• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กะโหลกศีรษะ

กะโหลกศีรษะ

 


  

เห็นภาพที่นำมาประกอบแล้วบางท่านอาจจะนึกกลัวอยู่ (นิดๆ)ในใจ ด้วยว่าภาพที่เห็นนี้มักจะถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์แทนความกลัว อาทิ ภาพยนตร์ประเภทสยองขวัญอยู่เสมอๆ แต่อย่าไปกลัวเลยค่ะ เพราะเราทุกคนก็ต้องมีกะโหลกแบบนี้เป็นส่วนประกอบเหมือนกันทั้งนั้น ต่างกันก็แต่ว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เรามีกล้ามเนื้อผิวหนังห่อหุ้มอยู่จึงดูสวยงาม แต่ครั้นเมื่อตายไปแล้ว เนื้อหนังเน่าเปื่อยไป ก็คงเหลือเพียงกระดูกเท่านั้นที่อยู่ได้ทนทานกว่า และเมื่อระยะเวลาผ่านไปอีก แม้ซากกระดูกเหล่านี้ก็จะไม่หลงเหลือ คงผุกร่อนสลายไปตามกาลเวลา

เฮ้อ! อ่านถึงตรงนี้ซักรู้สึก “ปลง” ได้บ้างหรือยังคะ

แต่จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากกล่าวถึงคงไม่ใช่เพียงความรู้สึกที่อยากจะให้ปลง แต่เป็นเรื่องราวของส่วนต่างๆ ของกะโหลกศีรษะนี้ด้วยต่างหาก

กระดูกกะโหลกศีรษะ (skull) เปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันอันตรายให้กับศีรษะ นอกจากนี้ยังเป็นชิ้นส่วนกระดูกของร่างกายที่นับว่ามีโครงสร้างซับซ้อนที่สุด แต่ทุกๆ ส่วนที่ถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อรองรับการทำหน้าที่ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน

กระดูกกะโหลกศีรษะประกอบด้วยกระดูกส่วนที่เป็นกะโหลก (cranium) เป็นจำนวนถึง 8 ชิ้น และเพื่อสะดวกแก่การคลอด กระดูกศีรษะทั้ง 8 ชิ้นนี้ จะยังไม่ชิดกันแน่นก่อนคลอด เพราะจะได้สะดวกต่อการทำให้ศีรษะเล็กลงได้ตลอด ช่องที่เหลืออยู่นี้เรียกว่า “ขม่อน” ซึ่งมีเยื่อบางเหนียวขึงอยู่แทน แต่เมื่ออายุมาก เข้า ช่องนี้ก็จะเล็กลงๆ จนในที่สุดช่องเล็กนี้จะหายไป อีกส่วนหนึ่งของกะโหลกศีรษะ คือกระดูกส่วนใบหน้า ซึ่งมีจำนวน 14 ชิ้น (รวมขากรรไกร) นอกจากนี้ยังมีกระดูกชิ้นเล็กๆ อีก 3 ชิ้น อยู่ในหูส่วนกลางด้วย ซึ่งได้แก่ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน ภายในกะโหลกศีรษะถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่องใหญ่ๆ ด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างของสมอง

ช่องแรกนี้อยู่บริเวณท้ายทอย (ฐานของกะโหลกศีรษะ) มีชื่อว่า ฟอร่าเม็น แม็กนั่ม (foraman magnum) ซึ่งเป็นช่องที่ไขสันหลังขึ้นมาต่อกับสมอง และถัดจากบริเวณนี้ไปทางด้านหน้าจะมีเส้นทางเล็กๆ อยู่มากมายซึ่งเป็นทางเดินของเส้นประสาท หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดดำที่ทอดผ่านไปยังสมอ

อีกส่วนหนึ่งที่จะกล่าวถึง คือ บริเวณขม่อนหน้า ซึ่งเปรียบเสมือนหลังคาของกะโหลกศีรษะ เป็นกระดูกศีรษะ เป็นกระดูกที่มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด อยู่ระหว่างกระดูกข้างหน้าผากและกระดูกข้างศีรษะ กระดูกนี้จะปิดเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ

ส่วนสุดท้าย กระดูกบริเวณด้านหน้า ซึ่งเป็นที่บรรจุดวงตาทั้งสองข้าง และเป็นช่องกลางให้อากาศที่ผ่านจากจมูกเข้าไปสู่สมองได้ และที่กระดูกส่วนนี้ยังมีกระดูกขากรรไกรเกาะอยู่ทั้งสองด้านในระดับหู

ถึงแม้ว่ากะโหลกศีรษะของเราในวัยเด็กกับตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะดูไม่แตกต่างกันสักเท่าไร แต่พึงทราบไว้สักนิดเถิดว่า เมื่อผ่านวัยรุ่นไปแล้วกะโหลกศีรษะของคุณจะเริ่มบางลง....บางลง ฉะนั้นก็พึงระวังอย่าไปทดสอบความแข็งกับไม้หน้าสามเข้าล่ะ

ข้อมูลสื่อ

178-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 178
กุมภาพันธ์ 2537