• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

สถิติผู้ป่วยเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจในประเทศไทยยังครองอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีทำให้เราได้รู้เรื่องราวของโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งมีวิธีการที่จะแก้ไขรักษาโรคหัวใจที่ได้ผลดียิ่งขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของหัวใจ คอลัมน์ “เรื่องน่ารู้” ครั้งนี้ หมอชาวบ้านได้สนทนากับ ศาสตราจารย์นายแพทย์ชวลิต อ่องจริต จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทยและเอเชีย และผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

  • ก่อนอื่นคงต้องเรียนถามว่า ในประเทศไทย ใครคือผู้ที่ริเริ่มเรื่องการเปลี่ยนหัวใจ

สำหรับของไทยนั้น ผมมีความสนใจในเรื่องนี้มานานแล้ว และได้มีโอกาสไปต่างประเทศ ได้ติดต่อกับแพทย์ที่ทำการผ่าตัดทางนี้อย่างสม่ำเสมอ ได้เห็น ได้ศึกษา และติดตามเรื่องนี้เรื่อยมาจนมีการวางโครงการขึ้น

ในตอนแรกได้ผลไม่ดี เพราะเมื่อใส่หัวใจใหม่เข้าไปแล้วร่างกายปฏิเสธและทำลาย และเนื่องจากการผ่าตัดนี้แพงมาก แถมผลที่ออกมาผู้ป่วยอยู่ได้ไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ จึงหยุดทำ แต่ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ การผ่าตัดเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถอยู่ได้เป็นปี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ สามารถทำงาน มีครอบครัวหรือมีบุตรได้ เรียกว่ามีความคุ้มทุนที่จะทำผ่าตัดนี้ ตอนนี้ในต่างประเทศมีผู้ป่วยที่อายุยืนที่สุดหลังจากผ่าตัดแล้วถึง18 ปี ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดที่ยังมีชีวิตอยู่คิดแล้วประมาณร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคหัวใจระยะสุดท้าย คือ กล้ามเนื้อหัวใจหมดสภาพที่จะบีบตัว ผู้ป่วยชนิดนี้ ให้ยาก็ไม่ได้ผล ส่วนใหญ่อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนก็เสียชีวิตหมด ถ้าเราทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ได้เกิน 1 ปีก็คุ้มแล้ว เราจึงได้ตั้งโครงการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจนี้ขึ้น

หลังผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะต้องกินยาตลอด เพื่อไม่ให้ร่างกายต่อต้านหัวใจใหม่ ปัจจุบันยานี้มีราคาแพงมาก การใช้ยังไม่แพร่หลาย ซึ่งต้องมีงบประมาณให้ผู้ป่วยเดือนละ 5,000-10,000 บาท สำหรับยาชนิดนี้ถ้ามีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น มีการผลิตมากขึ้น ราคาคงจะถูกลง ยาชนิดนี้มีฤทธิ์ในการกดความต้านทานของร่างกาย โดยกดเฉพาะเซลล์ที่จะไปทำลายอวัยวะใหม่ ไม่กดเม็ดเลือดขาวทุกตัว จึงทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ผ่าตัดมาทั้งหมด 7 ราย มี 3 รายแรกสามารถทำงานได้แล้ว นอกจากนั้นอยู่ระหว่างพักฟื้น

ในเอเชีย ประเทศไทยทำได้สำเร็จก่อนประเทศอื่น ญี่ปุ่นและไต้หวันก็มีการผ่าตัด แต่ได้ข่าวว่าเสียชีวิตหมด สำหรับของเราที่ผ่าตัดไปแล้วคนแรกขณะนี้อยู่ได้นานเกิน 12 เดือนและแข็งแรงเป็นปกติดี

  • ขณะที่กำลังรอเปลี่ยนหัวใจ ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรเมื่อเอาหัวใจเก่าออกไปแล้ว

คนเราถ้าไม่มีหัวใจก็อยู่ไม่ได้ เพราะร่างกายต้องมีเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆตลอดเวลา โดยเฉพาะสมอง ไต ตับ ถ้าขาดเลือดแล้วอวัยวะจะหยุดทำงาน สำคัญที่สุด คือ สมอง ถ้าหยุดทำงานแล้วไม่มีทางฟื้น เรียกว่า สมองตาย ในช่วงที่เอาหัวใจออกเราจึงต้องเตรียมเครื่องหัวใจและปอดเทียม เพื่อทำหน้าที่แทนทั้งหัวใจและปอดเพื่อจะนำเลือดซึ่งมีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองตามปกติ ดังนั้นผู้ป่วยที่รอเปลี่ยนหัวใจจึงยังคงมีชีวิตอยู่ได้

  • มีเกณฑ์อย่างไรในการรับบริจาคหัวใจ

ผู้ที่จะบริจาคหัวใจต้องเป็นคนที่สมองตาย ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอุบัติเหตุ เราจะทำหน้าที่เป็นคนกลางขออนุญาตจากญาติผู้ป่วยสมองตาย แต่หัวใจยังเต้นอยู่ เพื่อใช้อวัยวะช่วยชีวิตผู้อื่น (ทางการแพทย์ถือว่าคนสมองตาย คือ คนที่ตายไปแล้ว) ถ้าหัวใจหยุดเต้น คือ ขาดเลือดไปเลี้ยงก็จะใช้ไม่ได้ ถ้าให้ได้ผลจริงๆ จะต้องได้หัวใจที่สดจริงๆ คือ ขาดเลือดปุ๊บ เราก็เอาออกทันที

อาจจะมีคนสงสัยกันว่า เรานำหัวใจของคนที่ตายแล้วมาใช้จริงหรือ เพื่อแก้ข้อสงสัย เราจึงตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยเรื่องสมองตายแล้วเป็นผู้ลงชื่อรับรอง เมื่อผู้ป่วยตายแล้วจะมีการตรวจซ้ำอีกครั้งภายใน 12 ชั่วโมงว่าสมองตาย คือ ไม่มีปฏิกิริยากับแสงไฟ ไม่มีการหายใจ จะมีการตรวจเป็นระยะทุกๆ 12 ชั่วโมง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ พบว่าสมองตายแน่ๆ แพทย์ก็จะเซ็นชื่อไว้อย่างน้อย 2 คน อีกทั้งคณะกรรมการชุดนี้จะต้องไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคณะที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจด้วย

หัวใจที่เอาออกจากผู้บริจาคแล้วจะไม่ได้เปลี่ยนทันที โดยจะเก็บรักษาไว้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงระหว่างที่ไปผ่าตัดจากผู้บริจาคมาใส่ให้ผู้รับบริจาค และมีคณะทำงาน 2 ชุด คือ ชุดแรกไปทำการตัดหัวใจของผู้บริจาค ชุดที่สองทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้ผู้ป่วย

  • อายุและเพศของผู้บริจาคกับผู้รับบริจาคจะต่างกันได้หรือไม่

มีการนำเอาหัวใจของผู้หญิงมาใส่ให้ผู้ชาย โดยผู้หญิงอายุ 45 ปี แต่ผู้ชายมีอายุ 19 ปี เหมือนกับว่านำของผู้ใหญ่มาใส่ให้เด็ก ครั้งแรกที่เรามีการเปลี่ยน ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าเป็นหนุ่มกว่าเก่าและแข็งแรงกว่าเก่าอีกด้วย

  • การผ่าตัดใช้เวลาประมาณเท่าไร

ถ้าจะนับทั้งหมดก็เรียกได้ว่าทั้งวัน เพราะต้องเตรียมการตั้งแต่ติดต่อผู้บริจาค ขออนุญาตผู้บริจาค จนถึงลงมือผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 16-18 ชั่วโมง แต่ช่วงที่ทำการผ่าตัดจริงๆ ตั้งแต่ลงมีดจนเย็บแผลใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงเศษๆ ช่วงที่เอาหัวใจออกจากร่างกายประมาณ 3 ชั่วโมง

  • เทคโนโลยีขณะนี้ก้าวไปไกลขนาดไหน

เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถทำให้คนมีชีวิตอยู่รอดได้มากขึ้น ต่อไปในอนาคตอาจจะนำเอาหัวใจคนละประเภท คือ หัวใจจากสัตว์ เช่น หมู มาใส่ให้มนุษย์ก็ได้ ถ้าสามารถคิดค้นยาเพื่อไปกดสารในร่างกายที่ไปทำลายหัวใจจากคนละประเภทได้ ขณะนี้กำลังศึกษาว่าทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะทำให้ลดปัญหาเรื่องหัวใจขาดแคลนได้มาก

  • ค่าใช้จ่ายแต่ละรายประมาณเท่าไร

คำนวณแล้วค่าผ่าตัดประมาณ 50,000 บาท ถ้ารวมทั้งหมดในเดือนแรกประมาณ 100,000 บาท เดือนต่อไปค่อยๆ ลดลงเพราะมีการให้ยาน้อยลง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผ่านมา 2-3 ราย ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ออกให้หมด หลังจากผ่าตัดแล้วเป็นช่วงให้ยา ผู้ป่วยที่ไม่มีเงินทางโรงพยาบาลก็จะออกให้แต่ไม่มาก คือ ตั้งเป้าขั้นแรกไว้ 10 คน นอกนั้นผู้ป่วยต้องจ่ายเอง

  • หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

เมื่อผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะต้องมาตามนัดทุกครั้ง (ขั้นแรกนัดให้มาทุกสัปดาห์ ต่อมาทุก 2 สัปดาห์ และเดือนละครั้ง) กินยาอย่างเคร่งครัด ถ้าขาดยาแม้แต่สัปดาห์เดียวก็อาจเป็นอันตรายได้ แล้วต้องระวังการติดเชื้อให้มากด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่จะผ่าตัด ต้องให้ความร่วมมือ ต้องเข้าใจว่าโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ไม่สามารถรักษาได้โดยวิธีอื่น ถ้าอยากมีชีวิตอยู่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ผมต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันบริจาคหัวใจเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์อื่นเมื่อท่านเสียชีวิตแล้ว โดยแจ้งความจำนงบริจาคในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเกิดกรณีที่ท่านเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย แพทย์จึงจะนำหัวใจท่านไปช่วยชีวิตผู้อื่นต่อไป ซึ่งไม่เหมือนกับการบริจาคเลือดหรือไต เพราะหัวใจถ้ายกให้คนอื่นไปแล้ว คนยกให้จะต้องตาย เรามีโครงการตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะเพื่อรวบรวมอวัยวะทุกชนิดไว้ด้วยกัน เหมือนกับศูนย์ดวงตาที่ทำอยู่แล้ว โดยสภากาชาดไทย (ประสบความสำเร็จมาก ถึงขนาดส่งไปยังต่างประเทศ) แต่ยังไม่มีการตั้งศูนย์เป็นองค์กรกลางติดต่อกับประชาชนโดยตรง คาดว่าจะมีการทำเป็นศูนย์ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มาแสดงความจำนงไว้ และมีบัตรบริจาคอวัยวะซึ่งผู้ตายอุทิศแล้ว จะช่วยทำให้มีอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมากขึ้น

ปัจจุบันสามารถบริจาคอวัยวะได้ที่สภากาชาดไทย ตึกบริพัตร ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยจำกัดว่าต้องมีอายุไม่เกิน 45 ปีสำหรับหัวใจ ส่วนอวัยวะอื่นไม่จำกัดอายุ

ข้อมูลสื่อ

121-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
โรคน่ารู้
นพ.ชวลิต อ่องจริต