ประจำเดือน (เลือดระดู)
- ประจำเดือนคืออะไร
- ประจำเดือนมาจากไหน
- ทำไมจึงปวดประจำเดือน จะแก้ไขอย่างไร
- ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเวลามีประจำเดือน
ประจำเดือน คือ เลือดปกติที่ออกจากโพรงมดลูก เนื่องจากมีการลอกหลุดของเยื่อบุมดลูกตามธรรมชาติ ตลอดระยะเวลาที่รังไข่มีความเจริญและมีไข่สุก คือ เริ่มเมื่ออายุประมาณ 10-18 ปีหรือเฉลี่ยเมื่อ 13 ปีจนถึงอายุประมาณ 45-55 ปี
การมีประจำเดือน หรืออาการมี “เลือดระดู” เกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อรังไข่ผลิตไข่ที่สุกเคลื่อนมาตามท่อรังไข่ ในระยะเดียวกันเยื่อบุมดลูกก็จะเจริญงอกงามเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย ถ้าไข่ไม่ถูกผสมก็จะฝ่อและสลายตัวไป เยื่อบุมดลูกที่เตรียมไว้ก็จะลอกหลุดเห็นเป็นเลือดปรากฏออกมาทางช่องคลอด แต่ถ้าไข่ถูกผสม จะฝังตัวลงใน เยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตต่อไป และไม่มีเลือดระดูเกิดขึ้น เรียกว่า มีการตั้งครรภ์
ประจำเดือนในระยะแรกๆ ของวัยรุ่นอาจมีไม่สม่ำเสมอทุกเดือน เนื่องจากรังไข่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดยปกติประจำเดือนจะเป็นเลือดสีแดง อาจมีเศษเนื้อเยื่อบุมดลูกปนออกมาบ้าง ในแต่ละเดือนจะมีอยู่ประมาณ 3-5 วัน และไม่ควรเกิน 7 วัน จำนวนเลือดที่ออกใช้ผ้าอนามัยซับวันละ 3-4 ผืน
ก่อนมีประจำเดือนแต่ละครั้งบางคนอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายร่วมด้วย เช่น รู้สึกตึงเต้านมหรือเจ็บ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ปวดท้องน้อย เป็นต้น อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อมีประจำเดือนแล้ว
อาการปวดท้องน้อย คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า “ปวดประจำเดือน” พบได้บ่อยในระยะที่มีประจำเดือน เนื่องจากมีการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อขับเลือดหรือเยื่อบุมดลูกให้ออกมา เมื่อมีอาการปวดท้องน้อย ให้นอนพัก และกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล 1-2 เม็ด ทำจิตใจให้สบาย ภายหลัง 4-6 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายกินยาซ้ำได้อีก
การปฏิบัติตัวเมื่อมีประจำเดือน
1. ใช้ผ้าอนามัยรองรับตลอดระยะเวลาที่มีประจำเดือน
2. เปลี่ยนผ้าอนามัยหลังการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระทุกครั้ง หรือเมื่อเห็นว่าเปรอะเปรื้อนพอควร เพราะถ้าทิ้งไว้นานจะเกิดการหมักหมม มีกลิ่นเหม็น และอาจมีการติดเชื้อโรคได้
3. อาบน้ำชำระร่างกาย และอวัยวะเพศภายนอกตามปกติ
4. กินอาหารได้ตามปกติทุกชนิด
5. ออกกำลังกายชนิดที่ไม่หักโหมได้ตามปกติ
6. ทำจิตใจให้แจ่มใส สดชื่น
7. ถ้ามีสิ่งผิดปกติ เช่น มีเลือดออกจำนวนมากกว่าปกติ มีเลือดออกนานวันกว่าปกติ ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ ให้ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้บ้าน
ระยะ 1 เดือนของการมีประจำเดือนแต่ละครั้งมักไม่ตรงกัน คือ จะอยู่ในระยะ 28 วัน จะขาดจะเกินไม่เกิน 7 วัน และจะคลาดเคลื่อนเป็นเร็วกว่าหรือช้ากว่านี้ถ้ามีภาวะวิตก กังวล เครียด เช่น เมื่อมีการสอบหรือมีการเดินทาง เป็นต้น
- อ่าน 21,995 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้