• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถึงได้ทุนแต่ก็ยังวุ่นวาย

                โรงพยาบาลของเรา พยาบาลขึ้นเวรนอกเวลาบ่อยมาก คนละ 20 ครั้งต่อเดือน  เหน็ดเหนื่อยกันมาก  อยากได้คนเพิ่ม

                        “เคยมีคนมาสมัครทำงานในสาขาที่ขาดแคลน  ซึ่งจริงๆก็อยากได้  แต่ผู้อำนวยการบอกว่า กลัวไม่มีเงินจ้างในระยะยาว  ก็เลยถูกปฏิเสธ

                        “มีภาคเอกชนบริจาคทุนการศึกษาให้เด็กจนเรียนจบ  พอเด็กไปรายงานตัวโรงพยาบาลบอกไม่มีเงินจ้าง เป็นเรื่องประหลาดพิสดารมาก

                        “เหนื่อยใจมาก เพราะติดกรอบของกระทรวง ไม่ให้รับคนเพิ่มในช่วงนี้

  -------------------------------------------------------

                        ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรในระบบบริการสุขภาพ  ในประเทศไทยเป็นปัญหาเรื้อรังระดับมหากาพย์ที่ยืดยื้อ  เดิมเคยรู้สึกกันว่าเป็นปัญหามากในภาคชนบทโดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล  แต่ข้อมูลในขณะนี้พบว่าแม้กระทั่งในเขตเมือง เขตปริมณฑล และกรุงเทพมหานครเอง ก็ยังขาดแคลนบุคลากรในหลายสาขา

                ปัญหาเรื่องสมองไหลที่เป็นมาโดยตลอด  โดยเฉพาะในแวดวงสาธารณสุขไทย  แม้ทางรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามหาทางแก้ไขโดยเฉพาะกับ “นักเรียนทุน”  ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น

-           การที่จะดูแลผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิ

-          รับเด็กตรงในลักษณะทุนของจังหวัด, ทุนอำเภอ

-          การอนุมัติให้โรงพยาบาลที่มีงบประมาณพอเพียง  สามารถมอบทุนการศึกษาให้เด็กในพื้นที่ได้

-       การเพิ่มจำนวนนักเรียนทุนในบางสาขา เช่น ทันตภิบาล ซึ่งดำเนินการโดยความร่วมมือของสำนักตรวจราชการบางพื้นที่ กับวิทยาลัยการสาธารณสุขของสถาบันพระบรมราชนก

ปัญหาก็คือ  แม้จะพยายามในรูปแบบดังกล่าวข้างต้นมาหลายปี  แต่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในระบบบริการ  ก็ดูเหมือนจะอยู่ในสภาพทรงๆ ทรุดๆ มาโดยตลอด  บางสาขาอาจผ่านพ้นวิกฤตขาดแคลนไปได้แล้ว คือ

เภสัชกร  แต่อีกหลายสาขา เช่น พยาบาล ทันตภิบาล นักกิจกรรมบำบัด หรือแม้กระทั่งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปก็ยังอยู่ในสภาพเดิมๆ

         มุมมองในการแก้ปัญหาเรื่องนี้  มีทั้งเชิงนโยบาย  มีทั้งด้านหลักการเชิงวิชาการ และในด้านการบริหารจัดการ  ข้อเท็จจริงที่พบก็คือ  เรายังมีปัญหาเชิงบริหารจัดการอยู่อีกมากซึ่งเป็นผลกระทบจากวิธีการทำงานแบบเดิมๆของภาครัฐที่มักติดกรอบ  ขาดความยืดหยุ่น  ขาดการประเมินผล  การออกแบบระบบที่ไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่  และการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง

      ข้อสังเกตที่ผมจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้  คือมุมมองที่ต้องการสื่อสารว่าการออกแบบระบบการจัดการกับนักเรียนทุนด้านสุขภาพของประเทศไทย  มีความเหมาะสมหรือไม่  สามารถตอบสนองและแก้ปัญหาของบริบทพื้นที่ได้มากน้อยขนาดไหน  จะรองรับการแข่งขันโดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจสุขภาพเอกชนได้อย่างไร  หรือแม้กระทั่งการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 1 ปี ข้างหน้าที่จะถึงนี้

(1)        โรงพยาบาลแต่ละแห่ง  เป็นแม่เหล็กที่มีความแรงไม่เท่ากัน  ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันและต่างพื้นที่

-โรงพยาบาลเอกชนมีแรงดึงดูดแรงกว่าโรงพยาบาลของรัฐบาลในเชิงค่าตอบแทน

-โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลจังหวัดมีแรงดึงดูดมากกว่าโรงพยาบาลชุมชน

-โรงพยาบาลชุมชนใกล้อำเภอเมือง  มีแรงดึงดูดมากกว่าโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ห่างไกล

โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน หรือเป็นภูมิลำเนาของผู้รับทุน  มีแรงดึงดูดมากกว่าโรงพยาบาลที่ไกลบ้าน

(2)       ประเภทและชนิดของทุน  ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงกรมกองต่างๆมักใส่ใจอยู่เฉพาะทุนที่เป็น

งบประมาณของรัฐ  หรืองบประมาณที่ส่วนกลางจัดสรรไปให้พื้นที่ซึ่งมักมีการจัดสรรโควต้าที่ขาดมิติด้านประชากรศาสตร์ (Demography) และขาดการวิเคราะห์เชิงปัจจัยด้านสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ  จริงๆแล้วจากการพิจารณาข้อมูลย้อนหลัง  และศึกษาสภาพของพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ  เราสามารถจำแนกชนิดและประเภทของนักเรียนทุนได้เป็น

ก.     ทุนของส่วนกลาง  ซึ่งในกระทรวงสาธารณสุขมักจัดสรรผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  โดยให้เด็กรับทุนของสถาบันพระบรมราชชนก หรือ มหาวิทยาลัยในพื้นที่

ข.    ทุนของโรงพยาบาลเอง  มักเป็นโรงพยาบาลศูนย์  โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีสถานะทางการเงินและสภาพคล่องดีในส่วนเงินบำรุง

ค.    ทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งมีทั้งขององค์การบริหารส่วนจังหวัด  ของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่มากที่สุดคือ ทุนพยาบาล และทุนเรียนสาธารณสุขศาสตร์

ง.     ทุนของมูลนิธิ สมาคม ชมรมการกุศลต่างๆ เช่น ทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, ทุนของมูลนิธิปอเต็กตึ๋ง, หรือทุนของมูลนิธิในพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์

จ.    ทุนที่มีผู้มีจิตศรัทธาภาคเอกชน บริจาคผ่านหน่วยงานของรัฐ หรือในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เช่น ทุนของมูลนิธิโตโยต้า  ทุนของพระเถระผู้ใหญ่  จริงๆแล้วในอดีต เมื่อหลายสิบปีก่อนเมื่อมีการบริจาคที่ดิน หรือเงินสร้างสถานีอนามัยใหม่  ผู้บริจาคจะได้โควต้าบุตรหลาน ทายาทเข้าเรียนและทำงานในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นแนวคิดที่ดี แต่ต่อมาก็ยกเลิกยุติไป

(3)         จังหวะเวลาในการให้ทุนแก่ผู้รับทุน  เพราะความเป็นจริงก็คือ  ขณะนี้มีการแย่งชิงนักเรียนทุนในลักษณะตกเขียวจากภาคเอกชน  บางครั้งการสนับสนุนให้ทุนช้า จะทำให้เด็กถูกเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิดให้วิ่งเข้าหาเมืองและหน่วยงานที่มีความสะดวกสบายสูงมากกว่า

                        -การให้ทุน  ตั้งแต่เมื่อเด็กจบชั้นมัธยมปลาย  จะเข้าสู่ปี 1 ระดับอุดมศึกษา

                -การให้ทุน  ตอนเด็กเริ่มเรียนไปได้แล้วระยะหนึ่ง 1-2 ปี

                        -การให้ทุนในปีสุดท้ายก่อนจบปริญญาตรี

                -การให้ทุนแก่ผู้เรียนปริญญาโท และปริญญาเอก

(4)       การคัดเลือกนักเรียนทุน

-เด็กที่ผ่านระบบสอบEntrance เข้ามหาวิทยาลัย  มักมีข้อจำกัดหลายอย่าง  เพราะมักเป็นเด็กเรียนดี หรือปานกลางซึ่งมาจากลูกคนชั้นกลาง เด็กที่อยู่ในเมือง ซึ่งมักมองชนบทเป็นอุปสรรคของชีวิต (Barrier) มากกว่ามองเป็นความท้าทาย (Challenge)

-การรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆหลายแห่ง  ไม่ได้มีส่วนผูงโยงกับการแก้ปัญหาของบริบทพื้นที่แต่อย่างใด

-การรับเด็กโดยให้ทุนในลักษณะโควต้า / อำเภอ ทำมานานพอสมควรแล้ว แต่แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  เพราะเด็กบางพื้นที่สอบไม่ได้ 

-การเปิดให้ท้องถิ่นรับเด็ก เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคบางแห่ง ทำมาหลายปีแล้วโดยทดลองทำในกลุ่มนักเรียนพยาบาล  นักเรียนสาธารณสุขศาสตร์ และสาขา paramedic บางด้าน  เป็นรูปแบบของความพยายามที่ดี และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากพื้นที่  แต่ติดขัดในเรื่องความต่อเนื่อง  การต่อยอดสนับสนุน และการปรับปรุงแก้ไขระเบียบของทางกระทรวงมหาดไทย  เป็นเรื่องที่ทางราชการต้องหาวิธี Breakthrough ให้รูปแบบเดินต่อไปให้ได้

(5)       มีทุนให้เรียน แต่ไม่มีตำแหน่งรับ  ไม่มีเงินเดือนจ้าง

ตัวอย่างคือ ทุนพยาบาลของโครงการพยาบาลคืนถิ่น  โครงการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ของทุนการกุศลสมเด็จย่า และทุนการกุศลกว. ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งบางโรงพยาบาลเด็กต้องเปลี่ยนที่รับทุนตอนจบแล้ว เพราะปัญหาด้านการเงินการคลังของหน่วยบริการ (และ Mindset ของผู้บริหารโรงพยาบาลเองด้วยในบางครั้ง)

(6)       มีการสำรวจ เด็กในวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง  พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเด็กนักศึกษามีปัญหาเรื่องเงินทุน (พ่อแม่ต้องกู้ยืม) และอยากกลับไปทำงานใกล้บ้าน  แต่ไม่รู้จะเข้าสู่ระบบอย่างไร  เด็กในมหาวิทยาลัยแห่งนี้กว่า 90% เมื่อจบแล้วจึงต้องทำงานในภาคธุรกิจสุขภาพเอกชน ทั้งๆที่ภาครัฐก็ยัง absorb เด็กเหล่านี้เข้าไปได้  ทัศนคติที่ว่า เด็กจบจากมหาวิทยาลัยเอกชน มีคุณภาพไม่ดีเท่าหน่วยงานรัฐก็ดูเหมือนจะยังมีอยู่

(7)       คนรุ่นใหม่เป็นรุ่น Gen Y (Gen Y Specific) และเริ่มมีพวกเกิดหลังปี 2000 คือ รุ่น Millennium เข้ามา  ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ  การจัดการกับคนรุ่นใหม่ต้องอาศัย Mindset ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ผู้ใหญ่ต้องรับฟังสูง  มีความเข้าใจมุมมองและโลกทรรศน์แบบ outside in  ยอมรับความคิดใหม่ๆ  เปิดโอกาสให้เขาเป็นตัวของตัวเองบ้าง  ตลอดจนมีความเข้าใจในมิติของ Digital Citizen เด็กบางคนลาออก ยอมใช้ทุนหลังเข้ามาทำงานในเดือนแรกๆ เพราะรับไม่ได้กับระบบราชการ

(8)       มุมมองใหม่ด้าน Demography ประเทศไทยแต่ละภาค แต่ละจังหวัด มีความแตกต่างกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม  ตัวอย่างเช่น คนในแม่ฮองสอน  มีบริบทหลายอย่างแตกต่างจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้,  แพทย์ในภาคตะวันออกของประเทศมีมุมมอง  และทางเลือกของชีวิตที่แตกต่างจากแพทย์ในภาคอิสาน,  คนสูงอายุในภาคเหนือตอนบนจะมีสัดส่วนสูงกว่าในภาคกลางอย่างมีนัยสำคัญ,  ในจังหวัด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และระนอง  มีประชากรต่างด้าว (พม่า) อยู่ระหว่าง 30-50%  ของจำนวนประชากรในพื้นที่ทั้งหมด

ลักษณะที่แตกต่างทาง Demography เช่นนี้  ต้องใช้คุณภาพและปริมาณของบุคลากรสาธารณสุขที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่  ในการจัดการดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย ทั้งการเจ็บป่วยและการส่งเสริมป้องกัน  หากระบบราชการไทยไม่ปรับตัว  ไม่พยายามทำความเข้าใจกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  โดยสร้าง New Mindset and New Management ในการจัดการกับนักเรียนทุน  ดูท่าว่าเรื่องนักเรียนทุนจะกลายเป็นยาขมที่เคยออกฤทธิ์ดีในอดีต  แต่ใช้ไม่ได้ผล (ไข้ไม่ลดเสียแล้วในขณะนี้)

 

Keyword ของเรื่องนี้ คือ การกระจายอำนาจการตัดสินใจไปที่พื้นที่  คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วม  การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence based) มาประกอบการตัดสินใจ  การมองพิเคราะห์ทำนายอนาคตด้านสังคม และเศรษฐกิจของพื้นที่ให้ออก  การใช้หลักการ Social Marketing มาประกอบการทำงาน  และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆในการต่อรองเรื่องกำลังคนกับหน่วยงานผู้ผลิตบุคลากร

....อย่าเอาแต่กล่าวโทษ กพ.อย่างเดียวเหมือนที่ผ่านๆมาเลยครับ.....

 

ข้อมูลสื่อ

427-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 427
พฤศจิกายน 2557
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ