• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอกับสมดุลของชีวิต

สองวันก่อนได้คุยกับเพื่อนครูโยคะ ซึ่งได้เล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาให้ฟัง เพื่อนคนนั้นทำงานออฟฟิศ แกบอกว่าคนอเมริกันเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี วันจันทร์ถึงศุกร์จึงทำงานด้วยความสบายใจ  แต่คนอเมริกันไม่ใช่เพื่อนที่สนิท ทำให้เสาร์-อาทิตย์เป็นวันที่ไม่มีความสุขเลย แต่พอบอกว่างั้นก็กลับเมืองไทยสิ แกก็ไม่อยากกลับเมืองไทย เพราะแม้คนไทยจะรู้ใจกัน มีความสุขในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่คนไทยทำงานด้วยยาก ทำให้วันจันทร์ถึงศุกร์ไม่มีความสุขเลย  กล่าวคือมีชีวิตที่ไม่ลงตัว ไม่สมดุล เพื่อนครูโยคะยังคุยต่อว่า ความสมดุลในชีวิตของคนเราเป็นสิ่งสำคัญ หากใครหาจุดสมดุลให้กับชีวิตของตัวเองได้ ชีวิตจะมีความสงบสุข ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง  และได้กลับมานั่งทบทวนต่อ ว่ามนุษย์คนหนึ่ง จะสร้างสมดุลในชีวิตได้อย่างไรบ้าง? 

โดยได้ข้อสรุปว่า การทำโยคะเป็นประจำสม่ำเสมอจนเป็นวิถีนั่นแหละ เป็นหนทางหนึ่งที่จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนชีวิตในหลายๆ แง่มุม ค่อยๆ นำพาผู้ฝึกไปสู่สมดุลแห่งชีวิตโดยรวบรวมมาแลกเปลี่ยนดังนี้

ประเด็นแรกคือ เรื่องของเวลา เป็นที่ยอมรับกันว่า คนเมืองยุคนี้สิ่งที่หาได้ยากที่สุดคือเวลา  ใครๆ ก็ไม่มีเวลาทั้งนั้น (รวมถึงไม่มีเวลาทำโยคะด้วย) แต่ผู้ที่ฝึกโยคะสม่ำเสมอ  ซึ่งต้องแบ่งเวลาของตนเอง มาฝึกโยคะทุกวัน จะพบว่าความสุขสงบที่ได้ระหว่างทำโยคะนั้น ดีกว่า สูงค่ากว่าความสนุกสนานจากกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่น การดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ ดูภาพยนตร์ เป็นต้น มากมายนัก กล่าวคือ ยิ่งฝึกโยคะมาก ยิ่งเกิดความเบื่อหน่ายต่อความสนุกสนานที่ฉาบฉวย ผู้ฝึกโยคะจึงสามารถลดกิจกรรมที่รกรุงรังในชีวิตประจำวันลงได้เป็นจำนวนมาก ผลก็คือ จากการแบ่งเวลามาทำโยคะสม่ำเสมอ กลับกลายเป็นผู้ที่มีเวลาเหลือเฟือ

ประการที่สองคือ เรื่องของวัตถุและการเงิน การฝึกโยคะเป็นประจำ ทำให้ผู้ฝึกลดความต้องการ ลดการแสวงหาทางวัตถุ คนฝึก โยคะหลายคน เลิกกินอาหารมื้อแพงๆ (บางคนเลิกกินมื้อเย็นไปแล้ว) หยุดการซื้อเสื้อผ้า ของใช้ที่ฟุ่มเฟือย หยุดการซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ จนเรียกว่า เดือนๆ แทบจะไม่ได้ซื้ออะไร  ทำให้กลายเป็นคนมีเงินเหลือใช้ ในเรื่องทางการเงิน คนบางคนแม้มิได้ใช้จ่ายมากมายแล้ว แต่ก็ยังอดเป็นห่วงเรื่องเงินเก็บสำรองไว้ใช้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามชราไม่ได้ 

เมื่อไม่นานมานี้ มีงานวิจัยต่างประเทศชิ้นหนึ่งพบว่า คนที่มีความกังวลว่าตัวเองจะไม่พอกินยามแก่ ส่วนใหญ่มีเงินเก็บมากมาย  ในงานวิจัยสรุปว่า ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ที่จำนวนเงิน แต่อยู่ที่ความกลัวถึงความไม่แน่นอนของอนาคต  คนฝึกโยคะสม่ำเสมอ ความกลัวจะค่อยๆ ลดลง    คนทำโยคะไม่กลัวการเจ็บไข้ เพราะการทำโยคะประจำเป็นการรักษาสุขภาพที่ดียิ่ง  คนทำโยคะไม่ กลัวอุบัติเหตุเพราะการทำโยคะทำให้เกิดความไม่ประมาท ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ  เมื่อความกลัวต่างๆ หมดไป ความเป็นกังวลเรื่องการเก็บเงินสำรองก็หมดไป

ประการถัดมาคือ เรื่องของอารมณ์และจิตใจ  สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย อันสามารถจับจ่ายซื้อหาได้ด้วยเงิน ทำให้คนยิ่งหาเงินยิ่งมีเงินมาก ยิ่งเกิดความอหังการ บางคนพอมีเงินมากแล้ว ถึงกับเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เชื่อว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล  การฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอ ผู้ฝึกจะพบว่าคุณค่าของโยคะที่สำคัญยิ่งคือ ทำให้จิตใจของเราดีขึ้น  การฝึกโยคะสม่ำเสมอ เป็นการค่อยๆ ขัดเกลาจิตใจของผู้ฝึกให้มีความละเอียดอ่อนโยน เป็นคนมีน้ำใจ  คนยิ่งฝึกโยคะจะยิ่งลดความเคารพเงินทอง แต่เพิ่มความเคารพตนเอง ยิ่งฝึกโยคะ ยิ่งเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้นการเห็นคุณค่าของตนเองนี้ นำไปสู่การเห็นคุณค่าของคนอื่นมากขึ้น และเมื่อตระหนักถึงคุณค่าของผู้อื่นก็เกิดความเข้าใจ เห็นความ เป็นองค์รวม เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับธรรมชาติตามที่เป็นจริง คือเห็นว่า ตัวเองเป็นเพียง ละอองเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นี้  เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ฝึกโยคะสม่ำเสมอ ก็จะเป็นผู้มีอารมณ์ มั่นคง มีจิตใจอันงดงาม

ในเบื้องต้นกล่าวได้ว่า การฝึกโยคะประจำ ทำให้ผู้ฝึกเป็นคนจิตใจดี  ไม่แสวงหาทรัพย์สินเกินความจำเป็น ทั้งยังมีเวลาให้กับตนเอง มาก  ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า การฝึกโยคะสม่ำเสมอทำให้เราเป็นผู้มีความสมดุลในการดำเนินชีวิตในทางเพิ่มเติม แม้โยคะจะเอื้อต่อการจัดปรับวิถีของผู้ฝึกให้สมดุล  แต่การจะดำเนินวิถีชีวิตให้เกิดความสมดุลอย่างถึงที่สุดนั้น ยังต้องประกอบด้วยปัจจัยอันสำคัญยิ่งอีกประการ ซึ่งได้แก่ การที่มนุษย์ต้องมี "เป้าหมายชีวิต" ด้วย  เราลองพิจารณาดู วิถีชีวิตที่สมดุล หมายถึง มนุษย์ต้องเดินไปบนทางได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ไม่เบี่ยงเบนไป ทางซ้ายหรือทางขวามากเกินไป  ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ มนุษย์ต้องรู้ว่าตัวเองกำลังยืนอยู่ที่ใด เดินมาจากทางใด และที่สำคัญจะมุ่งไปสู่ทิศทาง ใด  กล่าวคือ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสมดุลของชีวิต เราไม่เพียงต้องมีวิถีที่ดีเท่านั้น เรายังต้องอาศัยเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนอีกด้วย คนส่วนใหญ่ซึ่งถูกหล่อหลอมในกรอบของสังคมที่เน้นการบริโภค จะเห็นเงินเป็นคุณค่าหลัก และตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้ที่จำนวนเงิน 

ผู้ที่ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ที่เงินเพียงตัวเดียวเช่นนี้ ย่อมมีทิศทางของชีวิตที่ทุ่มเทไปที่ตัวเงินเท่านั้น
ผู้ฝึกโยคะประจำ นอกจากจะเห็นเรื่องของเงิน เรื่องของวัตถุแล้ว ยังคำนึงถึงมิติอื่นๆ ที่ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบอันจำเป็นของชีวิต ผู้ฝึกโยคะยังมีเป้าหมายอื่นๆ อีก เช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะดูแลสุขภาพของตนแบบพึ่งตนเอง หลีกเลี่ยงการกินยาที่เป็นสารเคมี พยายามทำตัวไม่ให้เป็นหวัด  ผู้ฝึกโยคะมีเป้าหมายที่จะถือศีล ตั้งใจจะถือศีลได้เพิ่มมากขึ้นทีละข้อๆ ผู้ฝึกโยคะมีเป้าหมายที่จะอุทิศทรัพยากรของตนส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกำลังเงิน กำลังสมอง หรือเวลาเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นต้น ผู้ฝึกโยคะสม่ำเสมอ เห็นความเชื่อมโยง เห็นความเป็นองค์รวม ให้ความสำคัญต่อมิติเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน ผู้ฝึกโยคะประจำ ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้หลายๆ ด้าน และดำเนินชีวิตเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายเหล่านี้พร้อมๆ กัน  การดำเนินชีวิตก็ไม่สุดโต่งไปเพียงด้านใดด้านเดียว นอกจากมนุษย์ควรคำนึงถึงเป้าหมายอันหลากหลายเหล่านี้  ยังต้องคำนึงถึงเป้าหมายอีกประการคือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิต หรือที่เรียกว่าอุดมคติ  ผู้คนสมัยปัจจุบันไม่ค่อยกล่าวถึงอุดมคติกันเลย

ครั้งหนึ่งในชั้นเรียนโยคะ นักเรียนคนหนึ่ง ถึงกับเห็นว่า การพูดถึงอุดมคติในสมัยนี้เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แต่อย่างไรก็ตาม การที่สังคมกล่าวถึงมันน้อยมาก มิได้หมายความว่ามนุษย์สามารถดำเนินชีวิตได้โดยปราศจากอุดมคติ อุดมคติเป็นเสมือนธรรมนูญของชีวิตที่เป็นหลักการ เป็นหลักยึดของส่วนอื่นๆ ทั้งหมด  ลองคิดดูให้ดี ต่อให้เรามีวิถีชีวิตที่เหมาะสมเพียงใด หากไม่มีอุดมคติ หรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต แค่เราย่างเดินก้าวแรก เราก็ไม่รู้แล้วว่าเราคืบหน้าไปหรือกำลังถอยหลัง ป่วยการที่จะพูดว่า เรากำลังเดินไปได้อย่างสมดุลหรือเปล่า

ศาสตร์โยคะได้กำหนดอุดมคติสูงสุดไว้ที่สมาธิ Trans consciousness หมายถึงสภาวะแห่งความเป็นอิสระหลุดพ้นจากพันธนาการทั้งหลาย ทั้งปวงที่ร้อยรัดมนุษย์เอาไว้  คนที่ฝึกโยคะประจำ ภาพอุดมคติจะค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นๆ คนที่ฝึกโยคะสม่ำเสมอ จะได้รับประสบการณ์แห่งความรู้สึกอิสระหลุดพ้นเป็นครั้งคราว  และทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าอุดมคติไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ  และเมื่อดำเนินชีวิตไปตามมรรควิถีทั้ง ๗ ข้อแรกของโยคะจนครบถ้วน  ท้ายที่สุดผู้ฝึกก็จะเข้าถึงสมาธิ ผลมรรคข้อที่ 8 ของโยคะ


โยคะไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่อง ที่สลับซับซ้อน เทคนิคโยคะนั้นเรียบง่ายอย่างยิ่ง มนุษย์คนหนึ่งที่ปรารถนาจะบรรลุวัตถุประสงค์ของโยคะนั้น ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการปฏิบัติเทคนิคโยคะอันเรียบง่ายเป็นประจำด้วยการปฏิบัติโยคะอย่างสม่ำเสมอ เราก็จะมีความสมดุลแห่งชีวิต เมื่อเกิด สมดุลแห่งชีวิตเราก็จะมีความสงบสุข

 

ข้อมูลสื่อ

304-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 304
สิงหาคม 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์