• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พิธีกรรมกับการรักษาโรค

พิธีกรรมกับการรักษาโรค

เมื่อเร็วๆ ผู้เขียนได้พบคนไข้ 2 รายที่หายจากโรคด้วยพิธีกรรมทางศาสนา

รายแรก เป็นหญิงอายุร่วม 60 ปี เป็นโรคภูมิแพ้ มีอาการไอ จามเรื้อรังเป็นแรมปี หมอให้ยาแก้แพ้แก้ไอกิน เมื่อกินยาอาการก็ทุเลาได้บ้าง แต่เมื่อหยุดยาอาการก็กำเริบเหมือนเดิม รักษาอยู่เป็นปี ก็มีคนแนะนำให้ไปรักษากับหมอจีน กินยาหม้ออยู่หลายหม้อ ก็ไม่มีทีท่าจะหายขาด

เมื่อเร็วๆ นี้ได้พบคนไข้อีกครั้ง สอบถามอาการภูมิแพ้ คนไข้บอกว่าหายขาดได้หลายเดือนแล้ว "มีคนพาไปหาหลวงพ่อที่วัดๆ หนึ่ง หลวงพ่อสอนสวดบทพุทธานุสสติ ท่องว่า อิติปิโส ภะคะวา ตอนนี้โรคภูมิแพ้หายขาดเลย ไม่ต้องกินยาอะไรทั้งสิ้น”

รายที่สอง เป็นหญิงอายุ 40 กว่าปี มีอาชีพขายอาหาร ป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูง เนื่องจากมีความเครียด กินยาลดความดันติดต่อกันอยู่หลายเดือน ช่วงไหนขาดยาความดันก็ขึ้นสูงอีก มีอยู่วันหนึ่งคนไข้มาปรึกษาหมอว่าจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อทำพิธีถวายสังฆทาน เพื่อสะเดาะเคราะห์ในวันรุ่งขึ้นพอจะเดินทางไปได้หรือไม่ เพราะรู้สึกว่ายังมีอาการไม่สู้สบาย หมอตรวจแล้วบอกว่าไม่ได้

หลังพิธีสังฆทานไม่กี่วัน ได้พบคนไข้อีกครั้ง คราวนี้คนไข้มีท่าทางสบายขึ้น และความดันเลือดก็ลดสู่ระดับปกติทั้งๆ ที่ไม่ได้กินยา

พิธีกรรมมีส่วนในการเยียวยารักษาโรคได้อย่างไร

เหตุผลก็เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของจิต-วิญญาณ

การสวดมนต์ก็ดี การทำสมาธิก็ดี การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ก็ดี ถ้าคนไข้มีความเชื่อความศรัทธาในสิ่งเหล่านี้ จิตใจก็จะสงบ คลายเครียด ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดจากความเครียด เช่น โรคกระเพาะ ความดันเลือดสูง โรคภูมิแพ้ เป็นต้น

ถ้าหากหมอผู้รักษาและคนไข้รู้จักเลือกใช้พิธีกรรมทางศาสนาให้เหมาะสม (รู้จักใช้อย่างแยกแยะ) พิธีกรรมก็น่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพได้

ข้อมูลสื่อ

175-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 175
พฤศจิกายน 2536
อื่น ๆ