• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำอย่างไรจึงไม่หกล้ม

ทำอย่างไรจึงไม่หกล้ม

มีคำพังเพยของจีนกล่าวว่า “เด็กๆ ที่หกล้มบ่อยจะเติบโตเร็ว แต่ถ้าผู้สูงอายุหกล้มอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้”

เรื่องหกล้มจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้สูงอายุ ผลจากการหกล้มทำให้ผิวหนังเขียวช้ำ หลอดเลือดและกล้ามเนื้อฉีกขาด ข้อต่อแพลง และที่ร้ายแรงคือ กระดูกหัก ยิ่งในกรณีที่ศีรษะกระแทกพื้น อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อสมองได้

มีการเข้าใจผิดคิดว่า อัมพาตครึ่งซีกซึ่งเป็นอัมพาตของแขนขาข้างเดียวกันนั้น เกิดจากการหกล้ม ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะว่าอัมพาตครึ่งซีกส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบตัน หรือหลอดเลือดในส่วนที่โป่งพองแตก ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงอย่างกะทันหัน หรือเกิดอาการสลบ ทำให้ยืนไม่ได้จึงหกล้มลง มิใช่หกล้มเพราะสะดุดหรือลื่นแล้วจึงเป็นอัมพาต

การที่ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่ายมีสาเหตุหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ระบบการทรงตัวบกพร่อง หรือไม่มีประสิทธิภาพ การที่มนุษย์สามารถทรงตัวให้อยู่ในท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง ท่าทำงานได้ ขึ้นอยู่กับการประสานงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และการมองเห็น กล้ามเนื้อข้อต่อต่างๆจะมีปลายประสาทรับความรู้สึกคอยรายงานให้สมองรับรู้ว่า ข้อต่อนั้นอยู่ในท่าเหยียดหรือท่างอ และสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัวเพื่อต้านกับแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่ตลอดเวลา

ในบางครั้ง ถ้าเราเดินสะดุดก้อนหินหรือพื้นที่ขรุขระ และทรุดตัวลง ปฏิกิริยาตอบสนองแบบเฉียบพลันจะเกิดขึ้นทันที โดยกล้ามเนื้อจะเกร็งเพื่อให้ข้อต่อต่างๆ เหยียดตรง เป็นการป้องกันไม่ให้หกล้มลง การทรงตัวยังควบคุมโดยตำแหน่งของศีรษะ โดยมีอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวอยู่ภายในหูทั้ง 2 ข้าง ถ้าศีรษะเอียงหรือหมุนไปทางใดทางหนึ่งในขณะที่เสียการทรงตัว ระบบควบคุมการทรงตัวภายในหูจะสั่งการไปยังสมองให้กล้ามเนื้อของคอ ลำตัว และขา รีบเกร็งตัวเพื่อให้ร่างกายตั้งตรงอยู่ได้

ลักษณะการมองเห็นสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ทำให้รู้ว่าลำตัวอยู่ในท่าตรงหรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับขอบหน้าต่าง ประตู หรือกำแพง ถ้ามองเห็นว่าภาพต่างๆ ไม่อยู่ในลักษณะตรง แสดงว่า เราไม่อยู่ในท่าตรง ร่างกายจะปรับตัวให้ตัวตรงขึ้น ซึ่งทำให้เราไม่หกล้ม จะเห็นได้ว่า การที่เราทรงตัวอยู่ได้นั้น เกิดจากการประสานงานของสมอง อวัยวะควบคุมการทรงตัวภายในหู การมองเห็น การตอบสนองแบบเฉียบพลันจากข้อต่อและกล้ามเนื้อ ดังนั้น ถ้าโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งบกพร่องไป ย่อมทำให้บุคคลนั้นหกล้มได้ง่าย

เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อของผู้สูงอายุจะเริ่มหย่อนตัวลง ทำให้หดตัวช้ากว่าปกติ การรับความรู้สึกที่ข้อต่อจะลดน้อยลงเนื่องจากการเสื่อมของข้อต่อ อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูก็จะไม่ปกติ ทำให้รู้สึกคลื่นเหียน วิงเวียนศีรษะได้ง่าย สมองสั่งงานช้าลง สายตาเริ่มฝ้ามัว มองอะไรไม่ชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่าย

การที่กระดูกหักได้ง่าย เพราะกระดูกของผู้สูงอายุเปราะ มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าผู้เยาว์วัย การหกล้มในเด็กไม่รุนแรงเพราะเด็กมีรูปร่างเล็ก และกล้ามเนื้อหดตัวอย่างว่องไว การเกิดแรงกระแทกที่กระดูกของเด็กมีส่วนทำให้กระดูกยาวขึ้นได้ ดังเช่น เด็กที่เล่นบาสเกตบอลมักจะมีโอกาสที่กระดูกจะยาวขึ้นมากกว่าการเล่นกีฬาชนิดอื่น เพราะต้องกระโดดอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางตรงข้าม กระดูกของผู้สูงอายุถ้าถูกกระแทกบ่อยๆ จะทำให้กระดูกอ่อนที่บุผิวกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น

การหลีกเลี่ยงการหกล้ม จึงเป็นมาตรการป้องกันดีกว่าแก้ ซึ่งทำได้ไม่ยากนัก

ก่อนอื่นผู้สูงอายุควรจะพักอาศัยอยู่ชั้นล่างของบ้าน ไม่ควรขึ้นลงบันไดบ่อยเกินไป พื้นบ้านต้องไม่ลื่น และถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นพื้นไม้มากกว่าพื้นปูน เพราะเนื้อไม้มีความนิ่มนวลมากกว่า ไม่ควรมีธรณีประตูหรือพื้นหลายระดับในบริเวณที่พักอาศัย ถ้าจำเป็นควรเป็นทางลาดมากกว่าทำเป็นขั้นบันได พื้นห้องต้องไม่ลื่น โดยเฉพาะพื้นห้องน้ำต้องไม่เปียก ห้องน้ำที่เปียกชื้นเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา ทำให้เหนียวเหนอะและลื่นหกล้มได้ง่าย ควรมีราวตามฝาผนังของห้องน้ำ โดยเฉพาะบริเวณข้างโถส้วม ซึ่งควรเป็นแบบส้วมชักโครกมากกว่าเป็นส้วมซึมที่ต้องนั่งยองๆ ถ้าไม่มีส้วมชักโครก อาจใช้เก้าอี้เจาะรูตรงกลาง หรือใส่ที่นั่งส้วมเพื่อวางเหนือส้วมอีกทีหนึ่ง

สถานที่อยู่อาศัย ควรมีแสงสว่างเพียงพอให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เตะสะดุดถูกสิ่งของต่างๆ ทำให้เสียการทรงตัว และควรจัดสถานที่ให้เรียบร้อย อย่าวางของระเกะระกะ เก้าอี้ควรจะมั่นคง ไม่ล้มได้ง่าย และอาจมีที่วางแขน เพื่อดันตัวให้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ได้ง่ายขึ้น

การเดินออกนอกบ้าน ต้องสวมใส่รองเท้าที่ไม่มีส้น และหลีกเลี่ยงที่ขรุขระและมีระดับต่างกัน ควรใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยการทรงตัว ผู้สูงอายุมักไม่ยอมใช้ไม้เท้า เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าชราภาพ แต่ถ้าหกล้มแล้วกระดูกหัก จะเกิดความทุกข์ เป็นภาระต่อตนเองและบุตรหลาน จึงควรป้องกันไว้ดีกว่า ควรใช้ไม้เท้าเมื่อเดินไม่ถนัด

อย่าก้มศีรษะหรือส่ายศีรษะไปมาอย่างรวดเร็ว เพราะจะรบกวนอวัยวะควบคุมการทรงตัวในหู ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน และล้มลงได้เหมือนกับเวลาเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน

ไม่ควรดื่มสุรา เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำลายสมอง ดั่งเนื้อร้องลิเกว่า “สุรา แปลว่า เหล้า กินแล้วเมาก็เดินโซเซ” ผู้ที่ดื่มเหล้าจึงมีโอกาสหกล้มได้มาก เพราะสมองควบคุมการทรงตัวไม่ได้

การหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะเวลา แต่สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ตราบใดที่ผู้สูงอายุตระหนักในอันตรายที่เกิดจากการหกล้ม และไม่ประมาทต่อปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้หกล้มได้ ตราบนั้นก็จะสามารถมีอายุยั่งยืนแข็งแรงและอยู่อย่างมีความสุขได้

ข้อมูลสื่อ

129-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข