• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคในฤดูหนาว

โรคในฤดูหนาว


ฤดูหนาวมาถึงแล้ว คนทั่วไปมีโอกาสเสี่ยงจากความหนาวเย็น ที่จะทำให้เกิดโรคติดต่อได้ ดังนั้น จึงควรได้รับรู้ เพื่อการป้องกัน ดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว

จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า โรคในฤดูหนาว ซึ่งจะมีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อในกลุ่มไวรัส ได้แก่ โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้สุกใส ส่วนโรคที่พบรองลงมา ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ซึ่งแต่ละโรคมีจำนวนผู้ป่วยในตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2549 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า
โรคหัด                      2,464        ราย           ไม่มีผู้เสียชีวิต
โรคสุกใส (อีสุกอีใส)  40,112       ราย           เสียชีวิต  3     ราย
โรคคางทูม               5,536         ราย           ไม่มีผู้เสียชีวิต
โรคปอดบวม            101,693      ราย           เสียชีวิต 536  ราย
โรคไข้หวัดใหญ่       12,780        ราย            เสียชีวิต   2    ราย


โรคหัด

โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางลมหายใจ ภาคกลางพบผู้ป่วยมาก
⇒อาการ  มีไข้สูง ไอมาก ตาแดง หรือน้ำมูกไหล และมีผื่นแดงตามตัว โดยขณะที่ผื่นขึ้นนั้นยังมีไข้สูงอยู่ และอาจเกิดโรคแทรกได้ เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง สมองอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ขาดสารอาหารหรือเด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
⇒พบมาก ช่วงฤดูหนาว โดยเพิ่มสูงมากเดือนมกราคมจนถึงมีนาคมของทุกปี โรคนี้มักพบในเด็ก วัยต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะเด็กอายุ 5-9 ขวบ และ ที่พบบ่อยคือกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน หรือได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว
⇒การดูแลรักษา ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา กินยาลดไข้ รักษาตามอาการ
⇒การป้องกัน การฉีดวัคซีนในเด็กวัย 9-12 เดือน และกระตุ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ 


โรคสุกใส (อีสุกอีใส)

โรคสุกใสเกิดจากเชื้อไวรัส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมาก
⇒อาการ ไข้ปานกลาง มีตุ่มใส และมีตุ่มหลายระยะ ในเวลาเดียวกัน ขึ้นที่หน้า ลำตัว แขน ขา และโดยเฉพาะเด็ก ถ้าเป็นในช่องปาก อาจทำให้ดูดนม หรือ กินอาหารได้น้อย
พบมาก ช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมทุกปี พบมากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะเด็กอายุ 5-9 ขวบ
⇒การดูแลรักษา ให้รักษาตามอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการป่วยในเวลาไม่นานและมักจะไม่มีโรคแทรกซ้อน ยกเว้นบางรายที่อาจมีการติดเชื้อโรคซ้ำบริเวณรอยแผลตุ่มใส ทำให้เกิดแผลเป็นได้
⇒การป้องกัน โรคนี้ติดต่อได้ค่อนข้างง่ายจากการสัมผัส แต่ถ้าคนที่เคยป่วยแล้ว จะมีภูมิต้านทานตลอดชีวิต (ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้ว แต่ยังมีราคาแพง) 


โรคคางทูม

โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด
⇒อาการ มีไข้ปานกลาง ต่อมนำเหลืองหน้ากกหูโต และมักโตทั้ง ๒ ข้าง
⇒พบมาก ที่สุดในฤดูหนาว ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงมีนาคม และพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะอายุ 5-9 ขวบพบมากที่สุด
⇒การดูแลรักษา ให้รักษาตามอาการ และอาการมักจะไม่รุนแรง แต่ถ้าพบโรคนี้ในเด็กโต อาจจะเกิดภาวะข้างเคียงได้คือ ลูกอัณฑะอักเสบ
⇒การป้องกัน โรคนี้ไม่รุนแรง อาจจะไม่จำเป็นต้องแยกผู้ป่วย แต่ต้องแยกผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม และผ้าเช็ดหน้า


โรคปอดบวม

โรคปอดบวม เกิดได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด
⇒อาการ ไข้ ไอ เสมหะมาก แน่นหน้าอกเหมือนหายใจไม่ออก หอบ หายใจเร็ว มักพบตามหลังไข้หวัดเรื้อรังหรือรุนแรง หรือโรคหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคหอบหืด
⇒พบมาก ที่สุดในฤดูฝน และพบได้บ่อยในฤดูหนาว เช่นกัน กลุ่มอายุที่พบมากคือ อายุต่ำกว่า 10 ขวบ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ
⇒การดูแลรักษา ลูกหลานและญาติที่ป่วยเป็นไข้หวัดหรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยไปพบแพทย์ในเบื้องต้น และถ้าอาการยังไม่ทุเลา ก็ควรไปพบแพทย์ซ้ำ เพื่อติดตามการรักษาต่อไป
การดูแลอื่นๆ ได้แก่ การทำร่างกายให้อบอุ่น การดื่มน้ำอุ่น การอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหายใจรับเชื้อเข้าไป
สำหรับบุคคลทั่วไป เวลาไอ จาม ควรมีผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก จมูก ด้วยทุกครั้ง และหมั่นล้างมือ

 

ไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ปี พ.ศ.2549 นี้พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สูงสุดในภาคกลาง
⇒อาการ ไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัวมาก อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน พบมากที่สุดในฤดูฝน และพบได้บ่อยในฤดูหนาวเช่นกัน กลุ่มอายุที่พบ มักเป็น กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน และเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
⇒การดูแลรักษา ควรพบแพทย์แต่เนิ่นๆ
⇒การป้องกัน ควรทำร่างกายให้แข็งแรง และอบอุ่นอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ทั้งโรคปอดบวมและไข้หวัดใหญ่ จะต้องมีการเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็น โรคที่มีอาการสำคัญของโรคที่คล้ายและใกล้เคียงกับ โรคไข้หวัดนก
จากรายงานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ด้านสถานการณ์โรคไข้หวัดนก มีรายงานยืนยันผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ในปี พ.ศ.2549 นี้ จำนวน 3 รายและเสีย ชีวิตทั้ง 3 ราย ที่จังหวัดพิจิตร อุทัยธานี และหนองบัวลำภู


ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือปอด บวม ที่ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนและรอผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการ อีกจำนวน 14 ราย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังและมีการรายงานโรคเป็นพิเศษอยู่ในขณะนี้ และอากาศหนาวที่เริ่มเข้ามาก็เป็นปัจจัยเสริมด้าน สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต่อโรคไข้หวัดนก ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่สำคัญอีกโรคหนึ่งเช่นกัน

ข้อมูลสื่อ

332-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 332
ธันวาคม 2549
โรคน่ารู้
สำนักระบาดวิทยา