• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อคิดก่อนพาลูกหลานไปจัดฟัน

ข้อคิดก่อนพาลูกหลานไปจัดฟัน

ทุกวันนี้เราจะพบเห็น “การจัดฟัน” ได้บ่อยๆ ที่มากหน่อยก็คือในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะในเพศหญิง จนดูคล้ายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งไปแล้ว ทำนองเดียวกับการทำศัลยกรรมเสริมดั้งจมูกหรือหน้าอก หรือทำตาสองชั้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการทำอะไร ก็ล้วนเกิดทั้งผลดีและผลเสียด้วยกันทั้งสิ้น ดังที่ปรากฏเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนืองๆ ดังนั้นเราจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งที่จะทำบ้างเพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์

ก่อนอื่นต้องดูที่ตัวเองหรือลูกหลาน ผู้จะรับการจัดฟันว่าเขามีความพร้อมด้านต่างๆมากน้อยเพียงใด เช่น ความพร้อมด้านจิตใจ คือตั้งใจที่จะทำจริง หรือเพียงอยากลองเล่น เอาอย่างเพื่อน ด้านความคิด พร้อมไหม มีความเข้าใจในปัญหาของตนบ้างไหม อาทิเช่น จะไปจัดฟันเพื่ออะไร เป็นต้น หากมีเพียงความอยากที่จะทำ แต่ยังขาดความเข้าใจแล้วตัดสินใจทำไป อาจล้มเหลวกลางคันก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจาก การจัดฟัน เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน โดยเฉลี่ยประมาณ ๒-๓ ปี คนไข้ต้องร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของหมออย่างจริงจังและสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องมีความอดทน อดกลั้น กับความไม่สะดวกสบายในช่องปากในระหว่างที่ใส่เครื่องมืออยู่ สำหรับคนไข้เด็กซึ่งต้องพึ่งพาผู้ปกครอง ความร่วมมือจากผู้ปกครองก็เป็นปัจจัยมากด้วย เช่น ต้องเสียสละเวลาพาเด็กไปพบหมอตามนัดทุกครั้ง และยังต้องคอยดูแลให้เด็กปฏิบัติตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัด

ต่อมาคือการเลือกหมอ วิธีที่ดีคือ การถามหมอฟันประจำตัว หรือเพื่อนสนิท แล้วลองไปพบเพื่อรับการตรวจและคำปรึกษาเบื้องต้นก่อนตัดสินใจ โดยมีหลักเกณฑ์คร่าวๆ ประกอบการพิจารณา ดังนี้

1 ท่านสะดวกที่จะไปรับการจัดฟันกับหมอที่ท่านเลือกได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ตลอดเวลา ๒-๓ ปี หรือกว่านั้นได้หรือไม่
 2. ท่านมีความไว้วางใจ เข้าใจในการรักษาของหมอมากน้อยเพียงใด ตรงจุดนี้ท่านอาจไปปรึกษาหมอมากกว่าหนึ่งท่าน เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านต่างๆก่อน แต่อย่าให้น้ำหนักกับเรื่องค่าใช้จ่ายหรือระยะเวลาในการรักษามากเกินไป ทำนองเอาถูกเข้าไว้ หรือเอาที่เร็วทันใจ

สิ่งที่ทานควรถามหมอก่อนตัดสินใจ ได้แก่

  • อะไรคือความผิดปกติของท่าน สาเหตุมาจากอะไร
  •  วิธีการแก้ไขความผิดปกตินั้น ทำอย่างไร มีกี่ทางเลือก ใช้เวลามากน้อยเพียงใด ผลลัพธ์ที่ควรจะได้เป็นอย่างไร
  • ค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง วิธีการจ่ายทำอย่างไร

ขั้นตอนในการจัดฟันที่ควรทราบ

1. การวินิจฉัยและวิเคราะห์ปัญหาทางทันตกรรมจัดฟัน ก่อนเริ่มการรักษานอกเหนือจากการตรวจช่องปากและอวัยวะโดยรอบ (กล้ามเนื้อ และข้อต่อกระดูกขากรรไกร) แล้ว หมอจะต้องพิมพ์ปาก เพื่อจำลองสภาพในช่องปากออกมาทำการศึกษาร่วมกับภาพถ่ายรังสีของกะโหลกศีรษะด้านข้างกับภาพถ่ายรังสีมุมกว้างของกระดูกขากรรไกร บนและล่าง

2.การวางแผนการรักษา ประกอบด้วยการเลือกใช้เครื่องมือชนิดต่างๆ ให้สอดคล้องกับการกับการแก้ไขความผิดปกติของคนไข้ในแต่ละกรณี เครื่องมือที่ใช้ในการจัดฟันมีทั้งถอดได้และชนิดติดแน่น  อาจใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือทั้งสองชนิดร่วมกันในการจัดฟัน บางกรณีต้องต้องถอนฟันออกก่อนบางซี่ หรือแม้แต่การผ่าตัดกระดูกขากรรไกรร่วมด้วยก็มี  ซึ่งหมอจะต้องแจ้งให้คนไข้ทราบเพื่อขอความร่วมมือก่อนเริ่มจัดฟัน

3. การดูแลคนไข้ระหว่างการรักษา หมอจะนัดคนไข้มาพบเป็นระยะๆ เพื่อปรับเครื่องมือ โดยมากจะนัดประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ต่อครั้ง คนไข้จะต้องตรงต่อเวลานัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามแผนหากผิดนัดบ่อยจะกระทบต่อแผนการรักษา บางครั้งอาจร้ายแรงจนต้องล้มเลิกการรักษากลางคัน สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การหมั่นดูแลอนามัยในช่องปากให้ดีอยู่เสมอตามคำแนะนำของหมอ เพื่อป้องกันฟันผุและโรคเหงือกที่อาจลุกลามจนทำให้ต้องหยุดการจัดฟันเสียก่อนเวลาอันควร

4 การจบการรักษา เมื่อจัดฟันจนเห็นผลตามแผนแล้ว หมอจะถอดเครื่องมือให้คนไข้ โดยทยอยทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ทำเสร็จในคราวเดียว ทำนองเดียวกับการถอนยาบางชนิดที่คนไข้กินประจำอยู่เป็นเวลานาน เมื่อถอดเครื่องมือออกหมดแล้ว คนไข้จะต้องใช้เครื่องมือถอดได้อีกชุดหนึ่ง เรียกว่า รีเทนเนอร์ (Retainer) ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อคุมสภาพของการสบฟันให้มั่นคง ก่อนจะยุติการรักษาอย่างสมบูรณ์

จะเห็นได้ว่า การจัดฟันให้สำเร็จสมบูรณ์ได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ การร่วมมือที่ดี แบบที่เรียกว่า ไตรภาคี คือ คนไข้-หมอ-ผู้ปกครอง โดยมีคนไข้เป็นด้านหลัก ถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็เท่ากับ ๗:๑.๕:๑.๕ ดังนั้นควรคิดให้รอบคอบก่อน
 
 

ข้อมูลสื่อ

216-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 216
เมษายน 2540
เรื่องน่ารู้