อาหารเป็นพิษ เรื่องง่ายที่เล่นยาก
2 สัปดาห์ก่อนการเขียนต้นฉบับนี้ ผมได้ไปร่วมกับคณะสอบสวนโรคของกองระบาดวิทยา ออกทำการสอบสวนการระบาดของอาหารเป็นพิษ ในหอพักนักเรียนชาวเขาแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงราย และถัดมาอีก 1 สัปดาห์ ก็ทราบว่ามีการระบาดของอาหารเป็นพิษเกิดขึ้นอีกในโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
การระบาดครั้งแรก มีการนำไปลงหนังสือพิมพ์ พาดหัวข่าวซะใหญ่โตว่าเป็น “อาหารมฤตยู” ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจแก่ประชาชนเป็นอันมาก ในการระบาดทั้ง 2 ครั้งข้างต้น มีนักเรียนที่ป่วยมีอาการเป็นร้อย ก่อให้เกิดความชุลมุนสับสน แก่โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง การระบาดที่มีผู้ป่วยจำนวนมากเช่นนี้ มักจะมีรายงานเข้ามาที่กองระบาดวิทยาอยู่เสมอ การสอบสวนการระบาดโดยนักระบาดวิทยา ทำให้เราทราบถึงสาเหตุของการระบาด และวิธีการแพร่เชื้ออันจะนำไปสู่การควบคุมการระบาด
อาหารเป็นพิษ เป็นชื่อโรครวมๆ ที่ครอบคลุมถึงอาการป่วยใดๆก็ตามที่เกิดจากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนเข้าไป ได้แก่ พิษจากสารเคมีและโลหะหนัก เช่น ยาฆ่าแมลง สารบอแรกซ์ กรดน้ำส้มที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น สารพิษที่ขับจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อสแต็ฟฟัยโลคอกคัส เชื้อคลอสติเดียม เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงพิษที่เกิดจากเห็ดที่กินไม่ได้ ปลาบ้า และอาหารทะเลบางชนิด รวมทั้งอาหารที่ปนเปื้อนด้วยโรคชนิดต่างๆ
การระบาดของอาหารเป็นพิษมักจะเกิดในรูปของการป่วยเป็นหมู่จำนวนมากในช่วงระยะเวลาอันสั้น หลังจากการกินอาหารร่วมกัน ในประเทศไทยที่เราพบบ่อยๆ ก็คือ ในช่วงเทศกาลซึ่งมีมากมาย มักจะมีการจัดเลี้ยงกันเป็นกลุ่มใหญ่ จากการสอบสวนโรคที่ผ่านมาเรามักจะพบว่า อาหารที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากเนื้อสัตว์ ที่ทำกินดิบๆ หรือขนมจีนที่ตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องเป็นเวลานานๆ ก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของพิษที่ขับจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ ขนมไส้ครีมต่างๆ เช่น เอแคลร์ ก็เคยพบเป็นสาเหตุเช่นกัน
สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่เริ่มพบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน คือ การเป็นพิษจากสารเคมีต่างๆ ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงมากกว่า เช่น พิษจากยาฆ่าแมลง เป็นต้น อาการของอาหารเป็นพิษมักจะเป็นอาการของระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง และปวดท้อง อาการร่วมอื่นๆ อาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำและสารเกลือแร่ได้
จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยกองระบาดวิทยา จากข่ายงานเฝ้าระวังโรคทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.2529 พบผู้ป่วยประมาณ 45,000 ราย เป็นแนวโน้มที่มีสูงขึ้นทุกปี ช่วงเวลาที่พบการรายงานสูงสุด คือ ช่วงฤดูร้อน เนื่องจากเป็นช่วงของฤดูเทศกาลประเพณีของไทยหลายเทศกาล เช่น สงกรานต์ อย่างไรก็ตามการรายงานก็มีประปรายตลอดทั้งปี
คราวนี้ก็มาถึงหัวข้อที่ตั้งเอาไว้ละครับว่า อาหารเป็นพิษ เรื่องง่ายแต่ทำไมเล่นยาก ที่ว่าง่ายก็เพราะการวินิจฉัยมักจะตรงไปตรงมา โดยเฉพาะถ้าเป็นการระบาด การสอบสวนโรคก็มักจะบ่งชี้สาเหตุออกมาได้ค่อนข้างชัดเจน แต่ที่เล่นยาก ก็คือ การควบคุมหรือการป้องกันการระบาดนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น พฤติกรรมการกินอาหาร มีหลายพื้นที่ที่ยังนิยมบริโภคอาหารดิบ การเก็บรักษาอาหารที่ไม่ได้เก็บไว้ในที่เย็น การปนเปื้อนที่เกิดจากพาหะ การใช้สารเคมีต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลายปัจจัยไม่สามารถควบคุมหรือได้ยากทั้งสิ้น
การรักษาตนเองที่อาจจะทำได้เมื่อมีอาการเริ่มต้น ได้แก่ การดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อมีอาเจียนหรืออุจจาระร่วง โดยไม่ต้องรอให้มีอาการเพลีย กินอาหารอ่อน หากอาการไม่ดีขึ้นใน 12-24 ชั่วโมงจึงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป อนึ่ง หากมีผู้ป่วยด้วยอาการคล้ายๆ กันหลายคน ควรแจ้งแพทย์เพื่อแจ้งแก่ผู้รับผิดชอบการทำสอบสวนว่าเป็นการระบาดหรือไม่ต่อไป
- อ่าน 4,950 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้