เรื่อง “ไข้” (ตอนที่ 4)
โรคต่างๆที่เกิดอาจเกิดตามมาหลังจากมีอาการดังกล่าว (ตอนที่ 3) เช่น
- โรคหัด (measles)
- โรคอีสุกอีใส (chickenpox)
- โรคส่าไข้หรือโรคไข้ผื่น (exanthematous diseases) อื่นๆ จะทำให้เกิดผื่น(ตั้งแต่เป็นผื่นแดงธรรมดา จนถึงเป็นตุ่ม เป็นแผล หรือเป็นฝีได้) ตามใบหน้า ลำตัว และ/หรือแขนขา
ลักษณะของผื่นที่ขึ้นชัดเจนแล้วทำให้เราวินิจฉัยโรคไข้ผื่นแต่ละชนิดได้ แต่ในระยะแรกที่ยังไม่มีผื่นขึ้น อาการจะเหมือนไข้หวัด ทำให้วินิจฉัยผิดว่าเป็นไข้หวัดได้ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดพลาด เพราะการรักษาในระยะแรกไม่แตกต่างกัน ส่วนการรักษาในระยะหลังก็ยังเหมือนกันเพียงแต่เพิ่มวิธีการดูแลรักษาผื่นไม่ให้เป็นหนองหรือเป็นแผลลุกลาม โดยระวังรักษาความสะอาดในบริเวณที่เป็นผื่น ไม่ให้แมลงไต่ตอม และระวังโรคแทรกซ้อนต่างๆที่จะเกิดขึ้นบ่อยกว่าและรุนแรงกว่าในคนที่เป็นไข้หวัดธรรมดา
โรคเหล่านี้เกิดจากเชื้อไวรัสเช่นเดียวกับไข้หวัด แต่เป็นเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน ยังไม่มียาที่จะไปฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านี้ในร่างกายมนุษย์ได้ โรคไข้ผื่นเหล่านี้จึงหายเองตามธรรมชาติภายใน 2-4 สัปดาห์ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน (โรคแทรก) เกิดขึ้น โดยการระวังรักษาตนเองเช่นเดียวกับโรคไข้หวัด และเพิ่มการระวังรักษาความสะอาดในบริเวณที่เป็นผื่นด้วย
ถ้ามีโรคแทรก เช่น ไข้ขึ้นสูง ไอ หอบ สับสน หรืออื่นๆ ควรรีบพาคนไข้ไปโรงพยาบาล
- โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส (viral hepatitis)
ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี อี หรืออื่นๆ อาจจะมีอาการนำมาก่อนแบบไข้หวัด แล้วต่อมาจะมีอาการเบื่ออาหาร เบื่อบุหรี่(ถ้าเดิมเคยติดบุหรี่) อ่อนเพลีย เหนื่อยอ่อน และเมื่อไข้ลด อาจจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองและเจ็บบริเวณชายโครงขวาหรือใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ก็จะทำให้เราวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสได้
- ส่วนโรคตับอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ เช่น จากเชื้อแบคทีเรีย จากพิษยา จากการดื่มสุรามากเกินไป เป็นต้น จะไม่มีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน และมักจะมีอาการรุนแรงกว่าอาการโรคตับอักเสบอักเสบจากเชื้อไวรัส
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสในระยะแรกอาจคิดว่าเป็นไข้หวัดได้ แต่ไม่เป็นไรเพราะการรักษาในระยะแรกเหมือนกัน แต่ในระยะหลังที่ตัวเหลืองตาเหลืองแล้ว ควรให้กินอาหารหวานๆเพิ่มมากขึ้น ให้งดอาหารมันๆ (อาหารที่มีไขมัน) เสีย และให้นอนพักผ่อนมากๆ จนกว่าอาการเหลืองจะทุเลา
ห้ามออกกำลังกาย (นอกจากเดินเล่นและกายบริหารเบาๆ) อย่ากิน ดื่มหรือใช้จาน ช้อนหรือถ้วยร่วมกับคนอื่นๆ (กินร่วมกันได้แต่ใช้คนละจานและมีช้อนกลางสำหรับกับข้าว) ห้ามถ่ายอุจจาระลงในที่ที่จะกระจายไปสู่ผู้อื่นได้ เช่น อุจจาระตามพื้นดิน หรือลงแม่น้ำลำคลอง (ควรอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด) ห้ามใช้มีดโกน แปรงสีฟัน เข็มหรือเครื่องใช้มีคมร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจจะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ และห้ามร่วมเพศกับผู้อื่นเพราะเชื้อไวรัสตับอักเสบบางชนิดสามารถจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ทางการร่วมเพศ ต้องรอจนกว่าอาการจะหายดี และไม่มีเชื้อที่จะติดต่อได้แล้ว
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะหายเองภายใน 2-4 สัปดาห์ โดยไม่ต้องกินยาใดๆ (ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลแก้ไข้แก้ปวดในคนที่เป็นโรคตับอักเสบ ให้ใช้ยาแอสไพรินแก้ไข้แก้ปวดแทน)
ถ้าตัวเหลืองตาเหลืองมาก หรืออาการไข้ไม่ทุเลาหลังจากมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือถ้ามีอาการซึม สับสน หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือกินอะไรไม่ได้เลย หรือมีอาการรุนแรงอื่นๆ ควรส่งโรงพยาบาล
- โรคหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส (viral myocarditis or pericarditis)
อาจจะมีอาการนำมาก่อนแบบไข้หวัด ต่อมาจะมีอาการแน่นในอก หรือเจ็บในอก หายใจขัด หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย ไอ และต่อมาจะมีอาการหอบเหนื่อยได้
- ในระยะแรก การวินิจฉัยและการรักษาเป็นแบบไข้หวัด แต่เมื่อมีอาการเหนื่อยง่ายหรือหอบเหนื่อยแล้วควรพาไปโรงพยาบาล เพราะต้องใช้ยารักษาอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย และอาจจะต้องเจาะช่องเยื่อหุ้มหัวใจถ้ามีน้ำในช่องนั้นมากจนบีบอัดหัวใจ (cardiac tamponade)
โดยทั่วไปโรคหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัสก็มักจะหายเองภายใน 3-4 สัปดาห์ นอกจากเป็นรุนแรงมากจนกล้ามเนื้อหัวใจพิการ ก็อาจจะเกิดอาการหอบเหนื่อยเรื้องรังเป็นปีๆได้
- โรคสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (viral encephalitis)
อาจจะมีอาการนำมาก่อนแบบไข้หวัด ต่อมามีอาการซึม สับสน แขนขาข้างหนึ่งข้างใดอ่อนแรง พูดไม่ชัด ชัก หรือมีอาการทางสมองอื่นๆ
คนไข้ที่มีอาการทางสมองใดๆจึงควรรีบพาไปโรงพยาบาลตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องทันที เผื่อจะสามารถป้องกันอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือสติปัญญาอ่อนได้
ไม่ควรทดลองรักษากันเองอยู่ที่บ้านอย่างเด็ดขาด
๒. อาการปวดเมื่อยตามตัวมาก
อาการปวดเมื่อยตามตัวเล็กๆน้อยๆมักเป็นอาการทั่วๆไปที่เกิดร่วมกับอาการไข้จากโรคหลายๆชนิด แต่อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวทั่วๆไปอย่างรุนแรง มักจะพบร่วมกับโรคไข้หวัดใหญ่ โรคกล้ามเนื้อทั่วตัวอักเสบรุนแรงจากเชื้อโรค โรคภูมิแพ้ การแพ้ยา การแพ้เลือดรุนแรง (ให้เลือดผิดหมู่) หรืออื่นๆ โรคที่ทำให้ชักรุนแรง(อาการชักจะทำให้กล้ามเนื้อทั่วตัวที่ชักกระตุก เกิดอาการปวดเมื่อยรุนแรงได้) และอื่นๆ
แต่อาการไข้สูงที่เกิดทันทีร่วมกับอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวมาก มักเกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่ (influenza หรือ ‘flu) มากกว่าโรคอื่นๆ
โรคไข้หวัดใหญ่ต่างจากไข้หวัดที่ไม่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล หรือถ้ามีก็มีเพียงเล็กน้อย แต่อาการไข้ อาการปวดศีรษะ และอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวจะรุนแรงกว่ามาก
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ก็เช่นเดียวกับไข้หวัด อยู่ที่การปฏิบัติรักษาตนเองเป็นสำคัญ แต่อาจจะจำเป็นต้องใช้ยาแก้อาการไข้อาการปวดบ้าง เพราะอาการไข้และอาการปวดค่อนข้างรุนแรง
โรคไข้หวัดใหญ่ก็จะหายเองเช่นเดียวกับไข้หวัดแต่อาจใช้เวลานานกว่า ถ้าระวังรักษาตนเองได้ดีอาจจะหายเองได้ภายใน 5-7 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ถ้ามีก็มักจะเป็นโรคแทรกเช่นเดียวกับไข้หวัด ให้ดูวิธีรักษาในเรื่อง “ไข้หวัด”
๓. อาการไอ
อาการไอมักแสดงว่ามีความผิดปกติในคอ ในหลอดลม หรือในปอด
ถ้ามีอาการไปมาก่อนมีไข้ให้ถือว่ามีโรคหลอดลมหรือปอดอยู่ก่อน ต่อมามีเชื้อโรคแทรกซ้อนเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้นจึงมีไข้ขึ้น เช่น เป็นโรคหอบหืด (bronchial asthma) อยู่ก่อน เป็นโรคหลอดลมโป่งพอง (bronchiectasis) อยู่ก่อน เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) หรือเป็นโรคถุงลมโป่งพอง (pulmonary emphysema) อยู่ก่อน เป็นต้น แล้วเกิดการติดเชื้อขึ้นจึงทำให้มีไข้ขึ้น
อาจเป็นการติดเชื้อในหลอดลมและปอด หรือเป็นการติดเชื้อในที่อื่นก็ได้ ถ้าเป็นการติดเชื้อในหลอดลมและปอด ก็จะมีอาการไอเพิ่มขึ้น และมีเสมหะเปลี่ยนสีหรือเป็นหนองมากขึ้น ถ้าเป็นการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นก็จะมีอาการที่อวัยวะนั้นร่วมด้วย (ดูอาการร่วมอื่นๆ)
ถ้าเกิดอาการไอเกิดพร้อมกับอาการไข้ มักแสดงว่าไข้และไอนั้น น่าจะเกิดจากสาเหตุเดียวกัน เช่น ไข้หวัด ไข้หลอดลมอักเสบ ไข้ปอดบวมหรือปอดอักเสบ เป็นต้น ให้รักษาตามสาเหตุนั้น เช่น ไข้หวัด ให้รักษาแบบไข้หวัดตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว
ส่วนไข้หลอดลมอักเสบ (acute bronchitis) ถ้าอาการไม่รุนแรงมากให้รักษาแบบไข้หวัดที่มีการติดเชื้อ (โรคแทรก) โดยให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซีซิลลิน ยาโคไตรม็อกซาโซล หรือยาอีริโทรมัยซินร่วมด้วย แต่ถ้าอาการรุนแรงหรือหอบเหนื่อยควรไปโรงพยาบาล เช่นเดียวกับโรคไข้ปอดบวมหรือปอดอักเสบเพื่อจะสามารถตรวจรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ
ถ้าอาการไอเกิดตามหลังอาการไข้ อาจจะเกิดจากสาเหตุเดียวกับอาการไข้ เช่น ไข้หวัด ไข้หลอดลมอักเสบ หรืออื่นๆ แต่มีไข้ก่อนแล้วจึงมีอาการไอตามมา
หรืออาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นเช่น เป็นไข้หวัดธรรมดาแล้วต่อมาเกิดอาการไอและหอบเหนื่อย โดยอาการไข้หวัดได้ทุเลาแล้ว แบบนี้มักแสดงว่าอาการไอและหอบเหนื่อย โดยอาการไข้หวัดได้ทุเลาแล้ว แบบนี้มักแสดงว่าอาการไอและหอบเหนื่อยนั้นไม่ได้เกิดจากไข้หวัด แต่ไข้หวัดเป็นชนวนหรือสาเหตุกระตุ้นให้โรคเก่ากำเริบขึ้น เช่น
คนเป็นโรคหัวใจ ปกติก็ไม่มีอาการอะไร แต่พอเป็นไข้หวัดได้ไม่กี่วันก็เกิดอาการไอและหอบเหนื่อยขึ้นมา เสมหะขาวเป็นฟอง (ไม่มีสีเขียว เหลือง แสดงว่าไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นฟองแสดงว่าเป็นน้ำใสๆ มาจากส่วนลึกในปอด) มักแสดงว่าไข้หวัดไปทำให้หัวใจของคนไข้ต้องทำงานเพิ่มขึ้นจนทำงานต่อไปไม่ไหว จึงเกิดภาวะหัวใจล้ม(ล้มเหลว)ขึ้น ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยและไอขึ้น
ดังนั้น การแยกแยะว่าอาการไอที่เกิดตามหลังอาการไข้เกิดจากสาเหตุเดียวกับอาการไข้หรือไม่ จึงต้องใช้การถามประวัติและการตรวจร่างกายที่ละเอียดขึ้น ถ้าอาการไม่มากก็ลองรักษาแบบเป็นสาเหตุเดียวกันไปก่อน แต่ถ้าอาการมากหรือลองรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบหมอหรือไปโรงพยาบาล
(อ่านต่อฉบับหน้า)
- อ่าน 4,104 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้