• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดท้อง (ตอนที่ 1)

ปวดท้อง (ตอนที่ 1)


อาการปวดท้องอาจเป็นอาการปวด เจ็บ แสบ เสียด จุก แน่น หรือไม่สบายในท้องและท้องน้อย ถ้าเป็นมากอาจเสียวร้าวขึ้นมาที่ไหล่ไปด้านหลัง หรือลงไปบริเวณก้นได้
คงไม่มีใครที่ไม่เคยปวดท้อง เพราะอาการปวดท้องเป็นอาการที่พบมากที่สุดอาการหนึ่ง แม้แต่หัวเราะมาก ๆ ก็ปวดท้องได้ ที่เรียกว่า “หัวเราะจนท้องคัดท้องแข็ง” ไอมาก ๆ ก็ปวดท้อง ออกกำลังก็ปวดท้องได้ เป็นต้น


คนไข้รายที่ 1   เป็นหญิงอายุประมาณ 25 ปี ถูกอุ้มเข้ามาที่ห้องฉุกเฉิน เพราะปวดท้องมา 2-3 วัน ปวดมากมา 2 ชั่วโมง และหน้ามืดเป็นลมมา 1/2 ชั่วโมง
ตรวจพบว่าคนไข้มีอาการกระสับกระส่าย ทุรนทุราย ไม่ค่อยรู้สึกตัว หน้าซีด มือเท้าเย็นซีด เหงื่อออกเต็มตัว หายใจเร็ว ชีพจรเบาเร็วประมาณ 150 ครั้ง/นาที ความดันเลือดวัดไม่ได้ด้วยการฟัง แต่จากการคลำ วัดความดันเลือดตัวบนได้ประมาณ 60-70 ทอรร์(มิลลิเมตรปรอท)
หมอรีบดึงหมอนออก ให้ศีรษะนอนราบลงกับพื้นเตียง และใช้หมอนกับผ้าห่มหนุนขาทั้ง 2 ให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดที่ขาไหลกลับไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น
แล้วให้น้ำเกลือเข้าเส้นอย่างเร็วเพื่อแก้ภาวะช็อก (ภาวะที่ความดันเลือดตกมาก จนเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่าง ๆ ไม่เพียงพอ) พร้อมกับเจาะเลือดไปตรวจ และไปหาเลือดมาให้คนไข้
หลังให้น้ำเกลือเร็ว ๆ คนไข้ก็เริ่มรู้สึกตัวดีขึ้น อาการกระสับกระส่าย ทุรนทุรายลดลง หายใจช้าลง ชีพจรช้าลง ความดันเลือดดีขึ้น

หมอจึงถามประวัติจากคนไข้และญาติพอได้ความว่าคนไข้ขาดประจำเดือนมา 3 เดือน ไม่เคยไปฝากครรภ์ (ฝากท้อง) แต่เข้าใจว่าคงจะท้อง (ตั้งครรภ์)
หมอจึงบอกคนไข้และยาติว่า จะต้องตรวจภายใน (ตรวจทางช่องคลอด) ว่าท้องจริงหรือไม่ และดูว่าที่ปวดท้องมากเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์หรือไม่
หลังจากตรวจภายใน พบว่าคนไข้ตั้งครรภ์จริง แต่เป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) หรือตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่ (ปีกมดลูก) ทำให้ท่อนำไข่แตกและตกเลือด ต้องรีบให้เลือดและผ่าตัดฉุกเฉิน
คนไข้และญาติยินยอม จึงได้รับการผ่าตัดทันทีหลังจากเข้าโรงพยาบาลได้เพียง 3 ชั่วโมงโดยไม่ต้องไปตรวจอะไรอย่างอื่นให้เสียเวลาอีก

หลังผ่าตัดเอาท้องนอกมดลูกออก โดยตัดท่อนำไข่ (ปีกมดลูก) ข้างนั้นทิ้งไป และห้ามเลือดในช่องท้องน้อยจนเรียบร้อย อาการช็อกของคนไข้ก็ดีขึ้น และหลังผ่าตัดเพียงไม่กี่วัน คนไข้ก็อยากออกจากโรงพยาบาลได้
ถ้าได้ผ่าตัดอย่างทันท่วงทีคนไข้คงจะเสียชีวิตจากการตกเลือดในช่องท้องที่เกิดจากการแตกของท้องนอกมดลูกอย่างแน่นอน

คนไข้รายแรกนี้จึงเป็นตัวอ่าของคนไข้ที่ “ปวดท้องฉุกเฉิน” ซึ่งแพทย์และญาติพี่น้องจะต้องรู้จักสังเกตอาการ และรีบให้การรักษาอาการเจ็บหนักก่อน
อาการเจ็บนักเป็นอย่างไร ให้ดูในหมอชาวบ้านฉบับที่ 64-65 สำหรับอาการอย่างคร่าว ๆ ให้ดูในตารางที่ 1 

ตารางที่1 ขั้นตอนในการตรวจรักษาอาการปวดท้อง                     

 

                                 
                                   
เมื่อรักษาอาการเจ็บหนักจนคนไข้พอจะทรงตัว (ดำรงชีวิต) อยู่ได้บ้างแล้ว ต้องรีบหาสาเหตุของการเจ็บหนัก แล้วแก้สาเหตุของการเจ็บหนักนั้นทันที
คนไข้ที่ปวดท้องแล้วเจ็บหนักสาเหตุของอาการเจ็บหนักมักจะเป็นสาเหตุของการปวดท้องนั่นเอง นั่นคือ เป็นสาเหตุเดียวกัน

ดังนั้น คนไข้ที่มาหาหมอด้วยอาการอะไรก็ตาม จะต้องตรวจและตัดสินใจให้ได้ก่อนเสมอว่า อาการนั้นเป็นอาการเจ็บหนักไหม ฉุกเฉินไหมจะได้รีบดำเนินการตรวจรักษาให้เร็วที่สุด คนไข้จะได้อยู่รอดและไม่เกิดอันตรายถึงขั้นพิการ หรือต้องเสียเงินเสียเวลาเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

อาการปวดท้องที่ถือว่า “เจ็บหนัก” เช่น
1. มีอาการอาเจียนเป็นเลือดสีแดงหรือสีกาแฟดำ หรืออุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำเหมือนเฉาก๊วยหรือยางมะตอย เป็นจำนวนมาก

2. มีอาการซีดมาก สังเกตจากริมฝีปากและลิ้นที่มีสีซีดขาว (ไม่มีสีแดงเหมือนปกติ นั่นคือ สีซีดลงมาก แต่ไม่ใช่เป็นฝ้าสีขาวที่เกิดอยู่บนผิวของลิ้น)

3. มีอาการช็อก นั่นคือ อาการของถาวะที่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ เช่น
3.1 ไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้เกิดอาการสับสน (หลง เลอะเลือน พูดไม่รู้เรื่อง) กระสับกระส่าย
ทุรนทุราย ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือหมดสติ (ไม่รู้สึกตัวเลย)

3.2 ไปเลี้ยงผิวหนังไม่พอ ทำให้ผิวหนังโดยเฉพาะที่มือเย็นซีด และมักจะมีเหงื่อเย็น ๆ ทั่วตัว (“เหงื่อกาฬแตก” เหงื่อกาฬคือ เหงื่อเย็น ๆ มักจะเป็นเม็ดโต ๆ ที่ออกมา ในคนไข้ที่ใกล้จะตายจากภาวะช็อก)

3.3 ไปเลี้ยงไตไม่พอ ทำให้ไม่มีปัสสาวะ หรือปัสสาวะออกน้อยมาก (ไม่ใช่ปัสสาวะไม่ออก เพราะแม้จะสวนสายเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ก็ไม่มีปัสสาวะหรือปัสสาวะออกน้อยกว่า 30 มิลลิลิตรหรือซีซีต่อชั่วโมง)

3.4 ไปเลี้ยงร่างกายส่วนอื่น ๆ ไม่พอ ทำให้ชีพจรเบาเร็ว (คลำไม่ค่อยได้) หายใจเร็วหรือหอบ(เพราะเลือดเป็นกรดจากการมีของ เสียคั่ง) ความดันเลือดตกมาก (อาจวัดไม่ได้เพราะขาดเลือดหรือหัวใจ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ) เป็นต้น

4.มีไข้สูง หรือมีอาการหอบเหนื่อยมาก หรือมีชีพจรเร็วมากหรือช้ามาก หรือมีความดันเลือดที่สูงมากหรือต่ำมาก เป็นต้น

ส่วนอาการปวดท้องที่ถือว่า “ไม่เจ็บหนัก” แต่ “ฉุกเฉิน” เช่น
1. มีอาการท้องอืดมาก จนหน้าท้องโป่งออกจนตึงและผู้ป่วยมีอาการแน่นท้องและอึดอัดมาก

2. มีอาการ “กดเจ็บ” หรือ “ปล่อยเจ็บ” ที่บริเวณหน้าท้องมาก
อาการ “กดเจ็บ” คือ อาการเจ็บที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ฝ่านิ้วมือกดบริเวณหน้าท้อง โดยเริ่มกดเบา ๆ ก่อน ถ้าไม่เจ็บจึงค่อย ๆ กดแรงขึ้น ๆ

อาการ “กดเจ็บ” ในอาการ “ปวดท้องฉุกเฉิน” คือ เมื่อลดหน้าท้องเพียงเบา ๆ ก็เจ็บมาก แต่คนไข้บางคนอดทนมาก ต้องกดแรง ๆ จึงบ่นว่า เจ็บ ดังนั้นจึงต้องดูปฏิกิริยาของคนไข้เวลากดท้องด้วย
ที่สังเกตได้ง่ายคือ ถ้าเจ็บมาก หน้าท้องจะเกร็ง (guarding) สู้มือทันทีที่กดหรือหน้าท้องจะแข็งเป็นดาน (rigidity) อยู่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บเวลาถูกกด
ส่วนอาการ “ปล่อยเจ็บ” คืออาการเจ็บที่เกิดขึ้นเมื่อปล่อยคือ (ยกมือขึ้น) จากการกด ตรวจโดยใช้ฝ่านิ้วมือค่อย ๆ กดที่หน้าท้องลงไปทีละน้อย ๆ (กดลงไปเบา ๆ) โดยไม่ให้เกิดอาการเจ็บ เมื่อกดลงไปจนถึงจุด ๆ หนึ่งที่คนไข้เริ่มจะเจ็บหรือเริ่มรู้สึกว่าหน้าท้องคนไข้เริ่มเกร็งตัวสู้กับมือ ก็ให้ยกมือขึ้น (ปล่อยมือจากการกด) ทันที ถ้าคนไข้สะดุ้งหรือร้องเจ็บ แสดงว่ามีอาการ “ปล่อยเจ็บ” แล้วอาการ “ปล่อยเจ็บ” มีความสำคัญกว่าอาการ “กดเจ็บ” เพราะมักจะแสดงว่าเยื่อบุช่องท้อง (perito-nitis) ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากการอักเสบรุนแรงของอวัยวะในช่องท้อง

3. คลำได้ก้อนในช่องท้อง ซึ่งมีอาการปวดและกดเจ็บด้วย

4. มีอาการปวดท้องมาก จนเหงื่อแตก หรือกระสับกระส่ายทุรนทุราย

5. มีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ออก เป็นต้น
คนไข้ปวดท้องที่ฉุกเฉินไม่ว่าจะมีอาการเจ็บหนักหรือไม่ก็ตาม ควรจะงดอาหารและน้ำทางปาก และรีบส่งโรงพยาบาล
ถ้าให้น้ำเกลือเข้าเส้นได้ ควรให้น้ำเกลือหรือน้ำกลูโคสกับเกลือเข้าเส้นไว้ก่อน ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล ถ้าใส่ท่อ (ใส่สายยาง) ผ่านจมูกเข้าไปดูดลมและน้ำออกจากกระเพาะก็ยิ่งดี จะทำให้อาการท้องอืดและอาการปวดท้องดีขึ้นได้บ้าง

คนไข้ปวดท้องฉุกเฉินเมื่อไปถึงโรงพยาบาล จะได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับคนไข้ฉุกเฉินอื่น ๆ

                                                                                                                             (อ่านต่อฉบับหน้า )


 

ข้อมูลสื่อ

204-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 204
กันยายน 2539
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์