• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดหลัง (ต่อ)

สำหรับคนไข้ที่ปวดหลังแต่ไม่ฉุกเฉิน คือ ไม่ได้รับอุบัติเหตุ ไม่ได้ถูกทำร้ายที่หลัง ไม่มีไข้ และไม่มีอาการฉุกเฉินอื่น (ดูมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 98) ให้ซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อดูว่าอาการปวดหลังเกิดที่ใด
อาการปวดหลังอาจเกิดที่
1. กระดูกไขสันหลังและระบบประสาท
2. กล้ามเนื้อ
3. อื่นๆ

อาการปวดหลังที่เกิดจากกระดูกไขสันหลังและระบบประสาท :
ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกเมื่ออายุสูงขึ้น หรือเกิดจากการใช้หลังไม่ถูกต้อง เช่น ก้มหลังลงยกของหนักๆ ออกแรงผลักดันของหนักๆให้เคลื่อนที่ ขุดดิน นั่งรถที่กระแทกกระเทือนมาก อุ้มเด็ก หรืออื่นๆ ที่ทำในขณะหลังงอหรือบิด

                                   

ทำให้เส้นประสาทที่ออกจากไขสันหลัง (ดูภาพประกอบ) ถูกกดหรือถูกเบียด
ถ้าเป็นที่ส่วนเอวจะเกิดอาการเจ็บแปลบที่บริเวณหลัง หรืออาจจะเจ็บที่สะโพก ต้นขา (ด้านล่างค่อนไปทางหลัง) ขา (ด้านข้าง) หรือเท้าได้ เมื่อบิดตัว ก้มตัว หรือแอ่นตัว

บางคนจะรู้สึกเจ็บแปลที่หลังแล้วก็เสียวลงมาที่สะโพกและขาข้างใดข้างหนึ่ง บางคนก็เจ็บหรือปวดลึกๆเป็นแห่งๆโดยที่อาการปวดไม่วิ่ง (เสียว) ลงมาจากกลางหลังถึงเท้า


การวินิจฉัย :
จะรู้ว่าอาการปวดที่กระดูกสันหลังได้โดย
1. ประวัติ : เกิดอาการปวดหลังภายหลังจากการออกกำลัง ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว หรือได้รับอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้าย และอาการปวดนั้นเป็นอาการปวดเสียวในตำแหน่งที่เป็นเส้นประสาทวิ่ง เช่น ถ้าเป็นที่กระดูกหลังส่วนเอว อาการปวดจะวิ่งลงมาตามแนวประสาทขาด้านหลัง (Sciatic nerve) ทำให้เกิดอาการปวดเสียวตั้งแต่หลังระดับเอว ลงมาที่สะโพกข้างใดข้างหนึ่ง และขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือจะปวดตรงตำแหน่งหนึ่งหนึ่งตำแหน่งใดก็ได้ ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว

2. ตรวจร่างกาย :

2.1 ให้ทุบเบาๆตรงแนวกลางกระดูกสันหลัง(ร่องสันหลัง)โดยใช้นิ้วกลางของมือข้างหนึ่งวางทาบลงในร่องนั้น แล้วใช้กำปั้นของมืออีกข้างหนึ่งทุบลงบนนิ้วกลางแทนที่จะทุบหลังคนไข้โดยตรง แต่อาจจะเผลอทุบแรงเกินไป (ถ้าใช้นิ้วมือของตนเองรองรับไว้ก่อน จะได้รู้ว่าทุบแรงเกินไปหรือไม่)
ถ้าแนวสันหลังตรงตำแหน่งใดผิดปกติ การทุบเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ความผิดปกติน่าจะอยู่ที่กระดูกสันหลังหรือไขสันหลังในบริเวณนั้น

2.2 ให้คนไข้ค่อยๆก้มตัว แอ่นตัว และบิดตัว ถ้ามีอาการเจ็บที่แนวกลางหลัง บริเวณสะโพกหรือขา อาการเจ็บนั้นน่าจะเกิดที่กระดูกสันหลังและไขสันหลังบริเวณนั้น

2.3 ให้คนไข้ไอแรงๆ ถ้ามีอาการเจ็บเกิดขึ้นตรงแนวกลางหลัง หรือบริเวณสะโพก หรือขา อาการเจ็บนั้นมักเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือไขสันหลังถูกกด ถูกเบียดจากสาเหตุอื่นๆ

2.4 ให้คนไข้นอนหงาย แล้วค่อยๆยกขาข้างที่ไม่ปวดของคนไข้ขึ้นโดยให้ขาอยู่ในท่าเหยียดตรง ในคนปกติ หรือถ้าหลังส่วนเอวของคนไข้ปกติ จะยกขาในท่าเหยียดตรงได้ตั้งฉากกับพื้น (คือยกได้ 90องศา สำหรับคนอายุมาก อาจจะยกได้ประมาณ 80 องศา) ถ้ายกขาในท่าเหยียดขึ้นได้ไม่ถึง 90 องศา แสดงว่าหลังส่วนเอวเคลื่อนหรือกดเส้นประสาท โดยเฉพาะถ้ายกขาแล้วเกิดอาการปวดหลังหรือปวดร้าวลงมาตามขา

ถ้ายกขาข้างดีแล้วยกได้ 90 องศา และไม่ปวด แสดงว่าอาการปวดหลังหรือขานั้นไม่น่าจะเกิดจากกระดูกหลังส่วนเอว ให้หาสาเหตุอื่น ถ้ายกแล้วปวดหรือยกได้ไม่ถึง 90 องศา แสดงว่าน่าจะเกิดจากกระดูกสันหลังส่วนเอว

3. การตรวจพิเศษ :
เช่น เอกซเรย์ หรือฉีดสีเข้าช่องสันหลังแล้วเอกซเรย์ (myclogram) จะพิจารณาทำก็ต่อเมื่อคนไข้มีอาการมาก เช่น ปวดขาจนเดินไม่ได้ ขาอ่อนแรง มีไข้ และทุบเจ็บที่หลัง หรืออื่นๆที่คิดว่าอาจจะต้องทำการผ่าตัด หรือเป็นอาการปวดหลังแบบฉุกเฉินเท่านั้น ในกรณีอื่นๆการตรวจพิเศษเหล่านี้มักจะไม่จำเป็น

การรักษา :
คนไข้ที่ปวดหลังจากสาเหตุที่กระดูกสันหลัง ซึ่งรวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน หรืออื่นๆ และไม่ใช่อาการปวดหลังฉุกเฉิน ควรรักษาดังนี้
1. ให้นอนหงายบนพื้นราบและแข็ง เช่น พื้นกระดานหรือพื้นหินเรียบๆ อาจใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าห่ม หรือเสื่อรองได้ แต่ห้ามใช้ที่นอนหรือฟูกนิ่มๆ (รูป 1)

2.ในระยะแรกที่ปวดมากให้ใช้หมอนหรือเก้าอี้หนุนใต้เข่าเพื่อให้เข่าสูงขึ้น สันหลังจะได้ราบลงกับพื้น อาการปวดหลังจะได้หายเร็วขึ้น (รูป 2)

3. ถ้ายังปวดมาก ให้กินยาพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง และอาจกินยาไดอะซีแพม (เม็ดละ 5 มิลลิกรัม) ครั้งละ 1/2-1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง

ถ้าพักหลังให้สันหลังตรง และกินยาดังกล่าว 3-5 วันแล้วไม่ดีขึ้นควรไปโรงพยาบาล

การป้องกัน :
เมื่ออาการปวดหลังดีขึ้น ต้องแนะนำให้คนไข้บริหารหลังและท้องเพื่อไม่ให้ปวดหลังอีกบ่อยๆในอนาคต โดย
1. ในระยะแรกที่ยังปวดหลังอยู่บ้างแต่ปวดไม่รุนแรงมาก ให้นอนหงายบนพื้นราบแข็งๆ เช่น พื้นกระดาน แล้งงอเข่าทั้งสองมาจรดหน้าอก (อาจจะงอเข้ามาถึงอกไม่ได้ก็ไม่เป็นไร) ใช้แขนทั้งสองข้างโอบรอบเข่า แล้วเอามือทั้งสองจับกันไว้ ยกศีรษะและไหล่ขึ้นขากพื้นโดยใช้แรงแขนที่โอบรอบเข่าอยู่ดึงช่วยแล้วปล่อยศีรษะและไหล่ให้นอนราบลงกับพื้นใหม่ ทำสลับกันเช่นนั้นเรื่อยไป เหมือนเก้าอี้โยก จนเหนื่อย จึงหยุด ให้บริหารเช่นนี้วันละหลายๆครั้ง (รูป 3)

2. ในระยะที่อาการปวดหลังดีขึ้นมากแล้ว ให้นอนหงายราบบนพื้นแข็งๆ แล้วยกขาข้างหนึ่งในท่าขาเหยียดตรง
ขึ้นช้าๆ ยกขาให้สูงที่สุดเท่าที่จะยกได้ แล้วค่อยๆวางลง แล้วยกขาอีกข้างหนึ่งแบบเดียวกันสลับกันไปมาให้บริหารเช่นนี้วันละหลายๆครั้ง หรืออย่างน้อยทุกครั้งที่ล้มตัวนอนและก่อนที่จะลุกขึ้นจากที่นอน จนเกิดเป็นนิสัยว่าจะต้องทำเช่นนั้นทุกครั้งที่นอนลง และจะลุกขึ้น (รูป 4)
                                                                                          
3. เมื่อยกขาสลับกันจนสามารถทำได้ 30-40 ครั้งติดต่อกันโดยไม่ปวดขา หรือเจ็บกล้ามเนื้อหน้าท้องแล้ว แทนที่จะยกขาทีละข้าง ให้ยกขาทั้งสองข้างขึ้นพร้อมๆกันในท่าขาเหยียดตรง จะทำให้หลังและหน้าท้องได้ออกกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้แข็งแรงมากขึ้น 

4. สำหรับผู้ที่แข็งแรงแล้วและไม่ปวดหลังแล้ว อาจใช้วิธียกตัวขึ้นจากท่านอนหงาย นั่นคือ ในท่านอนหงายราบอยู่
กับพื้นให้ยกศีรษะ ไหล่ และลำตัวส่วนบนขึ้นจากพื้น แล้ว
งอตัวเข้าหาขาทั้งสองที่เหยียดยาวอยู่กับพื้น ในระยะแรก อาจต้องให้คนจับข้อเท้าไว้ไม่ให้ยกขึ้นจากพื้นหรือสอดเท้าไว้ใต้ไม้หรือที่ยึดเพื่อไม่ให้เท้ายกขึ้น หลังจากนั้นให้    นอนราบลงแล้วยกตัวขึ้นใหม่ สลับกันเช่นนี้เรื่อยไป (รูป5)

สำหรับการบริหารเพื่อป้องกันการปวดหลังด้วยวิธีอื่นๆให้ดูในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 97 หน้า 51-53

อาการปวดหลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อ
ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อหลังส่วนหลังทำงานมากเกินไป เช่น ก้มลงถูบ้าน ซักผ้า ขุดดิน ทำสวน ถางหญ้า หรืออื่นๆ กล้ามเนื้อหลังที่ถูกใช้ทำงานมากๆจะเกิดอาการปวดเมื่อยเช่นเดียวกับกล้ามเนื้ออื่นๆ

การวินิจฉัย :
จะรู้ว่าอาการปวดหลังเกิดที่กล้ามเนื้อได้โดย
1. ประวัติ : เกิดอาการปวดหลังภายหลังภายหลังการทำงานในท่าก้มหลัง เอี้ยวตัว หรือท่าอื่นนานๆ อาการปวดนั้นดีขึ้นเมื่อแอ่นหลัง ก้มหลัง เอี้ยวตัว หรือบิดตัวไปมา และถ้าให้คนบีบนวด กดหรือทุบบริเวณกล้ามเนื้อสองข้างแนวสันหลังแล้วรู้สึกสบายขึ้น

อาการปวดหลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อจะต่างจากอาการปวดหลังที่เกิดจากกระดูก เพราะอาการปวดหลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อจะมีลักษณะแบบปวดเมื่อย ไม่ใช่ปวดเสียว และไม่ใช่อาการเสียวร้าวไปที่อื่น อาการปวดหลังมักจะค่อยๆเป็น คือค่อยๆปวดเมื่อยมากขึ้นๆ ยิ่งทำงานนานยิ่งเป็นมากขึ้น ส่วนอาการปวดหลังที่เกิดจากกระดูกมักปวดแปลบขึ้นทันทีขณะที่ออกกำลังในท่าที่ไม่เหมาะสม และเมื่อทำในท่านั้นอีกจะเกิดอาการเจ็บแปลบอีก การแอ่นหลัง ก้มหลัง เอี้ยวตัว หรือบิดตัว ถ้าไม่ถูกท่าก็จะทำให้เจ็บแปลบได้

2. การตรวจ :

2.1 การทุบตรงแนวกลางสันหลังจะไม่เจ็บ แต่จะเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อสองข้าง แต่ถ้าทุบเบาๆที่กล้ามเนื้อสองข้างสักพัก คนไข้จะรู้สึกสบายขึ้น
2.2 การก้มตัว แอ่นตัว บิดตัว หรืออื่นๆ จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบ และจะทำให้รู้สึกสบายขึ้น
2.3 การไอแรงๆ ไม่ทำให้ปวดหลังมากขึ้น
2.4 การยกขาขึ้นตรงๆจะทำได้ตามปกติ

3. การตรวจพิเศษ :
ไม่มีความจำเป็น

การรักษา

1. ให้พักกล้ามเนื้อหลัง โดยการนอนหงายบนพื้นราบ
2. บีบ นวด หรือทุบเบาๆบริเวณกล้ามเนื้อที่ปวดเมื่อย
3. บิดตัว หรือดัดตน จะทำให้อาการปวดเมื่อยดีขึ้น
4. ไม่ควรจะใช้ยาแก้ปวด นอกจากจะจำเป็นจริงๆ ก็อาจจะใช้ยาได้เดียวกับการปวดหลังที่เกิดจากกระดูกสันหลัง

การป้องกัน

1. ให้บิดตัว เหยียดหลัง เมื่อทำงานไปได้สักพักจนรู้สึกเมื่อยหลัง อย่าทิ้งไว้จนเกิดอาการปวดเพราะจะทำให้หายยากขึ้น เช่น ถ้าก้มลงซักผ้าสักพัก พอรู้สึกเมื่อยหลังก็ให้ยืนขึ้นเหยียดหลังและบิดตัวไปมาสักพักจนหายเมื่อย แล้วค่อยนั่งลงซักผ้าใหม่ เป็นต้น
2. บริหารหลังและท้องดังเช่นอาการปวดหลังที่เกิดจากกระดูกสันหลัง
3. อย่าใช้ยาแก้ปวด หรือการบีบนวด เป็นประจำ จะเคยตัว และติดเป็นนิสัย ทำให้เวลาที่ขาดยาหรือขาดคนบีบนวดให้ จะเกิดอาการไม่สบายมาก
 

 

 

ข้อมูลสื่อ

99-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 99
กรกฎาคม 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์