การเกิดโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดมา โดยเฉพาะในปีนี้มีการระบาดมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการแสดงความสงสัยว่า ตุ่มน้ำขนาดใหญ่ในโครงการจัดหาน้ำสะอาดไว้กินไว้ใช้ในหมู่บ้าน จะมีส่วนทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกหรือไม่
คณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ที่พึงต้องดำเนินการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตุ่มน้ำกับการเกิดโรคไข้เลือดออก
ได้ทำการศึกษาข้อมูลถึง 3 ระดับ คือ
ระดับประเทศ ศึกษาข้อมูลของปี พ.ศ. 2528, 2529 และ 2530 โดยเปรียบเทียบอัตราป่วยของโรคไข้เลือดออก กับอัตราการมีตุ่มน้ำ ซึ่งไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด ว่าตุ่มน้ำกับไข้เลือดออกมีความสัมพันธ์กัน
ระดับจังหวัดได้เลือกศึกษาข้อมูลของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีอัตราป่วยของโรคไข้เลือดออกสูงในทุกอำเภอ แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างอัตราป่วยกับอัตราการมีตุ่มน้ำใน 31 หมู่บ้าน
นอกจากนั้น คณะผู้ศึกษายังได้ทำการสำรวจถึงพื้นที่จำนวน 4 หมู่บ้านของจังหวัดอุทัยธานี โดยสำรวจในเขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล หมู่บ้านในชนบท ซึ่งทั้ง 3 แห่งมีอัตราการเกิดโรคสูง และอีก 1 หมู่บ้านไม่มีผู้ป่วยเลย เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง
ผลการสำรวจปรากฏว่าพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง มีตุ่มน้ำดื่มน้ำใช้ในจำนวนร้อยละที่ใกล้เคียงกัน คือประมาณร้อยละ 45-65 และอัตราการพบลูกน้ำในตุ่มน้ำและภาชนะอื่นๆก็อยู่ระหว่างร้อยละ 56-80 และไม่ว่าตุ่มน้ำจะเปิดหรือปิดไว้ ก็พบลูกน้ำในอัตราที่ใกล้เคียงกัน
ในการสำรวจยุงลายทั้ง 4 หมู่บ้าน มีจำนวนยุงในบ้านและนอกบ้านไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะตุ่มน้ำขนาดใหญ่พบลูกน้ำยุงลายจำนวนต่ำมากคือร้อยละ 0-15 และไม่พบลูกน้ำยุงลายในถังเก็บน้ำฝนเลย
ผลการศึกษาทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า การสร้างตุ่มน้ำขนาดใหญ่ในโครงการจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ในหมู่บ้าน ไม่มีผลทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก
แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่สำคัญคือ ภาชนะเล็กๆ ทั้งในและนอกบ้าน เช่น กะลา ชามรองขาตู้กับข้าว แจกันดอกไม้ หรืออื่นๆที่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากจะรณรงค์กวาดล้างแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ก็สมควรทำลายแหล่งเพาะพันธุ์เหล่านี้ เช่น ช่วยกันคว่ำกะลา เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ทุกวัน
และที่สำคัญเนื่องจากยุงลายกัดคนในเวลากลางวันจึงต้องระมัดระวังลูกหลานของเรา กลางวันก็ต้องนอนกางมุ้งและอยู่ในที่มีลมพัดตลอดเวลาจึงจะป้องกันโรคได้
- อ่าน 2,416 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้