• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหัดในอินเดีย

โรคหัดในอินเดีย


ผมได้เขียนเรื่องนี้ขณะที่อยู่ในกรุงเดลฮี ประเทศอินเดีย ทุกครั้งที่ผมมาอินเดีย ผมรู้สึกมีความสุข ผมเคยคิดดูว่า ทำไมผมจึงชอบอินเดีย (มีคนเป็นจำนวนมากที่มาอินเดียแล้วไม่ชอบไม่อยากกลับมาอีก) เหตุผลข้อแรกก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งคล้ายคลึงกันกับของเรา เพราะเรารับวัฒนธรรมมาจากอินเดียมาก มองดูชื่อถนนหรือหมู่บ้านบางแห่งแล้วร้องอ๋ออยู่ในใจ ว่าต้นตอของคำเหล่านี้ในเมืองไทยอยู่ที่นี่เอง เช่น ถนนที่องค์การอนามัยโลกตั้งอยู่ ชื่อถนนอินทรปรัสต์ หมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อหมู่บ้านไกลาส ซึ่งมีเจดีย์อยู่บนเนินเขา ทำให้ผมนึกถึงเขาไกลาสที่หัวหิน อีกแห่งหนึ่ง คือ หมู่บ้านวสันต์วิหาร ซึ่งคงแปลว่าวิหารสำหรับฤดูฝน เมื่อเห็นชื่อเหล่านี้แล้วนึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสมาเห็นต้นตอของวัฒนธรรมของเรา

ผมมาพอดีเขาหยุดฉลองพระกฤษณะ 1 วัน ผมจึงไปดูละครบัลเล่ต์เรื่อง กฤษณะอวตาร พวกเราที่มาจากเมืองไทยมักพูดกันว่า ชื่อคล้ายชื่อไทย พี่สมพงษ์ ที่อยู่มานานแล้วต้องคอยบอกว่าไม่ใช่ เมืองไทยเอามาจากเขาต่างหาก ละครจับเรื่องที่เมืองอินทรปรัสต์ ที่นิวเดลฮีนี่เอง ละครของเขาเป็นละครผสมระหว่างสมัยเก่าและสมัยใหม่ การแต่งตัวคล้ายกับละครที่แสดงที่โรงละครกรมศิลปกร แต่เต้นแบบบัลเล่ต์สมัยใหม่ เต้นไปเรื่อยๆ ไม่พูด มีคนพากษ์เป็นภาษาฮินดู การจัดฉากสวยงามและดำเนินเรื่องเร็วไม่เบื่อ ตอนจบเป็นตอนพระกฤษณะขับรถศึกให้พระอรชุน

ชาวอินเดียที่ผมไปติดต่อด้วยทุกคน ให้ความร่วมมือด้วยดีเหลือเกิน ผมได้ออกไปชมตลาดข้างๆบ้านพี่สมพงษ์ที่ผมพักอยู่ด้วย เป็นตลาดนอกเมืองคล้าย ๆ แถวบางเขนแต่เล็กกว่ามาก บริเวณนี้เป็นสี่แยกตัดกันระหว่างถนนวงแหวน และมธุระมรรค มรรคแปลว่าทางหรือถนนนั่นเอง เช่น มรรคแปด เป็นต้น มธุระมรรคเป็นถนนไปทัชมาฮาล ซึ่งอยู่ในเมืองอักกรา ร้านขายของส่วนใหญ่เล็กและตื้น ของที่ขายเป็นของจำเป็น ไม่มีฟุ่มเฟือย ผ้าสาหรี่ดูผืนกว้างใหญ่คล้ายฟุ่มเฟือย แต่ที่จริงใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ใช่ห่มก็ได้ เวลาใช่แต่งกาย เปลี่ยนสลับด้านบนด้านล่างได้ ทำให้ขาดช้า หญิงอินเดียนุ่งสาหรี่กันเกือบทุกคน แม้แต่หมอบางคนเวลาเข้าห้องผ่าตัดยังไม่ยอมถอดออก นับว่าเขารักษาวัฒนธรรมกันไว้ได้อย่างเหนี่ยวแน่น สังเกตดูไม่มีร้านอาหารขนาดพอนั่งได้ ผิดกับของเราที่มีอยู่มากมายทุกอำเภอ ทุกตำบล มีแต่ร้านเล็ก ๆ แทบจะไม่มีที่นั่ง น้ำอัดลมซึ่งถือว่า เป็นของฟุ่มเฟือยมีขาย แต่ไม่มีที่นั่งต้องยืนดื่ม ที่น่าสนใจคือมีร้านขายนมของรัฐบาล ซึ่งสะอาดถูกสุขลักษณะอยู่ทั่วไป เราน่าจะสนับสนุนให้เด็กของเราดื่มนมให้มากขึ้น จะเป็นนมวัว นมควาย หรือนมถั่วเหลืองก็แล้วแต่ เพราะจะช่วยให้เด็กไทยของเราเป็นโรคขาดอาหารน้อยลง ตามถนนหนทางในนิวเดลฮีกว้างขวางและร่มรื่นมาก การวางผังตัดถนนเยี่ยมมาก คล้ายกรุงวอชิงตัน ตามถนนในเมืองก็ยังมีช้าง ม้า วัว ควาย เดินกันเกลื่อนถนน แถมยังมีอูฐอีก ทุกคนเห็นเป็นของธรรมดา ไม่มีผู้ใดแสดงว่ารำคาญ ผมลองถามเพื่อนชาวอินเดียว่า มีหญ้าอยู่บริเวณนอกออกไปมากมายทำไมจึงไม่ให้ชาวบ้านเอาสัตว์ไปเลี้ยงตามที่เหล่านั้น เขาบอกว่าชาวบ้านสะดวกที่เอามาเลี้ยงข้างถนนเพราะใกล้บ้าน อย่างไรก็ดีทางรัฐบาลกำลังดำริที่จะออกกฎหมายห้ามชาวบ้านเอาสัตว์ไปเลี้ยงข้างถนนในเมือง เห็นเขานำช้างไปดื่มน้ำข้างถนนแล้วน่าดูมาก คือ เขาให้ช้างเอาปลายงวงจ่อเข้าไปในก๊อกน้ำสาธารณะ แล้วเจ้าของเขาก็โยกคันสูบ สูบน้ำเข้าไปในงวงโดยที่น้ำไม่รั่วออกมา ชาวบ้านของเขาท่าทางรักสัตว์กันมาก ดูสัตว์อ้วนท้วนมากกว่าคนเสียอีก

องค์การอนามัยโลกมีโครงการที่เรียกว่า โครงการขยายการให้ภูมิคุ้มกันโรค เขาชมว่าเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครทำได้ดีมาก และในต่างจังหวัดในประเทศไทยก็กำลังขยายไปอยู่เรื่อย ๆ วัคซีนต่าง ๆ ก็ทำได้เอง และคุณภาพดีด้วย เช่น วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนที่ทนความร้อนได้ดีกว่าผลิตที่อื่น

พูดถึงเรื่องการป้องกันโรคในเด็กนั้น แบ่งได้เป็น 5 ระดับ คือ
1. การส่งเสริมสุขภาพทั่วไป เช่น การให้คำแนะนำเรื่องอาหาร

2. การป้องกันเฉพาะโรค เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรค

3. การวินิจฉัยโรคซึ่งไม่ปรากฏอาการแต่แก้ไขได้ เช่น การตรวจสอบสายตาเด็ก ซึ่งน่าจะทำได้ในโรงเรียนทั่ว ๆ ไป เพราะใครก็ตาม ถ้าได้รับการแนะนำเพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นผู้ตรวจได้ ลูกชายผมสองคนสายตาสั้น คนแรกกว่าจะรู้ว่าสายตาสั้นก็เป็นมากแล้ว เพราะไม่ได้ตรวจประจำทั้ง ๆ ที่มีแผ่นสำหรับตรวจสายตาอยู่ในบ้าน คนที่สองจึงต้องคอยตรวจ ก็พบว่าสายตาสั้นอีกคนหนึ่ง เรื่องหูก็เช่นกันต้องคอยตรวจสอบ ถ้าตาหูไม่ดีอาจทำให้การเรียนเลวลงได้ ถ้าเราสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจแก้ไขรักษาได้ เช่น ใส่แว่นตาหรือให้เด็กไปนั่งข้างหน้า เป็นต้น

4. การตรวจค้นและรักษาโรคซึ่งเมื่อมีอาการไม่มาก เพื่อป้องกันโรคร้ายแรงซึ่งอาจเกิดติดตามมาภายหลังได้ เช่น การวินิจฉัยและรักษาโรคเจ็บคอจากเชื้อสเตร๊ปโตคอคคัส เพื่อป้องกันโรคไข้รูห์มาติค โรคหัวใจรูห์มาติค (ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว) และโรคไตอักเสบ

5. การป้องกันความพิการในโรคเรื้อรัง เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกายภาพบำบัด เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหดตัวในเด็กที่เป็นอัมพาต

ขอวกมาเข้าเรื่อง คือ การป้องกันในระดับ 2 ที่อินเดียเขามีโครงการขยายการให้ภูมิคุ้มกันโรค มีโครงการที่จะใช้วัคซีนไปทั่วประเทศ 8 ชนิด คือ
1. บีซีจี. (วัคซีนป้องกันวัณโรค)
2. ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ
3. วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
4. วัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยัก
5. วัคซีนป้องกันบาดทะยักในหญิงมีครรภ์ เพื่อป้องกันโรคสะพั้น (บาดทะยักสะดือ) ในทารกเกิดใหม่
6. วัคซีนป้องกันไข้ทัยฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย)
7. วัคซีนป้องกันโปลิโอ
8. วัคซีนป้องกันโรคหัด
ต่อไปอาจจะงดการปลูกฝีเพราะไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ได้หมดไปแล้ว เนื่องจากการระดมการปลูกฝีไปทั่วโลกโดยองค์การอนามัยโลก ปีนี้ใช้งบประมาณถึงประมาณ 100 ล้านบาทเพื่อโครงการนี้

เรื่องโรคหัด ชาวอินเดียในชนบทเชื่อกันว่าเกิดจากการกระทำของเทพเจ้า ชื่อ มัตตา ฉะนั้นผมขอชี้แจงความเชื่อบางอย่างที่เกี่ยวกับโรคหัด คือ
1. โรคหัดคืออะไร? เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ทุกคนต้องเป็นใช่ไหม? การออกหัดคือการระบายพิษออกจากร่างกาย ฉะนั้น จึงต้องให้เด็กทุกคนออกหัดใช่ไหม?

2. หัดหลบคืออะไร? วิธีป้องกันและรักษา

3. อะไรคือของแสลงระหว่างออกหัด?

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดจำเป็นหรือไม่?

ขอตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อ มอร์บิลลิ ไวรัส (Morbilli Virus) เป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เด็กร่างกายทรุดโทรม เกิดโรคแทรกได้ง่าย หรืออาจทำให้ตายได้ โรคหัดไม่ใช่เป็นการระบายพิษออกจากร่างกาย การออกหัดไม่ได้ทำให้เกิดผลดีใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่ออกได้จะเป็นการดีมาก

2. คุณแม่ผมเล่าให้ฟังว่า พี่สาวผมออกหัดแล้วหัดหลบ อุจจาระมีมูกเลือด เพราะหัดหลบเข้าลำไส้ ทำให้ตาย ที่เราเข้าใจว่าหัดหลบเข้าปอดหรือลำไส้ เนื่องจากไปกินยาหรือฉีดยาฝรั่งนั้น ไม่ใช่หรอกครับ ที่จริงหัดหลบก็คือ โรคแทรกนั่นเอง ในระยะแรก เมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปที่ผิวหนัง หลอดลม และลำไส้ จะทำให้อวัยวะเหล่านี้อักเสบ มีไข้สูง ไอ กินอาหารไม่ได้ ท้องเสีย เด็กจะร่างกายทรุดโทรมมาก ถ้าเด็กแข็งแรงก็ไม่เป็นไร พอถึงระยะหนึ่งประมาณ 1-2 อาทิตย์ เชื้อไวรัสก็จะหมดไปเอง (ยังไม่มียาที่จะไปฆ่าเชื้อไวรัสได้) แต่ถ้าเด็กร่างกายอ่อนแอ เมื่อร่างกายทรุดโทรมจะทำให้มีเชื้อแบคทีเรียไปแทรก เช่น เป็นหูน้ำหนวก ปอดบวม(นิวโมเนีย) วัณโรคปอดกำเริบ ท้องเสียมากขึ้น เป็นบิด สมองอักเสบ อัมพาต หรือโคม่า (ไม่รู้สึกตัว) โรคแทรกอาจเกิดขึ้น พร้อมกับระยะที่มีผื่นมาก หรือผื่นเริ่มลดแล้วก็ได้ ถ้าเป็นเมื่อผื่นเริ่มลดแล้ว อาจทำให้เข้าใจผิดว่า มันหลบจากภายนอกเข้าไปภายใน ขอให้เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ยาสมัยปัจจุบันไม่ไปทำให้เกิดผลร้ายอะไร วิธีป้องกันโรคแทรก ก็คือ ขั้นแรกเด็กของท่านจะต้องแข็งแรงอยู่เสมอ คือ การป้องกันระดับ 1 ที่ผมกล่าวมาแล้วนั่นเอง เมื่อออกหัดแล้ว การรักษาที่สำคัญก็คือ การให้น้ำมาก ๆ คนโบราณให้ยาเขียวก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เพราะเป็นทางที่จะให้ได้รับน้ำมาก ๆ ให้ยาลดไข้แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ตามขนาดของเด็ก ให้ยาปฏิชีวนะ ถ้าโรคแทรก ทางที่ดีเมื่อเด็กมีอาการมาก เช่น หอบ ท้องเสีย ชัก ควรรีบพาเด็กไปสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล
 

3. ของแสลง พ่อแม่บางคนแทบไม่ให้เด็กกินอะไรเลย กินแต่ข้าวต้มกับปลาแห้ง เป็นต้น ไม่ให้กินอาหารที่บำรุง เช่น เนื้อ นม ไข่ เพราะกลัวจะแสลงทำให้โรคกำเริบ อันนี้ผมขอเรียนว่า เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างที่อธิบายไว้แล้วว่า โรคหัดทำให้ร่างกายอ่อนแอ จึงจำเป็นต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรง เพื่อจะได้มีแรงต่อต้านโรคได้ อาหารกินได้ทุกอย่าง แต่ต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรค ควรต้มให้สุกและอ่อน เพื่อให้กินง่าย เพราะลำไส้อักเสบ การย่อยไม่ดี ควรหนักไปทางอาหารที่บำรุง คือ เนื้อ นม ไข่ เป็นต้น ถ้าอาหารไม่สะอาด อาจทำให้ท้องเสียมากขึ้นหรือเป็นบิดได้

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ในความเห็นส่วนตัวของผม เห็นว่าควรฉีด (ถ้ามีเงินพอที่จะจ่ายค่าวัคซีน) เมื่ออายุได้ 15 เดือน ฉีดเพียง 1 ครั้ง เพราะเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดยาป้องกันจะเป็นหัดแทบทุกคน และอาจมีโรคแทรกได้ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าเด็กแข็งแรงก็มีโรคแทรกน้อย นอกจากโรคแทรกทางสมอง ตามสถิติพบว่าในเด็กที่แข็งแรง อาการของโรคน้อยก็อาจเกิดสมองอักเสบได้ เด็กที่เป็นหัด 10,000 คน จะมีโรคแทรกทางสมองประมาณ 1-2 คน อัตราตายจากโรคหัดแตกต่างกันมาก แล้วแต่สภาพทางอาหารของเด็กในท้องที่นั้น ๆ ได้ มีผู้สำรวจทั่วโลกพบว่า มีตั้งแต่ไม่ถึง 1% ถึง 40% ได้มีผู้คำนวณว่าเด็กในอินเดียตายด้วยโรคหัดปีละประมาณ 85,000 คน ผมไม่ทราบสถิติเมืองไทย แต่คิดว่า เด็กในชนบทคงตายกันมาก เพราะเด็กในชนบทยังเป็นโรคขาดอาหารกันมาก ชาวบ้านยังไม่ตื่นตัวกัน เพราะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วต่ำ เห็นออกหัดกันเยอะแยะไม่เห็นเป็นอะไร แต่ถ้าดูจำนวนจริง ๆ แล้วจะสูงเมื่อเทียบกับโรคอื่น เพราะเด็กเป็นโรคนี้กันเกือบทุกคน หรือเมื่อเด็กตายก็ไม่โทษว่าตายเพราะโรคหัด เข้าใจว่ากินของแสลงบ้าง หัดหลบเพราะไปฉีดยากินยาฝรั่งบ้าง เคยมีผู้ตั้งคำถามว่า ในประเทศที่ยากจนมีเด็กขาดอาหารมาก ในจำนวนเงินซึ่งมีจำกัดจำนวนหนึ่ง จะเอาไปทำอะไรที่คิดว่าจะป้องกันโรคขาดอาหารได้มากที่สุดและใช้เงินน้อยที่สุด ครูผมบอกว่าเอาไปซื้อวัคซีนป้องกันหัดมาฉีดให้เด็กซี่ เพราะถ้าเด็กออกหัดแล้ว อาจจะกลายเป็นโรคขาดอาหาร หรือถ้าขาดอยู่แล้วอาจกลายเป็นโรคขาดอาหารอย่างรุนแรงไปเลย (การซื้อมาก ๆ โดยรัฐบาลต่อรัฐบาลจะได้ราคาถูกลงมาก) โครงการนี้กำลังทดลองอยู่ในบางส่วนของแอฟริกา ประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยได้มองเห็นปัญหานี้ และกำลังดำเนินการผลิตวัคซีนป้องกันหัดอยู่ เพราะถ้าทำได้เอง ราคาถูกลงมาก ถึงแม้จะลงทุนสูง ผมเข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขไทยคงพิจารณาเรื่องนี้ เพราะนโยบายของรัฐบาลก็เน้นเรื่องป้องกันโรคอยู่แล้ว และนักวิทยาศาสตร์ไทยก็ชำนาญในเรื่องการผลิตวัคซีนไม่แพ้ผู้อื่น

เรื่องการวินิจฉัยโรคหัดผมของดเพียงเท่านี้ เพราะมีผู้พูดมาหลายครั้งแล้วใน “หมอชาวบ้าน”

นี่คือข้อคิดเห็นจากอินเดีย ซึ่งบางคนไม่อยากมา บ้างก็ว่า ยากจนสกปรก บ้างก็ว่าแขกเอาเปรียบ เห็นแขกกับงูให้ตีแขกก่อน แต่ถ้าคิดดูให้ดีจะเห็นว่า อาชญากรรมในอินเดียต่ำมากแม้จะยากจน ผมคิดว่าที่ไม่อยากมา อาจเป็นเพราะหน้าตาก็เป็นได้ เพราะคนอินเดียส่วนใหญ่ผิวดำ จัดดูไม่ค่อยเจริญหูเจริญตา แต่ผมได้ยินเพื่อนที่มาด้วยกันบอกว่า มาทีแรกดูสาวอินเดียแล้วไม่สนใจ แต่อยู่ไปหลาย ๆ วันเข้า เอ๊ะ! ดูสวยดีเหมือนกัน
 

ข้อมูลสื่อ

23-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 23
มีนาคม 2524
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์