พิษสารหนู
สารหนูเป็นแร่ธาตุที่พบในธรรมชาติคือ ในดิน ถ่านหิน และในน้ำ โดยปะปนอยู่กับแร่อื่น เช่น ดีบุก วุลแฟรม อลูมิเนียม มนุษย์นำสารหนูมาใช้เป็นเวลานานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน โดยนำมาใช้เป็นยารักษาโรค ต่อมาเมื่อมีความรู้มากขึ้นก็นำมาใช้ในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ทางอุตสาหกรรมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแก้วและกระจก อุตสาหกรรมป่าไม้ โดยผสมในยารักษาเนื้อไม้กำจัดเชื้อราและใช้เป็นปุ๋ยทางเกษตรกรรมใช้เป็นยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช และยาเบื่อหนู ส่วนในรูปของยารักษาโรค เคยใช้กันแพร่หลายในสมัยต้นศตวรรษที่ ๑๙ โดยใช้รักษาโรคผิวหนังชนิดเรื้อรังและโรคหืด โดยทำเป็นยาน้ำมีชื่อเป็นที่รู้จักว่า “น้ำยาฟาวเร่อ” ใช้กิน ยาโอซาลวาซานรักษาซิฟิลิสและคุดทะราด ต่อมาพบว่าผู้ที่ได้รับยาดังกล่าวเกิดมีอาการแทรกซ้อนขึ้นเนื่องจากพิษสารหนู ความนิยมในการใช้ยาที่ผสมสารหนูจึงน้อยลงทุกทีจนเลิกไปในที่สุด จะมีที่ใช้อยู่บ้างก็เป็นส่วนผสมในยาแผนโบราณที่เรียกว่า ยาต้ม ยาหม้อ ทั้งหมอไทยและหมอจีนแผนโบราณยังนิยมผสมสารหนูลงไปในยาต้มครอบจักรวาลโดยอ้างสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง รักษาโรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง ฯลฯ ซึ่งชาวบ้านยังมีความเชื่อว่าแพทย์แผนโบราณอาจช่วยให้โรคเหล่านี้หายขาดได้ เนื่องจากสารหนูมีสรรพคุณลดอาการอักเสบได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับเข้าไปในตอนต้นๆ อาการของโรคจะดีขึ้น อีกทั้งช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ผู้ที่ได้รับยาที่ผสมสารหนูเข้าไปเมื่อเห็นว่าโรคทุเลาลง อาการดีขึ้น ก็เข้าใจว่ายาดี แล้วกินต่อไปอีกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
อาการพิษจากสารหนูเกิดได้ในสองกรณีคือ
- อาการเป็นพิษแบบเฉียบพลัน
- อาการเป็นพิษเรื้อรัง
อาการพิษเฉียบพลันจะพบเมื่อผู้ป่วยได้รับสารหนูขนาดสูงเพียงครั้งเดียว เช่น กินยาผิดหรือในรายที่ใช้ยาเบื่อหนูหรือยาฆ่าแมลงเป็นยาฆ่าตัวตาย โดยการดื่มเข้าไปเป็นปริมาณมาก กรณีเช่นนี้จะเกิดอาการร้อนปาก ร้อนท้อง ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ความดันโลหิตตก เม็ดเลือดแดงแตกจนไตวาย หมดสติ และถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่เสียชีวิตในเวลาสั้นก็อาจพบอาการทางผิวหนัง เป็นแผลพุพองลอกเป็นแผ่นทั่วตัว มีผมร่วงจนหมดศีรษะในเวลาต่อมา
ส่วนอาการเป็นพิษเรื้อรังพบบ่อยกว่าชนิดเฉียบพลันเพราะไม่ใช่อุบัติเหตุแต่ค่อยๆเป็น โดยผู้ที่ได้รับสารพิษไม่รู้สึกตัวและกว่าจะเกิดอาการหลังจากได้รับยาเป็นเวลานานมาแล้ว อาจนานถึง ๕-๑o ปี บางครั้งผู้ป่วยเองแทบไม่เชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นเป็นผลจากยาซึ่งเคยกินมาเมื่อ ๑o ปีก่อน แล้วเพิ่งจะมาออกฤทธิ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้าๆ อาการพิษเกิดได้กับอวัยวะและตับ ระบบไต ระบบประสาท และผิวหนัง เนื่องจากผิวหนังเป็นอวัยวะที่ผู้ป่วยเห็นได้ด้วยตัวเองก่อนอาการอื่น จึงเป็นส่วนสำคัญที่นำผู้ป่วยมาหาแพทย์หรือแพทย์ตรวจพบเมื่อผู้ป่วยมาหาด้วยอาการทางระบบอื่น กล่าวคือ ผิวหนังของผู้ได้รับพิษสารหนูเรื้อรังจะเกิดผิวสีคล้ำลงเป็นสีดำ มีหน้าดำ มีจุดดำขึ้นตามฝ่ามือและลำตัว ลักษณะของจุดดำกระจายทั่วไปมีสลับด้วยจุดขาว ทำให้เห็นผิวดำๆด่างๆ ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าจะมีตุ่มแข็งๆ เกิดขึ้นเนื่องจากเซลล์ที่ผิวหนังหนาตัวขึ้น ตุ่มนูนเหล่านี้เริ่มเป็นใหม่ๆ จะมีขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาขยายขนาดโตขึ้นหลายๆตุ่ม อาจรวมกันเป็นปื้นใหญ่แข็งและหนา เป็นสีน้ำตาล ตุ่มเหล่านี้ต่อไปอาจมีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งของผิวหนัง ขณะเดียวกันมะเร็งผิวหนังก็อาจเกิดขึ้นบริเวณลำตัวที่ด่างดำได้อีกด้วย สำหรับอาการทางระบบอื่นได้แก่ ร่างกายทรุดโทรม ผอม ซีด เบื่ออาการ อ่อนเพลีย มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า อาการรุนแรงขั้นต่อไปคือเกิดเป็นมะเร็งของอวัยวะภายใน เช่น หลอดลม ปอด กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ
การรักษาเมื่อมีผู้ป่วยได้รับพิษสารหนูแบบเฉียบพลัน การรักษาได้ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ได้แก่ การล้างท้อง การให้ยาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้กระเพาะอักเสบ และฉีดยาแก้พิษสารหนูให้ครบชุด ส่วนอาการพิษเรื้อรังเมื่อเป็นแล้วรักษาให้หายยาก เนื่องจากมีสารสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกาย การรักษาใช้วิธีรักษาตามอาการที่ตรวจพบ เช่น ตุ่มที่หน้าขึ้นมาใช้ยาทาให้ลอกออกไป หรือมีเซลล์มะเร็งที่ผิวหนังก็ตัดทิ้งไป ส่วนมะเร็งที่อวัยวะภายในก็อาจใช้วิธีผ่าตัดหรือฉายแสงตามแต่ความเหมาะสมและความเป็นมากน้อย ในรายที่เป็นมากขนาดมีตุ่มมะเร็งผิวหนังกระจายทั่วไปและแสดงอาการลุกลามอาจต้องใช้ยายับยั้งเซลล์ไม่ให้ลามมาก ซึ่งยานี้ราคาแพงและเพิ่งมีขายตามท้องตลาดในเวลา ๕-๖ ปีนี้เอง ซึ่งมีผู้ใช้แล้วได้ผลดี
พิษสารหนูยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของบ้านเรา ตราบใดที่การใช้ยาผสมสารหนูยังไม่หมดไป ข้อแนะนำสำหรับประชาชนคือ หลีกเลี่ยงการกินยาต้ม ยาหม้อ เนื่องจากเราไม่รู้ว่ามีสารหนูผสมอยู่หรือเปล่า ข้อแนะนำสำหรับผู้ปรุงยาหม้อคือ เลิกผสมสารหนูลงในยาเพราะจะมีอันตรายแก่ผู้บริโภคในเวลาต่อมา ผู้ที่มีสารหนูในครอบครองในรูปของยาปราบวัชพืช ยาเบื่อหนู ควรเก็บไว้ในที่มิดชิดให้ห่างจากมือเด็ก หรือผู้อื่นที่จะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
พิษสารหนูอาจเกิดจากธรรมชาติ หากมีระดับของสารปนอยู่ในน้ำหรือในดินปริมาณสูงกว่าปกติ ผู้ที่ดื่มน้ำจากบริเวณนั้นอาจเกิดพิษสารหนูเรื้อรังดังกล่าวได้ ในกรณีเช่นนั้นควรมีตุ่มสำหรับใส่น้ำฝนไว้ดื่ม น้ำจากบ่อที่เจือปนสารหนูแม้จะต้มก่อนกินก็ไม่อาจทำลายสารหนูได้
- อ่าน 32,550 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้