• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดตา-ต้อหินเฉียบพลัน

ปวดตา-ต้อหินเฉียบพลัน

 


 

ข้อน่ารู้

1. แก้วตาหรือเลนส์ตาที่อยู่ภายในลูกตา จะแบ่งลูกตาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ช่องว่างส่วนหน้า แก้วตา เรียกว่า ช่องลูกตาด้านหน้า และช่องว่างส่วนหลังแก้วตา เรียกว่า ช่องลูกตาด้านหลัง

ช่องลูกตาด้านหลังมีขนาดใหญ่ จะมีลักษณะเป็นน้ำวุ้นบรรจุอยู่ ช่วยให้ลูกตาทรงรูปอยู่ได้เป็นปกติ ส่วนช่องลูกตาด้านหน้า มีขนาดเล็ก อยู่ระหว่างกระจกตากับแก้วตา จะมีสารน้ำใสๆ บรรจุอยู่เรียกว่า น้ำเลี้ยงลูกตา ลูกตาส่วนที่เรียกว่า ซิเลียรีบอดี (ciliary body ซึ่งอยู่ใกล้กับขอบบนและล่างของแก้วตา) ทำหน้าที่ผลิตน้ำเลี้ยงลูกตานี้ตลอดเวลา ซึ่งจะมีการถ่ายเทออกนอกลูกตาโดยไหลจากด้านหลังของม่านตาผ่านรูม่านตา เข้าไปในช่องลูกตาด้านหน้า แล้วเข้าไปในท่อชเลมส์ (เป็นตะแกรงระบายขนาดเล็กๆ ตรงมุมที่อยู่ระหว่างกระจกตากับม่านตา) เข้าสู่หลอดเลือดดำที่อยู่นอกลูกตา

ในคนปกติน้ำเลี้ยงลูกตาจะมีการถ่ายเทที่อยู่ในภาวะสมดุล กล่าวคือ มีการผลิตในปริมาณที่พอๆ กับการระบายออกนอกลูกตาอยู่ตลอดเวลา ในคนบางคนอาจมีเหตุทำให้การระบายของน้ำเลี้ยงลูกตาดังกล่าวเกิดการติดขัด มีการคั่งของน้ำเลี้ยงลูกตา และพลอยทำให้เกิดแรงดันภายในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดแรงดันที่เกิดขึ้นนี้จะทำลายประสาทตา ทำให้ตาบอดถาวรได้ โรคที่เกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าวนี้คนไทยเรียกว่า ต้อหิน ซึ่งมีความหมายว่า ลูกตามีแรงดันมากจนมีลักษณะแข็งแบบหินนั่นเอง ส่วนชื่อฝรั่งเรียกว่า กลอโคม่า (glaucoma)

2. การติดขัดของการระบายน้ำเลี้ยงลูกตา อาจเกิดจากมีเลือดออก (เช่น ได้รับอุบัติเหตุ) หรือมีหนองขัง (เกิดจากการติดเชื้ออักเสบของลูกตา) หรือแก้วตาที่เป็นต้อกระจกที่สุกแล้วหลุดลอยขวางทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตาได้ แต่ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุนั้นเกิดจากความผิดปกติในตัวโครงสร้างของลูกตาเอง ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ

 

(ก) ต้อหินเฉียบพลัน เกิดจากโครงสร้างของช่องลูกตาด้านหน้ามีลักษณะแคบและตื้นกว่าคนปกติ จึงมีมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตา (มุมระหว่างกระจกตาหรือม่านตา) แคบกว่าปกติ เมื่อมีสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว (สังเกตว่ารูม่านตาขยาย) เช่น อยู่ในที่มืดหรือโรงภาพยนตร์ อากาศมืดครึ้ม มีอารมณ์โกรธ ตกใจ เสียใจ มีการใช้ยาบางชนิดที่ทำให้รูม่านตาขยายเป็นต้น ก็จะทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาถูกปิดกั้น น้ำเลี้ยงลูกตาเกิดคั่งอยู่ภายในลูกตา ทำให้เกิดแรงดันในลูกตาสูงขึ้นฉับพลันทันที เป็นผลทำให้เกิดอาการปวดตารุนแรงและตาพร่ามัว

ต้อหินชนิดนี้เกิดมากในคนที่สายตายาว เพราะมีกระบอกตาสั้นและช่องลูกตาด้านหน้าแคบ และเกิดในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก เพราะแก้วตาจะหนาตัวขึ้นตามอายุ ทำให้ช่องลูกตาด้านหน้าที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบมากขึ้นไปอีก จึงมีโอกาสเกิดต้อหินเฉียบพลันได้มากขึ้น

(ข) ต้อหินเรื้อรัง คนที่เป็นต้อหินชนิดนี้จะมีช่องลูกตาด้านหน้าและมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาด้านหน้า และมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตากว้างเป็นปกติ แต่ท่อชเลมส์ซึ่งเป็นตะแกรงระบายน้ำเลี้ยงลูกตาจะเกิดการอุดกั้นโดยค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยอย่างช้าๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้มีอาการตามัวลงช้าๆ กินเวลาเป็นแรมปี แบบเดียวกับต้อกระจก โดยไม่มีอาการปวดตาแต่อย่างใด มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป และคนที่มีสายตาสั้นมากๆ อาจมีญาติพี่น้องเป็นโรคต้อหินร่วมด้วย โรคนี้หากปล่อยไว้ไม่รักษาก็อาจทำให้ตาบอดถาวรได้เช่นกัน

3. ต้อหินเฉียบพลัน จัดว่าเป็นโรคตาชนิดร้ายแรงชนิดหนึ่ง หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีอาจตาบอดถาวรได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ก็มีทางรักษาให้หายขายได้

4. การป้องกัน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจเช็กสุขภาพตา รวมทั้งการวัดความดันลูกตาเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน หากตรวจพบความผิดปกติของโครงสร้างลูกตาหรือพบว่า มีความดันสูงกว่าปกติ จะได้หาทางป้องกันมิให้กลายเป็นต้อหินระยะร้ายแรงได้
 

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้อื่น

สำหรับต้อหินเฉียบพลันมักจะเกิดกับผู้สูงอายุ จะมีอาการปวดลูกตาข้างหนึ่งอย่างฉับพลันและรุนแรง กินยาบรรเทาปวดไม่ได้ผลร่วมกับอาการตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีรุ้ง และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาการมักจะเป็นติดต่อกันนานเป็นวัน ๆ สังเกตดูตาข้างที่ปวดจะมีลักษณะแดงเรื่อๆ ที่บริเวณรอบๆ ตาดำมากกว่าบริเวณที่อยู่ห่างจากตาดำออกไป คนไข้จะไม่มีขี้ตาหรือตาแฉะแต่อย่างใด

อาการปวดตาอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

1. ไซนัสอักเสบ จะรู้สึกปวดตื้อรอบๆ กระบอกตาหรือหัวตา (ด้านติดจมูก) หรือใต้ตา เวลาใช้นิ้วเคาะให้กระเทือนจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น มักมีอาการเป็นหวัด คัดจมูกและมีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือข้นเขียว มักเป็นๆ หายๆ เรื้อรังโดยไม่มีอาการตาพร่ามัว มักเกิดในคนอายุไม่มาก

2. ไมเกรน จะพบบ่อยในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว มีอาการปวดที่ขมับและร้าวมาที่กระบอกตา ปวดแบบตุบๆอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก็ได้ มักปวดนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน บางครั้งก็ปวดศีรษะอาจมีอาการตาพร่า เห็นแสงสีรุ้งเพียงชั่วขณะก็หายไปเอง (อาการตาพร่ามัวจะไม่เป็นอยู่นานแบบต้อหินเฉียบพลัน) อาการปวดมักเป็นๆ หายๆ บ่อย ถ้ากินยาแก้ปวดบรรเทาตั้งแต่เริ่มมีอาการก็มักจะบรรเทาได้

3. กุ้งยิง จะมีตุ่มฝีขึ้นตรงขอบตาชัดเจน

4. เยื่อบุตาขาวอักเสบ จะมีอาการเคืองตา ตาแดง มีขี้ตา มักไม่มีอาการตาพร่ามัว

5. การใช้สายตามากไป อาจทำให้กล้ามเนื้อตาเมื่อยล้า เมื่อพันสายตาอาการปวดตาร่วมด้วย นอกจากต้อหินเรื้อรังแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากต้อกระจก ต้อลำใย (ตาถั่ว) ต้อเนื้อ เบาหวานขึ้นตา สายตาผิดปกติเป็นต้น ควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

คนที่มีอาการตามัว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทุกราย และควรไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการตามัวร่วมกับอาการปวดตารุนแรง กินยาบรรเทาปวดไม่ได้ผล หรือปวดจนนอนไม่หลับ

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะตรวจเช็กสุขภาพตาอย่างถี่ถ้วน ในกรณีที่เป็นต้อหิน แพทย์จะให้ยาหยอดตาหรือยากินที่ช่วยลดการสร้างน้ำเลี้ยงลูกตา ยาหยอดตาก็ช่วยให้ทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตาเปิดโล่งขึ้น หรือยากินที่ช่วยลดความดันลูกตา ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ยาหยอดตาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง ทำให้แสบตา เคืองตาได้โดยเฉพาะในระยะแรกๆ ต่อไปจะชินไปเอง

ในบางรายอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือยิงแสงเลเซอร์ เพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตา ผู้ที่เป็นต้อหินเฉียบพลันข้างหนึ่ง มีแนวโน้มจะเป็นอีกข้างหนึ่งตามมา แพทย์มักจะแนะนำให้ยิงแสงเลเซอร์ตาข้างปกติเพื่อป้องกันไว้ก่อน การยิงแสงเลเซอร์เป็นวิธีบำบัดรักษาที่ง่าย ปลอดภัย ไม่เจ็บปวด ไม่มีแผล ไม่ทำให้ติดเชื้อแทรกซ้อน ทำเสร็จกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล ในรายที่เป็นต้อหินเรื้อรัง แพทย์มักจะให้ยารักษาติดต่อกันตลอดชีวิต จะช่วยป้องกันมิให้ตาบอดได้

โดยสรุป ต้อหินเกิดจากความดันลูกตาสูงกว่าปกติ เนื่องจากทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตาเกิดการติดขัดเป็นโรคที่พบในวัยกลางคนขึ้นไปเป็นส่วนมาก แม้จะเป็นโรคตาที่ร้ายแรงถึงขึ้นทำให้ตาบอดได้ การตรวจเช็กสุขภาพตาและการรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยถนอมสายตาให้เป็นปกติได้

การดูแลรักษาตนเอง

ถ้าอยู่ๆ แล้วรู้สึกว่ามีอาการตามัวมองอะไรไม่ชัดเจน จะมีอาการปวดตาร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็แสดงว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ

ถ้าตรวจพบว่าเป็น ต้อหิน ก็ควรจะปฏิบัติตัว ดังนี้

1. ไปตรวจกับแพทย์เป็นระยะๆ ตามที่แพทย์นัด

2. ใช้ยาตามวิธีและขนาดที่แพทย์แนะนำ อย่าหยุดยาเอง อย่าซื้อยาหยอดตา หรือยากินจากร้านขายยาเอาเอง เพราะมียาบางชนิดที่อาจทำให้โรคต้อหินกำเริบได้

3. หากจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษ เช่น การผ่าตัดหรือการยิงด้วยแสงเลเซอร์ ก็ควรขอคำอธิบายจากแพทย์จนกระจ่าง แล้วรับการรักษาตามนั้น อย่าได้กลัวหรือทิ้งการรักษากลางคัน

4. จงมั่นใจว่าโรคนี้หากรักษาแต่เนิ่นๆ และจริงจัง มีทางรักษาให้หายขาดได้ หรืออย่างน้อยป้องกันมิให้ตาบอดได้

ข้อมูลสื่อ

180-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 180
เมษายน 2537
อื่น ๆ
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ