• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความสำคัญของการสัมผัสในวัยเด็ก

ความสำคัญของการสัมผัสในวัยเด็ก

นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และพยาบาลได้ตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า การกอดรัดสัมผัสที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูให้แก่ทารกนั้น ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทั้งกาย ใจ และสติปัญญาของเด็ก “จูบคุณคิดว่าไม่สำคัญ จูบเบาๆ เท่านั้นทำให้ฉันสั่นไปทั้งทรวงใน”

ครับ...นี่คือส่วนหนึ่งของเพลง “จูบ” ซึ่งเคยฮิตเมื่อสมัยหนึ่ง แม้ทุกวันนี้ก็เคยได้ยินกันอยู่ และคงเป็นที่ชื่นชอบสำหรับหลายคน สำหรับทารกไม่เพียงแต่จูบหรอกครับที่สำคัญ แม้การสัมผัสอย่างทะนุถนอมก็สำคัญไม่น้อย นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และพยาบาลได้ตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า การกอดรัด สัมผัสที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูให้แก่ทารกนั้น ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทั้งกาย ใจ และสติปัญญาของเด็ก เด็กกำพร้าตามสถานเลี้ยงดูที่ขาดการเอาใจใส่จากผู้เลี้ยงมักมีอาการเหงาหงอย เลี้ยงไม่โต และป่วยบ่อย ในทางการแพทย์มีคำกล่าวขานลักษณะอาการเช่นนี้ว่า Maternal deprivation syndrome แปลว่า กลุ่มอาการขาดรักของแม่

การศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองได้แสดงให้เห็นผลของการสัมผัสต่อสุขภาพของสัตว์ในระยะยาว ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา โรเบิร์ต แซลโพลสกี้ และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นนักชีววิทยาด้านระบบประสาทได้ค้นพบว่า หนูที่ได้รับการสัมผัสบ่อยๆในวัยเยาว์จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าหนูที่ได้รับการสัมผัสน้อยกว่าเมื่อเจริญวัยขึ้น

นักชีววิทยากลุ่มนี้ได้ผ่าสมองหนูทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกันพบว่า สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำของหนูกลุ่มแรกเสื่อมน้อยกว่าของหนูกลุ่มหลัง นอกจากนี้ หนูกลุ่มที่ได้รับการสัมผัสในวัยเยาว์มากกว่ามีความอดทนต่อความเครียดมากกว่า และสามารถยับยั้งการผลิตและปลดปล่อยฮอร์โมนที่มักทำอันตรายต่อส่วนของสมองที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำ

ผลการวิจัยที่ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยดุ๊ค ในรัฐคาโรไลน่า แสดงว่า หนูที่ถูกแยกจากแม่ของมันและขาดการสัมผัสจากแม่ด้วยการเลียไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (growth hormones) ครั้นเมื่อนำมันกลับไปอยู่กับแม่ มันก็สามารถหลั่งฮอร์โมนนี้ได้ใหม่ ในทำนองเดียวกัน หนูที่ยังคงถูกแยกจากแม่แต่ได้รับการสัมผัสจากผู้ทดลองด้วยการใช้แปรงขนอ่อนชุบน้ำมาคอยลูบไล้แทนการเลีย สามารถหลั่งฮอร์โมนนี้ได้

ปรากฏการณ์ที่พบในหนูทดลองดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ในมนุษย์ยังเป็นที่กังขาอยู่ แต่มีการวิจัยชิ้นหนึ่งในทารกคลอดก่อนกำหนด พบว่า การนวดคลึงทารกช่วยให้น้ำหนักตัวของทารกเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และส่งเสริมการพัฒนาของระบบประสาทเมื่อเทียบกับทารกกลุ่มที่ขาดการนวดคลึง

(จาก American Health 1988;12:80-2)

ข้อมูลสื่อ

123-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532