ยารักษาโรคเบาหวาน
ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ ยาฉีดกับยากิน
⇒ ยาฉีด
ยาฉีดที่ใช้รักษาเบาหวาน ได้แก่ อินซูลิน
ยานี้ทำมาจากตับอ่อนของวัวหรือของหมู เป็นสารที่คล้ายกับอินซูลินของคนเรา จึงใช้ฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อทดแทนอินซูลินส่วนที่ขาดไป ยานี้จึงใช้ได้ผลดี และรวดเร็ว
หมอมักใช้กับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยากินไม่ได้ผล หรือที่เรียกว่า “ชนิดพึ่งอินซูลิน” คนที่ต้องรักษาด้วยอินซูลิน จึงต้องฉีดยานี้ไปตลอดชีวิต
ยาอินซูลิน มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด
ที่ใช้บ่อยก็คือ อินซูลินธรรมดา หรือ เร็กกูล่าร์อินซูลิน (Regular insurin) ชนิดนี้ออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์เพียงระยะสั้นไม่กี่ชั่วโมง จึงต้องฉีดกันวันละหลายครั้ง หมอมักจะใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการรุนแรง และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ยาฉีดที่หมอแนะนำให้ผู้ป่วยฉีดเองที่บ้าน คือ เอนพีเอชอินซูลิน (NPH insurin) ยานี้ออกฤทธิ์นาน หมอมักจะให้ฉีดวันละครั้งตอนเช้า ถ้าเป็นไม่มาก อาจฉีดเพียงวันละ 40-50 ยูนิต ถ้าเป็นมากอาจฉีดวันละ 60-80 ยูนิต ยานี้ชนิด 40 ยูนิต (ใน 1 ซีซี มียา 40 ยูนิต) ราคาขวดละประมาณ 70-80 บาท ชนิด 80 ยูนิต (ใน 1 ซีซี. มียา 80 ยูนิต) ราคาขวดละประมาณ 110-120 บาท
การใช้ยาฉีดอินซูลิน ต้องให้หมอเป็นผู้กำหนดว่าจะต้องฉีดยาชนิดใด เมื่อใด วันละกี่ครั้ง จำนวนเท่าใด จึงควรถามหมอผู้รักษาให้แน่นอนเสียก่อน ห้ามซื้อยามาฉีดเองอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า หากฉีดจำนวนมากไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำไป จนถึงตายได้
หมอมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยฉีดเองที่บ้าน สมัยนี้สะดวก เขามีกระบอกและเข็มฉีดยาสำเร็จรูปสำหรับฉีดยาโดยเฉพาะ เรียกว่า “กระบอกฉีดยาอินซูลิน” ซึ่งใช้ทีเดียวทิ้ง ตกอันละ 3.50-4.00 บาท
วิธีฉีด ลองขอคำแนะนำจากหมอที่อยู่ใกล้บ้านเอาเองก็แล้วกัน
ข้อควรระวัง บางคนอาจแพ้ยาอินซูลินได้ (ก็ทำมาจากหมูหรือวัวนี่) เป็นผื่นแดงตรงบริเวณที่ฉีด ถ้ามีอาการแพ้ควรหยุดยาแล้วกลับไปหาหมอที่รักษา
ยาอินซูลินนอกจากใช้ฉีดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน ยังใช้ฉีดในผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบหนัก เมื่อมีสารคีโตนในปัสสาวะ เมื่อมีการอักเสบ มีแผล ในหญิงตั้งท้อง และในรายที่ต้องผ่าตัดยาอินซูลินนี้จะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น หรือแช่น้ำแข็ง มิฉะนั้นยาจะเสื่อมง่าย
⇒ ยากิน
ยาเม็ดที่ใช้กินรักษาเบาหวานมักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลไม่สูงมากนัก เช่น คนที่เพิ่งจะมีอาการเบาหวานหลังอายุ 40 ปี หรือมีอาการน้อยกว่า 10 ปี หรือคนที่ใช้ยาฉีดอินซูลินไม่เกินวันละ 40 ยูนิต
ยากินมีหลายชนิด ที่ใช้บ่อยได้แก่
-ยาเม็ดคลอร์โปรปาไมด์ (Chlorpropamide) ซึ่งมี 2 ขนาด คือขนาด 100 มิลลิกรัม และ 250 มิลลิกรัม นอกจากขององค์การเภสัชกรรมแล้ว ยังมียาของบริษัทเอกชนหลายยี่ห้อ เช่น
ไดอาบีนีส (Diabenese) ดูไมด์ (Dumide) ราคาชนิด 100 มิลลิกรัม เม็ดละ 12 สตางค์ – 60 สตางค์ ชนิด 250 มิลลิกรัม เม็ดละ 24 สตางค์ – 120 สตางค์ แล้วแต่ยี่ห้อหมอมักจะให้กินวันละครั้งก่อนอาหารเช้า โดยเริ่มจากชนิด 100 มิลลิกรัมก่อน กินไป 10 วัน ถ้าไม่ได้ผล (ยังมีน้ำตาลในปัสสาวะบวกสองถึงบวกสี่) จะเพิ่มเป็นชนิด 250 มิลลิกรัม
ยานี้จะเริ่มกินครั้งละ เม็ดก่อน เมื่อ 10 วันแล้วยังไม่ได้ผลก็เพิ่มทีละ เม็ด ทุก 10 วัน เพิ่มได้สูงสุดจนกระทั่งกินชนิด 250 มิลลิกรัมถึงวันละ 2 เม็ด ถ้ายังไม่ได้ผล หมอจะเปลี่ยนยาชนิดอื่นแทนจะไม่เพิ่มยามากไปกว่านี้
ยาเม็ดไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) มีอยู่ขนาดเดียวคือ ขนาด 5 มิลลิกรัม มีชื่อยี่ห้อ เช่น ดาโอนิล (Daonil) ยูกลูคอน (Euglucon) เป็นต้น ราคาเม็ดละ 1.50-2.00 บาท
หมอมักจะเริ่มให้กินวันละครั้ง ๆ ละ เม็ด หลังอาหารเช้าก่อน ถ้าไม่ได้ผลจะเพิ่มอีก เม็ด ถ้าไม่ได้ผลจะเพิ่มเป็นวันละ 2 เม็ด แบ่งให้กินเช้าเม็ดเย็นเม็ด ถ้ายังไม่ได้ผลอีกจะเพิ่มเป็น 3 เม็ด แบ่งเป็น เช้าเม็ดครึ่ง เย็นเม็ดครึ่ง ให้ได้สูงสุด วันละ 4-5 เม็ด
นอกจากยาเม็ดคลอร์โปรปาไมด์ กับไกลเบนคลาไมด์แล้ว ยังมียาเม็ดชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น
- โทลบูตาไมด์ (Tolbutamide) เช่น ราสตินอน (Rastinon), อาร์โทซิน (Artosin)
- อะซีโตเฮกซาไมด์ (Acetohexamide) เช่น ดัยมีลอร์ (Dymelor)
- ทาลาซาไมด์ (Talazamide) เช่น ทอลิเนส (Tolinase)
ทางที่ดีควรให้หมอเป็นผู้ตัดสินเลือกยาให้ผู้ป่วย เพราะบางครั้งยาบางตัวอาจใช้รักษาเบาหวานในผู้ป่วยคนหนึ่งไมได้ผล (แม้จะให้เห็นขนาดสูงสุดแล้วก็ตาม) แต่อาจจะใช้ในผู้ป่วยอีกคนหนึ่งได้
นอกจากนี้ บางทีผู้ป่วยอาจเคยใช้ยาตัวหนึ่งได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจมาก่อน แล้วจู่ ๆ ก็เกิดใช้ไม่ได้ผลเอาดื้อ ๆ กรณีเช่นนี้หมอก็ต้องเปลี่ยนให้ใช้ยาอื่นแทนตัวเก่าที่เคยใช้ หรือต้องหันไปใช้ยาฉีดแทน
ผู้ป่วยบางคนที่ใช้ยากินรักษาโรคเบาหวานอยู่ อาจแพ้ยา โดยจะมีอาการคันตามร่างกาย มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นลมพิษ ดีซ่าน ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระซีดขาว เจ็บคอ เป็นไข้ ท้องเดิน อ่อนเพลีย ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมานี้ ซึ่งมักปรากฏให้เห็นภายใน 1-2 อาทิตย์หลังเริ่มกินยา ต้องหยุดยาทันทีแล้วรีบหาหมอ
ระวัง ! อันตราย
1. ควรพกของหวาน ๆ ติดตัวไว้เสมอ ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานไม่ว่าจะเป็นอินซูลิน หรือยากินนับเป็นยาที่มีอันตรายมาก เพราะยาไปลดระดับน้ำตาลในเลือด และขนาดของยาที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนก็ต่างกันไป ต้องปรับตามภาวะความรุนแรงของโรค ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และยังต้องสัมพันธ์พอเหมาะกับอาหารการกินด้วย ถ้าใช้ยาในขนาดที่สูงเกินไป หรือใช้ในขนาดปกติที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้กินข้าวเลย ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหงื่อแตก หิว เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด (มักเป็นตอนเช้ามืด) ควรหาน้ำตาล ลูกกวาด ท็อฟฟี่ หรือน้ำอัดลมกินทันที คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจึงควรมีลูกกวาด น้ำตาลก้อน หรือท็อฟฟี่พกติดตัวไว้ เผื่อว่าเมื่อเกิดอาการดังกล่าวขึ้นเมื่อใด จะได้รีบอมทันที เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายมาก ทำให้เป็นลมช็อคหมดสติถึงตายได้ถ้าบังเอิญอยู่คนเดียว และถ้าคุณมีญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่ป่วยเป็นเบาหวานมีอาการดังกล่าว และเป็นมากถึงขั้นหมดสติ ต้องรีบพาผู้ป่วยไปหาหมอ เพื่อให้หมอช่วยฉีดกลูโคสเข้าเส้นให้
2. อย่าเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยาเองโดยพลการเด็ดขาด ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า จะใช้ยาอะไรขนาดเท่าใดจึงจะเหมาะนั้นต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน การเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยาเองให้ผลร้ายมากกว่าผลดี อย่าทำเป็นเล่นไปนะคะ เผลอ ๆ ระดับน้ำตาลในเลือดเกิดตกฮวบฮาบกะทันหันช็อคหมดสติตายเอาได้ง่าย ๆ ค่ะ
3. ไม่ควรดื่มเหล้าขณะที่กินยาเบาหวานอยู่ เพราะจะทำให้เกิดอาการคล้ายคนที่กินยาอดเหล้าแล้วไปดื่มเหล้าหลังดื่มเหล้า 3-10 นาที หน้าตาจะแดง ร้อน รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เวียนหัว หัวใจเต้นแรง
4. ควรระวังถ้าจะกินพร้อมยาอื่น ๆ มียาหลายตัวด้วยกันที่ถ้าใช้พร้อม ๆ กับยารักษาโรคเบาหวานแล้ว จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าการใช้ยารักษาเบาหวานตัวเดียวโดด ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ถ้าแก้ไขไม่ทัน ยาเหล่านี้ได้แก่ ยาซัลฟาทุกชนิด ยารักษาโรคหัวใจ ยาแก้ปวดพวกแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ (เฟนิลบิวตาโซน) ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะ (คลอแรมเฟนิคอล เตตร้าซัยคลีน) รวมทั้งเหล้าด้วย
- อ่าน 59,262 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้