• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัฒนธรรมของฮั่นตะวันออก (ตงฮั่น)

วัฒนธรรมของฮั่นตะวันออก (ตงฮั่น)

ศิลปวัฒนธรรมในสมัยฮั่นตะวันออก มีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรม

ซือหม่าเซียนได้เขียนหนังสือสื่อจี้ (บันทึกทางประวัติศาสตร์) ด้านปรัชญา หวังอิ่งเขียนหนังสือลุ่นเหิงทางด้านวิทยาศาสตร์ จางเหิงได้ประดิษฐ์เครื่องมือดาราศาสตร์สำหรับตรวจการโคจรของดวงดาวและเครื่องวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ช่ายหลุนได้ค้นพบวิธีทำกระดาษ การประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านดาราศาสตร์ คือ ปฏิทิน และการทำกระดาษ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ในยุคต่อมา

ปลายสมัยฮั่นตะวันออก (พ.ศ.727) โจรผ้าเหลืองได้ก่อกบฏขึ้นทั่วประเทศ กษัตริย์ฮั่นมีพระราชโองการให้ขุนศึกหัวเมืองต่างๆ ทำการปราบปรามโจรผ้าเหลือง เป็นเหตุให้ขุนศึกเหล่านั้นถือโอกาสขยายอิทธิพลของตนออกไป แต่ละคนมีเขตอิทธิพลเฉพาะของตนเป็นเขตๆ

ในปี พ.ศ.751 ฉาวชาว (โจโฉ) สามารถรวบรวมหัวเมืองทางเหนือได้เป็นปึกแผ่น แล้วยกทัพลงมาตีซุนเฉียน (ซุนกวน) ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ซุนเฉียนและหลิวไป้ (เล่าปี่) ได้ผนึกกำลังกันต่อสู้ฉาวชาว ฉาวชาวพ่ายแพ้แก่ทัพทั้งสองที่เมืองเซ่อปี้ สงครามประวัติศาสตร์ครั้งนั้นจึงถูกเรียกว่า สงครามเช่อปี้

ต่อมาในปี พ.ศ.763 ลูกชายของโจโฉชื่อฉาวผี่ (โจผี) รบชนะกษัตริย์องค์สุดท้ายของฮั่น แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ สร้างราชธานีที่เมืองลั่วหยาง (ลกเอี๋ยง) เรียกอาณาจักรใหม่ว่า เว่ย ขณะเดียวกัน เล่าปี่ฉวยโอกาสยึดดินแดนส่วนใหญ่ของมณฑลเสฉวน มีเมืองหลวงอยู่ที่เฉิงตู หลังจากซุนกวนสามารถยึดดินแดนทางใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงแล้ว ก็ขยายอิทธิพลขึ้นไปจนถึงตอนกลางของแม่น้ำแยงซีเกียง แถบเมืองจิงโจว (เกงจิว) และลงไปทางใต้จนถึงหลิ่งหนาน (กว่างตงหรือกวางตุ้งในปัจจุบัน) ซุนกวนได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์เรียกว่า อู๋ มีราชธานีอยู่ที่เมืองเจี้ยนแยะ ปัจจุบันคือ เมืองหนานจิง (นานกิง) เป็นการเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ยุคซานกัวะ หรือสามก๊กที่เลื่องลือไปทั่วโลก

แพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยฮั่นตะวันตก (ซีฮั่น)

ฉุนอีอี้ คนทั่วๆ ไปมักเรียกเขาว่า ชางกง (เพราะเขาเคยเป็นหัวหน้าคลังสินค้ามาก่อน) เขาเป็นชาวเจียนจือ ในวัยเด็กเขาเป็นเด็กที่ชอบศึกษาวิชาแพทย์มาก และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหมอหยางชิ่ง ซึ่งเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ขณะนั้นหยางชิ่งมีอายุกว่า 70 ปีแล้ว ไม่มีลูกหลาน เขาจึงถ่ายทอดวิชาแพทย์ทั้งหมดให้แก่ฉุนอีอี้

นอกจากนี้ หยางชิ่งยังหาหนังสือแพทย์ที่สำคัญ เช่น หวงตี้เน่ยจิง และหนานจิง มาให้เขาศึกษา จนเขามีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในการใช้ยาสมุนไพรอย่างดีเยี่ยม หลังจากศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์นาน 3 ปี เขาก็เริ่มรักษาผู้ป่วย จนมีความชำนาญมากขึ้น ต่อมาเขาได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของกงซุนกวง ซึ่งเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นเช่นกัน

หลังจากได้รับการถ่ายทอดวิชาแพทย์จากอาจารย์ทั้งสองแล้ว เขาก็เริ่มรักษาโรค ทำให้เขากลายเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น เขาเป็นแพทย์คนแรกที่ริเริ่มให้มีการบันทึกประวัติอาการผู้ป่วย (เวชระเบียน) ไว้เป็นหลักฐาน ในการรักษาผู้ป่วย เขาจะให้ความสนใจในการดูสีหน้าผู้ป่วย และการจับแมะ (ชีพจร) เขามีผลงานมากมาย โดยเฉพาะการจับแมะ หนังสือสื่อจี้ (บันทึกทางประวัติศาสตร์ ของซือหม่าเชียน ได้เขียนประวัติของเขาเคียงคู่กับเปี่ยนเชี้ย แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นแพทย์ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อวิวัฒนาการของการแพทย์จีนที่สำคัญไม่ด้อยไปกว่าแพทย์ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ เลย

ข้อมูลสื่อ

129-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
วิทิต วัณนาวิบูล