• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจทารกก่อนคลอด

การตรวจทารกก่อนคลอด

ระหว่างการตั้งครรภ์เก้าเดือน หญิงตั้งครรภ์และญาติๆ หรือเพื่อนผู้ใกล้ชิดมักจะสนทนากันถึงเรื่องราวของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ เช่น เพศหญิงหรือเพศชาย หน้าตาจะเหมือนใครนะระหว่างพ่อกับแม่ ความสวยความงามของส่วนใดในวงญาติที่ทารกน้อยจะเป็นผู้พิมพ์รอยต่อมา แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ผู้เป็นพ่อและแม่จะเฝ้าถามตนเองหรือแพทย์ผู้ดูแลว่า “ลูกจะแข็งแรงสมบูรณ์หรือไม่” ซึ่งคำถามนี้มักจะไม่มีคำตอบจนกระทั่งทารกคลอดออกสู่โลกภายนอก

ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าจนสามารถที่จะตอบคำถามนี้ได้ตั้งแต่มีการปฏิสนธิได้ 6 สัปดาห์ วิธีการนี้เราเรียกว่า “การวินิจฉัยทารกก่อนคลอด” แต่อย่างไรก็ดี การวินิจฉัยทารกก่อนคลอด มิใช่สิ่งจำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน เนื่องจากโอกาสเกิดความผิดปกติของทารก หรือความพิการแต่กำเนิดนั้นมีสาเหตุที่บ่งชี้ และพบได้ในคนบางกลุ่ม ดังนั้นการวินิจฉัยทารกก่อนคลอดจึงเป็นสิ่งที่แพทย์จะแนะนำเฉพาะบางคนที่มีปัจจัยดังต่อไปนี้

  • มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคทางพันธุกรรม และถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ได้
  • มีประวัติการติดเชื้อไวรัสที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความพิการของทารกในครรภ์ เช่นโรคหัดเยอรมัน
  • ได้รับสารพิษหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ เช่นรังสีเอกซ์ในปริมาณที่มากเกินกำหนด
  • มีประวัติการคลอดบุตรพิการ หรือการแท้งบุตรโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยครั้ง
  • หญิงตั้งครรภ์มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป

ในการตรวจวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงตามปัจจัยดังกล่าว พบว่าร้อยละ 95 ไม่พบความผิดปกติของทารกในครรภ์ และสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การวินิจฉัยทารกก่อนคลอดเป็นเพียงการตรวจสอบความผิดปกติที่มีคำตอบว่ามีหรือไม่มี การดูแลหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรสก่อนและหลังการตรวจวินิจฉัยเป็นกิจกรรมที่สำคัญและต้องการทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการรับรู้ว่าทารกในครรภ์มีความปกตินั้นเป็นเรื่องที่กระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคู่สมรสและครอบครัว รวมถึงการตัดสินใจเลือก และการเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเผชิญปัญหา

หนทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาหลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอด

1. ตั้งครรภ์ต่อไป คู่สมรสบางคู่แม้จะทราบว่าทารกในครรภ์ผิดปกติ แต่ก็ตัดสินใจเลือกที่จะได้บุตรมาเลี้ยงดู การเตรียมคู่สมรสให้เผชิญกับความพิการของทารกที่อาจจะรุนแรงมากกว่าที่คาดคะเนไว้ เป็นสิ่งแรกที่คณะทางการแพทย์ต้องกระทำ การให้ข้อมูล การฝึกทักษะบางประการของพ่อแม่เป็นกรณีพิเศษที่จะให้การดูแลทารกผู้พิการและการเตรียมคู่สมรสให้เผชิญกับความสูญเสียในกรณีที่ทารกไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องการการดูแลเป็นเฉพาะกรณี

2. ยุติการตั้งครรภ์ เมื่อผลการวินิจฉัยทารกในครรภ์พบว่าทารกมีความผิดปกติอย่างมาก หรือรุนแรงเกินกว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้หลังคลอด การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกทางหนึ่งที่คู่สมรสไม่ต้องทนกับความทุกข์ทรมานจากการตั้งครรภ์และการสูญเสียในอนาคต
การพบผู้เชี่ยวชาญทางพันธุกรรมเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและโอกาสการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเป็นบริการหลังการวินิจฉัยที่จำเป็น บางกรณีภายหลังการทำแท้ง สูติแพทย์มักจะแนะนำให้มีการตั้งครรภ์ใหม่ในเวลาอันเหมาะสม และรับการตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอดซ้ำอีกครั้ง คู่สมรสส่วนมากจะพอใจต่อทางเลือกนี้

3. การให้การรักษาทารกในครรภ์ ทางเลือกนี้มีความจำกัดและเป็นไปได้ในบางกรณี เช่น ปัญหาหมู่เลือดไม่เข้ากัน การรักษาโดยการถ่ายเลือดทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่ให้ผลดีและมีอันตรายน้อย (ในประเทศไทยปัญหาหมู่เลือดไม่เข้ากัน)พบได้น้อย และไม่รุนแรงเท่าปัญหาที่พบในหมู่เลือดเช่นอาร์เอช (RH) และการถ่ายเลือดทารกในครรภ์กระทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ บางแห่งเท่านั้น) การให้สารเอนไซม์หรือยาฮอร์โมนบางชนิด (เช่นสารสตีรอยด์) แม้แต่การผ่าตัดทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่กระทำได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก ซึ่งวิทยาการเหล่านี้คงจะเข้ามาถึงประเทศไทยในอนาคต

4. การปลูกถ่ายอวัยวะ บางกรณีที่ตรวจพบว่าความพิการที่เกิดในทารกนั้นรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะอวัยวะบางอย่างที่สามารถปลูกถ่ายได้และทำให้ทารกมีชีวิตรอด ซึ่งวิทยาการเหล่านี้เป็นความก้าวหน้าอีกสาขาหนึ่งทางการแพทย์ที่เรียกว่าผู้เชี่ยวชาญทางทารกแรกเกิด ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีบริการทางด้านนี้

สิ่งที่สำคัญและใคร่ย้ำเป็นพิเศษคือ “ไม่มีสิ่งใดในโลกจะสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด” วิชาการที่ทันสมัยและก้าวหน้าทางการแพทย์ก็เช่นกัน มีทั้งประโยชน์มหาศาลและมีข้อเสียในเวลาเดียวกันถ้าไม่ใช้ด้วยความเข้าใจและระวัดระวัง การวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ก็เช่นกัน ควรทำการตรวจซ้ำเมื่อพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น และก่อนการตัดสินใจเลือกสิ่งใดควรได้ปรึกษาขอความคิดเห็นจากบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์หลายๆคน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้โอกาสเหล่านั้นจะมีเพียงเล็กน้อยก็ตาม

ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในขณะตั้งครรภ์

  • มีการฝากครรภ์ที่เหมาะสม
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้สุขภาพคุณแม่และลูกแข็งแรง
  • บริหารร่างกายสม่ำเสมอ การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์และช่วยในการคลอดได้มาก
  • ควบคุมการเพิ่มน้ำหนักตัวให้คงที่ เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการคลอดที่ยุ่งยากเนื่องจากทารกในครรภ์อ้วนเกินขนาด
  • งดสูบบุหรี่หรืออยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ เพราะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • งดดื่มเหล้าและเครื่องดองของเมาทุกชนิดที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ทารกพิการได้
  • ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงสารพิษและมลภาวะ
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เพราะอาจส่งผลต่อทารก เช่น เชื้อหวัด ช่องคลอดอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

ในฉบับนี้ได้พูดถึงเรื่องถ้าหากทารกในครรภ์มีความผิดปกติจะมีทางเลือกใดบ้างที่จะกระทำต่อไปได้บ้าง ในฉบับต่อไปจะมาติดตามกันต่อถึงวิธีการในการตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอด ว่าแต่ละวิธีมีความสำคัญแตกต่างกันอย่างไร
                    

                                                                                                                 (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

                                                ****************************************

 

 

ข้อมูลสื่อ

207-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 207
กรกฎาคม 2539
ผศ.พวงน้อย สาครรัตนกุล