• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อไปโรงพยาบาล

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อไปโรงพยาบาล

เมื่อเอ่ยถึงโรงพยาบาล เชื่อว่าทุกคนต้องเคยสัมผัสมาแล้วทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย คุณๆ ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าในวันหนึ่งๆ มีคนไข้มารับการตรวจรักษาจากแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ บางคนมานั่งรอนอนรอกันตั้งแต่ตี 5 จนกระทั่งบ่ายก็ไม่ได้ตรวจแล้วนับประสาอะไรกับคนที่มาสาย เรียกว่าแทบจะไม่มีความหวังอยู่เลย แต่จะมีวิธีไหนล่ะ ที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องเป็นแม่สายบัวแต่งตัวรอเก้อ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วไม่ได้ตรวจหรือรอนานจนเข็ดขยาดไม่อยากมาอีก

สิ่งแรกที่คุณควรคำนึงถึงและนำติดตัวมาด้วยทุกครั้ง คือ บัตรประชาชน เพราะบัตรประชาชนเปรียบเสมือนใบเบิกทางเพื่อนำไปทำบัตรคนไข้ที่ห้องบัตร คือ รายละเอียดประวัติต่างๆ จะต้องบันทึกไว้ที่ห้องบัตร เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งคนไข้ไปรับการตรวจรักษาที่แผนกต่างๆ ของโรงพยาบาล และง่ายต่อการสืบค้นประวัติคนไข้ในกรณีที่มารับการตรวจรักษาในครั้งต่อไป

นอกจากนี้หลักฐานที่ควรนำติดตัวมา คือ บัตรข้าราชการ ใบต่างด้าวในกรณีที่เป็นชาวต่างชาติ

คนไข้เก่าที่ต้องการแก้ไขทะเบียนประวัติ ในกรณีที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงสถานภาพ เช่น แต่งงาน สิ่งที่จำเป็นต้องนำมาด้วยคือ ใบทะเบียนสมรสและสำเนาทะเบียนบ้าน เมื่อทำบัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางแผนกห้องทำบัตรก็จะส่งต่อไปตรวจที่แผนกต่างๆ เฉพาะโรค โดยแบ่งคนไข้ออกเป็น 2 ประเภท คือ คนไข้เด็ก และคนไข้ผู้ใหญ่ สำหรับคนไข้เด็กทางห้องบัตรก็จะส่งไปที่แผนกเด็กโดยเฉพาะ

ส่วนคนไข้ผู้ใหญ่จะต้องผ่านการตรวจเพื่อวินิจฉัยแยกโรคเสียก่อน โดยแผนกห้องทำบัตรจะส่งคนไข้ที่มาทำบัตรใหม่ไปให้แพทย์ทั่วไปตรวจวินิจฉัยโรครวมทั้งตรวจรักษาด้วย แต่ถ้าพบว่าคนไข้มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง เช่น แพทย์ทางศัลยกรรม หรือแพทย์ทางอายุรกรรมโดยเฉพาะแล้ว แพทย์แผนกนี้จะส่งคนไข้ไปยังแผนกต่างๆตามสภาพของอาการที่เป็น

ส่วนคนไข้สตรีที่มีความต้องการจะตรวจรักษาโรคเกี่ยวกับโรคของสตรีโดยเฉพาะ ทางแผนกห้องบัตรก็จะส่งคนไข้ไปที่แผนกสูติ-นรีเวชโดยตรง สำหรับคนไข้เก่า และคนไข้ที่แพทย์นัดให้มาตรวจ ทางแผนกห้องบัตรก็จะส่งไปให้แพทย์เฉพาะทางโดยตรงเลย เมื่อตรวจวินิจฉัยโรคแล้วปรากฏว่า คุณต้องเข้ารับการผ่าตัด คุณจะเตรียมตัวอย่างไรให้การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี

ในการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการผ่าตัด มีอยู่ 2 กรณี คือ

1. การเตรียมตัวเพื่อไปผ่าตัดชนิดให้ยาชาเฉพาะที่ ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ

2. การผ่าตัดชนิดที่ให้ยาระงับความรู้สึก ในกรณีนี้คนไข้จะหมดความรู้สึก แต่ขณะเดียวกันก็ยังหายใจได้ ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะให้การดูแลคนไข้ขณะที่ศัลยแพทย์ให้การผ่าตัด

สำหรับขั้นตอนการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการผ่าตัดนั้น มีดังนี้

1. ก่อนที่แพทย์จะนัดคุณมาผ่าตัด แพทย์จะต้องให้คุณไปตรวจเลือดดูความพร้อมของร่างกาย และเอกซเรย์ก่อน

2. แพทย์จะบอกให้คุณงดน้ำ งดอาหารมาล่วงหน้า การงดน้ำ งดอาหาร จะต้องงดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนวันที่ทำการผ่าตัด จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้คนไข้ปลอดภัย

การงดน้ำงดอาหารมีความสำคัญมากต่อชีวิตคนไข้ เพราะว่าถ้ากระเพาะอาหารไม่ว่างแล้ว อาจมีการสำลักหรืออาเจียน ซึ่งเศษอาหารอาจจะเข้าไปอุดทางเดินหายใจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นคนไข้จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

3. สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ คือ คุณต้องเตรียมเงินมาเพื่อเสียค่าผ่าตัด ค่ายา ค่าห้องพัก และอื่นๆ อีกจิปาถะ

4. ญาติมีความสำคัญมาก คุณควรจะพาญาติมาด้วยเพื่อสะดวกในการดูแลขณะที่อยู่โรงพยาบาล และเพื่อที่จะนำคุณกลับไปบ้าน

5. ใบเซ็นอนุญาตผ่าตัด ทางโรงพยาบาลจะกำหนดไว้ว่าผู้ที่บรรลุนิติภาวะอาจจะอายุประมาณ 15 ปี หรือ 20 ปี จึงถือว่า บรรลุนิติภาวะ ซึ่งก็แล้วแต่กฎของโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน คนไข้ที่บรรลุนิติภาวะสามารถเซ็นอนุญาตผ่าตัดให้กับตัวเองได้ ส่วนคนไข้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทางโรงพยาบาลก็จะให้ผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่ หรือญาติผู้ให้การดูแลอุปถัมป์เป็นผู้เซ็นอนุญาตให้

6. ของมีค่าต่างๆ ควรจะเก็บไว้ที่บ้าน ไม่ควรนำมาฝากไว้ที่โรงพยาบาล คนไข้บางคนนำติดตัวมามากมาย ซึ่งเป็นภาระกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างมากที่จะต้องคอยดูแลไม่ให้ข้าวของของคนไข้สูญหาย

7. ฟันปลอม คนไข้บางคนใส่ฟันปลอม เจ้าหน้าที่จะแนะนำว่า ควรถอดฟันปลอมทุกครั้งก่อนเข้าห้องผ่าตัด คุณควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพราะว่าบางครั้งเวลาที่คุณหลับฟันปลอมอาจจะหลุด หรือไม่สะดวกที่แพทย์จะให้การรักษา

8. ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบว่า คุณเคยแพ้ยาอะไรมาบ้าง เช่น ยาชา ยาต่างๆ ที่คุณเคยกินแล้วแพ้ และมีอาการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง และเพื่อแพทย์จะได้ไม่ให้ยาชนิดนั้นซ้ำอีก ในกรณีที่ต้องให้การรักษาในครั้งต่อไป

ก่อนที่คุณจะออกจากบ้านเพื่อมารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล คุณควรคำนึงถึงบัตรประชาชน บัตรคนไข้ ใบนัดตรวจ และสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับคำแนะนำของแพทย์ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อผลดีแก่ตัวคุณเอง อ้อ! คุณควรมาให้ตรงตามเวลานัด โดยออกจากบ้านแต่เช้าๆ เผื่อมีปัญหาจะได้มีเวลาแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที

  • รับใบเกิดเด็ก 

เวลารับ : 8.30-16.00 น. (เว้นวันหยุดราชการ)
ผู้รับ : ต้องนำบัตรโรงพยาบาลของแม่เด็ก และบัตรประชาชนของผู้รับมาด้วย
สถานที่รับ : หน่วยสูติบัตร

  • รับใบมรณบัตร

เวลารับ : 8.30-16.00 น. (ไม่เว้นวันหยุด)
ผู้รับ : ต้องนำบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้านของผู้ตายและบัตรประชาชนของผู้รับมาด้วย (พร้อมถ่ายเอกสาร 1 ชุด)
สถานที่รับ : หน่วยมรณบัตร

  • รับศพ

เวลารับ : 8.30-16.30 น. (ไม่เว้นวันหยุด)
ผู้รับ : ต้องนำใบมรณบัตรมาด้วย
สถานที่รับ : ศพทั่วไปรับที่ตึกพยาธิวิทยา ศพคดีรับที่ตึกนิติเวชวิทยา

  • เวลาเยี่ยมผู้ป่วย

ผู้ป่วยสามัญ
วันเวลาราชการเยี่ยมได้เวลา 14.00-18.00 น.
วันหยุดเยี่ยมได้เวลา 10.00-18.00 น.
ผู้ป่วยพิเศษ
เยี่ยมได้เวลา 10.00-20.00 น. (ทุกวัน)

 

เมื่อจะมาตรวจร่างกาย

  • ก่อนตรวจ 

1. ทำบัตรใหม่ ที่ตึกคนไข้นอก
บัตรเก่า ต้องนำมาด้วยทุกครั้ง
2. หลักฐานที่นำมาด้วย
- บัตรประจำตัว หรือ
- บัตรข้าราชการ หรือ
- ใบต่างด้าว
3. ระยะเวลาในการตรวจ
- คนไข้ทั่วไปตรวจตั้งแต่ 7.00-12.00 น.
- คนไข้หนักตรวจได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- คนไข้ได้รับอุบัติเหตุ ตรวจตลอด 24 ชั่วโมง (ที่ตึกอุบัติเหตุ)

  • หลังตรวจ

การซื้อยา ซื้อยาได้ที่ห้องยาตึกคนไข้นอก
ยากิน
ก่อนอาหาร หมายถึง กินยาก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง
หลังอาหาร หมายถึง กินยาหลังจากกินอาหาร 15 นาที
ยาน้ำ ถ้าเป็นชนิดแขวนตะกอนควรเขย่าขวดก่อนกินยา
ก่อนกินยาทุกครั้ง อ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อน
ข้อควรระวัง
- ถ้ามีอาการผิดปกติหลังจากกินยาหรือแพ้ยาให้หยุดกินทันที
- อย่าเก็บยาไว้นาน สังเกตถ้าลักษณะยาเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสี ห้ามใช้

  • เบิกค่ายา ค่ารักษา

1. คนไข้ที่มารับการตรวจรักษาแล้วกลับบ้าน นำใบเสร็จจากการซื้อยา ทำใบสรุปที่ตึกคนไข้นอก
2. คนไข้ที่อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล ถ้าเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ ต้องขอหลักฐานจากหน่วยงานของตัวเองมาให้ที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อคิดค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานที่สังกัดอยู่

ข้อมูลสื่อ

132-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
อื่น ๆ
ลลิตา อาชานานุภาพ