• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พายุสุขภาพ

..ช่วงเดือนเมษายนนี้ เป็นช่วงปลายฤดูแล้งซึ่งมักมีสภาวะฝนฟ้าคะนองและพายุฤดูร้อน ซึ่งจะมีทั้งฝนและลมแรงพัดกระหน่ำเข้ามา ทำความเสียหายให้เรือกสวน ต้นไม้ และบ้านเรือนของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคอยู่เป็นประจำ  ปีนี้ก็เช่นเดียวกันไม่ต่างกับปีก่อน ดังจะเห็นข่าวในสื่อที่เผยแพร่

.. คำว่า พายุหมายถึงกระแสลมที่ก่อตัวจากคลื่นความร้อน  อากาศที่ลอยตัวขึ้นสูง แล้วทำให้เกิดกระแสลมรุนแรง มีทั้งชนิดลมหมุน ลมกรรโชก  ลมพัดกวาดรุนแรง ซึ่งในทางอุตุนิยมวิทยา มีชื่อเรียกพายุที่เป็นสากลต่างๆ นานา อย่างไรก็ดี คำว่า พายุ ยังถูกนำไปใช้ในทางสังคมวิทยา หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่กระหน่ำรุมเร้าและมีผลในทางลบต่อชีวิตของผู้คน

                ..เมื่อ 2 เดือนก่อน ผมมีอันประสบอุบัติเหตุรถจักรยานล้ม ขณะปั่นลงสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดมุกดาหาร ครั้งนั้นทำให้เข่าแตก มีบาดแผลลึก มีแผลถลอกปอกเปิกอีกหลายแห่ง แขนและขาต้องทายา ทำแผล กินยา อยู่เกือบเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ

                ..เมื่อไปอ่านตำราที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องจักรยาน  ในเวลาต่อมา ผมจึงพบว่าวันนั้น ผมขี่โดยประมาท เพราะสภาพถนนลงเนิน วันนั้นภาษานักจักรยาน เขา “เรียกว่า” Storm of cycling               (พายุที่เป็นอุปสรรคต่อการปั่น) ซึ่ง ประกอบด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

๑. ถนนลื่นเปียก

๒. มีเศษวัสดุหิน  ทรายหล่นบนผิวจราจร

๓. จักรยานล้อเล็กมาก

๔. ไม่ลดความเร็วตอนลงเนิน

                ..ซึ่งเมื่อหวนคิดย้อนดูแล้ว ต้นเหตุแห่งการล้มของผมวันนั้น เข้าข่ายทั้ง 4 ข้อข้างต้น  เพราะวันนั้นผิวถนนตรงนั้นมีน้ำขัง  มีเศษวัสดุทรายหล่น  จักรยานของผมเป็นเสือหมอบที่ล้อเล็กมาก และผมขี่เร็วเกินไปตอนนั้น ถือว่าเป็น Perfect Storm ของการปั่นจักรยานที่แท้จริง..

           ...ผมจึงสมน้ำหน้าตัวเองที่ล้ม เพราะความไม่ระแวดระวังเฉลียวใจ ในองค์ประกอบทั้งปวง..

                ..ในเรื่องสุขภาพของคนเราก็เช่นกัน  โรคส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ว่าเป็นโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น มะเร็ง  หลอดเลือดหัวใจตีบ  เส้นเลือดในสมองแตก  อุบัติเหตุจราจร  หรือโรคเรื้อรัง  เช่น เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  มักเป็นโรคที่มีอาการนำพยากรณ์ได้ล่วงหน้า หรือ มีปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่ การเจ็บป่วย ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็มักจะช่วยป้องกันลดความรุนแรงของโรคข้างต้นดังกล่าวได้

ในที่นี้ ผมจึงขอเสนอพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่เปรียบเสมือนเป็น “พายุสุขภาพ (Storm of Health)” ที่พวกเราส่วนใหญ่กำลังเดินฝ่าอยู่ พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง ปัญหาคือคนส่วนใหญ่มักจะมีความรู้ หรือตระหนักได้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี  อะไรควร อะไรไม่ควร สามารถควบคุมตัวเองได้  ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่  

(๑)  ไม่ออกกำลังกาย  เคลื่อนไหวร่างกายน้อย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากของสังคมเมืองในขณะนี้ มีข้อมูลจากการสำรวจวิจัย พบว่าวัยรุ่น ๘๐% ของประเทศ เคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป

(๒)  เครียด หงุดหงิดง่าย ใช้ชีวิตเร่งรีบ  ทุกวันนี้คนจะให้ความสำคัญกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การเดินทาง จนบีบคั้นตัวเองมาก บางคนป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร  โรคประสาทเพราะเหตุดังกล่าว

(๓)  นอนดึก นอนน้อย พักผ่อนไม่พอเพียง โดยเฉพาะในเยาวชนคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งมักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเทคโนโลยี และความบันเทิงในรูปแบบใหม่ๆ

(๔)  สูบบุหรี่ และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ  ปัญหานี้เป็นปัญหาที่แก้กันมานาน และเกี่ยวข้องกับนโยบาย  กฎหมายของรัฐ 

(๕)  ปล่อยตัวให้น้ำหนักเกิน (อ้วน) โดยเฉพาะค่าเกินมาตรฐาน ดรรชนีมวลกาย หรือ BMI เกินมาตรฐานที่สูงเกิน ๒๕ Kg/m2

(๖)  ชอบกินแต่เนื้อกับอาหารแป้ง (หวาน มัน เค็ม) ไม่กินผัก  ผลที่ตามมาคือ ท้องผูก ได้สารอาหารไม่ครบหมู่ และเสี่ยงต่อโรคต่างๆหลายโรค

(๗)  อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สัปปายะ ( หนวกหู  ผลุกผล่าน มีควันฝุ่นแยะ ฯลฯ ) สิ่งเหล่านี้ทำให้ต่อมไตต่างๆ ทำงานผิดปกติ เคมีในร่างกายผิดเพี้ยนไปกว่าที่ควรจะเป็น

                ..ทั้งหมดนี่ คือ Storm of life ที่ท่านกำลังเดินฝ่า บางท่านอาจมีปัจจัยเสี่ยงเป็นบางข้อ  แต่บางท่านอาจเข้าข่ายครบทั้ง ๗ ข้อ (Perfect Storm of life) ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่าหาว่าไม่เตือนนะครับ  อีกไม่นานจักรยานสุขภาพของท่านล้ม (ป่วย) แน่ครับ..

 

ข้อมูลสื่อ

457-01
นิตยสารหมอชาวบ้าน 457
พฤษภาคม 2560