วิชาวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร
ในระบบเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยม เศรษฐกิจอยู่ได้ด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคมากๆ โดยโฆษณาจูงใจทุกรูปแบบ
ฉะนั้น วิทยุและโทรทัศน์จึงเต็มไปด้วยการปลุกระดม เรียกว่าตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เฉพาะขนมหลอกเด็ก พวกลูกกวาด ลูกอม น้ำหวานหลากสีหลากรูปแบบ หลอกเอาเงินจากพ่อแม่ของเด็กไปประมาณปีละ 170,000 ล้านบาท และทิ้งปัญหาสุขภาพไว้ เพราะการกินหวาน นอกจากทำให้ฟันผุแล้ว น้ำตาลยังไปจับกับโปรตีนในเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเสื่อม เครือข่ายปกป้องสุขภาพเด็กถึงกับต้องออกมารณรงค์ต่อต้านด้วยคำว่า" เด็กไทยไม่กินหวาน "
นอกจากนั้นก็จะนำหนุ่มสาวหน้าตาดีๆ มากระตุ้นตัณหาด้วยวิธีการต่างๆ มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ กระตุ้นการบริโภค ท่ามกลางความรุนแรงของการสื่อสารเพื่อกระตุ้นวัตถุนิยม บริโภคนิยม ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะถูกทำให้โง่เขลาเบาปัญญา ตกเป็นเหยื่อ เสียเงินเสียทอง เสียสุขภาพ เสียพฤติกรรม
การศึกษาที่เน้นการท่องจำ เด็กและเยาวชนจะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย เพราะเห็นหรือได้ยินอะไรก็เดินเข้าไปในสมองได้เลยโดยไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองด้วยวิจารณญาณ การศึกษาจะต้องปรับตัวจากการถ่ายทอดเนื้อหา ซึ่งเป็นเรื่องโบราณ เพราะสมัยโบราณขาดแคลนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ แต่สมัยนี้ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ต้องมีการฝึกจำแนกแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรมีประโยชน์ อะไรมีโทษ
ถ้าต้องการให้ลูกฉลาดและพ้นภัยร้ายจากการสื่อสาร พ่อแม่กับลูกจะต้องหัดวิเคราะห์ข่าวสารที่ได้รับในแต่ละวันว่าอะไรเชื่อได้หรือไม่ได้ อะไรมีคุณหรือโทษอย่างไร ในชั้นเรียนที่โรงเรียนทุกวันควรจะมีวิชาวิเคราะห์ข่าวสาร เพื่อพัฒนาความสามารถ กลั่นกรองด้วยวิจารณญาณ
ถ้าขาดวิจารณญาณ เราจะถูกทำร้ายทุกคน
- อ่าน 2,682 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้