• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บัวสาย : สัญลักษณ์แห่งเยื่อใยและความลึก

บัวสาย : สัญลักษณ์แห่งเยื่อใยและความลึก


                                 “ก้านบัวบอกลึกตื้น                      ชลธาร
                                 มารยาทส่อสันดาน                     ชาติเชื้อ
                                โฉดฉลาดเพราะคำขาน                ควรทราบ
                                หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ            บอกร้าย แสลงดินฯ”

โคลงสี่สุภาพที่ยกมาข้างต้นนี้ คัดมาจากหนังสือโคลงโลกนิติ พระนิพนธ์สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร กล่าวถึงลักษณะบางระการของมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งเรียนรู้ได้จากสิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น ความลึกของแหล่งน้ำกับความยาวของก้าน(ใบหรือดอก)บัว เป็นต้น
จากโคลงโลกนิติบทนี้แสดงว่า คนสมัยก่อนสังเกตเห็นและเข้าใจธรรมชาติของบัวเป็นอย่างดีจนกระทั่งทราบว่าความยาวของก้าน(ใบและดอก)บัวจะเท่า(หรือใกล้เคียงมาก) กับความลึกของแหล่งน้ำนั้น แต่เนื่องจากบัวมีหลายชนิด บางชนิดก็ไม่สามารถนำมาใช้บอกความลึกของแหล่งน้ำได้ ดังนั้นบัวที่ปรากฏในโคลงโลกนิตินี้จึงคงหมายถึง บัวชนิดที่บอกความลึกของแหล่งน้ำได้เท่านั้น ซึ่งบัวดังกล่าวเรียกรวมกันว่า บัวสาย

 

บัวสาย : บัวที่ให้สาย (บัว)
บัวสายเป็นชื่อรวมของพืชในวงศ์ Nymphaeaceae สกุล Nymphaea เป็นพืชล้มลุกขึ้นอยู่ในน้ำ เหง้าฝังอยู่ในโคลนตม ก้านใบและก้านดอกเป็นสายยาวเชื่อมระหว่างเหง้า(ลำต้นใต้ดิน) กับใบหรือดอกที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ มีเปลือกเป็นเยื่อบาง ๆ หุ้มก้านใบและก้านดอก เนื้อในก้านโปร่ง หากเด็ดออกจากกันจะมีเส้นใยบาง ๆ เชื่อมต่อระหว่างทั้งสองส่วน ใบเป็นแผ่นบางอ่อนกลมลอยบนผิวน้ำ ดอกโผล่พ้นผิวน้ำ ด้านนอกมีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ ภายในมีกลีบดอกหลายชั้น มีผลเป็นฝักกลม ๆ เรียกว่าโตนดบัว ภายในผลมีเม็ดกลมขนาดเล็ก ดอกของบัวสายมีหลายสีแตกต่างกันไปตามชนิด เช่น ดอกสีชมพู ขาว แดง เหลือง เขียว คราม น้ำเงิน ฯลฯ

ลักษณะร่วมกันของบัวสายแต่ละชนิดก็คือ มีก้านใบและก้านดอก เป็นสายอ่อนและไม่มีหนาม ลอกเปลือกได้ โดยเฉพาะก้านดอกมีคำเรียกเฉพาะว่า สายบัว เมื่อปอกหรือลอกเอาเปลือกออกแล้วใช้เป็นผักได้ นับเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมอย่างหนึ่งของชาวไทย โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เช่น ลุ่มน้ำในภาคกลาง เป็นต้น
สายบัวได้จากบัวหลายชนิด แต่สายบัวที่ชาวไทยนิยมนำมาบริโภค เป็นผักมากที่สุดมาจากบัวที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่า บัวสาย นั่นเอง

บัวสายมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Nymphaea lotus Linn. Var. pubescens Hook. F. et Th. ใบเป็นแผ่นกลม ขอบใบเป็นยัก ดอกมีสีแดง(ชมพูแก่) หรือขาว (พันธุ์ดอกขาวเรียกว่าสัตตบรรณ) บัวสายนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตที่ราบลุ่มของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย จึงเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมาเนิ่นนาน ซึ่งนอกจากใช้เป็นผักแล้ว ยังนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบในภาษาไทยอีกด้วย


 

ความหมายของสำนวนที่มาจากบัวสาย
สำนวนแรกที่ชาวไทยคุ้นเคยกันมากจนปัจจุบันก็คือ “แม่สายบัง แต่งตัวเก้อ” หรืออาจใช้สั้น ๆ ว่าแม่สายบัวก็เข้าใจได้เช่นกัน ความหมายของสำนวนนี้ก็คือ การที่ใครสักคนเตรียมตัวเตรียมใจอย่างเต็มที่ โดยคาดหวังว่าจะมีบุคคลหรือเหตุการณ์ที่รอคอยมาหาหรือบังเกิดขึ้นแต่ในที่สุดก็ผิดหวัง เราเรียกใครคนนั้นว่าแม่(พ่อ)สายบัว
ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนเป็นข่าวใหญ่ทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ กรณีดาราสาวและญาติมิตรไปรอทำพิธีหมั้นที่โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่ง แล้วว่าที่คู่หมั้นไม่มาปรากฏตัว ก็ทำให้ดาราสาวถูกเรียกว่า “แม่สายบัว” หรือเมื่อหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 นักการเมืองกลุ่มหนึ่งแต่งตัวชุดขาวเต็มยศ รอคอยพระราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่คาดว่าจะมีอัญเชิญมาวันนั้น แต่ปรากฏว่ากลายเป็นผู้อื่นได้เป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองกลุ่มนั้นจึงกลายเป็น “พ่อสายบัว” เผยแพร่ออกทางจอโทรทัศน์รับรู้กันทั่วประเทศ เป็นต้น

อีกสำนวนหนึ่งที่นิยมใช้อยู่ก็คือ “เด็ดบัวยังเหลือใย” หมายถึงความสัมพันธ์ที่แม้จะขาดกันไปแล้ว แต่ยังมีความผูกพันทางใจอยู่ เช่น สามีภรรยาที่หย่ากันแล้วบางคู่ก็ยังรักกันอยู่ สำนวนนี้มาจากธรรมชาติของสายบัวที่แม้จะเด็ดให้ขาดออกจากกัน แต่ยังมีสายใย(เรียกว่าใยบัว) เชื่อมโยงระหว่างกันอยู่ ใยบัวนี้มีความเหนียวและยืดได้จนเป็นเส้นเล็กมาก เด็ก ๆ ในชนบทมักชอบเด็ดสายบัวเป็นท่อน ๆสั้น ๆ ที่มีใยบัวติดกันอยู่ ใช้เป็นสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอได้ ดังปรากฏในวรรคดีอิเหนาตอนหนึ่งว่า “นางทรงหักห้อยเป็นสร้อยบัว สรวมตัวกำนัลสาวศรี” นอกจากกล่าวถึงใยบัวโดยตรงแล้ว ลักษณะเหนียวและบางเบาของใยบัวยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับความรู้สึกของมนุษย์ด้วย เช่น คำว่าห่วงใย หรือยังเหลือเยื่อใย

คนไทยรุ่นใหม่คงไม่เคยได้ยินหรือไม่เข้าใจความหมายของสำนวน “มุ้งสายบัว” กันแล้ว ในอดีตนั้นสำนวนนี้ใช้กันแพร่หลาย มีความหมายถึงคุกหรือตะรางนั่นเอง การได้ไป “นอนมุ้งสายบัว” หมายถึงการติดคุก ทั้งนี้เพราะห้องคุ้มขังนักโทษสมัยนั้นนิยมใช้ซี่กรงเหล็กวางแนวตั้งเป็นฝากั้นซี่กรงเหล็กมีขนาดคล้ายสายบัว จึงเรียกห้องขังว่า “มุ้งสายบัว” ฟังดูดีกว่าห้องขังหรือคุกตะรางมาก
อีกสำนวนหนึ่งที่อยากนำมากล่าว เพราะชาวไทยยังนิยมใช้กันอยู่ก็คือ สำนวน “บัวสี่เหล่า” ซึ่งมีที่มาจากพุทธศาสนา หมายถึงบุคคล 4 จำพวก ที่แบ่งตามระดับสติปัญญาหรือความพร้อมในการเรียนรู้ความจริงหรือสัจธรรม โดยเปรียบสภาพที่บุคคลรู้ความจริง (สัจธรรม) กับอาการบานของดอกบัว
ท่านเปรียบบุคคล 4 จำพวกกับบัว 4 เหล่า คือ
1. ดอกบัวที่ตั้งพ้นน้ำ รอสัมผัสแสงอาทิตย์ที่จะบานในวันนี้
2. ดอกบัวที่ตั้งอยู่ปริ่มน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้
3. ดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ ยังไม่โผล่พ้นน้ำ จักบานในวันต่อ ๆไป
4. ดอกบัวจมอยู่ในน้ำลึกหรือโคลนตม ที่จะกลายเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า ไม่มีโอกาสได้บานเลย
ความเชื่อเกี่ยวกับระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคลเหมือนบัว 4 เหล่านี้ ช่วยให้การเรียนรู้หรือการสอนเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ก่อนที่จะมีระบบวัดเชาว์ปัญญา(ไอคิว I.Q) อย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน

 

สายบัว : ผักพื้นบ้านจากแหล่งน้ำ
ในอดีตเมื่อปลายฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม น้ำก็จะเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมท้องทุ่งในเขตที่ ลุ่มภาคกลาง หลังจากนั้นพืชน้ำชนิดต่างๆก็จะงอกงามขึ้นมาเองมากมาย และหลายชนิดใช้เป็นผักได้ดีเช่นบัวสาย เป็นต้น ชาวบ้านจะพายเรือออกไปในทุ่งแล้วเลือกเก็บสายบัวจากดอกบัว จากดอกบัวที่ยังตูมอยู่ ออกแรงดึงเบา ๆ สายบัวก็หลุดจากเหง้า หากน้ำลึกก็จะได้สายบัวยาวจนต้องนำมาขดเป็นวงกลม ๆ คล้ายงู หากยังไม่ใช่ก็นำไปลอยน้ำเก็บไว้ได้หลายวัน โดยไม่แห้งเหี่ยวหรือเน่าเสีย

เมื่อนำสายบัวมาใช้เป็นผักก็ต้องลอกเอาเปลือกหุ้มออก แล้วเด็ดดอกทิ้ง ก้านดอกที่ได้จะถูกเด็ดเป็นชิ้นๆ ใช้กินเป็นผักสด ผักดอง แกงส้ม หรือแกงกะทิ ฯลฯ ก็ได้ นอกจากนั้นยังทำขนมได้อีกด้วย
ตอนผู้เขียนเป็นเด็กชอบออกไปเก็บสายบัวสายชนิดหนึ่งที่ชาวสุพรรณเรียกว่า ดอกบรรจง สายบัวของดอกบรรจงมีขนาดเล็กกว่าสายบัวปกติ แต่มีคุณสมบัติพิเศษคือ สายบรรจงจะมีกลิ่นหอม เมื่อนำมาทำขนมจะมีกลิ่นหอมซึ่งขนมสายบัวธรรมดาไม่มี แต่เนื่องจากสายบรรจงหา ได้ยากและมีขนาดเล็กกว่าสายธรรมดา กว่าจะหาเก็บสายบรรจงมาได้มากพอทำขนม จึงเสียเวลามากกว่าเก็บสายบัวหลายเท่า ผู้ใหญ่จึงไม่นิยมใช้สายบรรจงมาทำขนมให้เด็ก ๆ กิน นอกจากเด็ก ๆ จะเก็บมาให้เอง
นอจากขึ้นเองตามท้องทุ่งแล้ว สายบัวยังขึ้นได้ในหนองบึงหรือคูน้ำข้างถนน แม้แต่บ่อน้ำในบ้านก็ขึ้นได้ดี ข้อจำกัดก็คือหากระดับน้ำตื้น ก็จะได้สายบัวสั้น

 

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ จากบัวสาย
นอกจากใช้เป็นผักแล้ว บัวสายบังปลูกเป็นไม้ประดับได้ดีอีกด้วย เนื่องจากบัวสายมีหลายชนิด จึงมีหลายขนาด รูปร่างของใบและดอก แตกต่างกันไป โดยเฉพาะรูปทรงขนาด และสีของดอกมีมากมาย เพราะนอกจากมีหลากหลายตามธรรมชาติแล้ว ยังมีผู้นำมาผสมพันธุ์จนได้บัวสายที่งดงาม เหมาะสำหรับปลูกในอ่างบัวหรือกระถางเคลือบขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้าน เป็นไม้ประดับที่ดียิ่งชนิดหนึ่งซึ่งดูแลรักษาไม่ยาก ราคาไม่แพง ยิ่งกว่านั้นก้านดอก(สายบัว) ยังนำมาทำอาหารได้อีกด้วย น่าที่ผู้อ่านจะลองหามาปลูกเอาไว้เป็นอาหารตา อาหารปาก และอาหารใจ เป็นเสมือนสายใยเชื่อมระหว่างคนกับธรรมชาติที่นับวันจะถูกดึงห่างออกจากกันยิ่งขึ้นทุกขณะ
 

ข้อมูลสื่อ

195-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 195
กรกฎาคม 2538
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร