• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประวัติการแพทย์จีน ตอน ซางหางลุ่น

ประวัติการแพทย์จีน ตอน ซางหางลุ่น

ท่านผู้อ่านที่ติดตาม “การแพทย์ตะวันออก” ตอนที่แล้วคงจะจำกันได้ถึงจางจงจิ่ง แพทย์จีนที่มีชื่อเสียงสมัยตงฮั่น ท่านเป็นคนแรกที่ได้ทำการรวบรวมทฤษฎีและประสบการณ์ทางการแพทย์ก่อนสมัยฮั่นตะวันออกมาใช้ในการเขียนหนังสือซางหางจ๋าปิ้งลุ่น ซึ่งต่อมาได้มีผู้รวบรวมเขียนเพิ่มเติมและจัดหมวดหมู่ใหม่ โดยใช้ชื่อว่า ซางหางลุ่น

ซางหางลุ่น เป็นหนังสือที่อธิบายถึงโรคติดต่อซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก นอกจากนั้นยังได้รวบรวมเอาหลักทฤษฎี วิธีการ ตำรับยา และตัวยาสมุนไพรมาประสานกับการรักษาอย่างเป็นกฎเกณฑ์ ได้มีการใช้กฎการวิเคราะห์โรคอย่างรอบด้าน แล้วดำเนินการรักษาอย่างพลิกแพลงในการปฏิบัติทางคลินิกอีกด้วย รายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับซางหางลุ่นยังมีอีกมาก ครั้งนี้จึงขอนำมาเสนอให้อ่านกันต่อ

ซางหางลุ่น ได้ใช้คำว่า ซางหาง ไปเรียกชื่อชนิดของโรค ซางหางในทรรศนะของการแพทย์จีนมีความหมายอยู่ 2 ประการ คือ

1. ความหมายของซางหางในทรรศนะกว้าง ได้กล่าวไว้ในเน่ยจิงว่า “โรคติดต่อทุกชนิดล้วนจัดอยู่ในซางหาง” และในหนานจิงได้เขียนไว้ว่า “ซางหางมี 5 ชนิด คือ จ่งเฟิง ซางหาง สือเวิน เวินปิ้ง และเย่อปิ้ง”

2. ความหมายของซางหางในทรรศนะแคบ เป็นการชี้เฉพาะลงไปถึงโรคที่เกิดขึ้น เนื่องจากมนุษย์ได้รับผลกระทบจากความเย็น เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง และร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้

แม้หนังสือซางหางลุ่นจะใช้ซางหางมาเป็นชื่อหนังสือก็ตาม แต่ในบทไท่หยางได้แบ่งซางหางออกเป็น จ่งเฟิง ซางหาง เวินปิ้ง เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หนังสือซางหางลุ่นนอกจากจะกล่าวถึงซางหางในทรรศนะกว้างแล้ว ยังได้กล่าวถึงซางหางในทรรศนะแคบด้วย และได้แบ่งซางหางในทรรศนะแคบออกเป็นตอนๆ อย่างละเอียด โดยนำเอาลิ่วจิง (เส้นลมปราณทั้ง 6) อันได้แก่ ไท่หยาง ซ่าวหยาง หยางหมิง ไท่ยิน ซ่าวยิน และเจี๋ยยิน มาอธิบายถึงขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของโรค

คำว่า ลิ่วจิง นั้นมาจากหนังสือเน่ยจิงในบทเย่อลุ่น ซึ่งได้กล่าวไว้เฉพาะไท่หยาง หยางหมิง และซ่าวหยางเท่านั้น แต่ในซางหางลุ่นได้เพิ่มไท่ยิน ซ่าวยิน และเจี๋ยยินเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ซางหางลุ่นยังได้กำหนดกฎเกณฑ์ทั่วๆ ไปในการวินิจฉัยโรคไว้ดังนี้ คือ ยิน หยาง นอก ใน เย็น ร้อน พร่อง1 และแกร่ง2 ทั้งหมดนี้เรียกว่า ปากัง (หลัก 8 ประการในการวินิจฉัยโรค)

ซางหางลุ่นได้สรุปอาการต่างๆของโรคติดต่อซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก โดยอาศัยความแข็งแรงและความอ่อนแอของร่างกายในการต้านทานโรคเป็นหลัก แล้วนำมาอธิบายอาการของโรคที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ด้วยการแบ่งอาการของโรคที่เกิดขึ้นเป็น 2 ขั้นตอน ซึ่งมีทั้งหมด 6 ระยะดังนี้ คือ

ขั้นตอนที่ 1 โรคเกิดขึ้นในขณะที่ภูมิต้านทานของร่างกายยังแข็งแรงอยู่ และโรคอยู่ในระยะกำลังพัฒนา เรียกว่า ซานหยาง (โรคหยางสามประการ) ซึ่งหมายถึง

ก. โรคไท่หยาง

ข. โรคหยางหมิง

ค. โรคซ่าวหยาง

ขั้นตอนที่ 2 โรคเกิดขึ้นในขณะที่ภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง และโรคอยู่ในสภาวะที่กำลังเสื่อมถอย เรียกว่า ซานยิน (โรคยินสามประการ) ซึ่งหมายถึง

ก. โรคไท่ยิน

ข. โรคซ่าวยิน

ค. โรคเอี๋ยยิน

การแบ่งโรคด้วยวิธีนี้ ทำให้การวินิจฉัยโรคมีขั้นตอนและมีกฎเกณฑ์ยิ่งขึ้น นับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญของการแพทย์จีนในการใช้ทฤษฎีมาชี้นำการวิเคราะห์โรคในทางคลินิก และสามารถชี้นำการใช้ยาสมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทฤษฎีจิงลั่ว (เส้นลมปราณ) เป็นทฤษฎีพื้นฐานที่สอดแทรกอยู่ทั่วไปในทฤษฎีการแพทย์จีน และเป็นทฤษฎีสำคัญในการชี้นำการปักเข็ม ทฤษฎีจิงลั่วที่ปรากฏอยู่ในซางหางลุ่นนั้น ไม่จำกัดตัวอยู่เฉพาะในแวดวงของการปักเข็มเท่านั้น ซางหางลุ่นได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาการของโรคนั้นมีความสัมพันธ์กับลิ่วจิง (เส้นลมปราณ 6 เส้น) อย่างใกล้ชิด จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้

หนังสือที่เขียนขึ้นเพื่ออรรถาธิบายซางหางลุ่นนั้นมีมากมาย จนถึงสมัยชิงมีทั้งหมดไม่น้อยกว่า 400 เล่ม สรุปแล้วเราสามารถแบ่งได้ 2 พวกใหญ่ๆ คือ พวกแรก ยกย่องผลงานของซางหางลุ่น อีกพวกหนึ่งได้แสดงทรรศนะของตนผสมเข้าไป และนำเอาทฤษฎีของซางหางลุ่นเข้าไปประยุกต์ ทำให้ทฤษฎีซางหางลุ่นได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

หนังสือจินกุ่ยเอี้ยวเลี้ย เป็นผลงานอีกเล่มหนึ่งของจางจงจิ่ง เป็นหนังสือที่กล่าวถึงวิธีการรักษาโรคภายใน โดยอาศัยเน่ยจิงและหนางจิงเป็นพื้นฐาน จางจงจิ่งได้รวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ ในการรักษาโรคของแพทย์รุ่นเก่า ประสานกับความคิดและประสบการณ์ของตนอย่างเป็นระบบ

หนังสือเล่มนี้เขียนถึงการรักษาโรคต่างๆ กว่า 40 ชนิด จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ ใช้ทรรศนะที่มองสรรพสิ่งอย่างเป็นเอกภาพ และนำเอาทฤษฎีวิเคราะห์โรคอย่างรอบด้าน และดำเนินการรักษามาอธิบายถึงสาเหตุของโรค การรักษาและการป้องกันอย่างเป็นระบบ เป็นพื้นฐานสำคัญในทางทฤษฎีที่แพทย์รุ่นหลังยึดถือสืบต่อกันมา 

ข้อมูลสื่อ

131-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
วิทิต วัณนาวิบูล