• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอดส์กับสุขภาพช่องปาก (ตอนจบ)

เอดส์กับสุขภาพช่องปาก (ตอนจบ)


เมื่อครั้งที่แล้ว ท่านผู้อ่านคงได้ทราบอาการผิดปกติในช่องปากที่เกี่ยวกับโรคเอดส์ไปบ้างแล้ว นั่นก็คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์หรือกลุ่มที่มีอาการสัมผัสกับเอดส์ จะมีอาการผิดปกติที่แสดงออกในช่องปากได้หลายอย่าง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ โดยกลุ่มที่มีการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียนั้นได้กล่าวไปแล้วในครั้งที่ผ่านมา

ครั้งนี้จะขอพูดต่อถึงกลุ่มอาการอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการติดเชื้อไวรัส กลุ่มที่มีเนิ้องอกเกินบางอย่าง และกลุ่มที่มีอาการผิดปกติโดยไม่รู้สาเหตุ 


 

 

การติดเชื้อไวรัส

ไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากของผู้ป่วยเอดส์ มีหลายชนิดที่พบบ่อย คือ เริม หรือภาษาทางการแพทย์เรียกว่า เฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (herpes simplex) งูสวัด หรือเฮอร์ปีส์ ซอสเตอร์ (herpes zoster) และพาพิลโลมาไวรัส (papilloma virus) เป็นต้น

เริม มักพบที่ริมฝีปาก เพดานปาก และเนื้อเยื่อในช่องปาก มีลักษณะเป็นแผล โดยก่อนเป็นแผล จะพบตุ่มน้ำใสๆ เกิดขึ้นก่อน อาจมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว อาการเหมือนเป็นหวัด ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ อาการมักจะหายไปใน 10-14 วัน แต่ในผู้ป่วยเอดส์ มักเป็นเรื้อรังและเกิดขึ้นบ่อย

งูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ วาริเซลลา ซอสเตอร์ (varicella zoster) ซึ่งสาเหตุของอีกสุกอีใสและงูสวัด ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวด แสบร้อนของร่างกายเพียงซีกเดียว พบมีตุ่มน้ำใสหรือแตกเป็นแผลตามแขนงที่ 2 และ 3 ของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 จะทำให้เกิดอาการกับเนื้อเยื่อของช่องปากได้ ถ้าเป็นที่ริมฝีปากจะมีการตกสะเก็ตตามมาให้เห็น บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดฟันบริเวณฟันกรามน้อยก่อนที่จะมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นด้วย

อีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจคือรอยโรคที่ลิ้นที่ชื่อว่า แฮรีลิวโคพลาเกีย (hairy leukoplakia) เป็นอาการสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งใช้เป็นอาการที่จำแนกโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสเอดส์ด้วย เพราะสามารถพบอาการนี้ได้ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีอาการอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับเอดส์แล้ว หรือไม่มีอาการใดๆ เลย ลักษณะอาการที่ปรากฎนี้พบครั้งแรกในช่องปากของชายรักร่วมเพศ ในปัจจุบันพบว่าเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับไวรัสเฮอร์ปีส์พาพิลโลมา และเอปสไตน์-บาร์ (Epstein-barr) ซึ่งอาการที่แสดงออกจัดเป็นอาการเริ่มแรกของโรคเอดส์

ลักษณะที่พบ คือ เป็นรอยโรคสีขาว เช็ดลอกไม่ออก มักพบบริเวรด้านข้างของลิ้น พื้นผิวเป็นขุย บริเวณขอบนอกของรอยโรคอาจเห็นเป็นเส้นขาวเล็กๆ จางอออกไปกว่าบริเวณตรงกลาง ถ้าทิ้งไว้นานรอยโรคจะยิ่งเห็นขาวจัดและหนาขึ้น อาจขยายออกคลุมทั้งลิ้น ในบางครั้งอาจพบที่บริเวณอื่นได้บ้าง เช่น กระพุ้งแก้มด้านใน

กลุ่มเนื้องอกเกิน (Neoplasm)

เนื้องอกเกินที่พบในปากผู้ป่วยเอดส์ ได้แก่ คาโปซีส์ ซาโคมา (kapaosi’s sarcoma) สควอมัสเซลล์ คาร์ซิโนมา (squamous cell carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากบริเวรขากรรไกร และนอนฮอดจ์กินส์ลิมโฟมา (non-hodgkin’s lymphoma) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เนื้องอกคาโปซีส์ ซาโคมา (kapaosi’s sarcoma) เดิมนั้น นายแพทย์คาโปซีพบว่าเป็นเนื้องอกที่ผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้าของชาวแอฟริกา หรือชาวยิวสูงอายุ โดยพบในช่องปากน้อยมาก ต่อมาเมื่อมีการผ่าตัดเปลี่ยนไต (renal transplantation) ก็พบว่ามีเนื้องอกชนิดนี้พบได้ในช่องปากของผู้ป่วยเหล่านั้น บางรายตำแหน่งที่พบ คือ เพดานปาก

เนื้องอกคาโปซีส์ ซาโคมา ที่เกิดกับผู้ป่วยเอดส์ พบเกือบหนึ่งในสามของผู้ป่วยกลุ่มรักร่วมเพศ สำหรับที่พบในช่องปากนั้นมีประมาณเกือบครึ่งของผู้ป่วยเอดส์ที่มีเนื้องอกชนิดนี้ และบางครั้งพบอาการในช่องปากก่อนที่จะพบที่ผิวหนังส่วนอื่นของร่างกาย โดยในช่องปากบริเวณที่พบบ่อย คือ เพดานปาก ลักษณะของเนื้องอกคาโปซีส์ซาโคมา ในช่องปากระยะเริ่มแรกจะเป็นจุดสีแดงหรือสีม่วงน้ำเงินที่เพดานอ่อร หรือส่วนต่อระหว่างเพดานอ่อนกับเพดานแข็ง บางครั้งอาจพบเหงือก ลิ้น หรือกระพุ้งแก้มด้านใน ถ้าทิ้งไว้นานก็จะมีขนาดใหญ่ บางครั้งเห็นเป็นก้อนๆ หรือแตกเป็นแผลสีแดงเข้มจนเกือบสีดำ
สำหรับสควอมัสฌวลล์ คาร์ซิโนมา และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองะบไม่บ่อยนักในผู้ป่วยเอดส์

รอยโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ (unknown etiologial lesions) ได้แก่ รอยแผลในปากที่เรียกว่า แผลร้อนใน หรือแอฟทัส (apthous ulceration) รอยจ้ำเลือดซึ่งอาจเป็นจุดเลือดออก (oral petechaie) หรือพรายย้ำ ในผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นเด็ก พบว่า มีต่อมน้ำเหลืองและต่อมน้ำลายมีการติดเชื้อ ไม่สนองตอบต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

เฮอ ดูเหมือนว่าคราวนี้อาจจะหนักวิชาการไปสักหน่อย คงไม่ว่ากัน เพราะมีศัพท์ทางการแพทย์ค่อนข้างมาก เนื่องจากยังไม่มีการบัญญัติศัพท์เฉพาะเอาไว้ หากผู้อ่านท่านใดเกิดอาการงง ก็คงต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ครั้งหน้าคุณหมอไพฑูรย์ สุรินะวงศ์ไพศาล สัญญาไว้ว่าจะเขียนเรื่อง “การดูแลช่องปากของผู้ติดเชื้อเอดส์” ซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ ก็อย่าลืมติดตามกันให้ได้นะคะ

ขอขอบคุณผู้ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ
- รศ. ลัคณา เหลืองจามีกร ภาควิชาเวชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ทญ. จันทนา อึ้งชูศักดิ์ กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ข้อมูลสื่อ

174-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 174
ตุลาคม 2536
หมอปุ้ย