• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การปรับร่างกายรับฤดูกาลที่มาเยือน

การปรับร่างกายรับฤดูกาลที่มาเยือน


การเปลี่ยนแปลงฤดูในปลายปีนี้ อาการเริ่มเปลี่ยนจากความอบอ้าวและเปียกชื้นในหน้าฝน มาเป็นอากาศที่แห้งแล้งและเย็นเยือกของหน้าหนาว เมื่อเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรงเกิดอาการไม่สบายและไปหาแพทย์ มักจะได้คำวินิจฉัยที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นหวัดหรือเป็นไข้หวัด ทั้งนี้ตั้งอยู่บนรากฐานทางระบาดวิทยาที่ว่า ช่วงการเปลี่ยนแปลงของฤดู โรคภัยไข้เจ็บที่พบบ่อย คือ โรคหวัดหรือไข้หวัดนั่นเอง

ความจริงถึงแม้ทางการแพทย์แผนตะวันตก (ปัจจุบัน) จะปักใจเชื่อว่า ต้นเหตุของการเป็นหวัด คือ เชื้อ ไวรัส แต่ไม่เคยมีการตรวจหาเชื้อไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นหวัดในแง่ปฎิบัติเลย ทั้งนี้เช่นเดียวกับหลายๆ โรคที่ไม่ทราบสาเหตุ มักจะโยนความผิดให้กับเชื่อไวรัสอยู่เสมอ เนื่องจากพฤติกรรมของไวรัสซึ่งจำเป็นต้องขยายพันธุ์โดยอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มักจะมาและจากโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จึงพิสูจน์ได้ยากว่าเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของความไม่สบาย ในระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงฤดูหรือไม่

มนุษย์จัดอยู่ในสัตว์เลือดอุ่น นั่นหมายความว่า ร่างกายของมนุษย์ สามารถปรับให้อุณหภูมิอยู่ในคงที่ที่ประมาณสภาวะ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งผิดกับสัตว์เลือดเย็น เช่น ปู ปลา กบ เขียด อุณหภูมิกายผันแปรไปตามอากาศหรือฤดู ดังนั้น มนุษย์จึงไม่ต้องจำศีลในฤดูหนาว หรือล้มตายลงในช่วงการเปลี่ยนแปลงของฤดู

การปรับตัวของร่างกายให้มีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

ปัจจัยแรก คือ อาหารการกิน

ในฤดูหนาวและฤดูร้อนจำเป็นต้องแตกต่างกัน ผู้คนที่อยู่ในแถบภาคพื้นเอเชียตอนใต้ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่มีอุปนิสัยกินข้าวกับแกง เมื่อไปศึกษาหรืออาศัยที่ประเทศทางแถบเหนือ จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปนิสัยการกินแบบเดิมมาเป็นการกินนม เนย ขนมปัง มิฉะนั้นจะทนต่อความหนาวเย็นของอากาศในฤดูหนาวไม่ได้ เนื่องจากอาหารที่กินเป็นประจำให้พลังงานไม่เพียงพอ เกิดอาการสั่น ขนลุก เป็นตะคริว และถึงแม้จะสวมใส่เสื้อผ้าหนาที่มีน้ำหนักมากหลายกิโลกรัมจนกล้ามเนื้อปวดเมื่อยตามตัว ก็ยังไม่สามารถสู้กับความหนาวได้ ตราบจนเปลี่ยนมากินอาหารเช่นเดียวกับคนพื้นเมืองจึงรู้สึกอบอุ่น และไม่ต้องใส่เสื้อผ้าหนามาก

ทำนองเดียวกัน ฝรั่งตาน้ำข้าวที่มาเมืองเราในฤดูร้อนเดือนเมษายน จะเกิดอาการเป็นไข้ เหงื่อออกมากผิดปกติ และมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ เนื่องจากไม่ได้กินอาหารที่เค็มและเผ็ด การที่ออกเหงื่อมากเกินไปทำให้เสียเกลือแร่ กล้ามเนื้อจึงเกร็งไม่ผ่อนคลาย หรือบางครั้งเหงื่อไม่ออกจึงเป็นไข้ การกินอาหารไทย เช่น แกงเผ็ด ต้มยำกุ้ง มีเครื่องเทศมากมายที่ช่วยหลั่งเหงื่อให้ปกติไม่มากหรือน้อยเกินไป และทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากเหงื่อได้ ดังนั้น อาหารการกินในฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว จึงควรแตกต่างกัน

ฤดูร้อน กินอหารรสเค็มหน่อยแต่ไม่ต้องเผ็ดมาก กินข้าวแต่น้อยและกินผักมาก

ฤดูฝน ควรกินอาหารเผ็ดเพื่อกระตุ้นให้เหงื่อออกเพราะอากาศเปียกชื้น กินข้าวปริมาณพอสมควร

ฤดูหนาว ควรกินข้าวมากและไม่เค็มจัด กินน้ำแกงร้อนและดื่มน้ำมากๆ

การกินอาหารให้เหมาะสมตามฤดู ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างภายในร่างกายกับสภาพแวดล้อมภายนอก สุขภาพร่างกายจึงแข็งแรง

ปัจจัยที่สอง คือ การปรับตัวของหลอดเลือดรอบนอกตามผิวหนังและหลอดเลือดภายใน

ในฤดูหนาวหลอดเลือดรอบนอกจะหดตัวเพื่อป้องกันเหงื่อออกและการสูญเสียความร้อนให้กับอากาศรอบๆ ตัวเรา ขณะที่หลอดเลือดภายในจะขยายตัว และเนื่องจากหลอดเลือดของร่างกายทั้งภายในและภายนอกอยู่ในลักษณะที่ขนานกันหลอดเลือดที่ขยายตัวสามารถกระจายความร้อนให้กับหลอดเลือดรอบนอกที่หดตัวได้ระดับหนึ่ง ทำให้อุณหภูมิผิวหนังไม่ถึงกับต้องลดลงมากเท่าอุณหภูมิภายนอก

ในทางตรงข้าม ฤดูร้อนหลอดเลือดรอบนอกจะขยายตัวในขณะที่หลอดเลือดภายในหดตัว ความร้อนส่วนเกินถูกกระจายออกพร้อมกับเหงื่อแต่สามารถรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ร่างกายมีระบบปรับเปลี่ยนการไหลเวียนของเลือดเพื่อให้เกิดความสมดุลในอุณหภูมิกาย ถ้าความสามารถนี้บกพร่องไปร่างกายย่อมไม่สบายได้ และอาจสูญเสียความร้อนมากเกินไปจนหนาวสั่นอยู่ตลอดเวลา การที่ร่างกายสั่นหรือขนลุกเป็นการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายอีกวิธีหนึ่ง คนที่จับไข้เนื่องจากร่างกายต้องการเพิ่มอุณหภูมิกายให้สูงกว่า 37 องศาเซลเซียสเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยจึงมีอาการสั่นคล้ายคลึงกับภาวะอากาศหนาวเย็น

ปัจจัยที่สาม คือ การออกกำลังกาย

ฤดูหนาว เป็นช่วงที่เหมาะสมกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬากลางแจ้งมากที่สุด เพราะทำให้ร่างกายอบอุ่นและไม่ค่อยรู้สึกเหนื่อย เนื่องจากหายใจคล่อง ความชื้นในอากาศต่ำ แต่จำเป็นต้องมีการอุ่นเครื่องทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย

ฤดูร้อน เหมาะสำหรับการออกกำลังกายในที่ร่ม ไม่จำเป็นต้องอุ่นเครื่องก่อนออกกำลังกาย แต่อาจยืดเส้นยืดสายก่อนเพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อม

ฤดูฝน เหมาะกับการอบไอน้ำหรือเข้ากระโจมให้เหงื่อออกเป็นครั้งคราว ไม่ควรออกกำลังกายก่อนฝนจะตก เพราะหายใจลำบาก เนื่องจากอากาศมีความชื้นสูง ควรออกกำลังกายหลังจากฝนหยุดตกแล้ว

ปัจจัยสุดท้าย คือ การนอนพักผ่อน

ฤดูหนาว ควรนอนแต่หัวค่ำใช้เวลานอนยาวกว่าฤดูอื่น เนื่องจากกลางคืนยาวกว่ากลางวัน ควรใส่ชุดนอนและห่มผ้าหนาเสมอเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนตอนกลางคืน เวลาลุกขึ้นในตอนเช้าตรู่หรือเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน ควรมีเสื้อคลุมให้ร่างกายอบอุ่น ไม่ควรอาบน้ำตอนกลางคืน และไม่ใช้สบู่เพราะจะทำให้ผิวแห้งและแตกง่าย

ฤดูร้อน เวลานอนสั้นลง สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่สุขภาพไม่ดีจึงควรนอนหลังเที่ยงสักครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง

ฤดูฝน ควรนอนห่มผ้าทื่บริเวณหน้าท้อง ใช้เวลานอนพอสมควร นำผ้าห่มไปตากแดดบ่อยๆ และสวมใส่เสื้อผ้าที่แห้งสนิท ไม่เปียกชื้น

การปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามฤดูกาลทำให้ร่างกายปรับตัวได้ เพื่อให้เกิดภาวะสมดุลได้ง่าย ซึ่งย่อมหมายถึง การมีสุภาพดีทุกฤดูกาลนั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

176-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 176
ธันวาคม 2536
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข