• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กะบังลมหย่อน

กะบังลมหย่อน


“คุณหมอครับ วันก่อนเจอเพื่อนมาจากต่างจังหวัด เล่าให้ฟังว่าจะมาผ่าตัดมดลูก ที่โรงพยาบาล เจ้าตัวบอกว่า เป็นโรคกะบังลมหย่อนมาหลายปีแล้ว หมอจะผ่าตัดให้ก็กลัว ผัดผ่อนมาเรื่อย จนทนรำคาญเรื่องฉี่ราดบ่อยๆ ไม่ไหว คราวนี้จึงยอมมาผ่าตัด ผมฟังแล้วก็ยังไม่หายสงสัยว่ากะบังลมข้องอะไรกับมดลูกด้วย” ลุงขาวเอ่ยถามขึ้นเมื่อมีโอกาสได้พบคุณหมออีกครั้งหนึ่ง

“ก่อนอื่นคงต้องถามคุณลุงก่อนว่า คุณลุงพอทราบไหมว่ากะบังลมกับมดลูกอยู่ตรงส่วนไหนภายในร่างกายของคนเรา” คุณหมอไม่ยอมตอบตรงๆ

“วันนั้นผมก็ลองเปิดพจนานุกรมดู ก็พอจะทราบกล้ามเนื้อและเนื้อพังผืดกั้นระหว่างช่องท้องและช่วงอก ยืดหดได้เพื่อช่วยในการหายใจ ส่วนมดลูกนั้นตั้งอยู่ในบริเวณท้องน้อย แทรกอยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะและทวารหนัก” คุณลุงตอบอย่างมั่นใจ เพราะได้ค้นดูเอกสารหนังสือมาก่อนแล้วตามนิสัยของคนช่างศึกษาค้นคว้า “น่าแปลกใจที่ไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า ‘กะบังลมหย่อน’ จึงต้องมาถามคุณหมอ เผื่อจะได้ความกระจ่างบ้าง”

"สมัยที่จบออกไปทำงานที่ต่างจังหวัดใหม่ๆ เคยเห็นคนไข้ผู้หญิงสูงอายุ มดลูกไหลโผล่มาตุงที่ช่องคลอด ภาวะเช่นนี้ภาษาหมอ เรียกว่า ’ลูกโผล่’ หรือ uterine prolapse เป็นผลมาจากการคลอดบุตร ยิ่งคลอดจำนวนหลายท้องหรือคลอดลำบาก ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยึดเหนี่ยวตัวมดลูกเกิดการหย่อนยานเมื่อแก่ตัวก็จะเกิดภาวะนี้ได้” คุณหมออธิบาย

“ตอนนั้นญาติคนไข้ก็ถามว่า เป็นโรคกะบังลมหย่อนหรือไม่ ผมฟังแล้วรู้สึกงง ตอบเขาไม่ถูก ต่อมาเจอคนไข้แบบนี้อีกหลายคน ชาวบ้านต่างก็บอกว่าเป็นโรคกะบังลมหย่อน จึงได้เข้าใจว่าภาวะมดลูกโผล่นี่ชาวบ้านเขาเรียกว่า กะบังลมหย่อน ก็เหมือนกับการเรียกภาวะรกติดว่า ‘รกบิน’ อย่างที่เราคุยกันเมื่อคราวก่อนนั่นแหละ กะบังลมในที่นี้คงมีความหมายคนละอย่างกับคำว่า ‘กะบังลม’ จามที่คุณลุงไปค้นมาจากพจนานุกรมดังกล่าวข้างต้น”

“ฟังคุณหมออธิบายแล้วรู้สึกกระจ่างขึ้นแยะ” คุณลุงทบทวน “กะบังลมหย่อนที่ชาวบ้านพูดๆ ทั้งนั้น ที่แท้ หมายถึง กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยึดเหนี่ยวตัวมดลูกเกิดการหย่อนยาน มิใช่กะบังลมที่ใช้ช่วยการหายใจเกิดการหย่อนยาน จึงส่งผลต่อการทรงตัวของมดลูก ทำให้ไหลเลื่อนจากตำแหน่งในท้องน้อยลงมาที่ช่องคลอดเกิดเป็นภาวะที่ผิดปกติไป การรักษาจึงต้องอาศัยการผ่าตัดแก้ไข กินยาคงไม่ได้ผลใช่ไหม”

“ถูกแล้ว อันนี้เป็นความผิดปกติของโครงสร้าง การกินยาไม่สามารถแก้ไขตัวโครงสร้างให้กลับคืนสภาพเดิม ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดเพียงประการเดียว” คุณหมอกล่าวยืนยัน

“ขอถามอีกข้อเป็นการแถมท้าย คือ ทำไมเพื่อนผมคนนี้จึงมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือฉี่ราดบ่อยล่ะครับ”

“หมอเข้าใจว่า คนไข้คงมีการหย่อนยานของผนังช่องคลอดร่วมด้วยทำให้กระเพาะปัสสาวะไหลถ่วงลงไปที่ช่องคลอด ทำให้กลไกการกลั้นปัสสาวะเกิดบกพร่องไป เวลาไอหรือจามแรงๆ จึงทำให้เกิดอาการปัสสาวะราดได้ครับ” คุณหมอตอบ

ข้อมูลสื่อ

175-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 175
พฤศจิกายน 2536
ภาษิต ประชาเวช