• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพทย์จีนในสมัยจ้านกัวะ

แพทย์จีนในสมัยจ้านกัวะ

สมัยตงโจว หรือโจวตะวันออก (770-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จนถึงสมัยชุนชิว (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้กำเนิดหนังสือ ซือจิง ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมบทกลอนเล่มแรกของจีน หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบทกลอนพื้นบ้าน บทกลอนที่บรรยายความเป็นอยู่ของชนชั้นสูงในยุคนั้น และบทกลอนที่เขียนยกย่องบรรพชน มีทั้งหมด 305 บทกลอน

ในหนังสือเล่มนี้มีอักษรจีนกว่า 300 ตัว ที่เขียนถึงชื่อพืชและสัตว์ นอกจากนี้ยังได้บันทึกวิธีการเก็บยาสมุนไพรชนิดต่างๆ ไว้ด้วย หลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้คงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติอันยาวนาน และคุณประโยชน์ของยาสมุนไพรที่มีต่อประชาชนชาวจีนตั้งแต่อดีตกาลมาจวบจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์จีนในปลายสมัยชุนชิวเป็นยุคของสงคราม มีการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันระหว่างเมืองใหญ่น้อยต่างๆ จนกระทั่งเหลือเพียง 7 แคว้นใหญ่ๆ อัน ได้แก่ ฉี ฉู่ เอี้ยน หาน จ้าวเว่ย และฉิน ต่อมาเนื่องจากแคว้นทั้ง 7 ต่างต้องการแผ่อำนาจและขยายอาณาจักรของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงเกิดสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ขึ้น เป็นช่วงเวลาอันยาวนานติดต่อกัน ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เรียกว่า จ้านกัวะ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

สมัยจ้านกัวะมีการนำเอาโลหะ (เหล็ก) มาใช้ในการเกษตรอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีการนำเอาสัตว์ เช่น วัว ม้า มาใช้แรงงานอีกด้วย และในสมัยนี้เช่นกันชาวจีนเริ่มรู้จักนำเอาความรู้ทางชลประทานมาใช้ในทางการเกษตร เช่น เขื่อนชลประทานซีเหมินป้าว และสื่อฉี ในแคว้นเว่ย นอกจากนี้ยังมีการขุดคลองชลประทานถึง 13 สายที่เมืองแย่ (ปัจจุบัน คือ เมืองเจียนจาง ในมณฑลเหอไป่) เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำจางมาใช้ในการเกษตร เป็นผลให้ดินเค็มบางแห่งสามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้ นอกจากนี้ก็มีการทอผ้า และนำผ้ามาเป็นวัสดุในการเขียนภาพและเขียนหนังสืออีกด้วย ทำให้เศรษฐกิจและสังคมเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ทางด้านการแพทย์ ได้กำเนิดทฤษฎี ลิ่วฉี้ลิ่วจี๋ ซึ่งหมายถึง ปัจจัยภายนอก 6 อย่าง ซึ่งทำให้เกิดโรค 6 ประเภทใหญ่ๆ (ดูรายละเอียดข้อ 1) นอกจากนี้ยังมีการแบ่งสาเหตุของการเกิดโรคออกได้ 2 สาเหตุ คือ

1. สาเหตุจากภายนอก หรือที่เรียกว่า ลิ่วฉี้ ได้แก่ ลม ความหนาว ความร้อน ความชื้น ความแห้ง และไฟ

2. สาเหตุจากภายใน หรือที่เรียกว่าอารมณ์ทั้งเจ็ด (ชีฉิง) ได้แก่ ดีใจ โกรธ กังวลใจ คิดมาก ความเศร้าโศก เสียใจ ความกลัว ตกใจ รวมถึงสาเหตุที่เกิดจากเพศสัมพันธ์มากเกินควร ทำงานมากเกินไป ตลอดจนการไม่ระมัดระวังในการกินอาหาร

แพทย์ที่สำคัญในสมัยชุนชิวและจ้านกัวะ-เปี่ยนเชี้ย

ประวัติของเปี่ยนเชี้ยนั้น ซือหม่าเซียน นักประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของจีนได้บันทึกไว้ในหนังสือ สื่อจี้ (บันทึกประวัติศาสตร์) ไว้ดังนี้

เปี่ยนเชี้ย แซ่ฉิน ชื่อ แย่เหยิน เป็นชาวป๋อไฮ่ อำเภอฉินเจิ้น (ปัจจุบัน คือ อำเภอเยิ่นชิว ในมณฑลเหอไป่) เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช (พ.ศ.43) อาจารย์ของเขาเป็นแพทย์ที่มีความสามารถมาก วินิจฉัยโรคโดยใช้วิธีการมองดูสีหน้าของผู้ป่วย อาจารย์นอกจากจะถ่ายทอดวิธีวินิจฉัยโรคด้วยวิธีดูสีหน้าแก่เขาแล้ว ยังได้ถ่ายทอดตำรายาสูตรลับมากมายแก่เขา

สำหรับความเก่งกาจของเปี่ยนเชี้ยในการวินิจฉัยโรคโดยการมองสีหน้าของผู้ป่วยนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเปี่ยนเชี้ยเดินทางผ่านแคว้นฉี หลังจากได้เห็นพระพักตร์ของฉีหวนเฮ้าแล้วเขาจึงกราบทูล

“พระองค์มีโรค ขณะนี้อาการของโรคอยู่ที่ผิว ถ้าไม่รักษาโรคจะเป็นมากขึ้น”

ฉีหวนเฮ้ากลับตอบว่า “ข้าสบายดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไร” หลังจากเปี่ยนเชี้ยลาจากไป ฉีหวนเฮ้าจึงพูดกับคนข้างเคียงว่า “อันธรรมดานั้น เมื่อเจอคนที่ร่างกายปกติหมอก็มักจะบอกว่ามีโรค เพราะต้องการให้คนชมว่าหมอเก่ง แม้ยังไม่ปรากฏอาการของโรคหมอก็ยังสามารถรู้ได้”

ต่อมาอีก 5 วัน เปี่ยนเชี้ยเจอหน้าฉีหวนเฮ้าอีก จึงกราบทูลว่า “พระองค์มีโรค ตอนนี้โรคอยู่ในเลือด ถ้าพระองค์ไม่รีบรักษาอาการของโรคจะหนักยิ่งขึ้น” ฉีหวนเฮ้าจึงตอบไปว่า “ข้าไม่มีอาการอะไรผิดปกติ” เปี่ยนเชี้ยไม่พูดอะไรก็ลาจากไป

หลังจากนั้นอีก 5 วัน เปี่ยนเชี้ยเจอฉีหวนเฮ้าอีก หลังจากดูสีหน้าของฉีหวนเฮ้าแล้ว จึงกราบทูลว่า “พระองค์มีโรค ตอนนี้โรคอยู่ในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ถ้าไม่รักษาอาการจะรุนแรงขึ้น” แต่ฉีหวนเฮ้าก็หาสนใจไม่ หลังจากเปี่ยนเชี้ยจากไปฉีหวนเฮ้ารู้สึกไม่สบาย

ต่อมาอีก 5 วัน เปี่ยนเชี้ยเจอฉีหวนเฮ้าอีกครั้ง แทนที่เขาจะกราบทูลฉีหวนเฮ้า เขากลับเฉยๆ ฉีหวนเฮ้าจึงใช้ให้คนไปถามเปี่ยนเชี้ย เปี่ยนเชี้ยจึงบอกชายคนนั้นว่า “เมื่อโรคอยู่ที่ผิวหนังสามารถใช้ยาต้มรักษาให้หายได้ โรคอยู่ในเลือดสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปักเข็ม โรคอยู่ในกระเพาะอาหาร ลำไส้ สามารถใช้เหล้ายารักษาให้หายได้ แต่เดี๋ยวนี้โรคเป็นที่กระดูกและไขสันหลัง ทั้งยาต้ม การปักเข็ม และเหล้ายาไม่สามารถเข้าไปรักษาได้ แล้วจะมีวิธีใดที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้เล่า”

อีก 5 วันต่อมา ฉีหวนเฮ้าให้คนมาตามตัวเปี่ยนเชี้ยไปรักษา แต่เปี่ยนเชี้ยได้ออกจากเมืองฉีไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นานฉีหวนเฮ้าก็สิ้นพระชนม์ เรื่องที่เล่ามานี้จะเห็นได้ว่า เปี่ยนเชี้ยเป็นแพทย์ที่มีความสามารถในการวินิจฉัยโรค โดยอาศัยการสังเกตสีหน้าของผู้ป่วย จนสามารถแยกแยะตำแหน่งของโรค (จากนอกสู่ใน) ได้อย่างชัดเจน คือ ผิวหนัง หลอดเลือด กระเพาะอาหาร ลำไส้ กระดูกและไขสันหลัง และเมื่อโรคเข้าสู่กระดูกและไขสันหลังก็ไม่สามารถรักษาได้

ต่อมาเปี่ยนเชี้ยเดินทางผ่านแคว้นกัวะ โอรสของกษัตริย์กัวะสิ้นสติไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลาครึ่งวัน กษัตริย์กัวะเชิญเปี่ยนเชี้ยไปดูอาการ หลังจากตรวจดูอาการแล้วเปี่ยนเชี้ยจึงกราบทูลว่า “พระราชโอรสยังไม่สิ้นพระชนม์ ชีพจรเต้นไม่เป็นระเบียบ เพียงแต่สลบไปเท่านั้น ทำให้รู้สึกคล้ายกับสิ้นพระชนม์” หลังจากนั้นเปี่ยนเชี้ยจึงสั่งให้ลูกศิษย์ชื่อหยางหลี่ ปักเข็ม สักครู่หนึ่งพระโอรสก็ฟื้น เปี่ยนเชี้ยจึงสั่งลูกศิษย์อีกคนหนึ่งชื่อจื่อป้าว ต้มยาให้พระโอรสดื่ม แล้วนำยาอีกตำรับหนึ่งพอกบริเวณกระดูกซี่โครง ไม่ถึง 20 วัน พระโอรสก็หายเป็นปกติ

นอกจากวินิจฉัยโรคด้วยการสังเกตสีหน้าแล้ว เปี่ยนเชี้ยยังใช้วิธีการจับแมะ (จับชีพจรบริเวณข้อมือ) สำหรับการจับแมะนั้น เปี่ยนเชี้ยเป็นผู้ริเริ่มเป็นคนแรก ดังที่บันทึกไว้ในหนังสือสื่อจี้ว่า “วิวัฒนาการของการจับแมะจนถึงทุกวันนี้ เป็นผลมาจากเปี่ยนเชี้ย”

เปี่ยนเชี้ยเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น เขามีความรู้ทางการแพทย์สาขาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ดังที่บันทึกไว้ในสื่อจี้ว่า เปี่ยนเชี้ยเดินทางผ่านเมืองหานตามแคว้นจ้าว เขาเห็นว่าหานตานเป็นเมืองที่ให้เกียรติแก่สตรี เขาจึงรักษาโรคทางสูติ-นรีเวช พอไปถึงเมืองลั่วหยาง เขารู้ว่าแคว้นโจวให้ความเคารพคนชรา เขาจึงรักษาโรคเกี่ยวกับตา หู คอ จมูก ต่อมาเขาเดินทางไปยังหานหยางแคว้นฉิน เขารู้ว่าชาวฉินรักเด็ก เขาจึงรักษาโรคทางกุมารเวช ปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยของโบราณสถานที่ระลึกถึงเขาในเมืองต่างๆ เหล่านี้

เงื่อนไขในการรักษาโรคของเปี่ยนเชี้ย

เปี่ยนเชี้ยได้ตั้งเงื่อนไขในการรักษาโรคไว้ 6 ประการ ถ้าผู้ป่วยไม่อยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เขาจึงทำการรักษาให้ เงื่อนไขทั้ง 6 ประการ คือ

1. ผู้ป่วยที่เย่อหยิ่งและไม่มีเหตุผล

2. ผู้ป่วยที่เห็นเงินสำคัญกว่าการรักษาโรค

3. ผู้ป่วยที่ดื้อรั้นไม่พยายามปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการรักษา (ทรรศนะการป้องกันควบคุมไปกับการรักษา)

4. ผู้ป่วยที่อวัยวะไม่สมประกอบมาตั้งแต่กำเนิด

5. ผู้ป่วยที่มีรูปร่างผอมแห้งไม่สามารถกินยาได้

6. ผู้ป่วยที่มีความเชื่อในไสยศาสตร์มากกว่าเชื่อแพทย์

จากเงื่อนไขทั้ง 6 ประการที่กล่าวมาข้างต้น พอจะสะท้อนความคิดออกมาอย่างชัดเจนว่า เปี่ยนเชี้ยใช้วิธีการรักษาโรคอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยแยกจากไสยศาสตร์อย่างเด็ดขาด

ผลงานทางวิชาการของเปี่ยนเชี้ยได้แก่หนังสือหนานจิง ซึ่งเป็นหนังสือที่อรรถาธิบายเนื้อหาส่วนที่เข้าใจยากของเน่ยจิง แบ่งเป็นข้อๆ รวม 81 ข้อ ในจำนวนนี้มีอยู่ 20 กว่าข้อที่กล่าวถึงการจับแมะ มีการบันทึกประวัติของเปี่ยนเชี้ยในหนังสือสื่อจี้ พอจะสรุปผลงานของเขาต่อการแพทย์จีนได้ ดังนี้

1. เปี่ยนเชี้ยเป็นผู้ที่แยกวิชาแพทย์ออกจากไสยศาสตร์โดยเด็ดขาด

2. เปี่ยนเชี้ยสามารถนำเอาวิธีการรักษาโดยใช้วิธีกินยาต้ม ปักเข็ม กินเหล้ายา ยาพอก และวิธีอื่นๆ ประสานกันในการรักษาโรค เปลี่ยนแปลงทรรศนะของคนรุ่นก่อนที่เน้นหนักการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นผลให้การแพทย์จีนได้รับการพัฒนาก้าวหน้าอีกระดับหนึ่ง

3. ตัวอย่างการรักษาพระราชโอรส เป็นเหตุผลที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า เทคนิคการรักษาโรคในสมัยนั้นมีประสิทธิภาพ มีเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และเชื่อถือได้

4. เปี่ยนเชี้ยเป็นแพทย์คนแรกที่ใช้วิธีการจับแมะมาช่วยวินิจฉัยโรค ทำให้การจับแมะกลายเป็นวิธีการในการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำอย่างหนึ่งของแพทย์จีน และยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาวิชาจับแมะในช่วง 2,000 กว่าปีที่ล่วงมาจวบจนทุกวันนี้

เนื่องจากชื่อเสียงของเปี่ยนเชี้ยเป็นที่เลื่องลือกันในสมัยนั้น ทำให้หมอหลวงชื่อ หลี่ซี ซึ่งรู้ตัวว่าฝีมือและความรู้ทางการแพทย์สู้เปี่ยนเชี้ยไม่ได้ เกิดความอิจฉาริษยาขึ้น และส่งคนไปกำจัดเปี่ยนเชี้ยเสีย

ข้อมูลสื่อ

127-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 127
พฤศจิกายน 2532
วิทิต วัณนาวิบูล