ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์ (ตอนที่ 2)
ขบวนรถ 4 คันออกจากท่าเดื่อหลังจากเสียเวลาประมาณกว่าครึ่งชั่วโมง ที่ท่าเดื่อมีแพทย์หญิงบัวจันทร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางหู ดั่งคอ และเจ้าหน้าที่อีก 1 คนจากกระทรวงสาธารณสุขมาต้อนรับ ถนนหนทางราดยางไปจนถึงเวียงจันทร์ แต่ทางไม่สู้ดีนักและค่อนข้างแคบ ที่สำคัญต้องขับรถชิดทางขวา ซึ่งตรงข้ามกับบ้านเรา เวลารถสวนกันหลายต่อหลายครั้ง โชเฟอร์รู้สึกสับสนบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เนื่องจากรถที่วิ่งไปมามีน้อยคัน สองข้างทางไม่แตกต่างกับชนบทในภาคอีสานเลยแม้แต่น้อย รถวิ่งประมาณ 20 นาทีก็ถึงเวียงจันทร์
เวียงจันทร์ เวียงวิไล ที่นักร้องลูกทุ่งอมตะของเมืองไทย สุรพล สมบัติเจริญ ได้เคยพรรณนาไว้ในบทเพลง ยังก้องหูผู้คนในยุคลาวก่อนปลดปล่อย
“โอ้...เวียงจันทน์ แดนนี้ที่เคยได้ไป โอ้เวียงวิไล แดนที่ฉันนั้นเคยได้ฮัก เจอะคนฮักที่เวียงราตรี...”
คณะของเราตรงไปที่โรงพยาบาลมะโหสถ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นโรงพยาบาลที่ใช้สำหรับเป็นที่ฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์เช่นเดียวกับโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือโรงพยาบาลศิริราช
อาจารย์หมอศัลยเวทย์ และกลุ่มนักศึกษาแพทย์ไทย ขึ้นไปบนตึกอำนวยการของโรงพยาบาลเพื่อติดต่อประสานงาน พวกเราอีกกลุ่มหนึ่งยืนรออยู่ข้างล่าง รออยู่ชั่วครู่ใหญ่ก็ยังไม่เห็นมีใครลงมาบอกให้ทำอะไร จึงชวนกันเดินเข้าไปในตึกตรงข้ามตึกอำนวยการ แล้วถือวิสาสะเข้าไปนั่งในห้องว่างๆ ห้องหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังเราทราบว่าเป็นหน่วยวางแผนครอบครัว และตึกนั้นเป็นตึกอนามัยแม่และเด็ก
สักครู่หนึ่งเจ้าหน้าที่ผู้หญิงท่าทางใจดีมาถามเราว่ามาจากไหน พอรู้ว่ามาจากประเทศไทย เธอก็ต้อนรับด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง และแนะนำตัวเองว่าเป็นแพทย์
แพทย์หญิงคำหล้า เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศไทย มาดูงานด้านวางแผนครอบครัวที่กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กำลังเขียนรายงานนำเสนอหน่วยเหนือว่า ลาวควรจะวางแผนครอบครัวแบบไหน ผมจึงทราบว่าในลาวยังไม่มีการวางแผนครอบครัว คุณหมอปราโมทย์ บุญเจียรเล่าให้ฟังว่า คนลาวข้ามไปทำหมันฝั่งไทย โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลหนองคายคนลาวข้ามไปรักษากันมาก ตอนสมัยที่ผมเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลมุกดาหารก็เช่นกัน มีภรรยาของข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งมารักษาตัวที่นั่น ผมเป็นคนผ่าตัดเอามดลูกออก คนลาวที่สุวรรณเขตเขาเข้าใจว่าผมเป็นหมอใหญ่
ประเทศลาวมีประชากรประมาณ 3,800,000 คน (ตัวเลขนี้ทราบจากนักศึกษาแพทย์ลาว) เนื้อที่ของลาวมีประมาณครึ่งหนึ่งของไทย ดังนั้น ลาวจึงมีที่อยู่ที่ทำกินอีกมากที่จะรองรับคนของเขา ประชากรในเวียงจันทน์มีแค่ 250,000 คน จึงไม่น่าแปลกใจอันใด ที่ลาวเพิ่งคิดจะวางแผนครอบครัว หากศึกษางานวิจัยของไทยเรื่องการคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการทำหมันหญิง หมันชาย การใส่ห่วง หรือยาคุมกำเนิดชนิดต่างๆ คงจะเกิดประโยชน์ต่อคนลาวไม่น้อย
แพทย์หญิงคำหล้า เธอบอกว่าได้นำโปสเตอร์ต่างๆ ทั้งในเรื่องการวางแผนครอบครัว เรื่องการให้อาหารเสริม และฉีดวัคซีนป้องกันโรค ฯลฯ จำนวนมากมาจากเมืองไทย แต่ยังไม่มีเวลาติดบอร์ด เข้าใจว่าคงเอาเฉพาะรูปมาตัด ส่วนคำอธิบายก็เขียนเป็นภาษาลาว ที่เวียงจันทร์คงไม่มีโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ที่จะพิมพ์ระบบออฟเซต ทำให้ยังขาดแคลนสื่อในการให้สุขศึกษา อาจารย์หมอประดิษฐ์เจรจาซักถามและตอบปัญหากับแพทย์หญิงคำหล้ากันอย่างสนุก เสวนากันไป หัวเราะกันไปด้วยท่าทีฉันมิตร พวกเราที่นั่งฟังอยู่ ก็อมยิ้มไปตามๆ กัน คุยกันสักพักใหญ่ นักศึกษาแพทย์ก็มาตาม บอกว่าการติดต่อประสานงานเรียบร้อยแล้ว ให้พวกเราขึ้นไปบนตึกอำนวยการได้
เมื่อคณะของเราเข้าห้องประชุมกันทุกคนแล้ว ดร.พรมเทพ รองอำนวยการโรงพยาบาลมะโหสถก็ออกมาทักทาย กล่าวต้อนรับ และแนะนำตนเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ เรียนจบจากฝรั่งเศส ปฏิบัติงานมา 10 กว่าปีแล้ว...”
และความตอนหนึ่งเรียกเสียงหัวเราะพร้อมรอยยิ้มทั้งไทย-ลาวว่า “เราเป็นสายเลือดเดียวกัน”
พอถึงตอนนี้ อาจารย์หมอประดิษฐ์ ก็พูดแทรกว่า “เจาะเลือดออกมาดูจะพบฮีโมโกลบินเหมือนกัน ตรวจปัสสาวะก็จะพบองค์ประกอบเหมือนกัน”
ดร.พรมเทพ จึงกล่าวเสริมอย่างทันควันว่า “ธาลัสซีเมีย ครือกัน”
แปลว่า โรคธาลัสซีเมียเหมือนกัน (โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดชนิดหนึ่ง ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบมากในคนอีสานและคนลาว)
บรรยากาศเริ่มต้นของการพบปะม่วนซื่นดีแท้ ดร.พรมเทพ เล่าให้ฟังว่าโรงพยาบาลมะโหสถเป็นโรงหมอศูนย์กลาง เป็นโรงหมอสูงสุดในประเทศลาว เคยเป็นโรงพยาบาลของฝรั่งเศสมาก่อนในยุคที่ลาวตกเป็นเมืองขึ้นจึงรับใช้พรรคพวกของฝรั่งเศสเองแทนที่จะรับใช้ประชาชนลาว หลังจากปลดปล่อยจึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นโรงหมอศูนย์กลางขนาด 450 เตียง รับทุกชนชั้น มีแผนกการต่างๆ เกือบครบ
แผนกการที่สำคัญก็มี อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ ประสูติ (สูติ-นรีเวชศาสตร์) และเด็ก แผนกน้อย ได้แก่ ตา หู ดั่ง (จมูก) คอ วัณโรค แม่และเด็ก ปักเข็มยาพื้นเมือง รังสี วิเคราะห์การยา (เภสัชกรรม) แคว (ทันตกรรม) มีแพทย์ชั้นสูง 110 คน เรียนจบจากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส โซเวียต เวียดนาม ฮังการี เชกโกสโลวาเกีย และคิวบา เป็นต้น ซึ่งเป็นประเทศในเครือข่ายสังคมนิยมทั้งสิ้น มีปัญหาในการทำงานร่วมกันบ้าง เพราะแนวความคิดต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีจบมาจากจีนเลย จะเป็นเพราะอิทธิพลของจีนไม่สามารถครอบงำพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเช่นเดียวกับที่ครอบงำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกระมัง ลาวก่อนปลดปล่อยมีแพทย์ลาวที่จบจากศิริราช ซึ่งต่อมาเป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขก็มี จบจากอเมริกาก็มี ซึ่ง ดร.พรมเทพ บอกว่า พวกนี้ชอบสนุก กลัวการเปลี่ยนแปลงจึงได้หนีไป และกล่าวโทษฝรั่งเศสว่าได้พยายามดึงแพทย์พวกนี้หนีปกครองประเทศลาวมากกว่า 30 ปี แต่ไม่ได้สร้างความเจริญให้ลาว มีแต่สร้างข้อขัดแย้ง เอาระบบของประเทศฝรั่งเศสมาสร้างไว้ ซึ่งระบบนี้ก็ไม่สอดคล้องเหมาะสมกับประเทศลาว 30 กว่าปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสสร้างแพทย์ชั้นสูงให้ลาวเพียง 10 กว่าคน
“ไก่พันธุ์...เอาข้าวให้กิน ออกไข่ก็เอาไปกิน” ดร.พรมเทพ พูดด้วยความขมขื่น
“หลังการปลดปล่อย ในระบบใหม่ เราสร้างแพทย์ให้ได้หลายคน ทั้งแพทย์ชั้นสูงและแพทย์ชั้นกลาง เป็นการเคลื่อนไหวการแพทย์ใหม่เพื่อให้ทั่วถึงในชนบท”
แพทย์ชั้นกลางในโรงหมอมะโหสถมี 180 คน ส่วนใหญ่แพทย์ชั้นกลางจะไปอยู่ในชนบท พวกนี้ใช้เวลาเรียน 3 ปี ขณะที่แพทย์ชั้นสูงใช้เวลาเรียน 6 ปี แพทย์ชั้นกลางมีโอกาสเรียนต่อเป็นแพทย์ชั้นสูงได้ ซึ่งในเรื่องนี้ผมจะกล่าวรายละเอียดในตอนเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยแพทย์ลาว พยาบาลมี 2 ประเภทเช่นกัน คือ พยาบาลชั้นกลาง (ระดับปริญญา) ใช้เวลาเรียน 3 ปี พยาบาลชั้นต้น ใช้เวลาเรียน 1 ปี รวมทั้ง 2 ประเภท 197 คน จะสังเกตว่าแพทย์มากกว่าพยาบาล ซึ่งเมื่อเราได้ถาม ดร.พรมเทพ ก็ยอมรับว่า
“เราลืมสร้างพยาบาล ไปคิดแต่สร้างแพทย์ ทำให้มีหัวใหญ่ขาลีบ”
รวมบุคลากรทั้งโรงหมอมีจำนวน 600 กว่าคน คนไข้นอกมารับบริการวันละ 500 คน ส่วนคนไข้ในเตียงเต็มแตกต่างกันไปแล้วแต่แผนกการ หากเตียงเต็มก็เสริมตามระเบียง ก็เหมือนกับโรงพยาบาลในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอ โรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นปัญหามาก คือ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯ หากเตียงเต็มก็จะมีการใช้เตียงผ้าใบเสริม หรือไม่ก็ปูเสื่อเอาก็มี ภาพเช่นนี้เห็นได้ในโรงพยาบาลชุมชน การปูเสื่อให้นอนเป็นเตียงเสริมเป็นเรื่องปกติธรรมดาในเฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น
ในเรื่องคนไข้นอกล้นตึกผู้ป่วยนอก คนไข้ในไม่มีเตียงจะนอน เป็นปัญหามากในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ได้มีความพยายามจะสร้างตึกใหญ่ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาได้ หากเราไม่แก้ระบบบริการทั้งระบบ ได้เคยมีการศึกษาวิจัยว่าผู้ป่วยนอกที่ไปรอตรวจที่ตึกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลใหญ่ๆ นั้น ผู้ป่วยร้อยละ 80 เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นโรคเฉพาะที่ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางและเครื่องมือที่ทันสมัย
การขอรับบริจาคเงินสร้างตึกใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา ควรที่จะนำเงินมหาศาลนั้นไปพัฒนาคุณภาพระบบบริการในระดับล่าง เช่น ในโรงพยาบาลชุมชน หากมีคุณภาพดี ชาวบ้านก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปรับบริการในโรงพยาบาลระดับจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนจะส่งเฉพาะผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยเฉพาะโรคไปโรงพยาบาลระดับจังหวัด แพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดไม่ต้องเสียเวลาตรวจโรคทั่วๆ ไปที่สามารถตรวจได้ในโรงพยาบาลชุมชน และหากพัฒนาคุณภาพของการบริการในโรงพยาบาลระดับจังหวัดให้ได้ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ คนไข้ก็จะไม่มาล้นที่ตึกผู้ป่วยนอกเพื่อรอการตรวจรักษาโรคง่ายๆ หรือมีอาการหนักแล้วถูกปฏิเสธว่าเตียงเต็ม ต้องตระเวนหาโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯ จนถึงแก่กรรมก่อนจะได้เตียงก็มี
โรคที่เป็นปัญหาสำคัญในลาวนั้น คงคล้ายๆ กับโรคที่เป็นปัญหาในไทยเมื่อสัก 10-15 ปีที่แล้ว พยาธิ (โรค) ที่เป็นปัญหาของลาว เรียงจากปัญหามากไปน้อย ได้แก่ มาลาเรีย อุจจาระร่วง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ โรคระบบทางเดินอาหาร (กระเพาะ ลำไส้) อุบัติเหตุ ฯลฯ
เมื่อเราถามถึงโรคหัวหัวใจ และเส้นเลือดในสมองตีบ เขาก็บอกว่าพบน้อยมาก โรคหัวใจมีประมาณร้อยละ 2 ของโรคทั้งหมด ส่วนโรคเส้นเลือดในสมองตีบมีเพียงร้อยละ 0.1 ของโรคทั้งหมด ส่วนโรคมะเร็งมีไม่มาก ที่มีส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งในมดลูก และมะเร็งตับ พอพูดถึงมะเร็งในตับ ผมก็คิดถึงเรื่องพยาธิใบไม้ในตับซึ่งพบมากในคนอีสาน ประมาณกันว่ามีถึง 6.7 ล้านคนที่เป็นโรคนี้ เนื่องจากกินปลาดิบ ซึ่งมีผลทำให้เกิดมะเร็งในท่อน้ำดีและตับต่อมาภายหลังได้ แต่ก่อนไม่มียารักษา ก็รู้สึกจนปัญญาที่จะแก้ไข เดี๋ยวนี้มียารักษาให้หายขาดได้ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากเมื่อหายแล้วก็กลับเป็นซ้ำอีก เพราะประชาชนชาวอีสานยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดดิบๆ ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมูลนิธิ/ชมรมแพทย์ชนบท และองค์กรอื่นๆ กำลังรณรงค์เพื่อการไม่กินปลาดิบกันอยู่ การรณรงค์คงต้องทำควบคู่ไปกับแนะนำให้ประชาชนสร้างส้วม ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ควบคู่ไปกับการตรวจรักษา ป้องกัน และควบคุม ตลอดจนการวิจัยเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการควบคุมโรคนี้ ทั้งนี้จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาด้วย
เข้าใจว่า เมื่อพี่ไทยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับมากขนาดนี้ น้องลาวก็คงจะครือๆ กัน แม่นบ่ ข้าวเหนียว ปลาแดก เป็นของคู่กับคนอีสานฉันใด คนลาวก็ฉันนั้น ดังคำที่พระเจ้าฟ้างุ้ม วีรกษัตริย์ของลาว ซึ่งตรงกับยุคต้นสมัยอยุธยา ได้ตรัสเอาไว้ว่า “ผู้ใดอยู่เฮือนสูง กินข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก เป่าแคน แม่นลาว”
- อ่าน 11,523 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้