• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แอลกอฮอล์ กับโรคหัวใจ

แอลกอฮอล์ กับโรคหัวใจ

พักนี้มีเรื่องแอลกอฮอล์กับโรคหัวใจปรากฏในวารสารทั้งรายวันและรายปักษ์บ่อยครั้ง ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยมีข้อความเป็นเชิงให้เข้าใจว่าแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในรูปของเหล้าองุ่นในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยป้องกันโรคหัวใจได้
บทความเหล่านี้มีความจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ตลอด กล่าวคือ ผู้เขียนมักไม่บอกทุกแง่ทุกมุมของแอลกอ-ฮอล์ ผมคิดจะรวบรวมมาเล่าให้ฟังอย่างไม่เป็นวิชาการนัก เพราะเกรงว่าจะเบื่อเสียก่อน
ก่อนอื่นต้องบอกว่าผู้เขียนใช้ คำว่า สุรา เหล้า เบียร์ แอลกอฮอล์ มีนัยเดียวกัน


              

    
เมื่อผู้เขียนโดนมอมเหล้า

ผมเคยเมาเหล้าจัง ๆ อยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 5-6 ขวบ เห็นจะได้ ตอนนั้นน้าชายได้เป็นผู้แทนราษฎรคนแรกและครั้งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี ก็เลยมีการเลี้ยงกัน ผมและพี่ชายซึ่งอายุราว 10 ขวบ ก็เอาเหล้าและกะแช่ที่เขานำมาเลี้ยงกันมาผสมน้ำตาล ตั้งไฟให้เดือดแล้วก็เอามาดื่ม ด้วยความรู้สึกว่าอร่อยดี คงจะดื่มเข้าไปมาก ทั้งปวดหัวทั้งอาเจียน แต่มันนานเสียจนจำไม่ค่อยจะได้ ครั้งสุดท้ายคือตอนเป็นน้องใหม่ของศิริราช ผมเป็นน้องใหม่คนสุดท้าย เพระมาเข้าศิริราชตอนเขาเรียนกันไปแล้วตั้ง 7-8 วัน เหตุเกิดเมื่อวันรับน้องใหม่ ตอนนั้นมีธรรมเนียมที่จะต้อมอมเหล้าน้องใหม่ทุกคนให้หมอบไปเลย ก่อนที่จะมีงานเลี้ยงอาหารเย็น ผมน่ะรู้ล่วงหน้าจึงกินข้าวมาจากบ้านก่อน งานรับน้องใหม่มีตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็น พอตกเย็นพวกน้องใหม่ก็ต้องชนแก้วกับพี่ พี่นั้นชนเฉยๆ แต่ไม่ดื่ม ส่วนน้องดื่ม “กระดก” จนเกลี้ยงแก้ว น้องคนหนึ่งต้องชนกับพี่หลายคน พวกคออ่อนก็พับกันไปตั้งแต่ตะวันยังไม่ตกดิน ไอ้ผมนั้นลูกไม้มาก พอชนแก้วกับพี่สัก 4-5 แก้ว ก็ขอเข้าห้องน้ำไปล้วงคอออก แล้วกลับมาใหม่ ผมรู้สึกว่าเป็นคนเดียวที่ยังนั่งอยู่บนเก้าอี้ตอนตะวันสิ้นแสงไปแล้วเจ้ามนตรี (ศาสตราจารย์นายแพทย์มนตรี กันตะบุตร) ซึ่งเป็นหัวหน้าชั้นปี 1 รู้สึกว่ามนตรีได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกมอมเหล้า มาพบเข้า “อ้อ! เษียรมานั่งอยู่นี่ทำไมจ้ะ” ดึงแขนผมไปให้อาจารย์หนุ่มของแผนกสรีรวิทยาเวลานั้น
อาจารย์สุจินต์ “อ้อ! นี่น้องใหม่คนสุดท้ายดื่มหน่อย” อาจารย์สุจินต์จับผม “กรอก” และไม่ยอมให้ไปไหน จนผม “พับ” ไปเอง
มารู้ตัวอีกทีตอนนอนอยู่ใต้โต๊ะบิลเลียด ดีเท่าไหร่ก็จำไม่ได้ ปวดหัว เวียนหัวที่สุด มองไปรอบข้างล้วนแต่เพื่อน ๆ นอนระเกะระกะไปหมด ได้ยินเสียง “โอ้ก” มาจากข้างบน คงมีคนนอนอยู่บนโต๊ะบิลเลียด มีทั้งน้ำทั้งเนื้อเหม็นเปรี้ยวหล่นลงมาถูกหัวผมพอดี พอจะขยับตัวหลบไม่มีแรงเลยหลับตาเฉย จนหลับไปเอง
หลังจากนั้นก็ยังไม่เคยเมาเหล้าอีกเลย คงจะเป็นวิธีหนึ่งของพี่ ๆ ที่ศิริราช สอนให้น้อง ๆ รู้จักความไม่ดีของเหล้า ผมเหม็นเหล้ามาจนกระทั่งบัดนี้


                 

 

แกะรอยแอลกอฮอล์

มนุษย์คงรู้จักวิธีทำเหล้าและดื่มเหล้ามานานแล้ว แต่เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ชาวบาบิโลนและอียิปต์ พบว่าถ้าเอาผลองุ่นมาบีบให้แตกและหมักกับข้าวที่ทำให้ชื้นจะได้น้ำที่มีฟองเล็กน้อย เมื่อเอามาดื่มจะทำให้รู้สึกครึ้มอกครึ้มใจ
หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) พบเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า”ยีนต์” (yeasts) ภาษาไทย คงเรียกว่า เชื้อที่ใช้หมักเหล้ากระมัง ยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิต และใช้น้ำตาลที่ได้จากการย่อยแป้งเป็นอาหาร ยีสต์นี้เมื่อกินน้ำตาลเข้าไปแล้ว ก็ถ่ายเอาของเสียออกมา ซึ่งก็คือแอลกอฮอล์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเราเห็นเป็นฟองๆเวลาหมักเข้าหมาก ผมจำได้ว่าที่บ้านผมเวลาแม่แกจะทำข้าวหมากจะใช้ “ลูกแป้ง” ซึ่งคงจะมี “ยีสต์”พวกนี้อยู่เป็นแน่
แอลกอฮอล์ก็เป็นสารพิษชนิดหนึ่ง ถ้ายีสต์สร้างแอลกอฮอล์ให้มีความเข้มข้นถึงร้อยละ 14 เมื่อไหร่ ยีสต์ก็ตาย และกระบวนการหมักก็สิ้นสุดหรืถ้าน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารของยีสต์หมดเสียก่อน ยีสต์ก็จะตายเหมือนกัน ดังนั้นเหล้าที่เกิดจากการหมักจึงมีแอลกอฮอล์เพียงร้อยละ 14 เท่านั้นถ้าจะให้แรงกว่านั้นต้องใช้วิธีกลั่น

คำว่า “แอลกอฮอล์” เป็นภาษาอะไร มาจากไหน ไม่มีใครรู้ สันนิษฐานว่ามาจากภาษาอาหรับว่า “อัลโคฮีล” ซึ่งมีความหมายหลายอย่าง รวมทั้งแร่พลองที่บดเป็นผงสำหรับทาขอบตาสตรีด้วยแต่ที่แน่ๆ ก็คือการกลั่นแอลกอฮอล์ไม่ได้เริ่มจากประเทศอาหรับ

จากหลักฐานที่ปรากฏ การกลั่นแอลกอฮอล์เริ่มจากสมัยกลาง(Middle Ages) ที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในซาเลอร์ ประเทศอิตาลีเคยนำเอาเหล้าองุ่นมาต้มให้เดือดเอาไอที่ได้ผ่านท่อที่ทำให้เย็น ไอก็จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำเป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูงแอลกอฮอล์ที่ได้จะใช้ผสมยาหลายชนิด ครั้งนั้นนักปราชญ์ชาวสเปนตั้งชื่อน้ำอำมฤตชนิดนี้ว่า “อควาไวเต้”(Aqua-vitae) หรือ “น้ำแห่งชีวิต”ในเมืองจีนและอินเดียคงรู้วิธีทำเหล้ามานานก่อนยุโรป แต่ผมไม่สามารถค้นหาหลักฐานมาเล่าให้ละเอียดได้เหมือนของฝรั่งบรรดาฮ่องเต้ทุกพระองค์ก็เสวยน้ำจัณฑ์พอๆ กับพระจักรพรรดิในอินเดีย อย่างน้อยในเอเชียนี่คงจะมีแอลกอฮอล์ให้ดื่มกันตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล

แอลกอฮอล์ที่กลั่นในรัสเซียมีชื่อว่า “วอดก้า” (vodka) ในประเทศฮอลแลนด์เอากลิ่นสนหอมผสมลงไปเป็น “เจนีเวอร์” (jenever) ซึ่งภาษาฝรั่งเศสเรียก “จีนีฟ” (genievre) และภาษาอังกฤษตัดออกเหลือเพียงเหล้า “ยิน” (gin) ที่เรารู้จักกันเป็นส่วนใหญ่
แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ดื่มไม่ออร่อย ดังนั้นจึงมีการเพิ่มรสชาติโดยการใส่ถังไม้ที่เผาผนังภายในให้เป็นถ่าน และเรียกเหล้าชนิดนี้ตามภาษาไอริส “วิสบีธา” visce beatha) และแปลงมาเป็น “วิสกี้” ( whiskey ) ที่รู้จักกันในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการปรุงรสกันต่าง ๆ เช่น ใส่น้ำมันเยอราเนียม, ใส่โสม, สาหร่าย( ปรุงกลิ่น ) ฯลฯ เรื่องการผสมสุรายาดองนี้ ผมว่าไม่มีใครเกินจีน เพราะในรสนิยมของชาวตะวันออกแล้วผมว่าเหล้าจีนมีการปรุงรสได้ชื่นใจจริง ๆ

สำหรับทางฝรั่งตะวันตกมีแปลกไปอีกอย่าง เช่น ผสมน้ำ ผลไม้ให้มีรสหวาน แม้กระทั่งน้ำมะเขือเทศ! ฝรั่งมีกรรมวิธีผสมเหล้ามากมาย และผมว่ากรรมวิธีผสมเหล้านี้เองเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ทำให้การดื่มเหล้าแบบฝรั่งมีรสชาติมากขึ้น
แอลกอฮอล์เป็นชื่อรวมประกอบด้วยสารประกอบหลายชนิด เช่น เททานอลเป็นสารพิษ(methanol) หรือวู้ด แอลกอฮอล์ที่แต่เดิมทำจากไม้ เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ทำจากก๊าซมีเทน เมทานอลเป็นสารพิษ ถ้าดื่มเข้าไปจะทำให้ประสาทตาบวมและตาบอด

เหล้าที่เราดื่มกันเป็นเอทานอล (ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์(ethyl alcohol) นอกจากนั้นก็มีไอโซโพรพานอล(isopropanol) เป็นแอลกอฮอล์ที่เอาไว้ถูนวด มีเอทิลีนไกลคอล(ethylene glycol) เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในผ้าห่มลดไข้(cooling blanket) ของการแพทย์ เป็นต้น ในเมืองหนาวเอาไว้ใส่ในหม้อน้ำรถยนต์สำหรับกันไม่ให้น้ำในหม้อน้ำแข็งเป็นน้ำแข็งในหน้าหนาว

เครื่องดื่มประเทศแอลกอฮอล์ที่นิยมกันในบ้านราอีกอย่างหนึ่งคือเบียร์ เบียร์มีประวัติพิลึกกึกกือและพิสดารกว่าเหล้าไปอีกนักโบราณคดีของมหาวิทยาลัยเพนซินวาเนียชื่อ โซโลมอน แคทซ์(Solomon katz) กล่าวว่ามนุษย์สมัยหินรู้จักทำเบียร์กันแล้วและการเริ่มปักหลักทำเกษตรกรรมแทนการเร่ร่อนก็เกิดมาจากการปลูกพืชเพื่อทำเบียร์นี่แหละฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าคนดึกดำบรรพ์จะมีความผูกพันกับเบียร์จนถึงขนานนี้ แต่ แคทซ์บอกว่าเขาทำเบียร์กินแทนอาหาร! เบียร์สมัยก่อนข้นมาก ในกระบวนการหมักของเบียร์จะทำให้เกิดวิตามินบีนอกจากนั้นยีสต์หรือเชื้อที่หมักเบียร์นี้ยังสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อชีวิตอีกหลายชนิด พร้อม ๆ กันก็ทำลายสารพิษต่างๆ ที่เกิดจากการหมัก

 

             

 

ถามใจดูทีว่าทำไมถึงดื่มเหล้า เบียร์?

คำถามนี้ตอบให้ตรงได้ยาก กินเพราะอยากกิน(ดื่ม) สุขก็กิน บอกว่าจะได้มีความสุขมากขึ้น ทุกข์ก็กิน เพราะคลายทุกข์ได้ วันเกิดก็กิน วันตายก็กิน ดูเหมอนจะกินกันทุกโอกาส
เคยมีคนตั้งข้อสงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุของความเป็นคนขี้เมา บางคนอ้างว่าเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งก็คงมีความจริงอยู่บ้างพบว่าบุตรที่เกิดจากพ่อแม่ขี้เหล้าจะเป็นคนขี้เหล้า ( ภาษาอังกฤษเรียก alcoholic ภาษาไทยคงแปลว่า “ติดเหล้า” พอได้กระมัง มากกว่าคนอื่น 4 เท่า นักวิทยาศาสตร์ทางพันธุศาสตร์เชื่อว่า ประมาณร้อยละ 50 ของชาวตะวันออกมีรหัสพันธุกรรมที่ทำให้ดื่มสุราแล้วรู้สึกไม่สบาย กล่าวคือ ผู้ที่มีรหัสพันธุกรรมชนิดนี้จะไม่สามารถสร้างเอนไซม์ที่จะย่อยอเซตาลดีฮัยด์( acetal-deehyde) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการแปรสภาพของแอลกอฮอล์ในร่างกาย

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ แอลกอฮอล์นี้เมื่อกินเข้าไปแล้วจะแปรสภาพเป็นอเชตาลดีฮัยด์ ซึ่งเอนไซม์ในตับจะช่วยย่อยและแปรสภาพเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์อเชตาลดีฮัยด์ทำให้เกิดความรู้สึกเวียนศีรษะ, เหงื่อออก, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, อึดอัด, ไม่มีความสุข ซึ่งถ้าเป็นจริงเช่นนั้น คนตะวันออกไม่น่าจะติดเหล้ามากเท่านี้ แต่พบว่าคนญี่ปุ่นและเกาหลีดื่มเหล้ามากกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย คนไทยก็ดื่มเหล้าไม่ใช่น้อย ในหมู่ชาวตะวันออกก็มีแต่ประชาชนในประเทศที่นับถือสาสนาอิสลามเคร่งครัดเท่านั้นที่ไม่ดื่มเหล้า

กล่าวกันว่าในรัสเซียนิสัยการดื่มเหล้าเหมือนฝังลึกจนถอนไม่ออก เมื่อครั้งทำสงครามกับญี่ปุ่นที่มุกเคน ทหารรัสเซียหลายพันคนเมาเหล้า ถูกทหารญี่ปุ่นเอาหอกปลายปืนแทงตายไปมากมาย เมื่อกอร์บาชอฟมีคำสั่งให้เลิกดื่ม ทำให้อัตราการตายจากพิษของแอลกอฮอล์ในรัสเซียลดลงอย่างมากมาย แต่ดังได้กล่าวแล้ว นิสัยการดื่มเหล้ามันฝังลึกชาวรัสเซียก็มีวิธีแอบกิน แอบดื่มอย่างพิลึกกึกกือ ฟังดูแล้วเหลือเชื่อ เพราะอะไรที่เข้าแอลกอฮอล์แต่ไม่ใช่เหล้า (คือไม่ถูกห้าม) ก็เอามาดื่มหมด ตั้งแต่น้ำหอมจนกระทั่งน้ำยาขัดรองเท้า! ละเว้นก็เพียงน้ำยาล้างกระจก เพราะพิษมันคงจะมากเกินกว่าที่จะเสี่ยง
เหล้านั้นเมื่อลองดื่มดูแล้วมันหยุดยากจริง ๆ ตัวอย่างก็เห็น ๆ กันอยู่ มีคนคิดยาขึ้นมาเพื่อให้อดเหล้า ผลที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร บางทีก็เกิดอันตราย มีการจัดกลุ่มเพื่อการเลิกเหล้า ซึ่งทำไม่ได้ง่าย ๆ จึงยังไม่แพร่หลายในบ้านเรานัก

             
 


เมื่อดื่มเหล้าแล้ว มีอาการอย่างไร และได้อะไรบ้าง

คนมีปฏิกิริยาของการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เหมือนกัน แต่จะมีอาการคล้าย ๆ กันดังนี้
เมื่อดื่มเข้าไปในปริมาณที่ไม่มากนัก จะมีอาการร้อนผ่าวที่ผิวหน้า เนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว ชีพจรจะเต้นเร็ว ผู้ดื่มจะรู้สึกว่าตัวเองใจเต้นแรง บางคนอาจมีเหงื่อออกซิบ ๆ ด้วยปฏิกิริยาของร่างกายชนิดนี้เองทำให้ผู้ดื่มเชื่อว่า การดื่มช่วยแก้หนาวได้ ที่จริงแอลกอฮอล์เป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่ร่างกายเอาไปใช้ได้ แต่เป็นจำนวนน้อยนิด ถ้าเทียบกับความร้อนที่ร่างกายสูญเสียไปทางผิวหนัง จากการขยายตัวของหลอดเลือด ดังนั้นผลสุดท้ายของการดื่มแอลกอฮอล์แทนที่จะ “แก้หนาว" ตามความรู้สึกของผู้ดื่ม กันทำให้ร่างกายเสียความร้อน และได้รับอันตรายจากความเย็นเร็วขึ้น

เมื่อเหล้าผ่านลำคอลงไปแล้วก็จะอยู่ในกระเพาะอาหาร คนที่กระเพาะอาหารว่าง แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด ตรงตำแหน่งนี้ก่อน ในคนที่มีอาหารอยู่ในท้อง แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมในกระเพาะได้น้อย แต่จะถูกดูดซึมในลำไส้เล็ก ดังนั้นคนที่กินข้าวจนอิ่มแล้วจึงกินเหล้าจะเมาช้ากว่าคนที่กินเหล้าตอนกระเพาะว่าง

เมื่อดื่มเข้าไปเล็กน้อยตา อาจจะมีประกายแจ่มใส ถ้าดื่มต่อไปตาจะขุ่นมัวม่านตาอาจจะขยายตัว หรือหดตัว คนโดยมากจะพูดมากขึ้น เส้นตื้น หัวเราะง่าย พูดจาตลกโปกฮาทั้งที่แต่เดิมอาจเป็นคนหงิม
เมื่อแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด จะถูกพาไปตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดผล (ไม่ดี)ต่ออวัยวะนั้น ๆ
แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดสมองในขนาดน้อย ๆ จะกดสมองส่วนที่ ทำให้มีความยั้งคิดและส่วนเหนี่ยวรั้งทำให้มีการปลดปล่อยสมองส่วนสนุกสนาน ฮึกเหิม ก้าวร้าว

คนดื่มเหล้าจึงรู้สึกว่าถ้าแอลกอฮอล์ขนาดน้อย ๆ จะทำให้คลายทุกข์ สนุก และปลุกใจ ผู้ที่ดื่มเหล้าขนาดนี้จึงรู้สึกสนุกและครื้มอกครื้มใจ แต่การทำงานจะขาดความแม่นยำ ถ้าควบคุมเครื่องจักรกลจะเกิดความผิดพลาด ขับรถมักมีอุบัติเหตุ เพราะกะไม่ถูก มีปฏิกิริยาตอบสนองช้ากว่าปกติ รู้สึกว่าพอใช้ได้(คือทำงานได้)ดีอยู่อย่างเดียว ได้แก่ กวีหรือนักดนตรี บางคนที่เมื่อดื่มเหล้า ขนาดนี้จะมีการ “ปลดปล่อย” ทำให้มีจินตนาการสุนทรีย์ เชื่อมั้ยว่า 5 ใน 6 คนอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณคดี เป็นคนขี้เหล้า (alcoholic) เออร์เนส เฮมิงเวย์, จอห์น สไตน์เบค และ ยูยีน โอนีล จะแต่งบทกลอนหรือบทเพลงได้ดี (แล้วอย่าเอาตรงนี้ไปอ้างว่า กินเหล้าเพื่อจะจินตนาการรับรางวัลโนเบลล่ะ)
ถ้าดื่มมากขึ้นไปอีก จะเสียการทรงตัว การเคลื่อนไหวของมือ เท้าจะสะเปะสะปะไม่ไปด้วยกัน การตอบสนองของอวัยวะต่อการสั่งงานของสมองช้าลง ความคิดเลื่อนลอยไม่ปะติดปะต่อ สุดท้ายอาจสลบไสล หรือหมดสติไป ส่วนน้อยอาจถึงแก่ชีวิต

ในสมัยโบราณเคยใช้เป็นยาสลบ ในการผ่าตัดทั้งทางการแพทย์ตะวันตกและตะวันออก เพราะระดับแอลกอฮอล์ในเลือดต้องสูงถึงร้อยละ 0.4 จึงจะให้ผลในการระงับความรู้สึก ผู้ป่วยก็เป็นกับตายเท่ากัน และโดยมากจะเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ไปกดศูนย์ควบคุมการหายใจ ผู้ป่วยจะหยุดหายใจ ถ้าช่วยไม่ทันหรือไม่-ได้ช่วยผู้ป่วยก็จะตาย โดยทั่วไปแอลกอฮอล์จะถูกทำลายไปเอง โดยตับ และอวัยวะอื่น โดยตับจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นอเซตาลดีฮัยด์ ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษ อเซตาลดีฮัยด์จะถูกแปรสภาพเป็นอซิเดทที่ตับและอวัยวะอื่นให้เป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ จากการทดลองพบว่าร่างกายจะแปรสภาพแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 30 มิลลิลิตร(2 ช้อนโต๊ะ) หมดภายใน 3 ชั่วโมง

แอลกอฮอล์จะมีผลกดสมองและปลายประสาท อาจทำให้ปลายมือปลายเท้าชา ประสาทสั่งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเสีย ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้เร็วเท่าเดิม กริยาสะท้อน(reflex) ต่าง ๆ จะน้อยลงและหายไป ในที่สุดสมองจะถูกกด โดยกดส่วนของการยั้งคิดก่อนในครั้งแรก ทำให้ผู้ดื่มมีความรู้สึกฮึกเหิม เหมือนกับความเชื่อที่ว่าดื่มเหล้าย้อมใจ ทำให้กล้า แต่เมื่อความเข้มของเหล้าเพิ่มมากขึ้นจะกดสมองทั่วไป ความคิดจะสับสน ม่านตาขยาย ทำให้มองเห็นไม่ชัด ตาพร่า มุมมองของตาแคบ จึงมองทางด้านข้างไม่ชัดเจน การเคลื่อนไหวลูกตาทำได้ยาก จึงเกิดปรากฏการณ์ตากระตุก อาจมองเห็นวัตถุต่าง ๆ ซ้อนกัน
หน้าที่เคยแดงกล่ำจะกลับซีดลง เมื่อแอลกอฮอล์มีความเข้มข้นสูงขึ้นจะไปกดศูนย์การหายใจ ทำให้หายใจช้าและไม่สม่ำเสมอ ผู้ดื่มอาจกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ เมื่อหายใจไม่ดีร่างกายจะขาดออกซิเจนโดยทั่วไป อาจเกิดอาการชักกระตุก

ในคนที่ดื่มเหล้าที่มีความแรงมาก ๆ ในปริมาณมากและในเวลาสั้น อาจจะไม่มีอากาต่าง ๆ ตามที่เล่ามา แต่จะเกิดพิษทันที โดยแอลกอฮอล์จะกดศูนย์ประสาทของสมองโดยเฉพาะในส่วนเมดุลลา(medulla) ผู้ป่วยจะเป็นอัมพาต และเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง ในกรณีเช่นนี้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอาจจะสูงถึงร้อยละ 0.4 หรือ 0.5 ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานานคนอาจทนต่อแอลกอฮอล์ขึ้น หมายความว่า ปริมาณของแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นโดยผู้ดื่มอาจไม่รู้สึกตัว ปริมาณของแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นนี้จะไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอวัยวะแรกคือกระเพาะอาหาร เพราะจะค้างอยู่ในกระเพาะนานกว่าทางเดินอาหารส่วนอื่น ระยะ-แรกจะระคายกระเพาะ ต่อมาจะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบทำให้เบื่ออาหาร ด้วยเหตุนี้คนที่ดื่มเหล้าจัดจะไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้เป็นโรคขาดสารอาหาร และสารอาหารรวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญด้วย

แอลกอฮอล์ทำให้เซลล์ของตับอักเสบและมีไขมันมาแทนที่เซลล์ในตับซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในคน เซลล์ไขมันจะเพิ่มมากขึ้น และกระจายไปทั่ว ในระยะนี้ถ้าผ่าลงไปในท้องจะพบว่าตับบวมใหญ่กว่าปกติ มีสีเหลืองของไขมัน เริ่มมีรอยสีขาวของเนื้อพังผืดเกิดที่ตับ (fibrous tissue) ถ้าดื่มเหล้าต่อไปอีก เนื้อตับที่ดีจะถูกแทรกโดยเซลล์ไขมัน และการอักเสบของตับจะทำให้เซลล์ของตับตาย จะมีใยพังผืดเข้ามาแทนที่ ระยะนี้ตับจะหดตัวเล็กลง ถ้าผ่าลงไปดูจะพบว่าผิวของตับแข็ง ขรุขระคล้ายผิวมะกรูด ระยะนี้เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับจากพิษสุราเรียกว่าโรคตับแข็ง หรือ cirrhosis พบว่าพวกที่เป็นโรคตับแข็ง ถ้าไม่ตายด้วยโรคตับแข็งไปเสียก่อนจะเป็นมะเร็งได้บ่อยกว่าตับปกติ
นอกจากตับแล้วไตก็จะเสีย เป็นไตอักเสบและไตเหี่ยว ไม่สามารถขับสารที่เป็นของเสียออกจากร่าง-กายได้ตามปกติ ในระยะแรกจะมีปริมาณปัสสาวะปกติ แต่สารที่เป็นของเสียในเลือดจะสูงขึ้น ระยะสุดท้ายไตจะไม่สามารถขับแม้แต่น้ำปัสสาวะออกได้

ในคนที่ดื่มเหล้าติดต่อกันนานพิษสุราจะทำอันตรายต่อระบบประสาททั้งสมองและปลายประสาท ดังได้กล่าวแล้ว ผู้ป่วยจะเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ดีที มาจากคำว่า delirium tremens ผู้ป่วยจะมีมือสั่นและลิ้นสั่น บางคนก็มีศีรษะสั่นด้วย ปลายมือปลายเท้าชา พูดไม่ชัดบางทีจับใจความไม่ได้ พฤติกรรมและอารมณ์จะเปลี่ยนไปรวมทั้งบุคลิกภาพด้วย ผู้ที่เป็นจะเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอนต่าง ๆ สุดท้ายอาจนอนหลับไปหลายวัน หรืออาจตายไปเลย
 

อยากให้เหล้ามีประโยชน์ใช่มั้ยล่ะ

ส่วนดีของการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยนี้ แพทย์รู้กันมานานแล้ว แต่ไม่ยอมเปิดเผย เพราะเกรงว่าหลายคนจะถือโอกาสใช้เป็นข้ออ้างในการดื่มแอลกอฮอล์ และก็จะดื่มเกิน “พอดี” ทำให้พากันไปตายจากอุบัติเหตุ และเมื่อนำมาชั่งดูแล้วมันไม่คุ้ม เพราะรู้ดีถึงธรรมชาติของคนว่า “ปริมาณที่พอสมควร” คือดื่มไปเรื่อย ๆ และคนที่ดื่มเหล้ามากจนขี้เมาก็จะรู้สึกโกรธ ถ้าใครมาว่าตัวเองขี้เมา
แอลกอฮอล์นั้นทำให้หัวใจเต้นแรง และ “ล้าง” คราบไขมันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจได้ เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย นอกจากนั้นยังปรากฏว่าแอลกอฮอล์ทำให้เพิ่มปริมาณโคเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นสูง (high density cholesterol) หรือโคเลสเตอรอล “ดี” ซึ่งมีผลในการลดตะกอนไขมันในหลอดเลือดได้

แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและติดต่อกันแทนที่จะช่วยล้างหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ กลับทำลายกล้ามเนื้อหัวใจเริ่มด้วยการทำให้เกิดความดันเลือดสูงจากแอลกอฮอล์ ต่อมาทำให้หัวใจพองโตและมีเนื้อพังผืดและไขมันมาแทรก ทำให้หัวใจทำงานไม่ปกติ เต้นไม่เป็นจังหวะ และหยุดเต้นไปในที่สุดแอลกอฮอล์ที่อยู่มนกระแสเลือด เมื่อผ่านสมองจะทำลายเซลล์ของสมอง ทำให้เกิดโรคสมองเหี่ยว
แอลกอฮอล์จะไปทำให้มีไขมันแทรกในตับ ตับจะโตในระยะแรก ต่อมามีเนื้อพังผืดงอกเข้าไปรัดตับ และจะเป็นโรคตับเหี่ยวตับแข็งในที่สุด

ในสตรีที่ตั้งครรภ์จะทำให้บุตรที่เกิดมาพอการทั้งทางกายและทางสมอง ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนกระทั่งมาก กล่าวคือมีการพิการอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นสตรีที่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรดื่มเหล้าเลย แท้ที่จริงระยะที่อันตรายที่สุดเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จึงใคร่แนะนำสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และพร้อมที่จะตั้งครรภ์ได้นั้นควรงดเหล้าเสียเลย

เหล้านอกจากจะทำลายตัวผู้ดื่มเองแล้ว ยังทำลายผู้อื่น รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมด้วย คำกล่าวอย่างนี้ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านได้มาก เพราะคนในโลกยังดื่มเหล้ากันมาก และคงจะยกตัวอย่างคนสำคัญในสังคมที่ยังดื่มอยู่ พร้อมกันไปก็ทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย คงเถียงกันไม่จบ
เคยมีคนถามผมเสมอเพราะเห็นว่าเป็นหมอ ว่า “เขาดื่มเหล้าองุ่นวันละแก้ว ไม่มีอันตรายและป้องกันโรคหัวใจได้จริงมั้ย”  ผู้ถามคงอยากได้คำยืนยันจากแพทย์ เพราะถ้าหมอบอกว่าจริง จะได้ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดความ ชอบธรรมในการดื่ม (เหล้าและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่เข้าแอลกอฮอล์ด้วย)
ผมตอบไปว่ามันคงเป็นความจริงตามข้อสังเกตของนักวิทยาศาสตร์ แต่โดยอาชีพแพทย์แล้วหมอคงไม่กล้าแนะนำให้ใครดื่มเหล้าที่ผสมแอลกอฮอล์เพราะอเซตาลดีฮัยด์ที่เกิดจากการแปรสภาพของแอลกอฮอล์เป็นพิษต่ออวัยวะอื่นหลายชนิด

คนเราสามารถที่จะป้องกันโรคหัวใจให้ได้ดีเท่า หรือดีกว่าการดื่มเหล้าองุ่นวันละแก้วอยู่แล้ว ที่สำคัญคือการออกกำลังกายหัวใจจะสูบฉีดชะล้างหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจได้เท่ากัน
การเว้นอาหารที่มีไขมันจากสัตว์และจากพืชบางชนิดก็ช่วยลดสารไขมันในเลือด อันเป็นตัวที่ทำให้เกิด “ตะกรัน” (plaque คือแผ่นไขมันที่จับข้างหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบเหมือนกับตะกรันที่เกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียม ที่จับในท่อน้ำ ทำให้ท่อน้ำตีบตัน) ไขมันได้ นอกจากนั้นก็ยังประหยัดเงินค่าเหล้าองุ่นซึ่งโดยมากจะสั่งมาจากต่างประเทศ และมีราคาแพงมาก

สรุปแล้วเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเหล้าในปริมาณที่ไม่มากนัก อาจมีประโยชน์ แต่โดยธรรมชาติของคนที่มักจะเพิ่มปริมาณของการดื่มอยู่เรื่อย ๆ จึงขอแนะนำว่า อย่าริเริ่มดีกว่าครับ เพราะได้ไม่เท่าเสีย
ผมเป็นหมออยู่แผนกอุบัติเหตุ พบว่าอุบัติเหตุจากการจราจรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เป็นผลของการดื่มสุรา ร้อยละ 70 ของการบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทเกิดจากเมา

ความไม่สงบสุขในครอบครัวกว่าครึ่งที่สาเหตุมาจากสามี ภรรยา หรือบุตรเป็นคนขี้เมา ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสังคม ดังนั้นหากครอบครัวต้องถูกทำร้ายด้วยเหล้า ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องช่วยกัน อย่ามีส่วนหรือช่วยส่งเสริมพฤติกรรมดังกล่าว

 

ข้อมูลสื่อ

196-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 196
สิงหาคม 2538
บทความพิเศษ
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์