• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เสียงดนตรีสำหรับการผ่าตัด

เมื่ออยู่ในห้องผ่าตัดแล้ว เพลงบรรเลงคลาสสิกของบราห์มดูมีประโยชน์มากกว่าเพลงของเดอะบีเทิ้ล

ขึ้นชื่อว่า “ห้องผ่าตัด” แล้ว คงไม่มีคุณผู้อ่านคนใดคิดว่าห้องดังกล่าวจะมีวิทยุเทปสเตริโอหรือซาวน์อะเบาต์ติดอยู่ในห้องอย่างแน่นอน แต่สิ่งนี้ไม่ใช่กฎตายตัว เพราะว่าห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลกลางเจฟเฟอร์สันในเมืองพอร์ตทาวน์เซนด์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กลับติดตั้งเครื่องเสียงไฮไฟดังกล่าว

คุณผู้อ่านลองเดาดูซิว่าเขาเปิดให้ใครฟัง คงไม่ใช่เปิดให้บรรดาศัลยแพทย์ฟังระหว่างทำการผ่าตัดอยู่ หรือให้วิสัญญีแพทย์ฮัมเพลงตามจังหวะดนตรีระหว่างวางยาสลบคนไข้เป็นแน่

แน่นอนที่สุด เสียงดนตรีสำหรับการผ่าตัดที่เปิดในห้องผ่าตัดนี้มิได้มีเอาไว้เพื่อให้บรรดาแพทย์เหล่านี้ฟัง แต่เปิดให้คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดฟัง เหตุผลเพื่อคลายความกังวลและความกลัวของคนไข้นั่นเอง

วิสัญญีพยาบาลชื่อ โนรีน แมคคาร์รอน และนักบำบัดโรคด้วยเสียงดนตรี (music therapist) ชื่อ เฮเลน ลินด์ควิส์ต บอนนี ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลหรืออิทธิพลของเสียงดนตรีที่เปิดในห้องผ่าตัดกับผู้ป่วย 25 รายที่เข้ารับการผ่าตัด ในจำนวนนี้ 9 รายเป็นหญิงที่ต้องรับการวางยาสลบเพื่อผ่าตัดรัดปีกมดลูก ส่วนผู้ป่วยอีก 16 รายเป็นชายสูงอายุที่เข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือไส้เลื่อนด้วยการวางยาชาเฉพาะที่ จากการศึกษาพบว่าเสียงดนตรีสามารถใช้แทนยาสงบประสาทซึ่งปกติแพทย์ต้องให้กับผู้ป่วยก่อนทำการผ่าตัดเพื่อคลายความกังวลต่างๆอันเนื่องมาจากบรรดาเสียงที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด (การได้ยินเป็นความรู้สึกอย่างสุดท้ายก่อนที่ผู้ป่วยหมดสติ และเป็นความรู้สึกอย่างแรกที่กลับฟื้นคืนมาเมื่อผู้ป่วยได้สติ)

การใช้เสียงดนตรีบำบัดความกังวลต่างๆนั้น พบว่านอกจากสามารถลดความตึงเครียด ลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดแล้ว หากยังสามารถลดขนาดของยาระงับประสาทที่จำเป็นต้องใช้ลงไปครึ่งหนึ่งในการทำให้ผู้ป่วยสงบใจได้ ยิ่งไปกว่านั้นผลการศึกษาครั้งนี้ยังสอดคล้องกับรายงานการวิจัยเกี่ยวกับผลของเสียงดนตรีในประเทศเยอรมนีตะวันตกที่พบว่า เสียงดนตรีสามารถลดปริมาณยาระงับประสาทที่ใช้กันอยู่เป็นประจำลงไปถึง 50%

แมคคาร์รอนเธอได้เปรียบเทียบผลของเสียงดนตรีว่ามีผลเท่ากับขนาดยากล่อมประสาทที่ชื่อว่า แวเลียม (Valium) 2 มิลลิกรัมครึ่ง และโดยทั่วๆไปแล้ว ผู้ป่วยที่ฟังเสียงดนตรีก่อนการผ่าตัด หลังการผ่าตัดแล้วสามารถฟื้นคืนสติด้วยอาการที่ดีกว่าผู้ป่วยอื่น และยังกลับบ้านได้เร็วกว่าอีกด้วย

สำหรับเพลงที่เปิดให้กับผู้ป่วยฟังระหว่างทำการผ่าตัดมักได้แก่เพลงประเภทคลาสสิกและดนตรีที่ฮิตระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1940 - 1950 (พ.ศ. 2483 - 2493) และแม้แต่จังหวะเทมโป้และจังหวะดนตรีอื่นๆ ก็ได้รับการเน้นเอามาใช้ด้วย อย่างไรก็ดี วิสัญญีพยาบาลผู้นี้ได้กล่าวอย่างติดตลกไว้ว่า “ไม่มีเสียงดนตรีใดหรอกที่เมื่อเปิดแล้วจะทำให้คุณลุกพรวดพราดขึ้นมาแล้วเต้นตามจังหวะเพลง ระหว่างที่เรากำลังผ่าตัดเอาอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของคุณออกไป และเมื่ออยู่ในห้องผ่าตัดแล้ว เพลงบรรเลงคลาสสิกของบราห์มดูจะมีประโยชน์มากกว่าเพลงของเดอะบีเทิ้ล”

ส่วนผู้ป่วยเองก็ดูเหมือนให้ความสนใจเสียงดนตรีเป็นพิเศษอย่างติดอกติดใจ โดยการบรรยายสรรพคุณของเสียงดนตรีสำหรับการผ่าตัดจากคำพูดของผู้ป่วยหนึ่งไปสู่ผู้ป่วยอื่น ขณะนี้ทางโรงพยาบาลแห่งนี้มีผู้ป่วยอยากเข้ามารับการผ่าตัดและฟังเสียงเพลงอยู่มาก ขณะที่ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วก็ออกจากโรงพยาบาลไป และถึงกับมีผู้ป่วยบางรายมาที่โรงพยาบาลพร้อมด้วยเทปเพลงที่ตนเองชื่นชอบ

ดูเหมือนว่าเสียงดนตรีมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมาก แต่ข้อสำคัญอยู่ที่แพทย์ที่ทำการผ่าตัดอยู่นั้น อย่าได้มัวหลงไปกับเสียงเพลงเพื่อการผ่าตัดด้วย จนกระทั่งเคลิบเคลิ้มลืมการผ่าตัดไปก็แล้วกัน
จากนิตยสาร American Health, พฤศจิกายน 2529

 

ข้อมูลสื่อ

99-003-2
นิตยสารหมอชาวบ้าน 99
กรกฎาคม 2530
มงคล ตันติสุวิทย์กุล