• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใครคือนักวิ่งเพื่อสุขภาพ

“นักวิ่งเพื่อสุขภาพไม่ควรลงวิ่งแข่งขัน”
“การวิ่งแข่งขันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ”
“การจัดแข่งขันทำให้นักวิ่งเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าการวิ่งยาวๆ เช่น มาราธอน เป็นสิ่งจำเป็น”

คำกล่าวต่างๆเหล่านี้ได้ยินกันอยู่เสมอ ทั้งจากฝ่ายนักวิ่งและฝ่ายที่เป็นห่วงเป็นใยในตัวนักวิ่ง เช่น แพทย์ นักสังเกตการณ์ ฯลฯ ผู้เขียนคิดว่า เราน่าจะมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันเสียที

ใครคือนักวิ่งเพื่อสุขภาพ
ก่อนการให้คำจำกัดความแก่นักวิ่งเพื่อสุขภาพ ก็ควรพิจารณาว่าการวิ่งเพื่อสุขภาพคืออะไร

ตอบอย่างกำปั้นทุบดิน วิ่งเพื่อสุขภาพคือ การวิ่งที่ทำให้สุขภาพของเราดี ทีนี้คำว่าสุขภาพดีนี่มันกว้าง แค่ไหนจึงจะเรียกว่าดี ถามคน 10 คน อาจได้คำตอบไม่เหมือนกัน ก็เอาสั้นๆง่ายๆ สุขภาพดีคือมีความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งกายและใจ อย่างนี้ก็ยังมีปัญหาอีก สมบูรณ์แค่ไหน แข็งแรงเพียงใด ผู้รู้เขาบอกว่า ผู้มีสุขภาพดี ควรจะมีเรี่ยวแรงพอสำหรับงานประจำวัน และยังมีส่วนเกินเผื่อไว้สำหรับเหตุฉุกเฉิน เช่น ต้องทำงานเกินเวลา วิ่งไล่รถเมล์ ฯลฯ

ผู้มีสุขภาพดีไม่จำเป็นว่าต้องปราศจากโรค บางคนอาจมีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์หรือแม้แต่โรคหัวใจ แต่การออกกำลังกายควรมีผลให้โรคนั้นสงบลง หรืออย่างน้อยก็ไม่กำเริบขึ้น

ในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวใดๆก็ไม่จำเป็นว่าจะเป็นผู้มีสุขภาพดีเสมอไป สุขภาพของเขาอาจจะแย่อย่างมากก็ได้ เพราะขาดการออกกำลังกาย

ฉะนั้น “อโรคยา ปรมา ลาภา” “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” อย่างเดียวอาจไม่พอ ควรจะเติมว่า “มีสุขภาพที่ดี” ด้วย

ทีนี้การจะมีสุขภาพดีได้ ก็ต้องมีการออกกำลังกายด้วย อันนี้เป็นของที่พิสูจน์แน่ชัดแล้วในปัจจุบัน
สมัยก่อน คนเราไม่ต้องออกกำลังกายเป็นพิเศษอย่างทุกวันนี้ก็มีสุขภาพดีได้ เพราะได้ออกกำลังอยู่เสมอแล้วในชีวิตประจำวัน เช่น การทำไร่ ไถนา

ต่อมาความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากเข้า เครื่องทุ่นแรงต่างๆมีมากขึ้น ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานของมนุษย์ก็เปลี่ยนไป

กลายเป็นว่าวันๆ เราออกแรงกันไม่กี่มากน้อย โดยเฉพาะพวกทำงานนั่งโต๊ะ ประเภทขีดๆเขียนๆ
เรื่องของการออกกำลังกายจึงเข้ามามีบทบาท ก่อนที่มนุษยชาติจะกลายเป็นชาติพันธุ์ที่อ่อนแอ อมโรค กันไปเสียหมด

ออกกำลังกายแค่ไหนจึงจะพอ
ด้วยสมองอันล้ำเลิศ บวกกับนิสัยขี้เกียจ อันเป็นตัวกระตุ้นให้คนเราสามารถประดิษฐ์คิดค้นวิทยาการก้าวหน้า จนเกิดเครื่องทุ่นแรงต่างๆขึ้นมา ก็สอนเราให้ตั้งคำถามว่า “ออกกำลังแค่ไหนจึงจะพอ?”
นั่นคือ เราต้องการรู้ว่า ออกกำลังอย่างน้อยที่สุด แค่ไหนจึงจะมีผลดีต่อร่างกาย

บรรพบุรุษของเรา ไม่เคยเสียเวลากับคำถามนี้ เพราะท่านต้องออกแรงจนกว่าจะหาอาหารมาได้พอกิน หรือจนทำงานสำเร็จลุล่วง (ด้วยเครื่องมือสมัยหิน)

นั่นหมายความว่า บางครั้งท่านต้องออกแรงเต็มที่เท่าที่ร่างกายจะทนได้

ก็เอาเถอะ ยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องทรมานตัวเองถึงเพียงนั้น เอากันแค่ออกกำลังอย่างน้อยพอให้มีผลดีต่อร่างกายก็แล้วกัน

คำตอบคือ ถ้าท่านใช้พลังงานในการออกกำลังราว 2,000 แคลอรีต่อสัปดาห์ ท่านจะมีสุขภาพดีได้

แปลออกมาเป็นภาษาเข้าใจง่ายคือการวิ่ง 33 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ (จะเป็นการใช้พลังงาน 2,000 แคลอรี)

ก็มีคนขี้เกียจยิ่งกว่านั้น บอกว่าไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายถึง 2,000 แคลอรีหรอก เพราะในชีวิตประจำวันคนเรามีการเดินบ้าง ขึ้นบันไดบ้าง ทำโน่นทำนี่ ก็หมดไปแล้ว 500 แคลอรีต่อสัปดาห์
เหลือที่จะต้องออกกำลังเสริมจริงๆเพียง 1,500 แคลอรี

เทียบเท่ากับการวิ่ง 25 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ หรือเดือนละ 100 กิโลเมตร

ถ้าคิดว่าวิ่งอาทิตย์ละ 5 วัน ก็ตกวันละ 5 กิโลเมตรหรือราวครึ่งชั่วโมง

ครับ ถ้าวิ่งเพื่อสุขภาพจริงๆก็วิ่งกันเพียงแค่นี้แหละ


ถ้างั้น ทำไมถึงมีการวิ่ง 10 กิโลเมตร , ครึ่งมาราธอน (21.1 กิโลเมตร) หรือเต็มมาราธอน (42.195 กิโลเมตร)...เขาจัดขึ้นเพื่อใครกัน

คำตอบคือเพื่อสนองความคันของใครบางคน

ใครบางคนในที่นี้ได้แก่นักวิ่งที่เคยวิ่งได้ระยะทาง 4-5 กิโลเมตรอยู่ทุกๆวัน จนเกิดความคันตามประสามนุษย์ ที่อยากลองอยากรู้

ว่าตัวเองจะวิ่ง 10 กิโลเมตรไหวไหม
และพอได้ 10 กิโลเมตรแล้วก็อยากรู้ต่อไปอีก 21.1 กิโลเมตร จะไหวหรือเปล่า

พอผ่านการวิ่งครึ่งมาราธอนไปสัก 2-3 ครั้งชักกำเริบเสิบสานฝันถึงการวิ่งเต็มมาราธอน...กิเลสมนุษย์ สิ้นสุดตรงไหน

ที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนหมายถึงนักวิ่งพวกหนึ่งซึ่งมองการวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเป็นกีฬาด้วย
และเช่นเดียวกับกีฬาทั่วไปที่ต้องมีการแข่งขัน นักวิ่งพวกนี้ก็จะมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา...อย่างไม่มีอะไรก็แข่งกับตัวเอง

ขณะที่นักวิ่งเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง จะก้มหน้าก้มตาวิ่งได้ทุกวันด้วยความเร็วเดิมและระยะทางเดิม
นักวิ่งที่มองการวิ่งเป็นกีฬาจะเปลี่ยนแปลงระยะทางและความเร็วไปเรื่อยๆ...เพื่อค้นหาขีดขั้นความสามารถของตัวเอง

ที่กล่าวมานี้ อาจฟังเหมือนว่า ผู้เขียนพยายามแยกนักวิ่งออกเป็น 2 พวก
ความจริง เส้นแบ่งระหว่างนักวิ่ง 2 ประเภทนี้ออกจะบางจนแยกได้ยาก, แม้ในคนๆเดียวกัน

บางครั้งเขาอาจเป็นนักวิ่งผู้ สมถะ ตะบี้ตะบันวิ่งในระยะทางเท่าเดิมความเร็วเดิมไปในแต่ละวัน
แล้วก็อาจกลับกายเป็นผู้แสวงหา เปลี่ยนความเร็วและระยะทาง เมื่อไฟในใจถูกจุดให้ลุกโพลง ด้วยข่าวของการวิ่งแข่งขันที่น่าพิสมัย

ผู้ที่วิ่งเพื่อสุขภาพอย่างเดียวอาจผ่านการแสวงหามาอย่างโชกโชนจนบรรลุถึงธรรมขั้นสูงสุด สำเร็จญาณอันรู้เฉพาะตัวแล้วก็ได้

เอ๊ะ! นี่เราจะพูดถึงการวิ่ง หรือถกปรัชญากันแน่
แต่สำนวนจีนก็บอกว่า “สำเร็จสูงสุด กลับคืนสู่ธรรมดา”

ใครไม่เชื่อว่า คนที่ก้มหน้าก้มตาวิ่งอยู่ เป็นนักสู้ผู้กล้า เอ๊ย! เป็นนักวิ่งผู้บรรลุแล้ว ก็ตามใจ (ผู้เขียนเชื่อน่ะ)

แต่คงไม่มีใครเถียงว่า พวกนี้มิใช่นักวิ่งเพื่อสุขภาพ


กลับมาดู นักวิ่งกลุ่มที่ยังเวียนว่ายในวังวนของการแสวงหา
มีจัดแข่งที่ไหน เฮกันไปที่นั่น
เขาเหล่านี้ เป็นนักวิ่งเพื่อสุขภาพหรือไม่

ในสายตาของคนบางคน ไม่ยอมรับว่าพวกนี้เป็นนักวิ่งเพื่อสุขภาพ
หรือมองเลยเถิดไปถึงว่า วิ่งเพื่อเสียสุขภาพ หรือทำลายสุขภาพ

ทั้งนี้ โดยพิเคราะห์จากอัตราการเจ็บแข้ง เจ็บขา ที่มีสูงในนักวิ่งกลุ่มนี้ หรือบางทีก็เป็นห่วงว่า ในระหว่างการแข่งขัน อาจมีความพยายามเอาชนะกัน จนลืมนึกถึงสภาพร่างกายตนเอง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้

ที่กล่าวมานี้ก็มีส่วนจริง แต่ทุกสิ่งในโลก ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์หรือโทษเพียงอย่างเดียว
เมื่อมองจากอีกด้านหนึ่ง การวิ่งแข่งขันมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการวิ่งเพื่อสุขภาพอย่างชะงัด
ภาพคนจำนวนนับพันนับหมื่นวิ่งเบียดเสียดกันเต็มท้องถนนประทับใจคนดูได้เสมอ

และคนที่มีส่วนร่วมในการวิ่งเอง ก็เกิดความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมอันยิ่งใหญ่

เหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้คนมีมานะฝึกซ้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการวิ่ง

รางวัลที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นถ้วยสวยหรู หรือเงินจำนวนมากเพียงใด ก็คงมีความหมายแก่นักวิ่งระดับแนวหน้าเพียงไม่กี่คน

สำหรับมหาชนแล้ว รางวัลสูงค่ายิ่งที่ชักนำให้เขามาวิ่งก็เพียงเพื่อพิสูจน์ตัวเอง
จริงอยู่ เขาอาจพิสูจน์ได้เสมอในการฝึกซ้อม

แต่ก็ไม่มีความหมายเท่ากับการได้พิสูจน์ในสนามจริง ต่อหน้าสักขีพยานตั้งแต่จุดปล่อยตัว ตามรายทางจนถึงเข้าเส้นชัย

บทเพลงชัยชนะ ดังกังวานในใจนักวิ่งคนแรกจวบจนคนสุดท้าย

มีค่าคุ้มความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า คุ้มการเจ็บแข้งเจ็บขา (ในบางคน) คุ้มเวลาที่ใช้ไปในการฝึกซ้อม คุ้มค่าใช้จ่ายในการสมัครและเดินทางคุ้ม ฯลฯ

นั่นคือความรู้สึกของผู้แสวงหา เขายังต้องอาศัยการแข่งขันเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ขยันฝึกซ้อม เป็นเป้าหมายสำหรับวัดความก้าวหน้า (หรือถอยหลัง) ของการวิ่ง เป็นสถานที่สำหรับพบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมรสนิยมที่นานๆเจอกันที เป็นการเปลี่ยนสถานที่วิ่งแปลกใหม่และ(อาจ)เจริญหูเจริญตา, เป็นโอกาสพาครอบครัวไปทัศนาจร ฯลฯ

รวมความว่า การเข้าร่วมแข่งขันไม่ผิดอะไรกันกับการเดินทางไปแสวงบุญของผู้นับถือลัทธินิกายต่างๆ

ดังนั้นเราจะเปรียบการแข่งขันเป็นการเดินทางแสวงบุญของผู้นิยมลัทธิวิ่งก็ย่อมได้


ถึงตรงนี้ อาจมีผู้สงสัยว่า ผู้เขียนชักเลอะเลือนเปื้อน
เปรียบการวิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นลัทธินิกายไปโน่น
ก็ต้องขอออกตัวว่า มิได้คิดจะตั้งลัทธิใหม่ขึ้นแต่อย่างใด

แม้จะมีผู้เอ่ยถึงการวิ่งไปในทำนองนั้น แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า การวิ่งถึงจะก่อให้เกิดผลตามมาอย่างมากมายทั้งทางกายและจิต แต่ก็สามารถอธิบายได้โดยหลักธรรมในพุทธศาสนาอันเป็นที่รู้กันทั่ว ฉะนั้นการวิ่งโดยตัวของมันเอง มิได้ก่อให้เกิดหลักปรัชญาใหม่ขึ้นมา

เพียงแต่ว่า การวิ่งเป็นมรรคาอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าได้
ดังนั้น การเรียก “ลัทธิวิ่ง” จึงเป็นการเรียกเพื่อให้โก้อย่างหนึ่ง และเพื่อกะทัดรัดต่อความเข้าใจ (ดังที่ได้อธิบายมา) อีกอย่างหนึ่ง

ใครอย่ามาตู่ ถือเป็นเรื่องจริงจัง
หรือจะมาตั้งให้เป็นเจ้าลัทธิก็ไม่ยอม
ว่าจะเขียนเรื่องใครคือนักวิ่งเพื่อสุขภาพ ไหงมาลงด้วยลัทธิศาสนา
ยิ่งเป็นคนกิเลสหนา และไกลวัดอยู่ด้วย

จึงขอจบ (เอาดื้อๆ) แต่เพียงนี้ ฝากให้ผู้อ่านไปคิดเป็นการบ้านเอาเองแล้วกัน ว่าใครคือนักวิ่งเพื่อสุขภาพ

ไม่มีเฉลยคำตอบครับ

ข้อมูลสื่อ

104-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
อื่น ๆ
นพ.กฤษฎา บานชื่น