• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เส้นผม

เส้นผม

ผมบนศีรษะของคนเราเริ่มงอกตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา แรกเกิด ทารกมีเส้นผมที่อ่อนนุ่ม เส้นบางและหลุดง่าย แค่นอนถูไปมากับหมอนก็จะร่วงเห็นเป็นรอยแหว่งบริเวณเหนือท้ายทอย เป็นเหตุให้แม่ต้องอุ้มมาปรึกษาหมออยู่บ่อยๆ เมื่อทารกเติบโตขึ้นผมจะเส้นใหญ่และแข็งแรงขึ้นตามลำดับ
จำนวนเส้นผมบนศีรษะมีประมาณหนึ่งแสนเส้น แต่ละคนมีจำนวนแตกต่างกันไม่มาก ที่เห็นบางคนผมดกบางคนผมบางเป็นเพราะขนาดของเส้นผม บางคนผมเส้นเล็กทำให้ดูเหมือนผมน้อย บางคนผมเส้นใหญ่จึงดูผมหนา
ผมมีลักษณะการเจริญเติบโต เป็นวงจรเหมือนใบไม้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่แตกหน่อเล็ก แล้วเจริญงอกงามจนโตเต็มที่แล้วจะหยุดโตเข้าสู่ระยะผลัดใบ เมื่อใบแก่ร่วงไปแล้วจะมีใบอ่อนงอกขึ้นมาแทน
โดยปกติผมจะยาววันละ 0.35 มิลลิเมตร หรือประมาณเดือนละหนึ่งเซนติเมตร เส้นผมใช้เวลาตั้งแต่เริ่มงอกจนโตเต็มที่ประมาณ 6-7 ปี เมื่อสิ้นสุดระยะเติบโต ผมจะเข้าสู่ระยะพัก รากจะเริ่มฝ่อเล็กลงจนไม่มีราก แล้วผมก็จะหลุดไปเหมือนใบไม้ที่ผลัดใบ เมื่อผมหลุดไปแล้ว รากที่ฝ่อก็จะเริ่มเติบโตขึ้นใหม่อีก แล้วผลิตผมให้ยาวออกจนครบวงจร ก็จะร่วงอีก เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ในคนปกติจึงพบมีผมร่วงได้ทุกวัน แล้วแต่ว่าเส้นไหนจะถึงกำหนด จำนวนผมที่ร่วงในแต่ละวัน อาจมี 50-100 เส้น พบว่าผมจะร่วงมากในขณะสระผมและหวีผม เพราะแรงดึงจะทำให้ผมที่อยู่ในระยะพัก พร้อมที่จะร่วงอยู่แล้วหลุดออกได้ง่ายขึ้น

แต่จะมีบางภาวะของร่างกายที่วงจรการเติบโตของเส้นผมเข้าสู่ระยะพักเร็วกว่าปกติ เช่น เมื่อสุขภาพร่างกายอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม มีไข้สูง(เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไทฟอยด์ ไข้เลือดออก) ภาวะเสียเลือด(เช่น การผ่าตัดใหญ่ ภายหลังการคลอดบุตร) ภาวะขาดอาหาร(เช่น คนลดความอ้วนด้วยการอดอาหารมากเกินไป ภาวะเครียดทางอารมณ์(เช่น ความวิตกกังวล การทำงานโดยไม่มีเวลาพักผ่อน) สภาพดังกล่าว ส่งผลต่อการเติบโตของเส้นผม ทำให้การเจริญหยุดชะงักและเข้าสู่ระยะพักเร็วกว่าที่ควร
พบว่าประมาณ 2-3 เดือน ภายหลังการมีปัญหาทางสุขภาพดังกล่าว จะมีผมร่วงเป็นจำนวนมาก และจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 เดือน จึงเริ่มมีผมงอกขึ้นมาแทนผมที่ร่วงไปจนครบจำนวนปกติโดยไม่ต้องรักษา
ผู้ที่อยู่ในสภาวะดังกล่าวเมื่อสังเกตตนเองเห็นว่ามีผมร่วงมากมักจะวิตกกลัวว่าจะร่วงจนหมดศีรษะและไม่กลับเข้าสู่สภาพเดิมอีก จนกลายเป็นคนผมบางไปตลอด ก็จะเริ่มหาวิธีต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันผมร่วงหรือช่วยให้มีผมงอกใหม่ ได้แก่ การเปลี่ยนแชมพูชนิดต่าง ๆ หรือน้ำยานวดผมที่อ้างสรรพคุณป้องกันผมร่วงหรือยาปลูกผม
การเลือกใช้เครื่องสำอางถ้าตรงกับจังหวะที่ผมกำลังขึ้นพอดี ผู้ใช้ก็จะเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าของที่ซื้อมาใช้ได้ผลดี ทั้งที่ความจริงไม่มีความจำเป็นต้องใช้และทำให้สิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์
สิ่งที่ควรปฏิบัติตนคือ ภายหลังอาการไม่สบายต้องบำรุงสุขภาพด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผลไม้สด ผักสด เนื้อสัตว์ อาหารทะเล นม ไข่ เป็นต้น รวมทั้งพักผ่อนสมองด้วยการทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสและไม่เคร่งเครียด
ฉะนั้น เมื่อมีอาการผมร่วงผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อไร ควรนึกถึงประวัติเจ็บป่วยภายใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาก่อนที่จะนึกถึงสาเหตุอื่น มีโรคทางกายหลายโรคที่ทำให้ผมร่วงได้มาก เช่น โรคโลหิตจาง โรคซิฟิลิส โรคของต่อมธัยรอยด์ และโรคเอสแอลอี(SLE)

การตรวจร่างกายและการตรวจเลือด จะสามารถหาสาเหตุของโรคที่เป็น เช่น โรคโลหิตจาง ผู้ป่วยจะผอมซีด อ่อนเพลีย ตรวจเลือดพบความเข้มข้นของเลือดและจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ อาจพบเม็ดเลือดขาวผิดปกติด้วย ถ้าอาการซีดนั้นเกิดจากเป็นโรคของเม็ดเลือด
ส่วนโรคซิฟิลิสซึ่งเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์จะมีประวัติการติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นตามตัวหรือตามฝ่ามือฝ่าเท้า การตรวจเลือดหาเชื้อกามโรคหรือเชื้อซิฟิลิสได้ผลบวก
โรคของต่อมธัยรอยด์แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ต่อมธัยรอยด์พิการและต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ ซึ่งทำให้ผมร่วงได้ ต่อมธัยรอยด์พิการ มีอาการเฉื่อยชา ผิวหนังหนา ลิ้นหนา ท้องผูก ตรวจเลือดพบฮอร์โมนธัยรอยด์ต่ำกว่าปกติ ส่วนต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ มีอาการมือสั่น ใจสั่น ตกใจง่าย เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ อาจมีคอหอยพอกและตาโปน ตรวจเลือดพบฮอร์โมนธัยรอยด์ระดับสูงกว่าปกติ
ส่วนโรคเอสแอลอี ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ต่อตัวเองชนิดหนึ่ง เกิดร่วมกับอาการแพ้แสงแดด มีผื่นแดงที่ใบหน้า มีไข้ ปวดข้อ การตรวจเลือด พบเม็ดเลือดขาวต่ำ และพบโปรตีนที่ผิดไปจากปกติ

โรคเหล่านี้เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องจนหายขาดหรือโรคทุเลาลง ผมก็จะหยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ได้
สำหรับภาวะที่ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนเพศชายทำให้เกิดอาการผมบางหรือศีรษะล้าน เกิดขึ้นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่พบในเพศชายมากกว่า จัดเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยธรรม-ชาติของแต่ละคน ซึ่งยังไม่มียาหรือวิธีรักษาที่ได้ผลดี
ความวิตกกังวลของผู้ที่เป็นที่พยายามสรรหาทุกวิถีทางที่จะทำให้ผมขึ้น ทำให้ตลาดการค้ายาปลูกผม เครื่องสำอาง รวมทั้งนักฉวยโอกาสเป็นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การกินยาบางอย่างอาจทำให้ผมร่วงได้ ตัวอย่างเช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคมะเร็ง ยากันเลือดแข็งตัว ยารักษาโรคธัยรอยด์ ซึ่งเมื่อหยุดยา ผมจะร่วงและกลับมีผมขึ้นเหมือนเดิม

สรุปได้ว่าเมื่อมีอาการผมร่วง ต้องพิจารณาดูว่า เป็นการร่วงตามปกติหรือเปล่า หรือเป็นการร่วงหลังจากหายไข้หรือหลังคลอด ซึ่งไม่ต้องรักษาก็หายเอง หรือเป็นอาการของโรคทางกายที่จำเป็นต้องรักษาตามชนิดของโรคที่เป็น หรือเกิดจากยาที่กิน ซึ่งเมื่อหยุดยาผมก็จะหลุดร่วง
จะเห็นว่าเส้นผมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสุขภาพของร่างกาย เส้นผมที่สวยดกดำเป็นเงางาม จะสะท้อนให้เห็นถึงสุขภาพที่สมบูรณ์ของผู้ที่เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี


 

ข้อมูลสื่อ

193-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 193
พฤษภาคม 2538
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์