกัน

3.ถ้ากินขนมหวานแล้ว ไม่รู้จักดูแลฟันก็จะเกิดโรคฟันผุซึ่งส่งผลกระทบแง่ลบต่อสุขภาพตามมา

4.คนที่กินหวานมัน มักจะไม่ค่อยชอบกินผัก ผลไม้ ซึ่งมีกากใย อาหาร ทำให้เกิดปัญหาท้องผูก ปวดท้อง ถ่ายแข็ง ถ่ายยาก ก้นฉีกเป็นแผล ถ้าติดนิสัยไม่กินผักผลไม้ไปจนโต พวกนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อการ เป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าคนที่กินผักผลไม่เก่งถึง 2-3 เท่า

5.อาจจะมีผลทางจิตใจ เราพบเลยว่าเด็กที่กินรสหวาน มัน เค็ม แซ่บ มักจะมีบุคลิกลักษณะนิสัยที่เสียไปด้วย เด็กมักจะมีความก้าวร้าว เป็นองค์ประกอบอยู่ถ้าเป็นเด็กที่มีการกินอาหาร และฝึกวินัยในการกินที่ดีก็มักจะเป็นเด็กที่เติบโตอย่างมีอีคิวที่มีคุณภาพ

 

อันตรายที่เกิดกับเด็กอ้วน มีอะไรบ้าง

โรคอ้วนเป็นจุดตั้งต้นของโรคต่างๆ ต่อไปนี้

1.ไขมันในเลือดสูง

2.เบาหวาน

3.โรคหัวใจ

4.โรคความดันเลือดสูง

5.โรคกระดูกเสื่อม

6.โรคกระดูกข้อผิดปกติ เช่น ขาโก่งงอ

7.โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น อ้วนมากจนหายใจไม่ออก กลางคืนจะนอนไม่พอ และตอนกลางวันจะมีอาการง่วงเหงาหาวนอน นานๆ เข้าอาจมีอาการชีพจรเต้นเร็วและความดันเลือดสูงตามมา

8.โรคภูมิแพ้ (สารปรุงแต่งในขนม อาจทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ได้)

9.สภาพจิตใจ เด็กที่อ้วนมีความรู้สึกเป็นปมด้อย ถ้าสังคมมีการประกวดคนอ้วน เด็กต่างๆ ก็จะชดเชยว่าอ้วนแล้วอ้วนเลย อ้วนแล้วสามารถ ประกวดได้ แต่เบื้องหลังชีวิตของคนอ้วน ไม่มีใครไปสำรวจว่ากลุ่มคนอ้วนนี้ อมทุกข์ขนาดไหน และถ้าพ้นจากตำแหน่งแล้วเขาจะลงเอยอย่างไร มีระบบการหายใจเป็นอย่างไร จะมีไขมันในเลือดสูง หรือความดันเลือดสูงหรือไม่

 

ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร

การป้องกันไม่ให้อ้วนต้องย้ำตั้งแต่เล็กเลย ตั้งแต่แรกเกิดนมแม่ดีที่สุด แล้วพยายามให้เด็กกินนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่านมแม่มีความหวานตามธรรมชาติโดยตัวมันเองอยู่แล้ว และไม่เคยปรากฏว่ามีเด็กอ้วนจากการกินนมแม่  พอพ้นจากนมแม่ถ้าจำเป็นจะต้องกินนมสูตรต่อเนื่อง ขอให้ดูฉลากนมแล้วเลือกนมซึ่งมีรสจืดเป็นหลัก ไม่มีการเติมกลูโคส ซูโครส (น้ำตาลทราย) หรือฟรักโทส (น้ำผลไม้ที่หวานจัด) หรือแม้แต่น้ำผึ้ง ในรูปแบบใดทั้งสิ้น ถ้าเป็นอาหารสำเร็จรูป ควรดูว่ามีการเติมเพิ่มความหวานมากน้อย แค่ไหน ควรจะหลีกเลี่ยงสูตรพวกนี้ไว้ด้วย และถ้าเป็นอาหารหลักก็ควรจะเป็นอาหารที่เราควรจะพยายามเตรียมเองตามธรรมชาติ ถ้าเป็นเครื่องดื่มควรเป็นความหวานตามธรรมชาติ เช่น เครื่องดื่มที่เป็นผลไม้สด ไม่มีสารเจือปนใดๆ ทั้งสิ้น และอาจจะไม่มีน้ำตาลในรูปแบบต่างๆ ที่อาจจะแฝงเติมมาเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ผลิตต่างๆ
 

นมขอให้เป็นนมจืด ในเด็กเล็กและเด็กโตก็ควรเป็นนมจืด ถ้าเป็นเด็กที่มีแนวโน้มจะอ้วนอยู่แล้วก็ควรจะเป็นนมจืดพร่องมันเนย จะเป็นประโยชน์ที่สุด ปริมาณที่จะให้กินคือ ประมาณ 500-600 ซีซี ต่อคนต่อวัน หมายถึง เด็กโตหรือผู้ใหญ่ ถ้าเกินนี้ควรจะไปเน้นที่อาหารหลักมากกว่า และอาหารหลักควรจะต้องอุดมไปด้วยโปรตีน และพืชผักที่เป็นกากใยอาหารร่วมไปด้วย เด็กทุกวัย ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีการเพิ่มเติมความหวาน  รวมทั้งน้ำหวาน และน้ำอัดลม

 

แก้ไขลดความอ้วนอย่างไร ไม่ให้อ้วนอีก

ถ้าเป็นก่อนปฐมวัย (0-5 ขวบ) โอกาสที่จะอ้วนแล้วอ้วนเลย จะมีอยู่ประมาณร้อยละ 20-40 ถ้าเป็นกลุ่มที่เข้าสู่ปฐมวัย (6-12 ขวบ) โอกาสอ้วนแล้วอ้วนเลยไป จนถึงผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 40-60 ถ้าอ้วนเข้าไปอยู่กลุ่มของวัยรุน โอกาสที่จะอ้วนไปจนถึงโตเป็นผู้ใหญ่ร้อยละ 80

กรณีที่อ้วนแล้วควรปฏิบัติตัวดังนี้

1.หลีกเลี่ยงทอดๆ มันๆ ถ้าเป็นไข่ จะเป็นไข่ต้มได้ก็จะดี แทนที่จะเป็นไข่เจียวหรือไข่ดาว

2.หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน

3.กินผัก ผลไม้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมแก่วัย

4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน

 

รายละเอียดผู้ป่วยเด็ก 1 ราย

ปี พ.ศ. 2545 มีจำนวนผู้ป่วย 105 ราย มาปรึกษาเกี่ยวกับน้ำหนัก พบว่ามี 60 รายมาด้วยเรื่องอ้วน
อีก 40 กว่ารายมาด้วยเรื่องผอม ในจำนวนนี้เมื่อติดตามข้อมูลพบว่า ในกลุ่มที่อ้วน ประมาณ 60 ราย มีประมาณร้อยละ 25 เริ่มมีไขมันในเลือดสูง และมีประมาณร้อยละ 10 มีความดันเลือดสูง และมีอยู่รายหนึ่งที่เริ่มเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แล้วในกลุ่มที่ผอม ขาดสารอาหารในกลุ่มที่ 1 และ 2 เกือบทั้งหมด ประมาณร้อยละ 70-80 และในจำนวนนี้มีประมาณร้อยละ 20-30 กลายเป็นผอมตกเกณฑ์ระดับ 2
ความหมายของคำว่าผอมตกเกณฑ์ระดับ 2 แพ้ระดับ 3 เพียง 1 ขั้น ก็คือว่าเป็นระดับ 3 ประมาณเด็กเอธิโอเปีย พุงโรก้นปอด ผมแห้งแตกปลาย  ซึม ซี่โครงบาน


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 2

เด็กผู้หญิงอายุ 4 ขวบ 7 เดือน แม่มีอาชีพรับจ้างเป็นคนเลี้ยงดู มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ พ่อและแม่ทำงานทั้งคู่ แม่พยายามเจียดเวลาส่วนหนึ่งในการดูแลลูก วิธีการดูแลก็คือการให้สตางค์ พี่เลี้ยงสามารถพาไปซื้อขนมอะไรต่างๆ ได้ทั้งสิ้น คุณแม่พาลูกมาปรึกษาเพราะลูกไม่ยอมกินข้าว ต้องการให้หมอช่วยให้ยาบำรุงให้กินข้าว เมื่อตรวจดูแล้ว ปรากฏว่าเด็กผอมตกเกณฑ์อยู่ในช่วงขาดสารอาหารระดับ 1 เมื่อติดตามเรื่องพฤติกรรมการกิน พบว่ากินขนม 4-5 ถุงต่อวัน น้ำอัดลม 1 ขวด รวมทั้ง ช็อกโกแลตด้วย ไม่ยอมกินข้าว ลูกอมกินได้ตลอดเวลา พฤติกรรมการกินแบบนี้และไม่กินข้าว จึงผอมตกเกณฑ์ และเริ่มมีปัญหา ลูกไม่ยอมเคี้ยว สิ่งที่พบก็คือ แม่บ่นมากเลยว่า ผักก็ไม่กิน ถ่ายก็แข็ง ปวดท้องด้วย แม่ต้องวิ่งไปมาหาสู่ระหว่างโรงพยาบาลกับที่บ้านตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แม่ก็ทำงาน พ่อก็ทำงาน ท้ายที่สุดแม่ถูกนายจ้างเพ็งเล็ง เพราะหยุดงานบ่อยอันมีสาเหตุมาจากลูกป่วยตลอดเวลา แม่ต้องพาลูกไปหาหมอด้วยเรื่องปวดท้อง ถ่ายแข็ง ก้นฉีก
 

นี่คือตัวอย่างที่พบเห็นได้ในชีวิตจริง เพราะไม่ยอมกินข้าว และเด็กรายนี้ไม่ชอบเคี้ยวอาหาร ถ้าอาหารเป็น เนื้อเป็นชิ้นจะบ่วนทิ้ง จะไม่เคี้ยว ยกเว้นนอกจากแม่นำอาหารเข้าเครื่องบด หรือแม้เคี้ยวและใส่ในจานลูกถึงจะเคี้ยวต่อนิดหน่อยเท่านั้น นี่เรียกว่าพฤติกรรมการกินชนิดใหม่ที่เกิดโรคขี้เกียจเคี้ยวขึ้นมา พอจะกินอาหารทั้งทีต้องเคี้ยว ต้องใช้แรง เด็กย่อมขี้เกียจ ไม่อยากกินอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอสงครามย่อยๆ ระหว่างพ่อแม่ลูก หรือระหว่างแม่กับลูกขึ้นมา เวลาจะกินแต่ละมื้อแม่ก็จะบ่นปากเปียกปากแฉะ เด็กก็ยิ่งเกลียด เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 3

อายุ 1 ขวบ 9 เดือน แม่พาลูกมาด้วยโรคฟันผุอักเสบ ม่มีอาชีพรับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ เลี้ยงดูเอง  จากการตรวจพบว่าขาดสารอาหารระดับ 2 มีภาวะซีด  น้ำหนัก 8 กิโลกรัมเท่านั้น น้ำหนัก 8 กิโลกรัมเป็นน้ำหนักของเด็กวัยต่ำกว่า 1 ขวบ ติดตามพฤติกรรมการกิน พบว่าเด็กกินลูกอมบ่อยมาก เข้าทำนองกินลูกอมได้เรื่อยๆ กินขนมถุงวันละ 2-3 ถุงต่อวัน ไม่กินข้าว ไม่กินผัก กินนมหวานขวดละ  5 ออนซ์ วันละ 2 ขวด จะเห็นว่าถ้าเป็นเด็กที่พื้นฐานการกินข้าวไม่เก่ง พบเลยว่า กลุ่มพวกนี้สุดท้ายจะเป็นโรคผอม... ผอมตกเกณฑ์ในที่สุด

 

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 4
อายุ 8 ขวบ คุณแม่พามาเพราะอ้วน หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย แม่มีอาชีพรับจ้าง ติดตามพฤติกรรมการกิน พบว่า เด็กอายุ 8 ขวบมีน้ำหนักเกือบ 60 กิโลกรัม กินนมช็อกโกแลตชนิดกล่อง วันละ 2-3 กล่อง ขนมประมาณ 4 ถุงต่อวัน น้ำอัดลมแทบจะกินแทนน้ำเปล่า คือไม่กินน้ำเปล่า และ มีพื้นฐานกินเก่ง และแนวโน้มกินอาหารหวานมันด้วย ดูจากพฤติกรรม กินนมช็อกโกแลต ขนมก็ประเภท หวาน มัน เค็ม แซ่บอยู่แล้ว จะให่เด็กหันมากินอาหารจืดๆ เป็นไปไม่ได้ และกลุ่มพวกนี้พร้อมจะกินอาหารหวานมันอยู่แล้วจากการติดตามพบว่าอ้วน 162 เปอร์เซ็นต์ ก็คืออ้วนรุนแรง

 

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 5

วัยรุ่นหญิง อายุ 12 ขวบ คุณแม่พามาเพราะเตี้ย และยังไม่มีประจำเดือน จากการตรวจพบว่าขาดสารอาหาร แม่มีอาชีพรับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ และไม่มีเวลาดูแลลูก เนื่องจากเด็กอายุ 12 ปี สามารถตัดสินใจเลือก ซื้ออะไรกินได้เอง จากการติดตามพบว่า กินลูกอม ไอศกรีม กินขนม น้ำอัดลม แต่ไม้กินข้าว น้ำหนักตัวจึงมีเพียง 25 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักขนาดนี้ เป็นน้ำหนักของเด็กประมาณ ๘ ขวบ อยู่ในข่ายทั้งเตี้ยและผอม และขาดสารอาหารระดับ 2 ถ้าเด็กที่ผอมเกินไปจะเข้าสู่วัยรุ่นช้า เพราะฮอร์โมนการเจริญเติบโตไม่หลั่ง เพราะตกเกณฑ์ เด็กคนนี้ อายุ 12 ขวบ สูง 140 กว่าเซนติเมตร  มีแนวโน้มมีโอกาสเป็นคนตัวเตี้ย
 

นี่คือพฤติกรรม คร่าวๆ จริงๆ ตัวอย่างลักษณะ แบบนี้พบบ่อยมาก ยังมีบางตัวอย่างจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะเด็กอ้วนมากจนหายใจเองไม่ได้ เวลาจะนอนหงายทีตัวเขียว นอนราบไม่ได้ ต้องนั่งหลับ เด็กต่างๆ เหล่านี้เวลาจะนอนหลับก็ต้องใส่เครื่องถ่างจมูก และเอาลมเป่าจากเครื่องช่วยหายใจ ให้เขาสามารถหายใจได้กลางคืน ลองคิดดูสิว่าเป็นความยากลำบากขนาดไหนของคนเป็นพ่อแม่เอง ถ้าลูกอ้วนถึงจุดหนึ่งต้องช่วยกันดูแล ฝากไว้เลยว่า ขนมไม่ใช้อาหารหลัก คุณพ่อคุณแม่ต้องฉลาดในการดูอาหารระหว่างมื้ออื่นๆ ควรเป็น อาหารที่มีโปรตีนสูง ทำจากเนื้อสัตว์หรือถั่ว  หลีกเลี่ยงอาหารว่างที่ทำจากแป้งหรือน้ำตาล แต่หากจะกินก็ควรกินหลังมื้ออาหารทันที
 

ถ้าจำเป็นที่ดีที่สุดคือผลไม้สด ขนมไม่ใช่ข้อห้ามเพราะไม่อันตราย กินได้เพื่อเรียนรู้กัน แต่ต้องรู้จักรักษาสุขภาพตนเอง รู้ปริมาณและรู้จักการแปรงฟัน พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แล้วก็สามารถฝึกวินัยในการกินอาหารให้กับลูกได้ด้วย เท่านี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงภาวะผอมจนเกินไป และอ้วนจนเกินไป และหลีกเลี่ยง การมีโอกาสเกิดมะเร็งเนื่องจากเรากินผักและผลไม้ น้อยลงไปได้อย่างดียิ่ง ท้ายที่สุดฝากเรื่องการกินผัก ผลไม้จะทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ


ข้อมูลและขอขอบคุณ

1.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

2.รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

3.ทญ.ปิยะดา ประเสริฐสม กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย

4.สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา)


เด็กไทยรู้ทัน... โฆษณา...

ทำไมการตลาดและการโฆษณาสินค้าเด็กถึงต้องได้รับการควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ ขนมเจ้าปัญหาเหล่านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO)  ยืนยันว่า เป็นอาหารทำลายสุขภาพ แม้จะไม่ใช่อาหารอันตรายกินแล้วตายทันที (ดังที่ชอบอ้างกันว่า "ก็ผ่าน อย.แล้ว")  แต่การบริโภคมากเกินไปจะทำลายสุขภาพประชากรตั้งแต่เล็กๆ และมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบสุขภาพของสังคมในระยะยาว
 

เด็กและเยาวชนเป็นตลาดใหญ่ เป็นเป้าหมายสำคัญของอาหารทำลายสุขภาพเหล่านี้ การตลาด
และการโฆษณาที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดการควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ จะมุ่งสร้างอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อบริโภคของเด็กและเยาวชนด้วยวิธีบ่อนทำลายวิจารณญาณและขัดขวางการพัฒนา กระบวนการคิดวิเคราะห์การใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และการตัดสินใจซื้อจากคุณค่ามากกว่าภาพลักษณ์ด้วยโฆษณาหลอกเด็กที่เกินกำลังควบคุมของพ่อแม่และโรงเรียน นี่คือ เหตุผลขั้นพื้นฐานที่การตลาดและการโฆษณาสินค้าเด็กต้องได้รับการควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ


ข้อเรียกร้อง 12 ประการ

เด็กไทยรู้ทัน
1. วิธีจัดการกับขนมเจ้าปัญหา
2.สามารถวิเคราะห์วิจารณ์โฆษณา
3.รู้จักออมทรัพย์ช่วยบิดามารดาประหยัด

พ่อแม่รู้ทัน
4.ปิดโทรทัศน์เสาร์-อาทิตย์สร้างชีวิตใหม่
5.สอนลูกให้รู้วิธีใช้จ่ายเงินอย่างมีประโยชน์
6.สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโฆษณาหลอกเด็ก

โรงเรียนรู้ทัน
7.โรงเรียนปลอดขนมเจ้าปัญหา
8.ไม่ยอมให้โฆษณาบุกเข้าโรงเรียน
9.สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กด้วยสื่อศึกษาในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

รัฐบาลรู้ทัน
10.มีกฎหมายควบคุมโฆษณาสินค้าเด็กโดยเฉพาะ
11.ส่งเสริมรายการโทรทัศน์ดีๆ สำหรับเด็กและครอบครัว ที่ปลอดโฆษณา
12.สร้างกิจกรรมทางเลือกให้เด็กเรียนรู้ในช่วงเวลาเย็นและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

 

เคยพบเด็กๆ มีอาการแบบนี้บ้างไหม
1.ปวดท้องมากเพราะกินน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบ
2.เบื่ออาหารทั่วไป แต่ชอบกินน้ำอัดลมและขนม  กรุบกรอบ (บางคนผอมซีด พบภาวะทุพโภชนาการ)
3.อ้วน (บางคนเป็นเบาหวานด้วย) และกินลูกกวาดลูกอม น้ำอัดลม และขนมกรุบกรอบเป็นประจำ
4.ฟันผุ เพราะชอบกินลูกกวาดลูกอม และน้ำอัดลม 
5.อาการป่วยไข้ไม่สบายอื่นๆ เพราะชอบกินขนมเจ้าปัญหาคือ ลูกกวาดลูกอม น้ำอัดลม และขนมกรุบกรอบเหล่านี้

นี่แหละคือ พิษภัยจากการกินขนมและของหวานมากเกินไป

การเลือกขนมของพ่อแม่

ถ้าเป็นเด็กเล็กพ่อแม่เป็นคนเลือก ข้อมูลตรงนี้ควรมีความรู้ทั่วๆ ไปให้พ่อแม่ ความรู้ที่จะให้ไม่ยาก และเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ก็คือเรื่องของฉลาก ถ้าขนมมีฉลากข้อมูลโภชนาการ หรือคุณค่าทางโภชนาการ และเสริมความรู้ให้แม่นิดหน่อยว่าจะเลือกอย่างไร ควรจะเลือกขนมที่พลังงานโดยรวมไม่สูงมาก และไปดูรายละเอียดอีกนิดว่าขนมนั้นมีน้ำตาลมากหรือเปล่า
 

แหล่งพลังงานของอาหารโดยทั่วๆ ไปก็มาจากน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตกับไขมัน เพราะฉะนั้นถาฉลากขอมูลโภชนาการระบุไปในเรื่องของปริมาณน้ำตาล ระบุในเรื่องของปริมาณของ  ไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ที่จะมีผลเสียกับสุขภาพ  พ่อแม่ก็ดูจากตรงนั้นได้ ที่ควรให้ความสนใจและมีมากในขนมเด็กคือ โซเดียม (เกลือ) โดยเฉพาะในขนมกรุบกรอบ ที่เติมสิ่งปรุงรสทำให้เด็กได้รับโซเดียมสูง จากปริมาณสารอาหารที่ควรบริโภค แนะนำว่าปริมาณโซเดียมต้องไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมในแต่ละวัน จะทำให้ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคความดันเลือดสูง ในน้ำปลาแต่ละช้อนมีโซเดียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม เพราะฉะนั้น 3 ช้อนก็มีโซเดียมประมาณ 3,000 มิลลิกรัม เกิน 2,400 มิลลิกรัมไปแล้ว และถ้าเกิดไปได้จากขนมอีก โดยเฉพาะพวกขนมกรุบกรอบทั้งหลาย หรือพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีซองเครื่องปรุงรสอยู่ ก็จะได่โซเดียมเป็นส่วนเกิน ต้องระมัดระวังตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ดูเฉพาะไขมัน น้ำตาล หรือพลังงานโดยรวม ดูเรื่องโซเดียมด้วย ถ้าอะไรที่มีโซเดียมสูงก็ไม่ควรจะเลือกให้เด็ก
 

เด็กๆ อาจยังไม่เป็นความดันเลือดสูง แต่จะทำให้ บริโภคนิสัยของเขาติด ไม่ว่าเป็นรสหวาน รสเค็ม ตั้งแต่ เล็กๆ ก็ทำให้เขาพัฒนาต้องกินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พอโต ขึ้นก็จะเป็นปัญหาเรื้อรังที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ประการแรกๆ ที่จะทำให้ส่งผลต่อสุขภาพระยะสั้นๆ  ก็คือ ทำให้ระบบไตต้องทำงานหนัก เพราะถ้ามีส่วนเกินของพวกนี้ ร่างกายก็พยายามขับทิ้ง สิ่งที่พ่อแม่จะต้องดูก็คือ อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการ แต่ถ้าไม่มีข้อมูลโภชนาการที่จะระบุคุณค้า (ซึ่ง อย.ยังไม่ได้บังคับเรื่องขนม)  ก็ให้ดูส่วนประกอบ ส่วนประกอบ ต้องมีอยู่แล้วเป็นข้อบังคับของฉลากอาหาร เราจะเห็นว่าขนมที่อยู่ในซอง
ไม่ใช้ทุกอย่างที่จะเลวร้าย ถ้าเลือกดูดีๆ บางอย่างก็เป็นแหล่งของโปรตีน ใช้ได้แต่ยังอาจไม่มีฉลากข้อมูลโภชนาการบอก
 
ถ้ามีส่วนประกอบของเนื้อปลา ตรงนั้นคิดว่าน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการได้ ถึงแม้จะไม่ได้ระบุว่ามีโปรตีนเท่าไรก็จริง ถ้ามีส่วนประกอบของเนื้อปลาหรือของถั่วบ้าง ขนมเหล่านี้ก็ดีกว่าขนมที่มีแต่แป้ง น้ำตาลกับน้ำมัน เครื่องปรุงรส กรณีอย่างนั้นก็จะได้คาร์โบไฮเดรตและไขมันค่อนข้างจะมาก ซึ่งเป็นแหล่งของพลังงานโดยตรง และโปรตีนเอาไปช่วย ในการซ่อมแซมหรือเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเด็กด้วย สำหรับขนมที่มีน้ำตาลมาก ความหวานจากน้ำตาลจะมีผลต่อสุขภาพในระยะสั้นคือ เรื่องฟัน ระยะยาว คือ เรื่องอ้วน การกินขนมไม่ใช้ว่ากินแล้วอ้วนเห็นทันตา ค่อยสะสมไปเรื่อยๆ บวกกับวิถีชีวิตและพฤติกรรมของเขาที่ไม่ได้มีการออกกำลังกาย ก็จะค่อยๆ สะสมไปทีละนิดๆ
เพราะน้ำตาลเปลี่ยนเป็นไขมันได้ก็สะสมอยู่ และเด็กจะค่อยๆ อ้วนขึ้นในระยะยาว
 

เรื่องฟันเป็นผลในระยะสั้น เพราะถ้าเด็กกินของหวาน และไม่ได้มีการแปรงฟันหรือบ่วนปาก หลังกินขนม หรือกินขนมบางอย่างที่เป็นขนมติดฟัน เช่น ขนมปังนิ่มๆ ไม่ได้หวานเลย มองดูภาพรวม คาร์โบไฮเดรตเชิงซ่อนด้วยซ้ำแต้มีโอกาสทำให่ฟันผุได้ เพราะติดอยู่กับฟัน แบคทีเรียเอามาย่อยเป็นน้ำตาลก่อนแล้วเป็นกรด กรัดกร่อนเคลือบฟันได้ การกินเค็มมากๆ ก็มีผลต่อสุขภาพเช่นกัน  แต่เรื่องของความดันต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง อาจจะโตขึ้นหน่อย หรือพบเป็นโรคความดันเลือดสูงอายุน้อยลงได้ อายุของการเป็นโรคจะลดลงมาเรื่อยๆ ในอนาคต  ถ้าเราไม่รีบดูแลตั้งแต่บัดนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำตาลกับเบาหวาน หรือเกลือกับความดันเลือดสูง

 

ขนม อาหารว่าง ทางเลือกให้เด็ก

ขนมที่มีอยู่ปัจจุบันมีน้ำตาล พลังงาน เกลือ มากน้อยแค่ไหน ขนมประเภทที่มีเนื้อปลาใช้ได้ หรือประเภทถั่ว แตตองไมเคลือบน้ำตาล กลุ่มนี้ก็ใช้ได้ที่จะเป็นขนมทางเลือกให้เด็กแต่ถ้าเป็นพวกปลาหมึกส่วนใหญ่ยังมีโคเลสเตอรอลสูง ถึงแม้จะดูออกเป็นกรอบๆ แห้งๆ แล้ว ก็ตาม ถ้าเป็นขนมอื่นที่ไม่ได้อยู่ในซอง เช่น ขนมไทย  หลายอย่างค้อนข้างหวาน บางชนิดใช้ไข่แดงมาก ก็จะได้โคเลสเตอรอลสูง พูดโดยรวมๆ ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ยิ่งต้องระวังมากขึ้นด้วย ก็จะแนะนำว่าถ้าจะกินก็ให้กินปริมาณน้อยๆ ขนมไทยที่มีถั่วเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมถั่วแปบ เต่าส่วน หรือพวกถั่วเขียวตมน้ำตาล
ก็ใช้ได้แต่อย่าใส่น้ำตาลมาก นอกจากถั่วแล้ว ขนมที่ใช้ผลไม้เป็นส่วนประกอบ ก็มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น
 

แทนที่จะเป็นแป้งอย่างเดียว เช่นพวกขนมกล้วย ข้าวต้มมัด อาหารว่างที่ดีที่สุดคือผลไม้ ผลไม้ตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่ง มะละกอ ส้ม  พลังงานไม่สูง เป็นแหล่งของวิตามินซี เบต้าแคโรทีน แร่ธาตุและใยอาหาร ผลไม้ที่มีเฉพาะบางฤดูกาลมักจะเป็นผลไม้ที่มีพลังงานค้อนข้างสูง  เช่น ทุเรียน เงาะ องุ่น มะม่วงสุก จะมีพลังงานค้อนข้างสูง

การเตรียมสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าสิ่งแวดล้อมพร้อม การปรับพฤติกรรมก็จะง่ายขึ้น ตรงนี้เป็นจุดที่ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงผู้ประกอบการ ขนมเป็นสิ่งที่ไม่ได้ห้าม
ปริมาณที่กินกับความถี่เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้ากินปริมาณไม่มาก ไม่บ่อย ไม่มีอะไรขัดกับหลักโภชนาการ ถือเป็นอาหารว่าง หรือเป็นอาหารระหว่างมื้อที่ช่วยเสริมอาหารมื้อหลักให้สมบูรณ์ หากกินขนมมากจะทำให้ไปเบียดมื้ออาหารหลัก ทำให้เด็กบางคนกินอาหารมื้อหลักลดลง อาจขาดสารอาหารได้ สำหรับเด็กที่กินอาหารมากอยู่แล้ว ถ้าได้ขนมเป็นส่วนเกิน ก็จะทำให้อ้วนได้ ดังนั้นเด็กๆ ไม่ควรกินขนมเป็นอาหารหลัก

 

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 1

เด็กหญิง อายุประมาณ 2 ปี 6 เดือน แม่มีอาชีพรับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ พามาปรึกษาด้วยเรื่องไข้หวัด 
แต่ปรากฏว่าตรวจพบมีปัญหาอ้วน ในเกณฑ์อ้วนอันตราย คือเมื่อตรวจไปแล้วพบว่า หายใจไม่ค่อยสะดวก ฟันผุหมดปาก ไขมันในเลือดสูง และท้ายที่สุดต้องติดตามเด็กต่างๆ เหล่านี้ว่าเกิดอะไรขึ้น
พ่อแม่รายนี้ไม่ได้อ้วน ทางบ้านไม่ได้อ้วน แต่มีลูกคนเดียว ตามใจกันทุกรูปแบบ พฤติกรรมการกินของเด็กพบว่า กินนมเปรี้ยวขนาด 200 ซีซี กินวันละ 11 ขวดต่อวัน ขนมกินวันละ 2 ถุง กินอาหารครบ 3 มื้อ และสิ่งที่ชอบมากที่สุดคืออาหารประเภททอดๆ มันๆ 
 

ถ้าเด็กต่างๆเหล่านี้ พื้นฐานกินเก่งอยู่แล้ว กินนมเปรี้ยว 11 ขวดต่อวัน กินขนมถุงวันละ 2 ถุง แนวโน้มสุดท้ายคือเป็นโรคอ้วน และเด็กคนนี้อ้วนประมาณ ๒๐๐ เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าอ้วนอันตราย มีลำดับชั้นความอ้วนอยูด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่น เด็กโต หรือเป็นผู้ใหญ่ใช‰ดัชนีมวลกาย (BMI)
คำนวณได้จาก เอาน้ำหนักตั้ง หารด้วยส่วนสูง (เมตรยกกำลัง 2) ถ้าเกิน 25 แสดงวามีภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) แล้ว ถ้าเกิน 30 ถือว่าอ้วน (obesity) ถ้าเกิน 35 ถือว่าอ้วนรุนแรง ตองนอนโรงพยาบาลอีกกลุ่มหนึ่ง
 

ถ้าเป็นเด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต  เด็กเล็กจะดูน้ำหนักเทียบกับส่วนสูงมาตรฐาน (weight for high)
ถ้าน้ำหนักควรจะเป็นเท่านี้ถ้าเกินไป 120 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าโรคอ้วนแล้ว แล้วถ้าเกิน 140 เรียกว่าอ้วนมาก  ถ้าเกิน 160 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าอ้วนรุนแรง ถ้าอ้วนเกิน ๒๐๐ เปอร์เซ็นต์พูดง่ายๆ ก็คือน้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น 2 เท่า เรียกว่าอ้วนอันตราย รายนี้อ้วนประมาณ 199-200 เริ่มมีปัญหาหายใจไม่ค่อยออก จำเป็นที่จะต้องนอนโรงพยาบาล และต้องดูแลในเรื่องไขมันในเลือดสูง เด็กคนนี้อายุเพียง 2 ปี 6 เดือน เริ่มมีไขมันในเลือดสูง  น่าติดตามศึกษาทั้งวงจรชีวิตของเด็กคนนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 2

เด็กชาย อายุ 11 ขวบ น้ำหนักตกเกณฑ์ แม่พามาด้วยมีความรู้สึกว่าเด็กซีด เมื่อตรวจแล้วพบว่า ผอมและขาดสารอาหาร ข้อมูลของเด็กคนนี้มีความหมายอย่างมากทีเดียว เพราะเด็กคนนี้ใช้จ่ายเรื่องกินวันละ 100 บาท หมายความว่า ใน 1 เดือนกินประมาณ 3,000 บาท เมื่อเจาะลึกลงไปว่า 100 บาทกินอะไร คำตอบ ที่ได้มาแทบตกใจเลยทีเดียว เพราะเป็นเรื่องของขนมและเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม
พ่อแม่ทำงานหนักทั้งคู่ เสมือนลูกคือไม้ผลัด วิ่ง 4 คูณ 100 เมตร เรียกว่าแม่เข้าบ้าน พ่อก็ออกจากบ้าน ถ้าพ่อเข้าบ้าน แม่ก็ออกจากบ้าน คือเป็นกะๆ ของเขา และจะวางโปรแกรมรอบเดือนไว้เลยว่าเดือนนี้ใครอยู่กลางวัน ใครอยู่กลางคืน เอาว่าส่งเวรกันเมื่อไหร่ก็มีคนออกจากบ้านไปได้
 

แม่มีรายได้ประมาณวันละ 150 บาทต่อวัน พ่อได้ประมาณ 6,000-7,000 บาท ต่อเดือน ลูกกินไปแล้ววันละ 100 บาท แต่แม่หาได้วันละ 150 บาท สิ่งสำคัญคือไม่มีใครฝึกลูกคนนี้เลย ลูกดูโทรทัศน์เล่มเกม ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามใจชอบ เพราะแม่ออกจากบ้านไปแล้ว กลับมาพ่อ ก็ออกจากบ้าน แม่ก็เหนื่อย นอนพักผ่อน ไม่ได้มีการ เตรียมอาหารอะไรทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นกับข้าวสำเร็จรูปทั้งนั้น ที่เหลือก็ฝากสตางค์ไว้ให้ลูกซื้อกินเอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือลูกจะกินแต่  น้ำอัดลม ขนมถุง ท้ายที่สุดลูกคนนี้น้ำหนักตกเกณฑ์เป็นโรคขาดสารอาหาร
 

แม่พาลูกมาหาหมอประจำ หมอแนะนำว่า ถ้าลูกกินอาหารที่ไม่มีคุณค่าเลยวันละ 100 บาท ท้ายที่สุดก็จะเกิดโรค ส่วนต่างอีก 50 บาทที่เหลือแม่ก็เสียไปกับค่ายารักษาโรคทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่พอด้วยซ้ำไป นี่ยังไม่นับผลกระทบทางจิตใจที่เกิดกับลูกว่าเป็นอย่างไร ไม่นับว่ามีการฝึกพฤติกรรมอะไรให้ลูกบ้าง ไม่ได้นับตรงนี้เลย ถ้านับสิ่งต่างๆ เหล่านี้หมอได้แต่แนะนำว่าลาออกจากงานเถอะ แม่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องทำงาน เพราะ 100 บาท ผลาญไปกับอาหารขยะที่ลูกกิน และก่อโรคให้กับลูก ถ้าไม่ได้ฝึกพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ไว้ ท้ายที่สุดรายได้ที่หามาทั้งหมด เด็กคนนี้ก็ผลาญกินหมด เพราะเขาใช้เงินไม่เป็น


กินขนมอย่างไรให้ปลอดภัย

ขนมจำเป็นสำหรับเด็กหรือไม่ อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเราคงบอกให้เด็กเลิกกินขนมคงยาก เพราะการกินอาหารแตละมื้่อ เด็กไม่สามารถกินได้เหมือนผู้ใหญ่ที่กะได้ว่าปริมาณใดเพียงพอ บางทีก็กินน้อยไป ขนมก็เหมือนกับอาหารว่างระหว่างมื้อ การที่จะกินให้ถูกต้องและดีตามหลักโภชนาการ ควรจะได้พลังงานจากส่วนของขนมประมาณร้อยละ 15 ไม่ควรเกิน ร้อยละ 20 แบ่งเป็นอาหารว่างมื้อเช้าและบ่าย และไม่ควรจะกินเกินวันละ 2 ครั้ง ไม่ควรกินจุบจิบ ในเรื่องของความถี่และปริมาณของขนมเป็นความสำคัญที่ต้องระมัดระวัง


รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล
สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล


 

ข้อมูลสื่อ

303-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 303
กรกฎาคม 2547
คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล