• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กห้าขวบถึงหกขวบ

เด็กห้าขวบถึงหกขวบ

การเลี้ยงดู

379. เด็กอ่อนแอ

หมอเด็กที่ดีจะไม่พูดว่า “เด็กคนนี้อ่อนแอ” เช่นเดียวกับครูที่ดีจะไม่กล่าวว่า “เด็กคนนี้โง่” เป็นอันขาด พ่อแม่ หมอ และครู ควรเป็นผู้ให้กำลังใจเด็ก ไม่ตีตราปรามาสด้วยคำพูดที่ทำให้เด็กสะเทือนใจ เด็กตัวเล็ก กินน้อย น้ำหนักไม่ได้มาตรฐาน เวลาไปหาหมอ มักถูกบ่นว่าน้ำหนักน้อยไป ต้องบำรุงมากๆหน่อย เทียบกับเด็กอื่นที่อยู่อนุบาลด้วยกันก็ตัวเล็กกว่าเขามาก เด็กแบบนี้พ่อแม่มักนึกว่าเป็น “เด็กอ่อนแอ”

อย่างกรณีเด็กที่เป็นหวัด ไปหาหมอบ่อย ต้องรักษาทีละหลายวันกว่าจะหาย ทั้งฉีดยากินยา หยุดโรงเรียนเป็นสัปดาห์ทุกที เด็กแบบนี้พ่อแม่มักจะคิดว่าเป็น “เด็กอ่อนแอ” อันที่จริง จำนวนวันที่รักษาโรคหวัดขึ้นอยู่กับความคิดของหมอผู้รักษาหลังจากไข้ลดลงแล้ว เด็กส่วนใหญ่ยังมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก มีเสมหะ และมีอาการไอหลงเหลืออยู่ ทำให้รู้สึกว่ายังไม่หายป่วย หมอบางคนจะสั่งให้มารักษาจนหายสนิทจึงค่อยไปโรงเรียน พ่อแม่เห็นเพื่อนๆ ของลูกซึ่งเป็นหวัดเหมือนกัน หยุด 2-3 วันก็ไปโรงเรียนได้แล้ว ลูกตัวเองต้องรักษาถึง 10 วัน จึงคิดว่าลูกอ่อนแอ ทั้งๆที่ความจริงเป็นหวัดด้วยเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน เมื่อไข้ลด อาการต่างๆ ก็จะหายไปเอง แตกต่างกันที่นโยบายในการรักษาของหมอเท่านั้นเอง

เด็กที่มีไข้ต่ำอยู่นาน มีอาการท้องเสียง่ายและหายช้า ต้องรักษาอยู่นาน ขาดเรียนมากกว่าเด็กอื่น มักจะถูกหาว่าเป็น “เด็กอ่อนแอ” ทำให้พ่อแม่กลัวไปต่างๆ นานา เช่น กลัวว่าลูกจะเป็นวัณโรคง่าย จะกลายเป็นเด็กเลี้ยงไม่โต เป็นต้น

เราควรสังเกตที่ชีวิตประจำวันของเด็กมากกว่า หากแกร่าเริงดี อยากไปโรงเรียนและวิ่งเล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน แกก็ไม่ใช่เด็กอ่อนแอ หากสิ่งต่างๆ ที่เด็กวัย 5-6 ขวบโดยทั่วไปทำได้ แกก็ทำได้ แสดงว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เด็กที่เคยป่วยบ่อยในวัยอนุบาล พอขึ้นชั้นประถมจะไม่ค่อยป่วย เห็นแข็งแรงดีกันแทบทุกราย ความกังวลมากเกินไปของพ่อแม่ ให้ผลร้ายมากกว่าผลดี

380. สมหญิง สมชาย

คนเราเกิดมาไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ย่อมเป็นคนเท่าเทียมกัน สังคมสมัยเก่าสอนให้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เป็นผู้ตาม แต่สังคมสมัยใหม่จะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป แม้ว่าในปัจจุบันความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมระหว่างหญิงและชายยังคงหลงเหลืออยู่ เราต้องทำให้หมดไป โดยสอนลูกหลานตั้งแต่เล็กในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี มิได้หมายความว่าหญิงและชายจะทำทุกอย่างได้เหมือนกันหมด ความแตกต่างทางร่างกาย โดยธรรมชาติ ย่อมกำหนดบทบาทและความถนัดของแต่ละเพศไว้โดยปริยาย ชีวิตในครอบครัวก็เช่นเดียวกัน พ่อและแม่ควรมีหน้าที่อะไร ลูกหญิงลูกชายควรทำอะไรบ้าง เป็นสิ่งซึ่งพ่อและแม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ไปตามความเหมาะสม เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขและราบรื่นดี พ่อต้องเป็นแบบอย่างของลูกชาย แม่เป็นแบบอย่างของลูกสาว ความสมหญิงและสมชายจะถูกปลูกฝังอยู่ในตัวเด็กโดยผ่านชีวิตครอบครัว บ้านคือบ่อกำเนิดของความรู้เรื่องเพศ และครูผู้สอนก็คือ พ่อแม่ นั่นเอง

381. เรียนพิเศษ

สมัยนี้เด็กเล็กเด็กโตเรียนพิเศษกันมากมาย บางคนเรียนเช้าสายบ่ายเย็น ไม่เว้นวันเสาร์อาทิตย์ วิชาที่เรียนแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ เสริมวิชาความรู้ที่เรียนในโรงเรียน เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ อีกกลุ่ม คือ พวกวิชาเสริมทักษะ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา เป็นต้น

การจะให้เด็กเรียนอะไรนั้นก็แล้วแต่ความชอบของพ่อแม่ สภาพแวดล้อมและฐานะทางการเงินด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ พ่อแม่อย่าเอาจริงเอาจัง และมุ่งหวังจนเกินไปนัก มิใช่เห็นลูกสาวชอบเต้นรำ ก็จะปลุกปั้นให้เป็นดาราบัลเล่ต์ระดับประเทศให้ได้ หรือลูกชายชอบว่ายน้ำ ใจพ่อก็จดจ่ออยู่กับการฝึกให้เป็นดาราโอลิมปิกในอนาคต หากลูกชายต้องว่ายน้ำตาต่างน้ำทุกวัน ความชอบอาจจะผันแปรกลายเป็นความเกลียดไปเสีย

การเสริมทักษะของเด็กควรเป็นการละเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งเด็กอยากเลิกเมื่อใดก็เลิกได้ อยากเปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่นก็เปลี่ยนได้ เด็กเล็กยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ลองย่อมไม่รู้ ไม่ดูย่อมไม่เห็น อย่างไรก็ดี ไม่ควรให้เด็กเรียนพร้อมกันหลายอย่าง จนไม่มีเวลาพักผ่อนเล่นกับเพื่อนฝูง โลกทุกวันนี้การแข่งขันสูงมาก พ่อแม่จึงอยากสร้างลูกของตนให้เป็น “ซูเปอร์เด็ก” เพราะเกรงว่าจะสู้คนอื่นไม่ได้ในอนาคต ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความพอดี ตึงเกินไปก็ไม่ดี หย่อนเกินไปก็ไม่ก้าวหน้า พ่อแม่จึงมีหน้าที่หาความพอดีที่เหมาะสมกับยุคสมัยให้ลูกด้วย

ข้อมูลสื่อ

130-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533