• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลิ่นนั้นสำคัญไฉน?

...ทำไมกลิ่นหอมๆเมื่อดมแล้วจึงรู้สึกสบาย คลายความตึงเครียด ขณะที่มีบางกลิ่นเมื่อดมแล้วรู้สึกสะอิดสะเอียน บางกลิ่นดมแล้วหวนนึกถึงอดีต บางกลิ่นดมแล้วก็เร้าใจ...

ลองใช้จมูกสูดดมกลิ่นรอบๆตัว ได้กลิ่นอะไรบ้าง คุณอาจได้กลิ่นหอมของผลไม้ที่สุกน่ากิน กลิ่นไก่ย่าง กลิ่นไอทะเล บางทีอาจได้กลิ่นของคนรักด้วย (หอมจัง)
ในบรรดาความเพลิดเพลินจำเริญใจที่ได้จากประสาทสัมผัสนั้น การดมกลิ่นหรือภาษายากๆเรียก “นาสิกสัมผัส” ดูจะมีความสำคัญน้อยกว่าการได้ยิน หรือการมอง มักถูกมองข้ามไป ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความผิดปกติทางประสาทสัมผัสคนหนึ่งกล่าวว่า คนเรามักไม่ค่อยให้ความสำคัญของกลิ่นถึงระดับจิตสำนึกได้

การวิจัยใหม่ๆทางกลิ่น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างกลิ่นกับอารมณ์ ทั้งนี้เพราะกระแสประสาทของกลิ่นสามารถถ่ายทอดไปที่สมองได้เร็วกว่ากระแสประสาทชนิดอื่นๆ เป็นต้นว่า กระแสประสาทของแสง หรือเสียง กระแสประสาทของกลิ่นเคลื่อนที่ถ่ายทอดโดยตรงจากจมูกไปยังสมองบริเวณระบบลิมบิก (Limbic system) ซึ่งเป็นส่วนควบคุมเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอารมณ์

ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดนี้ กลิ่นจึงมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตคนเรามากกว่าที่คิดไว้ นักวิจัยของบริษัทแห่งหนึ่งที่ผลิตสินค้าเกี่ยวข้องกับกลิ่น ทำการศึกษาคนจำนวนมากกว่า 2,000 ราย พบว่า ประสาทสัมผัสทางกลิ่นอาจมีความสำคัญที่สุดในการทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี นอกจากนี้ยังพบว่า

- กลิ่นอาจใช้เป็นวิธีบำบัดความเครียดที่มีประสิทธิภาพ ลดความดันโลหิต และบรรเทาความเจ็บปวดได้ วิธีนี้ทำให้เกิดการรักษาชนิดใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “การรักษาด้วยกลิ่นหอม” (Aromatherapy)
- กลิ่นบางอย่างอาจทำให้ความจำที่ลืมเลือนไปนานนั้นกลับจำขึ้นมาใหม่ได้ มีผลต่อการรับรู้และพฤติกรรม
- กลิ่นมีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพศ
- การปรับปรุงความสามารถในการดม (กลิ่น) จะทำให้ชีวิตเกิดความเพลิดเพลินอย่างใหม่ขึ้นมา

ข้อสำคัญอยู่ที่เราต้องฝึกให้จมูกเกิดการเรียนรู้ในกลิ่น เพิ่มศักยภาพของการดม
การรักษาด้วยกลิ่นหอม : การรักษา (อาการทางประสาท) ด้วยกลิ่นหอมๆนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับการนำคุณสมบัติของกลิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์

เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยเยล นักจิตวิทยาชื่อ แกรี สจ๊วต ได้ทดลองถามปัญหาที่บีบคั้นทางจิตใจกับนักศึกษาจำนวน 48 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกก่อนถูกตั้งคำถามให้ดมกลิ่นหอมของดอกไม้ชนิดพิเศษอย่างหนึ่งรวมทั้งกลิ่นของผลแอปเปิ้ล อีกกลุ่มไม่ให้ดมอะไรเลย พบว่ากลุ่มแรกจะมีการหายใจสบายๆช้าๆ กล้ามเนื้อมีการผ่อนคลาย ความดันเลือดไม่สูง หัวใจเต้นไม่ถี่หรือรัว นอกจากนี้ยังพบว่า คนกลุ่มนี้มีความสุข ความสบายใจคลายความตึงเครียดมากกว่าความกังวลใจ หรือความเขินอายก็มีน้อยกว่าด้วย

สำหรับผลในการรักษานั้น พบว่าการดมกลิ่นที่หอมจะช่วยบรรเทาอาการตื่นตระหนกตกใจ อาการชักของลมบ้าหมู ภาวะง่วงหลับ นอกจากนี้วิธีดังกล่าวยังอาจนำมารักษาความกังวลใจ ความเหนื่อยล้า อาการนอนไม่หลับ กินจุกจิก อาการปวดหัวแบบไมเกรน โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ในอนาคต การรักษาด้วยกลิ่นหอมจะเป็นที่คุ้นเคยยิ่งขึ้น ที่ญี่ปุ่นได้มีการศึกษาการนำวิธีนี้มาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆที่เกิดในชีวิตประจำวัน เป็นต้นว่า อาการคลื่นเหียน วิงเวียน มึนงง

การดมกลิ่นเมื่อตอนอายุ 6 ขวบ และตอนอายุ 60 :
จากการศึกษาพบว่า การดมกลิ่นจะเปลี่ยนไปตามอายุ ในทารกแรกเกิดนั้น การดมกลิ่นจะมีระบบเพียงไม่กี่อย่างที่สามารถใช้งานได้ดี ทารกจะตอบสนองต่อกลิ่นหอมๆในทางบวก ส่วนกลิ่นไม่ดีจะตอบสนองในทางลบ และเป็นที่น่าแปลกใจว่า ทารกแรกเกิดเพียง 2 วัน สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างนมของมารดากับของคนอื่นได้

เมื่อโตเป็นหนุ่มสาว รสนิยมของกลิ่นจะผิดไปจากเมื่อตอนเป็นเด็ก นักวิจัยบางคนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มีสาเหตุจากทางด้านชีววิทยา แต่เป็นเพราะอิทธิพลของวัฒนธรรม ประเพณี

ดร.ริชาร์ด แอล. ดอตทิ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียได้ศึกษาความสามารถในการแยกแยะกลิ่นจากคน 1,955 คน อายุระหว่าง 5 ถึง 99 ปี พบว่า ทักษะในการแยกแยะกลิ่นจะดีที่สุดในช่วงอายุ 20 ถึง 40 ปี และจะค่อยๆลดลงเมื่ออายุ 40 ถึง 70 ปี หลังจากอายุ 80 ปีไปแล้ว ความสามารถในการแยกกลิ่นจะลดลงอย่างรวดเร็ว

กลิ่นช่วยเตือนความจำ :
เรื่องที่เกิดมานานแล้วลืมไปนั้น อาจทำให้หวนระลึกได้อีกด้วยกลิ่น เราจำกลิ่นได้นานกว่า สิ่งที่เห็นด้วยตาหรือได้ยินด้วยหู นักจิตวิทยาชื่อ ทริก เอ็งเกน พบว่า คนทั่วไปจำกลิ่นได้ถูกต้อง 65% แม้เวลาจะล่วงมาถึง 1 ปี ในทางตรงข้าม การหวนรำลึกถึงภาพที่เห็นจะลดลงไปราว 50% เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 4 เดือนเท่านั้น

กลิ่นที่ดมได้จะถูกเก็บในรูปรหัสในหน่วยความจำ ลักษณะเป็นภาพที่สมบูรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งการรำลึกถึงกลิ่นจะทำให้จำภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน รสชาติที่ได้ลิ้มได้ นอกจากนั้น การหวนคิดถึงกลิ่นใดกลิ่นหนึ่งได้ สามารถกระตุ้นอารมณ์ที่รู้สึกในครั้งนั้นได้ด้วย

กลิ่นยังมีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวด้วย จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัยวาร์วิก ประเทศอังกฤษ พบว่า เมื่อให้นักศึกษาดมกลิ่นชนิดหนึ่งขณะทำข้อสอบ ผลที่ออกมา คือทุกคนทำคะแนนได้ต่ำกว่าปกติ และเมื่อให้นักศึกษาเหล่านั้นดมกลิ่นนี้อีกในเวลาต่อมา พบว่า มีมากกว่าครึ่งเกิดอาการซึมเศร้า จึงอาจเรียกกลิ่นนี้ว่า “กลิ่นแห่งความล้มเหลว” ในทางตรงกันข้าม มีกลิ่นที่เรียกว่า “กลิ่นแห่งความสำเร็จ” กลิ่นนี้เสริมแรงให้คนที่ดมเกิดความมั่นใจ เชื่อมั่นในตนเอง

มาเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการดมกลิ่น : คุณผู้อ่านสามารถบอกความแตกต่างของกลิ่นชนิดหนึ่งกับอีกชนิดได้หรือไม่ จากการศึกษาพบว่า คนทั่วไปสามารถบอกชื่อสิ่งของได้ถูกต้องราว 70% ของกลิ่นที่ดมได้ทั้งหมด แต่คนที่ดมกลิ่นได้ปกติทุกคนจะมีจุดบอดในการดมกลิ่นอย่างน้อยที่สุด 1 กลิ่น กลิ่นที่คนหนึ่งบอกได้ถูก จะเป็นกลิ่นที่อีกคนไม่สามารถบอกได้

จากการฝึกการดมกลิ่น เราสามารถกลั่นกรองความสามารถในการดมกลิ่นที่ซ่อนอยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ การที่เราบอกกลิ่นไม่ถูกนั้นเป็นเพราะเรามีคำศัพท์ในการบอกชื่อกลิ่นน้อย อีกประการหนึ่งคือ เรามักให้ความสำคัญของภาพที่เห็นมากกว่ากลิ่นที่ดม และมักทึกทักเอาว่าของที่ดูเหมือนกันจะมีกลิ่นเหมือนกัน ของที่ดูแตกต่างกันจะมีกลิ่นต่างกันด้วย

แต่จากการฝึกหัด ผู้ฝึกบางคนสามารถเพิ่มศักยภาพในการแยกแยะกลิ่นได้อย่างเฉียบขาด ยิ่งฝึกมากเท่าไรก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น วิธีฝึกง่ายๆคือ ให้คู่หูนำของมาให้ดมในขณะที่เราปิดตาอยู่ สูดดมครั้งหรือสองครั้ง คิดพิจารณาสักครู่ แล้วทายว่ากลิ่นนั้นเป็นกลิ่นของอะไร

เผลอๆคุณอาจกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการดมกลิ่นขึ้นมาก็ได้!

 

 

ข้อมูลสื่อ

97-004-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
มงคล ตันติสุวิทย์กุล