การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (10) เลือดออกทางช่องคลอด
ครั้งนี้คงมาว่ากันต่อถึงอาการเลือดออกทางช่องคลอดซึ่งคุณผู้หญิงหลายคนกลัวกันนักกลัวกันหนา ลองดูสิว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวและถ้ามีอาการแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป
11.2 เลือดกลางเดือน ในประมาณกึ่งกลางของช่วงที่ไม่มีประจำเดือน (ช่วงระหว่างประจำเดือน) ในหญิงบางคนอาจจะมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดเล็กน้อย (เพียงเปื้อนกางเกงใน) และอาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายในช่วงที่มีไข่ตกจากรังไข่ ไม่มีอันตรายอะไร และไม่จำเป็นต้องตกใจอะไร เลือดจะออกมาเพียงเล็กน้อยแล้วหายไปเองไม่ต้องกินยาหรือใช้วิธีการรักษาอื่นใดทั้งสิ้น
11.3 เลือดหลังคลอด หลังคลอดบุตรจะมีเลือดออกทางช่องคลอดเสมอโดยเฉพาะหลังคลอดใหม่ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็น “น้ำคาวปลา” หลังคลอดบุตรจึงมีเลือดออกทางช่องคลอดเสมอในภาวะปกติ แต่ถ้าเลือดออกมากเกินไปจนชีพจรเต้นเร็ว (เร็วกว่า 110 ครั้ง/นาที) ความดันเลือดตก หายใจเร็ว หน้าซีด มือเท้าเย็น เหงื่อแตก ความรู้สึกตัวลดลง ไม่ปัสสาวะหรือปัสสาวะน้อยมาก แสดงว่าเลือดออกมากเกินไป หรือเรียกว่าภาวะ “ตกเลือดหลังคลอด” ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้เลือด และหยุด (ห้าม) เลือดที่ไหลออกมาโดยด่วน
ในขณะที่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลควรให้นอนหัวค่ำ ใช้มือบีบมดลูกไว้ หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางไว้บนหน้าท้องเพื่อกระตุ้นให้มดลูกหดตัว (ให้มดลูก “เข้าอู่” เร็วขึ้น) ให้น้ำเกลือเข้าเส้นถ้าให้ได้ และให้ยาฉีดกระตุ้นให้มดลูกหดตัวเพื่อลดอาการเลือดออกลง
11.4 เลือดออกในเด็กหญิงหลังคลอด ในเด็กหญิงที่คลอดออกมาใหม่ๆ ในระยะ 1-4 วันแรกหลังคลอด อาจจะมีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดเล็กๆ น้อยๆ ได้ เข้าใจว่า เพราะระดับฮอร์โมนเพศหญิงของแม่ที่มีผลต่อมดลูกของเด็กในระหว่างอยู่ในครรภ์ (อยู่ในท้องแม่) ได้หมดไปอย่างกะทันหันเมื่อเด็กคลอดออกจากครรภ์มารดา ทำให้เยื่อบุมดลูกของเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดเล็กๆ น้อยๆ ได้ ไม่มีอันตราย ไม่ต้องตกใจ และไม่ต้องให้ยาหรือการรักษาอะไร นอกจากการล้างด้วยน้ำแบบการล้างก้นทั่วไป
11.5 เลือดออกทางช่องคลอดในเด็กๆ เลือดที่ออกทางช่องคลอดในเด็กหญิงก่อนมีประจำเดือนครั้งแรก อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
(1) วัยรุ่นก่อนกำหนด (precocious puberty) คือ มีการเจริญเติบโตของลักษณะทางเพศก่อนอายุ 9 ปี เช่น เต้านมใหญ่ขึ้น มีขนที่รักแร้ และหัวหน่าว มีประจำเดือนมา เป็นต้น
เลือดที่ออกทางช่องคลอดในเด็กหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 9 ปี แต่ลักษณะทางเพศเปลี่ยนแปลงเป็นวัยสาวแล้ว จึงถือว่าเป็นเลือดประจำเดือนได้ แต่เป็นเลือดประจำเดือนที่เกิดในอายุน้อยกว่าที่ควร ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากมะเร็งของรังไข่หรือต่อมหมวกไต
เด็กหญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุอันควรจึงควรไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อหาดูว่ามีสาเหตุที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีจะได้รักษาให้หายขาดแต่เนิ่นๆ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องให้การรักษาใดๆ “วัยรุ่นก่อนกำหนด” ในที่นี้จึงไม่ใช่การเลือนแบบหรือการเล่นแบบผู้ใหญ่ (เช่น เล่นเป็นพ่อเป็นแม่หรือเป็นผัวเป็นเมียกันในหมู่เด็กๆ เป็นต้น) แต่เป็นการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศและลักษณะทางเพศก่อนอายุอันควร จึงต้องทำการตรวจรักษาโดยเร็ว
(2) การบาดเจ็บบริเวณอวัยวะเพศภายนอก เช่น หกล้มก้น กระแทกก้อนหิน เก้าอี้ ไม้สะพาน หรืออื่นๆ ทำให้เกิดบาดแผนในบริเวณอวัยวะเพศ และทำให้เลือดไหลออกทางช่องคลอดหรือในบริเวณใกล้เคียงกัน (ทำให้ดูเสมือนว่าไหลออกมาทางช่องคลอด)
พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กอาจตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศภายนอก ถ้าบาดแผลเล็กน้อยก็ล้างและทำความสะอาด แล้วปล่อยไว้เฉยๆ พยายามให้แผลแห้งอยู่เสมอ ทุกครั้งที่เด็กปัสสาวะ ควรจะล้างและทำความสะอาด และทำให้แผลแห้งทุกครั้ง แผลก็จะหายได้เอง ถ้าบาดแผลใหญ่มากหรือเลือดออกมาก ให้ใช้มือที่สะอาดหรือผ้าสะอาดๆ กดที่ปากแผลไว้ แล้วนำส่งโรงพยาบาล เพื่อห้ามเลือดและเย็บแผล
(3) สิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด เด็กเล็กๆ มักจะซุกซนและชอบสอดและดันเมล็ดผลไม้เข้าไปในทวารต่างๆ โดยเฉพาะปาก รูจมูก และช่องคลอด สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เมื่ออยู่ในรูจมูกหรือช่องคลอดนานๆ จะทำให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดเลือดหรือเลือดปนหนองออกมาจากรูจมูกหรือช่องคลอดได้ โดยเด็กเองอาจจะลืมหรือไม่บอกว่าตนใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไป
ถ้าตรวจเองแล้วไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมนั้น หรือเห็นแล้วเอาออกเองไม่ได้ ควรพาไปโรงพยาบาล นอกจากนั้น เด็กๆ ที่ลงไปเล่นน้ำในห้วยหนองคลองบึง หรือไปวิ่งเล่นในบริเวณที่มีทาก หรือปลิง ทากอาจจะคืบคลานเข้าไปในช่องคลอดโดยเด็กไม่รู้ตัว และเกิดอาการเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดได้
ถ้าตรวจพบปลิงหรือทากอยู่ในช่องคลอด ให้ใช้น้ำเกลือเข้มข้น (น้ำเกลือเค็มจัด) สวนล้างช่องคลอดแล้วทากหรือปลิงจะปล่อยตัวของมันหลุดออกมา อย่าใช้คีมหรือมือหยิบหรือดึงตัวปลิงหรือทากแรงๆ เพราะส่วนหัวหรือส่วนปากของมันอาจจะขาดและฝังแน่นอยู่ในผนังช่องคลอด ทำให้เกิดเป็นแผลเน่าเรื้อรังและรักษาลำบากมากขึ้น
(4) ปัสสาวะเป็นเลือด แต่เด็กไม่บอกว่าปัสสาวะเป็นเลือดหรือไม่ได้สังเกตว่าปัสสาวะเป็นเลือด แต่เมื่อเห็นคราบเลือดติดอยู่ที่อวัยวะเพศภายนอก ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอดได้ ในกรณีเช่นนี้ การตรวจอวัยวะภายนอกแล้วไม่พบบาดแผลหรือเลือดในช่องคลอด ควรให้เด็กปัสสาวะดูก็จะพบว่า ที่จริงแล้วเด็กปัสสาวะเป็นเลือด ควรเก็บปัสสาวะไปตรวจที่โรงพยาบาลและพาเด็กไปด้วย
(5) อื่นๆ เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งในช่องคลอดหรือมดลูก เป็นสาเหตุที่พบน้อยในเด็ก ในกรณีใดก็ตามที่ไม่สามารถหาและกำจัดสาเหตุของเลือดออกทางช่องคลอดในเด็กได้แล้ว ควรพาเด็กไปตรวจที่โรงพยาบาลทุกราย
- อ่าน 73,227 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้