น้ำกัดเท้า เชื้อรา ฮ่องกงฟุต (ตอนที่ 1 )
ปกติคนที่มีอาการต่าง ๆ ที่เท้า เช่น คัน เท้าเป็นผื่นเป็นขุยหนังแห้งตกสะเก็ด หรืออะไรต่าง ๆ ก็ตาม มักจะคิดว่าเป็น เพราะถูกน้ำกัดเท้าหรือเป็นเชื้อรา ซึ่งก็มีส่วนถูกอยู่มากเหมือนกัน คนที่มีอาการเล่านี้ส่วนมากมักจะไปตามร้านขายยา ขอซื้อยาฆ่าเชื้อรามาทา ถ้าโชคดี โรคที่เป็นเกิดจากเชื้อราจริง อาการก็จะดีขึ้น จนดูเหมือนว่าโรคหายดี แต่อีกไม่นานก็เกิดขึ้นใหม่ ที่เป็นแบบนี้ เพราะใช้ยาไม่ครบตามระยะเวลา ที่ควรจะใช้ เชื้อราจึงไม่หมดไปจริง ๆ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะได้รับเชื้อราตัวใหม่อีกก็ได้
พวกที่คิดว่าเท้าตัวเองเป็นเชื้อรา แล้วซื้อยาแก้เชื้อรามาทา แต่อาการไม่ดีขึ้น อาจเป็นเพราะใช้ยาไม่ถูกชนิด หรือเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคเชื้อรา
โรคที่เท้า ฝาเท้า รวมทั้งที่เล็บเท้า มีอยู่หลายชนิด อย่ามัวแต่คิดว่า พอมีแผลผืนคันที่เท้าก็เป็นเชื้อราเสมอไป อาจจะเป็นโรคอื่นก็ได้ ลงมาดูลักษณะของโรคที่เท้ากันหน่อยเถอะ
รูปที่ 1
เป็นแผลที่ง่ามนิ้วเท้า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แผล ใส ๆ อยู่บนฝ่าเท้า และมีเม็ดหนอง เนื่องจากมีเชื้อแบคทีเรียเข้าผสมโรง พวกนี้หากใช้ยาฆ่าเชื้อราเช่น ขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อนขององค์การเภสัชกรรม (หลอดละ 1.50 บาท) ทาก็จะหายได้แต่จะต้องรักษาความสะอาดของเท้า, ถุงเท้า, รองเท้าด้วย ควรทายาเป็นเวลานาน 3-4 อาทิตย์อย่านึกว่าทาเพียง 2-3 วัน โรคจะหาย
รูปที่ 2
คนไข้เป็นโรคเชื้อราจะเห็นลักษณะหนังแห้ง มีสะเก็ดบาง ๆ เป็นขุย ดึงลอกได้ มีเม็ดน้ำจะอักเสบมีน้ำเหลืองไหล มีอาการคัน และมีกลิ่นเหม็น เกิดจากมีการหมักหมมของน้ำเหลืองที่ง่ามนิ้ว ผิวหนังเกิดเปื่อยและเชื้อแบคทีเรียลงซ้ำ
วิธีรักษาให้ชะแผลด้วยยาใส่แผลสด ทาด้วยยาฆ่าเชื้อเช่น ขี้ผึ้งฟูราโซนขององค์การเภสัชกรรม และกินยาปฏิชีวนะ
รูปที่ 3
เท้าแห้งแตก หนังบางใส เป็นสะเก็ด เกิดจากแพ้รองเท้าที่ใส่ วัตถุที่ใช้ทำรองเท้ามีสารเคมีผสมอยู่ เมื่อสวมรองเท้าเหงื่อออก สารเคมีจะละลายออกมาผสมกับเหงื่อ แม้เพียงจำนวนเล็กน้อย ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
วิธีการรักษา ต้องเลิกใช้รองเท้าคู่ที่แพ้ และใช้รองเท้าชนิดอื่นที่ทำจากวัตถุที่ไม่มีสารที่แพ้ผสมอยู่เช่น บางทีอาจจะต้องเปลี่ยนจากการใช้รองเท้าหนังมาใช้รองเท้าผ้าใบ เป็นต้น
รูปที่ 4
เป็นโรคเชื้อราเหมือนกัน ลักษณะเป็นขุยแห้งที่ง่ามเท้ามักเป็นในคนที่ต้องย่ำน้ำ เท้าต้องเปียกแฉะอยู่บ่อย ๆ เรามักเรียกว่า “ฮ่องกงฟูต” หรือครั้งหนึ่งคนกรุงเทพฯนิยมเรียกว่า “ธรรมนูญฟูต” เพราะต้องย่ำน้ำที่ท่วมกรุงเทพฯ ในสมัยที่ คุณธรรมนูญเทียนเงิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
วิธีรักษาก็ใช้ยาฆ่าเชื้อราทาแบบเดียวกับรูปที่ 1 หรือจะใช้ยาชนิดผงก็ได้ หากแผลเปียกควรจะชะล้างแผลด้วยน้ำยาล้างแผลก่อนทายา
- อ่าน 44,894 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้