• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การพูดผิดปกติ

การพูดผิดปกติ

ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากกองบรรณาธิการหมอชาวบ้าน ให้ช่วยเขียนบทความเกี่ยวกับการพูดผิดปกติ ก็มีความรู้สึกยินดี และได้ตอบรับไป เพื่อที่จะได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ทางด้านนี้สู่ประชาชน ที่จริงแล้วความรู้ทางด้านนี้มีมานานแล้ว แต่ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะว่า คนมักคิดว่าเป็นความผิดปกติที่ไม่ค่อยเป็นอันตรายที่ชัดเจนนัก ไม่ค่อยมีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันมากมาย เลยไม่ค่อยให้ความสนใจกันเท่าใด แต่สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติทางการพูดนั้นก็คงมีความหงุดหงิดกังวลอยู่บ้างเหมือนกัน หรือแม้แต่คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง ผู้ปกครอง ก็คงจะไม่สบายใจนักที่ต้องฟังการพูดที่ผิดปกตินั้น

บทความนี้จะกล่าวถึง การพูดผิดปกติ ที่ท่านหรือคนใกล้ชิดได้ประสบด้วยตัวเอง จะได้ทำความเข้าใจ และจะได้ดูแลตนเอง ตลอดจนการแนะนำคนรอบข้างได้พอสมควรการพูดผิดปกติ ถ้าจะเขียนได้ละเอียดจริง ๆ คงจะแต่งเป็นตำราขนาดใหญ่ได้หลายเล่มทีเดียว แต่ผู้เขียนจะเขียนพอเป็นสังเขปให้ผู้อ่านได้เข้าใจเท่านั้น คงไม่ลงรายละเอียดให้ลึกซึ้ง

ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการบัณฑิตศึกษา ภาควิชาโสด นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดการเรียนการสอนผลิตบุคลากร สาขาความผิดปกติทางการสื่อความหมาย ซึ่งจะเป็นบุคลากรที่จบออกมาทำงานด้านการตรวจสอบ วินิจฉัยและการแก้ไขการพูดผิดปกติ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 แล้ว บุคลากรทางด้านนี้ได้กระจายกันออกไปรับใช้ประชาชนทั่วประเทศ แต่ไม่มากเท่าที่ควร ทั่วประเทศคงมีไม่เกิน 30 คน นับว่าน้อยมาก สำหรับประชากรทั้งประเทศ 60 ล้านคน
 

การพูดผิดปกติคืออะไร
การพูดที่จัดว่าพูดผิดปกตินั้น เป็นการพูดที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก ลำบาก ทั้งการพูดของผู้พูด และการฟังของผู้ฟัง จนบางครั้งผู้พูดก็ไม่อยากพูด ผู้ฟังก็ไม่อยากฟัง (แต่ก็ต้องพูดและก็ต้องฟัง) หรือทำให้การติดต่อสนมนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก การสื่อสารผิดพลาด อาการทั้งหมดเป็นลักษณะของการพูดผิดปกติ ซึ่งพอจะแบ่งประเภทของการพูดผิดปกติ ได้ดังนี้

1. การพูดไม่ชัด เป็นการพูดผิดปกติแบบผลิตคำพูดออกมาไม่ถูกต้องตามความหมายที่ผู้พูดอยากจะพูด ทำให้ผู้ฟังฟังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจเป็นอย่างอื่น การพูดไม่ชัดเป็นได้ทั้งตัวพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ซึ่งเราพบได้บ่อย ๆ ในเด็กเล็กที่เริ่มหัดพูดจะมีอาการพูดไม่ชัดอยู่มาก เป็นต้น

2. เสียงพูดผิดปกติ เป็นอาการพูดผิดปกติของเสียงที่เปล่งออกมาผิดไปจากปกติ เช่น อาการเสียงแหบแห้ง อู้อี้ หรือแม้แต่เสียงพูดไม่เหมาะสมกับวัย เพศ ก็เป็นอาการผิดปกติของเสียงพูดเช่นกัน

3. จังหวะของการพูดผิดปกติ เป็นความผิดปกติของการที่ไม่สามารถควบคุมจังหวะของการพูดให้ราบรื่นได้ เช่น พูดช้าเกินไป พูดรัวเร็วเกินไป พูดติดอึก ๆ อัก ๆ เช่น การพูดของคนพูดติดอ่าง หรือการพูดของคนที่กำลังประหม่า ตกใจ หวาดกลัว เป็นต้น

4. การใช้ภาษาผิดปกติ เป็นอาการของการพูดผิดปกติแบบมีความลำบากยุ่งยากในการนึกคิดคำพูดออกมา หรือการไม่เข้าใจคำพูดของผู้อื่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง เช่น การพดของผู้ป่วยที่เคยมีประวัติหลอดเลือดในสมองแตก หรือสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เป็นต้น

5. เด็กเริ่มหัดพูดช้า เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว การอ้อแอ้ การเล่นเสียงต่าง ๆ ของเด็ก จะพัฒนามาเป็นคำพูดอยู่ในช่วงอายุไม่ควรเกิน 2 ขวบ เพราะฉะนั้นหากเด็กคนไหนอายุเกินจากนี้ แล้วยังไม่พูดออกมาเป็นคำให้เราได้ยินสักคำ ถือว่าเด็กคนนี้ “เริ่มหัดพูดช้า” เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่พูดเสมอว่า “เด็กปากหนัก” นั่นเอง ดังนั้นหากผู้ปกครองท่านใดที่มีบุตรหลาน มีอาการดังนี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุ และช่วยเหลือแก้ไขต่อไป

ทั้งหมดนี้ผู้เขียนได้เขียนพอให้ผู้อ่านได้ทราบว่า การพูดที่จัดว่าเป็นการพูดที่ผิดปกตินั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง ตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงรายละเอียดของความผิดปกติของการพูดแต่ละประเภท ตลอดจนถึงสาเหตุและการบำบัดแก้ไข เพื่อนท่านผู้อ่านจะได้นำไปใช้ในโอกาสต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

193-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 193
พฤษภาคม 2538
อจ.ปริญญา หลวงพิทักษ์ชุมพล