• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน

 

 

                       

 


สภาพผิดปกติ
 

97. โรคเกลียดนม
มีเด็กอายุประมาณ 3 เดือนซึ่งเลี้ยงด้วยนมวัว บางคนที่เคยกินนมเก่ง แล้วอยู่มาวันหนึ่งเกิดไม่ยอมกินนมขึ้นมาเฉย ๆ คุณแม่เห็นลูกไม่ยอมกินนมก็เป็นห่วง พยายามหาวิธีต่าง ๆ ให้กิน แต่ยิ่งพยายามเด็กก็ยิ่งไม่ยอมกิน จนในที่สุดเด็กเพียงแต่เห็นขวดนมเท่านั้นจะร้องไห้ทันที
เมื่อลูกไม่ยอมกินนม สิ่งที่คุณแม่ทั้งหลายมักทำคือ เปลี่ยนยี่ห้อนมบ้าง ชงนมให้จางลงบ้าง เปลี่ยนหัวนมยางบ้าง แต่ว่าส่วนใหญ่ทำแล้วก็ไม่ให้ผลอะไร เด็กจะยอมกินนมเฉพาะตอนกลางคืน เวลาง่วงเต็มที่ กำลังครึ่งหลับครึ่งตื่น แล้วแม่เอาหัวนมใส่ปากจึงยอมดูดบ้าง แต่เด็กที่เกลียดนมเหล่านี้มักจะยอมกินน้ำผลไม้และน้ำต้มสุก

เมื่อสอบประวัติของเดที่เป็นโรคเกลียดนมดูจะพบว่า ก่อนที่จะเกลียดนมประมาณ 1-2 อาทิตย์ เด็กจะกินนมเก่งมาก และในระหว่างนั้น ถ้าชั่งน้ำหนักดู จะพบว่าน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มวันละกว่า 40 กรัม
โรคเกลียดนมนี้ ดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่ที่จริงก่อนหน้านี้จะมีช่วงที่เด็กกินนมมากเกินไปอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อตอนที่เด็กอายุยังไม่ถึง 3 เดือนนั้น เด็กทารกไม่สามารถย่อยโปรตีนของนมวัวได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นถึงแม้จะกินนมมากเกินไป ก็จะผ่านออกจากร่างกายไป ไม่ตกค้างเป็นภาระ แต่เมื่อเด็กอายุใกล้ 3 เดือน ร่างกายจะเริ่มย่อยนมได้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้ตับและไตต้องทำงานเต็มที่ ดังนั้นเมื่อเด็กอายุใกล้ 3 เดือน ถ้าให้กินนมมากเกินไป จะเปรียบเสมือนเหยียบคันเร่งให้ตับไตทำงานเพิ่มขึ้น น้ำนมส่วนเกินที่ย่อยเรียบร้อยแล้วจะเป็นมันจับตามร่างกายทำให้เด็กอ้วนขึ้นอ้วนขึ้น

เมื่อให้เด็กกินนมมากเกินไปติดต่อกันนานเข้า ตับและไตจะเริ่มเหนื่อยล้าจนเริ่มสไตร๊ค์ไม่ทำงาน ก่อให้เกิดอาการของโรคเกลียดนม เนื่องจากร่างกายต้องเหน็ดเหนื่อยกับการย่อยนม จึงยินดีต้อนรับอาหารที่ย่อยง่ายกว่าเช่น น้ำผลไม้ และน้ำต้มสุกมากกว่า อันที่จริงโรคเกลียดนมนั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นมาตรการอย่างหนึ่งของร่างกายทารกที่จะยับยั้งป้องกันมิให้เด็กเป็น “โรคอ้วนเกินไป” เหมือนกับจะเตือนคุณแม่ว่า “คุณแม่ให้นมหนูกินมากเกินไปแล้วจ้ะ” ดังนั้น เมื่อเด็กมีอาการเกลียดนม สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือ ปล่อยให้ตับไตของลูกได้พักผ่อนบ้าง โดยให้ลูกกินน้ำต้มสุก และน้ำผลไม้ตามใจชอบ ไม่พยายามบังคับให้ลูกกินนม

เมื่อลูกเป็นโรคเกลียดนม คุณแม่จะต้องไม่กลัดกลุ้มกังวล เพราะจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก โรคเกลียดนมของลูกจะหายเมื่อคุณแม่เริ่มทำใจ ให้สบายหายกังวล ไม่เคยมีเด็กคนไหนตายเพราะเป็นโรคเกลียดนม เด็กจะเป็นอย่างนี้ประมาณ 10 วัน ถึงครึ่งเดือน แล้วก็จะกลับมากินนมอีกเช่นเดิม ถึงแม้ในระหว่างนั้นเด็กจะกินนมเพียงวันละ 100-200 ซี.ซี. เท่านั้นก็ไม่ต้องเป็นห่วง ให้เด็กกินน้ำผลไม้หรือน้ำต้มสุกตามแต่เด็กต้องการ เด็กจะกินนมตามความสามารถของระบบย่อยอาหารของเด็กเอง เพื่อให้ตับและไตได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เมื่อได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ตับและไตจะเริ่มกลับสู่สภาพปกติ และเด็กจะเริ่มกินนมมากขึ้นเอง
เมื่อเด็กเป็นโรคเกลียดนมแล้วคุณแม่พยายามบังคับให้ลูกกินนม เด็กจะมีอารมณ์ไม่ดีร้องกวนโยเย แต่นอกเวลากินนม เด็กจะอารมณ์ดีและแข็งแรงดี เพราะถึงแม้ว่าเด็กจะไม่กินนมในช่วงนี้ ร่างกายก็ได้สะสมอาหารไว้มากพออยู่แล้ว ถ้าเด็กไมมีอาการอื่นผิดปกติ ควรอาบน้ำให้และพาออไปเที่ยวนอกบ้านได้ตามปกติ

ถ้าเด็กมีการอาการเกลียดนมแล้วคุณแม่ปฏิบัติต่อเด็กเหมือนคนป่วย พาไปหาหมอฉีดยา จะทำให้เด็กหายช้าขึ้นไปอีก เมื่อเห็นเด็กไม่กินนมแล้วฉีดยาบำรุงจำพวกที่มีสารประกอบโปรตีน จะทำให้ตับไตซึ่งต้องการพักกลับต้องฝืนทำงานแล้วเหนื่อยมากเข้าไปอีก การฉีดกลูโค้สหรือน้ำเกลือให้ทางผิวหนังก็ไม่มีความจำเป็นอันใด เพราะเด็กยินดีจะกินน้ำต้มสุกผสมกลูโค้สและน้ำผลไม้เข้าไปทางปากอยู่แล้วการฉีดยาทำให้เด็กเจ็บและกลัว ทำให้ตับไตไม่ได้การฉีดยาทำให้เด็กเจ็บและกลัว ทำให้ตับไตไม่ได้พักผ่อน การฉีดยาพวกฮอร์โมนที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสารโปรตีนให้เด็กก็ไม่ดี เพราะหมอไม่รู้หรอกว่าสารอาหารพวกโปรตีนในร่างกายทารกควรจะต้องเปลี่ยนแปลงเท่าใด ร่างกายของทารกจะปรับตัวเองตามธรรมชาติ เราไม่ควรขัดขวางการปรับตัวของธรรมชาติด้วยความรู้อันน้อยนิดของเรา
โรคเกลียดนมนี้เป็นสัญญาณไฟแดงที่สำคัญสำหรับคุณแม่ เมื่อเด็กหายจากอาการเกลียดนมแล้วคุณแม่จะต้องคอยระวังให้ดี อย่าให้ลูกกินนมมากเกินไป

 

 



98. ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ
เด็กผู้ชายนั้น แต่เดิมลูกอัณฑะจะอยู่ในช่องท้องต่อเมื่อใกล้จะคลอดออกจากครรภ์มารดา ลูกอัณฑะจะเลื่อนจากท้องเข้าสู่ถุงอัณฑะ ช่องที่ลูกอัณฑะเลื่อนลงมานี้ ตามปกติจะปิดหลังจากคลอด แต่ของเด็กบางคนอาจไม่ปิดหรือปิดไม่สนิท สำหรับเด็กที่ช่องนี้เปิดอยู่เมื่ออายุได้ 2-3 เดือน ถ้าเด็กเกิดร้องอย่างรุนแรงหรือท้องผูกต้องเบ่งอึแรง ๆ ลำไส้อาจเลื่อนมาตามช่องนี้ ผ่านบริเวณขาหนีบเข้าไปในถุงอัณฑะ เราเรียกอาการนี้ว่า ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กผู้ชาย แต่เด็กผู้หญิงบางคนก็เป็น และอาจเป็นพร้อมกันทั้งสองข้างก็ได้

ถ้าเพียงแต่ไส้เลื่อนลงมาตามช่อง เด็กจะไม่เจ็บและไม่มีปัญหาอะไร ถึงแม้เด็กจะมีอาการไส้เลื่อนจนถุงอัณฑะบวมใหญ่ เด็กก็เติบโตได้ตามปกติ แต่อันตรายจากไส้เลื่อนคือ ลำไส้เกิดบิดหรือกดทับกันในช่องนั้น เราเรียกว่า ไส้เลื่อนติดค้าง (Incarcerated hernia) ซึ่งทำให้ลำไส้อุดตัน เด็กจะร้องแสดงความเจ็บปวดอย่างรุนแรงขึ้นมาโดยกะทันหัน ทำอย่างไร ๆ ก็ไม่เลิกร้อง ถ้าตรวจพบสาเหตุได้เร็ว ก็ค่อย ๆ กดลำไส้ให้กลับสู่ที่เดิมได้ แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการนี้อยู่นานถึง 2-3 ชั่วโมง แล้วไม่มีทางรักษาอย่างอื่นนอกจากผ่าตัด

ในกรณีที่คุณแม่รู้อยู่แล้วว่า เด็กเป็นไส้เลื่อน ถ้าเด็กร้องรุนแรงอย่างกะทันหันขึ้นมาเมื่อไร คุณแม่ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าไส้เลื่อนติดค้าง แล้วถอดผ้าอ้อมหรือกางเกงเด็กดู ถ้าเห็นบริเวณขาหนีบบวมผิดปกติและกดดูไส้ก็ไม่กลับขึ้นไปเหมือนเช่นเคย คุณแม่ต้องรีบพาไปหาหมอทันที

แต่เด็กบางคนไม่เคยมีอาการไส้เลื่อนมาก่อน (ถึงแม้ว่าช่องจะเปิดอยู่) แล้วจู่ ๆ ก็เกิดอาการไส้เลื่อนติดค้างขึ้นมา คุณแม่มักจะไม่รู้ว่าทำไมเด็กจึงร้องงอหาย ให้กินนมก็แล้ว พาออกไปเที่ยวนอกบ้านก็แล้ว ยังร้องไม่ยอมหยุด คุณแม่มักนึกไม่ถึงว่าจะต้องถอดผ้าอ้อมดูที่ขาหนีบว่าผิดปกติหรือเปล่า (อันที่จริงถ้าเด็กร้องจ้าขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ คุณแม่จะต้องเปิดผ้าอ้อมตรวจบริเวณขาหนีบทุกครั้งไป)

ถึงแม้เด็กจะเป็นไส้เลื่อน แต่ถ้าลำไส้เลื่อนขึ้นลงได้โดยไม่ติดขัด ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่คุณแม่จะ ต้องระวังอยู่เสมอว่าเด็กอาจเป็นไส้เลื่อนติดค้างขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ อาการไส้เลื่อนติดค้างนี้ จะไม่เกิดกับเด็กที่เป็นไส้เลื่อนทุกคนไป ในจำนวนเด็กที่เป็นไส้เลื่อน 4-5 คน จะมีสักคนหนึ่งที่เกิดอาการไส้เลื่อนติดค้าง และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในอายุครึ่งปี

สำหรับปัญหาที่ว่า อาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบนี้ จะหายไปเองตามธรรมชาติหรือไม่นั้น กล่าวได้ว่า เด็กบางคนอาจหายเองตามธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่มักต้องทำการผ่าตัดจึงจะหาย ส่วนจะทำการผ่าตัดเมื่อใดนั้น สมัยก่อนหมอจะรอจนเด็กเข้าห้องน้ำขับถ่ายได้เอง คือประมาณอายุ 3 ขวบ จึงทำการผ่าตัดเพราะถ้าทำก่อนนั้น เด็กจะทำเลอะเทอะเปื้อนแผลผ่าตัด แต่ในปัจจุบันหมอมักทำการผ่าตัดทันทีที่พบว่าเด็กเป็นไส้เลื่อน เพราะวิทยาการในการผ่าตัดก้าวหน้าขึ้น แต่ยังมีหมอหลายคนที่รอให้เด็กโตก่อนจึงค่อยทำการผ่าตัด เพราะเมื่อเด็กโตขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายก็โตขึ้นด้วย การทำผ่าตัดของใหญ่ ๆ ง่ายกว่าของเล็ก ๆ หมอบอกให้ผ่าตัดเมื่อไร คุณแม่ควรตามใจหมอ เพราะหมอแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน ในกรณีที่หมอให้รอให้เด็กโตขึ้นเสียก่อนค่อยทำการผ่าตัด ในระหว่างนั้นคุณแม่จะต้องระมัดระวังอยู่เสมอว่า เด็กอาจเป็นโรคไส้เลื่อนติดค้างขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ถ้าเด็กร้องขึ้นมาอย่างกะทันหันเมื่อไร จะต้องตรวจดูบริเวณขาหนีบทุกครั้งไป
 

สมัยก่อนมีการใช้สายรัดกันไส้เลื่อน สำหรับรัดไม่ให้ไส้เลื่อนลงมาบริเวณขาหนีบ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยใช้กันแล้ว เพราะไม่สามารถป้องกันได้ 100% ทั้งยังทำให้เลือดไปเลี้ยงลูกอัณฑะไม่สะดวก ปล่อยไว้โดยไม่ต้องใช้อะไรรัดเลยจะดีกว่า


 

ข้อมูลสื่อ

20-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 20
ธันวาคม 2523