• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์ตะวันตก

การแพทย์ตะวันตก

คอลัมน์ “การแพทย์แผนตะวันออก” ที่ผู้เขียนเขียนอยู่ในช่วง 2-3 ครั้งนี้ จำเป็นต้องปูพื้นประวัติศาสตร์ของการพัฒนาของการแพทย์ตะวันออกและตะวันตก ซึ่งค่อนข้างจะเป็นวิชาการ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องค้นคว้าเพื่อนำมาเสนอแก่ผู้อ่าน เพื่อปูพื้นไว้เมื่อพูดถึงตอนต่อๆ ไปที่พูดเกี่ยวกับการนำแพทย์ตะวันออกมาใช้ในชีวิตประจำวันจะได้ไม่เกิดความสับสนกับวิธีการคิดของการแพทย์แผนตะวันออก

ในศตวรรษที่ 16 และ 17 การแพทย์ตะวันตกได้แหวกความคิดที่ครอบงำของคริสต์ศาสนาออกมา แล้วถูกแทนที่ด้วยมีดผ่าตัดและกล้องจุลทรรศน์ อาวุธใหม่ทั้งสองได้ค่อยๆ เปิดโปงความลับของร่างกาย ทำให้ทราบถึงโครงสร้าง และการทำงานของระบบต่างๆ (เช่น ระบบเคลื่อนไหว ระบบย่อย ระบบขับถ่าย ระบบไหลเวียนของเลือด ระบบหายใจ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น) ได้ละเอียดยิ่งขึ้น

สำหรับความเจริญก้าวหน้าของการแพทย์ตะวันตก ในศตวรรษที่ 18 และ 19 นั้น ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. การกำเนิดของวิชาสรีรวิทยาเชิงทดลอง (experimental physiology) ในปี พ.ศ.2371 นายแพทย์นักเคมีชาวเยอรมัน ฟรีดริช วอห์เลอร์ (Friedrich Wohler พ.ศ.2343-2425) ได้ทดลองสังเคราะห์สารอินทรีย์เคมียูเรีย นอกร่างกายสิ่งมีชีวิตได้สำเร็จ แสดงให้เห็นว่า สารอินทรีย์สามารถสังเคราะห์จากสารอนินทรีย์ได้ เป็นการบุกเบิกแขนงวิชาอินทรีย์เคมีขึ้นเป็นครั้งแรก การกำเนิดของวิชานี้ได้ถูกนำไปใช้ศึกษากระบวนการทางอินทรีย์เคมีในร่างกายที่ปกติ และในกระบวนการเคมีทางพยาธิวิทยาในร่างกายมนุษย์ขึ้น

2. การกำเนิดของวิชาสรีรวิทยาของเซลล์ (cytophysiology) การพัฒนาของวิชากายวิภาคศาสตร์ (anatomy) ทำให้มนุษย์ได้เข้าใจโครงสร้างของร่างกายได้ละเอียดชัดเจนขึ้น บนพื้นฐานนี้มนุษย์ได้เรียนรู้ต่อไปว่าผลจากการเกิดโรคจะทิ้งร่องรอยของความเสียหายที่เกิดขึ้นในอวัยวะภายในแต่ละอวัยวะขึ้น ในปี พ.ศ.2304 มาร์เกกนี่ (Morgagni พ.ศ.2225-2314) นักกายวิภาคพยาธิวิทยา (pathological anatomy) ชาวอิตาลี ได้พบความผิดปกติทางกายวิภาคของผู้ป่วย 640 ราย แล้วเขียนสรุปเป็นหนังสือชื่อ “ตำแหน่งและต้นเหตุของโรค” ว่าโรคคือ การถูกทำลายในจุดเฉพาะส่วน เขาเชื่อว่าโรคแต่ละชนิดเกิดเฉพาะที่อวัยวะที่ต่างกันเท่านั้น ซึ่งต่อมาก็ได้เกิดศัพท์คำว่าจุดกำเนิดของภาวะโรค (nidus) ขึ้น

3. การเกิดของวิชาจุลชีววิทยา ก่อนที่จะมีการค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรค มนุษย์เชื่อว่าโรคร้ายแรงที่มีอันตรายถึงชีวิตและการเกิดหนองนั้น เป็นเพราะอำนาจเหนือธรรมชาติ (super natural) บันดาลให้เกิดขึ้น ต่อมาการพัฒนาก้าวหน้าของวิชาฟิสิกส์ เคมี และกล้องจุลทรรศน์ได้เกิดขึ้น หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur พ.ศ.2365-2438) นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) และเชื้อสเตรปโตคอคคัส (streptococcus) ตลอดจนผลของจุลินทรีย์ที่มีต่อการติดต่อของโรค ทำให้มนุษย์เริ่มศึกษาถึงจุลินทรีย์ที่มีผลต่อร่างกาย และวิธีป้องกันจุลินทรีย์ซึ่งเป็นผลที่ก่อให้เกิดแขนงวิชาใหม่ คือ จุลชีววิทยา เกิดเป็น ยุคเชื้อโรควิทยา

การพัฒนาของการแพทย์ตะวันตกในยุคนั้น มีจุดเด่นทางประวัติศาสตร์ คือ เป็นการแพทย์ที่อาศัยการสังเกตจากการทดลองเป็นพื้นฐาน แล้วสรุปเป็นกฎเกณฑ์ทางการแพทย์ขึ้น แนวโน้มการพัฒนาของการแพทย์ตะวันตกในยุคนั้น เราสามารถสรุปได้จากพื้นฐานหลัก 2 ประการ ดังนี้

1. เป็นการศึกษาแบบแบ่งเป็นแขนงวิชา และศึกษาแต่ละวิชาอย่างเป็นเอกเทศ

การพัฒนาของการแพทย์ตะวันตกในยุคนั้นในระยะแรก คือ เรียนรู้ว่าร่างกายคืออะไร การเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ของชีวิตคืออะไร ปรากฏการณ์ของโรคคืออะไร ดังนั้น การเรียนรู้จึงเริ่มจากจุดแต่ละจุด ดังคำพูดที่ว่า “ถ้าหากเราไม่รู้จักรายละเอียดย่อยๆ ของแต่ละคน เราก็ไม่สามารถมองภาพรวมของทั้งหมดได้ชัดเจน” ซึ่งหมายถึง ไม่สามารถยึดกุมการเคลื่อนไหวของชีวิตได้

ในยุคนั้นเครื่องมือที่ใช้อันได้แก่กล้องจุลทรรศน์ มีกำลังขยายเพียง 300 เท่า เครื่องมืออื่นก็อยู่ในระยะเริ่มต้นของการประดิษฐ์คิดค้น จึงเป็นเงื่อนไขที่จำกัด ไม่สามารถศึกษาการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ในลักษณะลงลึกและเป็นระบบที่เชื่อมโยงกันได้ การศึกษาของการแพทย์ในยุคนั้น มักจะดึงเอาปรากฏการณ์และกระบวนการออกมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นเอกภาพเพื่อที่จะศึกษาเฉพาะส่วน ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นแบบโดดเดี่ยวเป็นเอกเทศไม่เกี่ยวพันกัน การศึกษาแบบนี้ แม้จะสามารถให้คำตอบการทำงานของอวัยวะเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งและเงื่อนไขเฉพาะได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะบอกถึงเนื้อหาที่มีความสัมพันธ์กันแบบองค์รวมของร่างกายมนุษย์ได้

2. เป็นการศึกษาที่พัฒนาไปในลักษณะเฉพาะส่วนและลงลึก

การพัฒนาของแพทย์ตะวันตกนั้น เริ่มต้นจากอวัยวะถึงเนื้อเยื่อไปสู่เซลล์ แล้วเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ จึงมีลักษณะเฉพาะและลงลึก ให้ความสนใจเฉพาะการวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้าง ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากโรค แต่ไม่สามารถศึกษาการเคลื่อนไหวของชีวิตในลักษณะองค์รวมที่เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาได้

สรุปว่า การแพทย์ตะวันตกในศตวรรษที่ 18 และ 19 นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทดลอง ใช้วิธีการแบ่งออกเป็นแขนงวิชา แล้วศึกษาแต่ละแขนงวิชาอย่างเป็นเอกเทศ ผลจากการศึกษาแบบนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาในแขนงวิชาแต่ละวิชาขึ้น และมุ่งสู่การศึกษาเฉพาะจุดที่ลงลึก แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดแนวโน้มที่ละเลยความสัมพันธ์แบบองค์รวมที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ในความเป็นจริงการเกิดของโรคนั้นเป็นผลจากการกระทำของปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในร่วมกัน ดังบทสรุปทางปรัชญาที่กล่าวว่า “ปัจจัยภายนอกเป็นเงื่อนไข แต่ปัจจัยภายในเป็นมูลฐานของการเปลี่ยนแปลง การกระทำของปัจจัยภายนอกต่อวัตถุจะเกิดขึ้นได้จะต้องผ่านปัจจัยภายในเท่านั้น” แต่วิชาจุลชีววิทยามักจะให้ความสำคัญปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบหรือทำลายร่างกายเป็นด้านหลัก ทำให้ละเลยผลที่เกิดจากการกระทำระหว่างปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในไป
 

ข้อมูลสื่อ

121-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
วิทิต วัณนาวิบูล