• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความสุขที่ไม่ต้องพึ่งวัตถุ

                สุขภาวะ หรือพูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆคือ  ความสบายกายสบายใจ  เป็นสภาวะที่ทุกคนต้องการ  ไม่มีใครต้องการให้ตัวเองอยู่ในภาวะจิตที่หม่นหมอง, เซ็ง, กังวล, ซึมเศร้า หรือหมดอาลัยตายอยาก  ทุกวันนี้คนไทยอยู่ในสภาวะเครียด กดดัน หรือซึมเศร้า เป็นจำนวนมาก  ยาระงับประสาท  ยานอนหลับ  จึงเป็นหนึ่งในยาอันดับต้นๆที่มียอดการสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยเป็นปริมาณหลายพันล้านบาทต่อปี

                คนเราทุกวันนี้  แม้จะคิดโน่นคิดนี้เก่ง  แต่มักเอาอารมณ์และผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเจือปน  ทำให้มองสิ่งต่างๆคลาดเคลื่นจากความเป็นจริง  ที่สำคัญมักเอาความสุขของตัวเองไปผูกกับสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุอยู่เสมอ  อาทิเช่น

-          ถ้าฉันได้โทรศัทพ์มือถือรุ่นใหม่  คงจะเท่ห์และมีความสุขมากขึ้นอีกเยอะ

-         ถ้าฉันได้รถยี่ห้อนี้  รุ่นนี้มารับ  คงจะชื่นมื่นรื่นรมย์เป็นไหนไหน

-         ถ้าฉันได้กินอาหารร้านนี้ คงจะอิ่มหมีพลีมันไปนานหลายวันเลยล่ะ

-         ถ้าฉันได้ไปเที่ยวประเทศนี้  คงจะดีแน่แท้ทีเดียว

-         ถ้าฉันได้ดูหนังดูละครเรื่องนี้  คงมีเรื่องไปคุยกับเพื่อนๆได้ไม่ตกยุค

จะเห็นได้ว่า  เกือบทุกเรื่องที่เรา “อยาก” ล้วนแล้วต้องมีเรื่องของการต้องไปพึ่ง “วัตถุ” อยู่โดยตลอด  การพึ่งพาวัตถุนั้น มักต้องใช้ “เงิน” เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกพ่วงเข้าไปด้วย  มีเรื่องของการคิดอย่างไม่ถูกวิธีเข้าไปปะปนอยู่ด้วย  เช่น การเป็นทาสของBrand name ,  การฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม,  การแย่งชิงและเอาเปรียบกัน  ไปจนถึงการเป็นทาสของเงินอย่างไม่ลืมหูลืมตา  ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นเป็นความสุขอย่างหยาบและกระด้าง

ในโลกนี้เรายังมีความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งอาจเรียกว่า  ความสุขแบบประณีต (Subtle Happiness) ซึ่งมักเป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุ  ใช้เงินน้อยมากหรือไม่ต้องใช้เงินประกอบเลย  ความสุขกลุ่มนี้เป็นความสุขที่อยู่รอบตัว; ใกล้ๆเรานี้เอง  และสามารถไขว่คว้าหาได้ง่ายในชีวิตประจำวัน  อันจะได้กล่าวถึงดังต่อไปนี้...

1.        ความสุขจากสัมพันธภาพอันอบอุ่นในครอบครัว 

ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุขของสังคม  แต่ก็มีความสำคัญที่สุดเพราะเป็นพื้นฐานของการเพาะบ่ม และพัฒนาการของคนในครอบครัว

ครอบครัวที่อบอุ่น  พ่อกับแม่จะต้องมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน  และมีเวลาเอาใจใส่ดูแลเด็กๆ  มีการพูดคุย  มีกิจกรมร่วมกันเช่นทานข้าวด้วยกัน  สันทนาการร่วมกัน  ออกกำลังกายร่วมกัน  มีการสัมผัสทางกาย  มีการโอบกอด และผูกพันซึ่งกันและกัน  สังคมไทยทุกวันนี้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง  บางบ้านกลายเป็นบ้านที่ “เงียบเหงา” เพราะครอบครัวแตกแยก  หรือลูกหลานแยกไปอยู่ที่อื่นหมด

 

 

2.       ความสุขจากการสังสรรค์ในหมู่มิตรสหาย

การมีสังคม  เป็นปัจจัยที่สำคัญของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ มาตั้งแต่โบราณกาล  ผู้สูงอายุจำนวนมาก  เมื่อพ้นจากวัยทำงานไปแล้ว  เกิดอาการซึมเศร้า, เหงา, รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า เพราะไม่มีสังคม

การได้พูดคุยเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ และเป็นเรื่องจำเป็น  คนในสังคมเมืองทุกวันนี้  นิยมการสังสรรค์แบบจำลอง(Virtual) โดยใช้ Social Media ก็เป็นวิวัฒนาการใหม่ๆของการสังสรรค์

3.       ความสุขจากการทำงานอดิเรก

หลวงปู่ติช  นัท ฮันท์ แห่งหมู่บ้านพลัม  ท่านจะนิยมชมชอบการปลูกผักสวนครัวมาก  ท่านบอกว่า  การทำสวนคือการปฏิบัติธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง  งานอดิเรกนั้นอาจมีตั้งแต่การปลูกต้นไม้  การเล่นดนตรี  การเล่นกีฬา  หรือกิจกรรมอื่นๆแล้วแต่ความถนัด  ถือเป็นการพัฒนาสมองซีกขวา  ซึ่งดูแลด้านสุนทรียภาพของชีวิต  ทำให้เกิดความผ่อนคลาย  ลดความเครียด  และทำให้เกิดความสุขตามมา

4.       ความสุขจากการทำสิ่งยากๆให้สำเร็จ

การทำสิ่งยากๆบางอย่าง  เช่น  การวาดภาพ  การเขียนนวนิยาย  การเรียนภาษา  การฝึกใช้คอมพิวเตอร์  เรื่องเหล่านี้เมื่อทำให้สำเร็จจะเกิดความภาคภูมิใจ  นอกเหนือจากนั้น  ยังทำให้เห็นผลประโยชน์แก่หน้าที่การงานและสังคม  รูปวาดหรือผลงานประติมากรรมบางชิ้น  ศิลปินต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำได้สำเร็จ  คุณค่าของหลายๆเรื่องในโลกนี้  เกิดจากความที่ “ทำยาก” และ “หายาก”

5.       ความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น

การช่วยเหลือผู้อื่นมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น แง้มประตูไว้ให้  ช่วยบอกทางนักท่องเที่ยว  ช่วยคนแก่ข้ามถนน  ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น  การบริจาคทรัพย์สินเพื่อสาธารณะประโยชน์  เหมือนที่คุณบิลล์ เกต  เจ้าของบริษัท Microsoft ช่วยเหลือคนยากจนในอัฟริกา  กิจกรรมเหล่านี้  ทำให้เรารู้สึกปลอดโปร่งสบายใจ  เพราะได้มีส่วนทำให้เพื่อนมนุษย์ได้มีความเอื้ออาทรต่อกัน  สังคมไม่ทอดทิ้งกัน

6.       ความสุขจากการทำสมาธิภาวนา

ความสุขจากการทำสมาธิภาวนา  อาจเริ่มง่ายๆจากการนั่งอยู่คนเดียวเงียบๆ  ในที่เย็นๆ  สวดมนต์ในบทสวดที่มีคติสอนใจ  ไปจนถึงการทำสมาธิภาวนา  ซึ่งเป็นความสุขที่ยากจะอธิบายว่าเป็นอย่างไร  เป็นทั้งความรู้สึกเบาสบาย  สมองโปร่งโล่ง  กล้ามเนื้อส่วนต่างๆอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย  เป็นความปิติที่ล้วนต้องทดลองทำโดยตนเอง

                        ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นล้วนเป็นความสุขที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งวัตถุ หรือ พึ่งแต่น้อย  ซึ่งหากใครสามารถพัฒนาทักษะของตนเองให้สามารถเก็บเกี่ยวความสุขในลักษณะเช่นนี้ได้  ชีวิตก็จะพบแต่ความสงบร่มเย็น และเป็นประโยชน์ไม่ทุรนทุราย  ไม่กระเสือกกระสน และร้อนรุ่ม ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายใช้เงินทองเพื่อไปถึงความสุขสบายที่ต้องการ...

                        ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ  แต่ถ้าใช้ชีวิตไม่เป็น  ไขว่คว้าหาความสุขแบบจอมปลอม  ก็รังแต่จะสุกๆ ดิบๆ เสียมากกว่า

ข้อมูลสื่อ

434-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 434
มิถุนายน 2558
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ