โรคโรงงาน
วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ “หมอชาวบ้าน” จึงขอตอนรับวันของเพื่อนผู้ใช้แรงงานทั้งมวล ด้วยบทสัมภาษณ์ นพ.ชินโอสถ หัศบำเรอ ผู้อำนวยการกองชีวอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ท่านผู้นี้มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับวงการคนงานในบ้านเราเป็นอย่างดี ท่านได้ฝากข้อคิดเห็นถึงเพื่อนคนงานไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
หมอชาวบ้าน : อยากให้คุณหมอเล่าถึงสภาพปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยโดยทั่ว ๆ ไปของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมในบ้านเราค่ะ
นพ.ชินโอสถ : ประเด็นแรกต้องรู้ก่อนว่า โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศเรามันมีหลายขนาด อย่างน้อยก็ 2 ขนาด คือใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งจะมีสภาพและปัญหาต่างกันออกไป โรงงานขนาดใหญ่ก็คือ โรงงานที่มีคนงานมาก มากเท่าไรก็แล้วแต่จะกำหนด อย่างในกฎหมายแรงงานของเราก็กำหนดว่า มีคนงาน 100 คนขึ้นไป ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ แต่องค์การอนามัยโลกเขาถือว่า 50 คนขึ้นไป นี่ก็เป็นโรงงานใหญ่แล้ว ส่วนปัญหานี่เราแยกออกเป็น 2 ด้านคือ ปัญหาด้านสุขภาพของตัวคนงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อมของการทำงานที่อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทำงาน โดยทั่วไปในในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปัญหาทั้ง 2 ด้าน คือด้านสุขภาพของคนงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีน้อยกว่าโรงงานขนาดเล็ก เพราะโรงงานขนาดใหญ่ มีเงินที่จะลงทุนมากกว่า การดูแลจึงดีกว่า แต่ก็มีน้อยแห่งมากที่จะทำได้ครบและถูกต้องสมบูรณ์
หมอชาวบ้าน : เท่าที่ผ่านมาในโรงงานทั้ง 2 ขนาดได้มีการจัดบริการด้านสุขภาพอนามัยให้แก่คนงานเพียงใด
นพ.ชินโอสถ : โดยหลักการของอาชีวอนามัย มีอยู่ว่า จะต้องจัดให้มีสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย
4-5 ข้อ ดังนี้คือ
1. ตรวจสุขภาพคนงานทั้งก่อนเข้าทำงาน ในระหว่างทำงานและภายหลังที่เจ็บป่วยแล้วจะกลับเข้าทำงานใหม่ ก็ต้องตรวจกันอีก
2. ต้องมีบริการในด้านการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมของการทำงานอยู่เสมอ ๆ
3. ต้องมีบริการด้านการรักษาพยาบาล อย่างน้อย ๆ เรื่องการปฐมพยาบาลและการรักษาขั้นต้น และทางโรงงานจะต้องติดต่อสถานพยาบาลที่แน่นอนไว้ เพื่อจะจัดส่งคนงานที่เจ็บป่วยกะทันหันไป
4. ข้อนี้สำคัญมาก คือการให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องอันตรายจากการทำงาน ฝึก อบรมให้คนงานรู้ก่อนเข้าทำงานถึงอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และวิธีป้องกัน เช่นต้องสวมแว่นตา สวมหมวกเหล็ก
5. บริการอื่น ๆ ทางด้านสาธารณสุข เช่นในบางแห่งอาจต้องให้บริการเรื่อง การวางแผนครอบครัว การฉีดวัคซีน เป็นต้น
ทีนี้ ปัญหาในประเทศของเราก็คือ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนมากก็มีการจัดเรื่องการปฐมพยาบาล แต่ว่ายังขาดกหารตรวจสอบสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ ขาดการตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยมากจะตรวจก่อนเข้าทำงานเท่านั้น แต่ในระหว่างทำงานโดย-มากไม่มี เช่น ควรจะตรวจทุกปี บางแห่งก็ละเลย จริง ๆ แล้วตามกฎหมายแรงงานมีข้อระบุไว้ว่า โรงงานใดมีคนงาน 100 คนขึ้นไป ต้องมีพยาบาลอยู่ประจำ ถ้ามีคนงานถึง 200 คน ก็จะต้องมีหมอไปอยู่ประจำ แต่ทำนอกเวลาและมีพยาบาลด้วย และโรงงานใดมีคนงานมากถึง 1,000 คน ก็จะต้องมีหมออยู่ประจำเต็มเวลา และมีพยาบาลด้วย และโรงงานประเภทนี้จะต้องมีรถพยาบาลของโรงงานด้วย
ปัญหาก็คือ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหล่านี้ จัดบริการอย่างที่ว่านี้ได้ไม่ครบ ไม่ดี ไม่บริบูรณ์ ข้อสำคัญก็คือ บางแห่งแม้จะมีหมออยู่ประจำ แต่เขาก็เน้นหนักเฉพาะด้านรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยไม่มองถึงการป้องกัน
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่มีบริการเลยแม้แต่อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการปฐมพยาบาล หรือยาที่ควรจะมีเพื่อการปฐมพยาบาล บางแห่งก็ไม่มีเลย เราเคยสำรวจ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีบริการทางการแพทย์เลย นั่นหลายปีแล้วนะ ตั้งแต่ปี 2515 ป่านนี้จะดีขึ้นหรือยังก็ไม่รู้ ยังไม่ได้สำรวจใหม่ แล้วโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กนี่เปรียบเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว มีอยู่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดประมาณ 5-6 หมื่นโรงในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานซ่อมเหล็ก ซ่อมรถ โรงงานทำทอฟฟี่ ทำขนมเด็ก ซึ่งเอาเด็กไปใช้แรงงาน มันเป็นโรงงานขนาดเล็ก และมีมากยากที่จะตรวจตราได้ทั่วถึง แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต้องห่วงหรอก มันมั่วไปหมด ซึ่งสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กนี้ เป็นช่องทางให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้มากมาย อันนี้มันเชื่อมโยงไปถึงปัญหาที่ว่า เหตุใดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย จึงไม่ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพอนามัยของคนงาน นี่เป็นข้อน่าคิดทีเดียว
หมอชาวบ้าน : คุณหมอคิดว่าเป็นเพราะเหตุใดคะ
นพ.ชินโอสถ : ข้อแรก เราต้องโทษตัวเราเองก่อน กระทรวงสาธารณสุขยังทุ่มเทให้เรื่องนี้น้อยเกินไป ถึงแม้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ยังจัดว่าเป็นความสำคัญอันดับที่ 10 ของบริการสาธารณสุข งานอาชีวอนามัยนี่เป็นอันดับสุดท้าย งบประมาณที่ได้ก็น้อยเกินไป น้อยจนทำอะไรไม่ได้ เราไม่มีทางจะไปตรวจโรงงานต่าง ๆ ได้ครบ ตัวเลขในด้านต่าง ๆ จริง ๆ ไปแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ เราใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างทางวิชาสถิติ แล้วแต่จะไปโดนโรงงานไหน แล้วก็มาสรุปว่าในแต่ละปีมีความที่ต้องระมัดระวังแค่ไหน ถ้าเราพบว่าคนงานคนไหน มีแนวโน้มที่จะมีแมงกานีสสูงขึ้น เราก็ปรามแต่เฉพาะส่วนที่เราไปตรวจ และเราจะต้องออกข่าวว่า ขณะนี้มีอันตรายที่น่ากลัวเกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมประเภทนี้ ช่วยกันเตือนเจ้าของโรงงาน, คนงาน โดยผ่านสื่อมวลชน
ข้อสอง มาจากฝ่ายเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม จะพูดก็พูดเถอะ ไอ้ความรับผิดชอบต่อสังคม มีน้อย นี่ในความรู้สึกของผมนะ ความรับผิดชอบต่อชีวิตคนอื่นมีน้อย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป ผมจะเรียนเบื้องหลังให้ทราบว่า ทำไมคนพวกนี้จึงเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ส่วนรวม ทั้งนี้เพราะเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในบ้านเราเป็นคนต่างชาติ นี่เป็นข้อที่น่าคิด คนไทยไม่ค่อยได้เป็นเจ้าของโรงงาน ยิ่งโรงงานขนาดใหญ่ ๆ เจ้าของจะเป็นคนญี่ปุ่น, คนไต้หวัน หรือบางทีก็เป็นคนต่างชาติที่โอนสัญชาติมาเป็นไทย เพื่อจะได้ตั้งโรงงานได้ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะต้องตั้งคนไทยขึ้น ซึ่งเป็นลูกจ้าง ให้เป็นเของโรงงานแต่ในนาม ตัวเขาก็เป็นนายทุน อยู่เบื้องหลัง สมัยหนึ่ง หลายปีมาแล้ว เคยมีปัญหาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตถ่านไฟฉายแห่งหนึ่ง เรื่องสภาพแวดล้อมของโรงงาน เจ้าของโรงงานเป็นคนจีนที่มาจากฮ่องกง พูดภาษาไทยไม่ได้เลย เวลาไปพูดกันต้องพูดภาษาอังกฤษ ไอ้ที่ร้ายที่สุดแกเป็นหมอด้วย ไม่ใช่หมอธรรมดา หมอแผนปัจจุบัน เป็นแพทย์ผ่าตัด เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่เป็นคอมมิวนิสต์ แกก็อพยพหนีออกมาอยู่ฮ่องกง มาตั้งโรงงานผลิตถ่านไฟฉายที่ฮ่องกงและที่เมืองไทย เป็นหมอด้วย แต่ทำไมถึงปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ได้ มันจะอธิบายด้วยอะไรได้ นอกจากมนุษยธรรมมีน้อยเหลือเกิน
ข้อสาม ก็ปัญหาเรื่องแรงงานราคาถูก จากคนไม่มีฝีมือ ซึ่งมีมากเหลือเกิน เนื่องจากปัญหาคนชนบทอพยพเข้ามาอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ กันมาก ทิ้งไร่ ทิ้งนาเข้ามา เพราะคนเกิดมากขึ้น งานน้อยลง ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ผล และต้องขึ้นกับธรรมชาติมาก คนเหล่านี้จึงคิดว่า ทำงานตามโรงงาน ได้รับค่าตอบแทนที่แน่นอน ไม่เหมือนการทำไร่ ทำนา ที่ต้องพึ่งธรรมชาติ เมื่อแรงงานมีมาก เจ้าของโรงงาน จึงมีโอกาสที่จะเลือกได้มาก เขาจึงไม่ง้อ คนต่างชาติชอบมาลงทุนที่เมืองไทยก็เพราะสาเหตุนี้ด้วย ค่าจ้างแรงงานถูก ต้นทุนการผลิตต่ำ ผลกำไรก็มากขึ้น ทางรัฐบาลเองก็มีนโยบายที่จะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมาก ๆ ดังนั้นการที่จะปรับปรุงค่าแรงให้กับคนงาน รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ก็ขัดกับนโยบายที่ว่านั่น
หมอชาวบ้าน : โรคที่พบว่าคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกันมากมีโรคอะไรบ้างคะ
นพ.ชินโอสถ : เรายังไม่ได้สำรวจทั้งหมด พูดจริง ๆ ก็ยังไม่สามารถได้ข้อมูลที่แน่ชัด แต่เราใช้วิธีไปดูจากทะเบียนของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าเจ้าของโรงงานแต่ละแห่ง เขาไปขึ้นทะเบียน จดทะเบียน ว่าเขาผลิตอะไรบ้าง และเขามีสารอะไร หรือสิ่งอะไรที่ใช้ในการผลิต ก็พบว่า ในจำนวนคนงานประมาณ 5 ล้านคน จากทะเบียนของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ทำไว้ ตั้งแต่ปี 2515 นั้น 22 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงต่อสารเคมี ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก 18 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงต่อฝุ่น แร่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น เสียงดังเกินขนาด แสงสว่างไม่เพียงพอ 12 เปอร์เซ็นต์เสี่ยงต่อฝุ่น พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพที่ไม่เหมาะสม 5 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงต่อปัญหาเรื่องท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่นนั่งไม่ถูกท่า และ 4 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงจากอุบัติเหตุ ซึ่งเฉพาะอันนี้เป็นตัวเลขที่วิเคราะห์จากผู้ป่วยที่อยู่ในเขตสมุทรปราการ ซึ่งเป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรม เท่านั้น (ดูแผนภูมิ)
หมอชาวบ้าน : กรณีที่คนงานเจ็บป่วยด้วยอุบัติเหตุจากเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เท่าที่ผ่านมา คนงานได้รับการช่วยเหลือ คุ้มครองจากรัฐ อย่างไรบ้าง
นพ.ชินโอสถ : ปัญหานี้เราได้พยายามช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมมีบริการด้านการปฐมพยาบาลในทุกโรงงาน เป็นความพยายามของเรา เราจะช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของโรงงานให้มีความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาล ซึ่งจะช่วยบรรเทาไม่ให้เป็นมาก ตกเลือดมาก เสียหายหรือพิการมาก แต่เราก็ยังทำได้จำกัด ทำได้เฉพาะโรงงานใหญ่ ๆ ที่สนใจเท่านั้น โรงงานเล็ก ๆ ก็หมดปัญญา
หมอชาวบ้าน : หลักการของอาชีวอนามัย 5 ข้อ ที่คุณหมอกล่าวถึงในข้างต้น เท่าที่ผ่านมามีปัญหาในการจัดให้มีขึ้น อย่างไรหรือไม่
นพ.ชินโอสถ : ประเด็นใหญ่ของเรื่องนี้มีอยู่ว่า การจัดให้มีบริการ 5 อย่างขึ้นนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าของโรงงาน เราเป็นเพียงคนที่แนะนำ กระตุ้นเตือน หรือบังคับ โดยมาตรการทางกฎหมาย หรืออะไรก็แล้วแต่ตามหลักเป็นอย่างนั้น เจ้าของโรงงานเขาจะต้องลงทุนเอง เราจะเป็นเพียงนักวิชาการที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจคอยควบคุมสอดส่อง ดูอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง คอยกระตุ้นให้เขาทำ ซึ่งขณะนี้ก็มีกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว แต่ก็บังคับบางส่วนเท่านั้น ทีนี้สิ่งที่เราต้องการคือมาตรการทางกฎหมาย
ในปัจจุบัน เนื่องจากเราได้งบประมาณมาน้อยมาก ไม่สามารถจะไปควบคุมตรวจตราอะไรได้มากนัก เราจึงมุ่งไปทำงานด้านวิจัยเป็นส่วนใหญ่ งานหลักที่เราทำอยู่ตอนนี้มี 3 อย่าง คืองานวิจัยงานฝึกอบรมและงานเฝ้าระวัง ปัจจุบันเราทำงานวิจัยถึง 83 เปอร์เซ็นต์ จากการที่เราต้องไปทำงานวิจัยเพื่อสืบทราบปัญหาหรือ ต้องเข้าไปตรวจคน ตรวจสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม เราควรจะต้องมีกฎหมายที่ให้อำนาจเรา เข้าไปตรวจตามเวลาที่เราต้องการจะได้เห็นของจริง แต่ปัจจุบันเราไม่มีอำนาจ มันไปมีกฎหมายแรงงานซึ่งให้อำนาจเฉพาะเจ้าหน้าที่พนักงานโรงงาน กฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจตราสภาพเครื่องจักร เครื่องกล แต่กฎ-หมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเลย เราเคยใช้วิธีทำหนังสือขออนุญาต ขอให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายอุตสาหกรรมด้วย กรมแรงงานตอบรับโดยให้ผู้อำนวยการกองอาชีวะอนามัย ผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าศูนย์อาชีวะอนามัย เป็นเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน ให้อำนาจมาเพียง 3 คน ผมจะไปตรวจยังไงไหว ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ตอบอะไรมาเลย เราก็เลยคิดว่าจะร่างกฎหมายเอง ก็ร่างกฎหมายสาธารณสุขฉบับใหม่ขึ้นมา เพิ่มงานอาชีวะอนามัยเข้าไป นี่ก็หลายปีแล้ว กฎหมายนี้ยังไม่ผ่านสักที
หมอชาวบ้าน : คุณหมอมีความเห็น หรือข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้อง ต่อผู้ที่เกี่ยวในเรื่องสุขภาพอนามัยของคนงานนี้อย่างไรบ้างไหมคะ
นพ.ชินโอสถ : สำหรับทางภาครัฐ ผมก็อยากจะเรียกร้องดังนี้
1. นโยบายของรัฐบาลทางด้านสาธารณสุข ควรจะต้องให้ชัดเจน ทบทวนให้แน่นอนว่า เรื่องไหนสำคัญก่อน-หลัง
2. แผนงานและงบประมาณต้องสอดคล้องกัน และสอดคล้องกับนโยบายด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ควรมีการวางแผนร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แล้วก็ซ้ำซ้อนกัน
3. มาตรการที่สนับสนุนในการดำเนินการทางกฎหมาย ถ้าไม่ยอมให้เราออกกฎหมายเอง ก็ขอความกรุณาเรียกร้องหน่วยราชการที่ทำงานประสานกัน ให้เรามีอำนาจตามกฎหมายนั้นด้วย
,
ส่วนทางด้านเจ้าของโรงงาน ผมก็อยากจะเรียกร้องว่า
1. ขอให้มีความสนใจ และมีมนุษยธรรมต่อคนงาน อย่าไปนึกเพียงว่าคนพวกนี้มีราคาต่ำ
2. ถ้าข้อ 1 ไม่ได้ ได้ข้อ 2 ก็ยังดี คือเขาควรจะสนใจคนมาฝึกอบรม หรือจัดการ
ฝึกอบรมในเรื่องการปฐมพยาบาล ให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการปฐมพยาบาลในโรง-งานขนาดใหญ่ ถ้าเป็นโรงงานขนาดเล็ก อยากขอให้เขารวมกลุ่มกันจัดบริการด้านอนามัยขึ้น ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง รวมทุนกันจัด ทั้งด้านป้องกันและรักษาให้คนงานในกลุ่มของเขาส่วนเราจะช่วยด้านวิชาการฝึกอบรมคน หรือหมอ พยาบาล ซึ่งทางเขาจะเป็นผู้จ้าง เราเป็นผู้อบรมให้ นี่เป็นความคิดที่อยากจะให้เขาทำ และเราได้พยายามมาหลายหน แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของโรงงานเท่าที่ควร เช่นเคยเชิญเขามาประชุมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทั้งหมด 30 โรง แต่มาเพียง 3 โรง
หมอชาวบ้าน : ทางด้านคนงาน คุณหมอมีอะไรจะฝากถึงหรือเปล่าคะ
นพ.ชินโอสถ : ทางด้านคนงานนั้น ประสบการณ์จากอดีตจะเห็นว่า คนงานจะเรียกร้องเฉพาะค่าแรงจากนายจ้าง ผมอยากให้เขารู้จักเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ แทน เป็นปากเป็นเสียงให้ตัวเองให้มากขึ้น สนใจ เอาใจใส่สุขภาพของตัวเอง ถ้ารู้สึกมีอะไรผิดปกติในร่างกายจากการทำงานก็อย่าไปนึกว่ามันเป็นโรคตามปกติเสมอไป
- อ่าน 6,238 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้