• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลมชัก หรือ ลมบ้าหมู

ลมชัก หรือ ลมบ้าหมู


ในจำนวนประชากรไทย 200 คน จะต้องมีคนที่เคยชักหรือจะต้องชัก เรียกว่า เป็นลมบ้าหมู อย่างน้อย 1 คน คนที่หมอบอกว่าเป็นลมบ้าหมูหรือลมชัก มักมีความวิตกกังวล และกลัวไปสารพัด จนเกิดปัญหาอย่างอื่นตามมามากมาย กลัวว่าเรียนไม่ได้บ้าง เล่นกีฬาไม่ได้บ้าง แต่งงานไม่ได้บ้าง ฯลฯ เท็จจริงเป็นอย่างไรกัน ?

 

⇒ ลมชัก ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการ
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ลมชักเป็นโรคที่จริงไม่ใช่ แต่เป็นอาการที่พบได้ในโรคหรือความผิดปกติในการทำงานของสมองที่เกิดขึ้น เป็นพัก ๆ เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว มักจะเกิดทันทีและหยุดเอง แล้วเกิดช้ำอีก

 

⇒ ผู้ใหญ่ เด็ก หญิงหรือชาย ใครเป็นมากกว่ากัน

โดยมากก็มีสิทธิ์เป็นกันได้อายุ ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ แต่ประเภทที่เป็นชั่วคราวหรือเรื้อรัง มักจะพบในเด็ก อายุตั้งแต่ 3 ขวบจนถึงเด็กโต

 

⇒คนที่เป็นบ้าหมู จำเป็นต้องชักทุกคนไหม?
ไม่จำเป็นต้องชักทุกคน คนที่เป็นลมบ้าหมูบางคนไม่ชัก แต่มีอาการอย่างอื่นให้เห็นแทน เช่นอาการผิดปกติเหมือนคนละเมอตาค้าง ปากเปี้ยว ยืนกะพริบตาหรือกำลังทำอะไรอยู่ก็จะหยุดทันทีทันใด เช่น หยุดพูด โดยไม่รู้สติเพียงชั่วเวลาไม่กี่นาทีก็มี

 

⇒คนที่เป็นลมบ้าหมู ก่อนชักจะรู้ตัวหรือไม่
ส่วนมากมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะชัก ยกเว้นบางคนอาจมีความรู้สึกบางอย่าง เช่น รู้สึกแปลก ๆ เห็นภาพแปลก ๆ หรือชาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายก่อนอาจเริ่มชาจากปลายมือ ปลายเท้าหรือมีอาการกระตุกที่นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือมุมปาก แล้วจึงเป็นลมหมดสติหรือล้มพับลงไป กล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัว หายใจลำบาก หน้าเขียว

 

⇒ลมชักหรือลมบ้าหมู มีสาเหตุมาจากอะไร
สาเหตุของลมชักหรือลมบ้าหมูมีมากมายทีเดียว ที่สำคัญและควรระวังคือ เด็กที่กำลังเกิดใหม่ (กำลังคลอด) ถ้าสมองขาดออกซิเจน หรือการคลอดไม่เป็นไปด้วยดี เช่น สมองเด็กได้รับการกระทบกระเทือน อาจมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะหรือคลอดใหม่ ๆ เด็กเป็นโรคติดเชื้อ หรือน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าปกติ
สำหรับเด็กที่อายุ 2-3 ขวบอาจมีสาเหตุการชักจากการมีไข้สูง
สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดลมบ้าหมูได้ในบ้านเรา ก็คือพยาธิ์อ่อนของตัวตืดหมูเข้าในสมองซึ่งมักจะพบในผู้ใหญ่
นอกจากนี้ เนื้องอก ฝีหรือ ก้อนเลือดในสมองก็เป็นสาเหตุให้เป็นลมบ้าหมูได้เหมือนกัน คนใดที่เพิ่งมีอาการชักเป็นครั้งแรกหลังอายุ 25 ปีไปแล้ว แพทย์จะต้องนึกถึงสาเหตุ 3-4 อย่างหลังที่กล่าว

 

⇒คนที่เป็นลมบ้าหมู จะป้องกันไม่ให้ชักหรือชักน้อยลงได้อย่างไร
ทำได้โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมากระตุ้นให้ชักได้ เช่น อย่าอดนอน อย่าอดข้าว อย่าให้เหนื่อยเกินไป อย่าเครียดเกินไป อย่าหายใจเข้าออกเร็ว ๆ อย่าดื่มเหล้าเบียร์ อย่ากินยากระตุ้นประสาทเป็นต้น
บางคนแค่ได้รับแสงจ้า วับ ๆ แวม ๆ เช่น แสงจากโทรทัศน์ที่ปรับไม่ดีหรือแสงจากไฟฉายเข้าตา ก็ชักเสียแล้ว ควรหลีกเลี่ยงเสีย บางรายแค่ได้ยินเสียงระฆัง เสียงเพลงบางประเภทก็มีอาการชักแต่พบได้น้อย

 

⇒ถ้าพบคนที่กำลังจะชัก ควรทำอย่างไรบ้าง
คนที่กำลังจะชักเพราะลมบ้าหมู ควรให้เขาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยที่สุด ถ้ากำลังขับรถก็ควรให้หยุด ถ้ายืนก็ควรนอนลง อาจช่วยได้บ้างด้วยการบีบแข้ง บีบขา แต่จะห้ามไม่ให้ชักนั้นไม่ได้
การกินยาในทันที ไม่ช่วยอะไรเลย เพราะถ้าชักแล้ว การชักนั้นเกิดขึ้นเร็วมาก
ถ้าเด็กชัก ต้องช่วยให้หยุดชักโดยเร็วที่สุด ถ้าเด็กเป็นไข้สูงแล้วชัก ต้องลดไข้ก่อน
ในขณะชัก สมองต้องการออกซิเจนมา จึงต้องคอยดูว่าลิ้นจุกคอ (ลิ้นอุดหลอดลม) หรือไม่เพราะอาจทำให้ไม่มีอากาศเข้าไปในปอด สมองอาจรับออกซิเจนไม่เพียงพอ

สิ่งสำคัญคือ อย่าเอามือใส่เข้าไปในปากคนที่กำลังชัก คนไข้อาจจะกัดนิ้วขาดได้ ทางที่ดีควรใช้ไม้กดลิ้นหรือด้ามช้อนที่ไม่ใช้ผ้าก๊อซหุ้ม หรือผ้าเช็ดหน้าสอดไว้ระหว่างฟันล่างและฟันบน เพื่อไม่ให้คนไข้กัดลิ้นและริมผีปาก ถ้าปกคอเสื้อรัดคอมาก ต้องปลดกระดุมออก อย่าตกใจ เพราะโดยทั่วไปแล้ว จะหยุดชักเองได้หลังจากชักสักครู่ยกเว้นในบางคนที่ชักซ้ำกันโดยไม่ฟื้นต้องรีบพาไปหาแพทย์
ถ้ารู้ว่าคนไข้คนนี้ไม่เคยชักมาก่อนเลย ควรจะส่งโรงพยาบาลเพื่อให้หมอตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาเสียก่อน แต่ถ้าเป็นลมบ้าหมูอยู่แล้วเกิดชัก เพราะลืมกินยา หรือกินยาไม่ครบ ควรให้กินยาอีกตามที่แพทย์สั่ง บางรายอาจต้องเพิ่มขนาด ถ้ายังมีอาการชักอยู่อีกหลังกินยาแล้วและกินเช่นนี้สัก 2-3 วัน

 

⇒ ว่ากันว่า ลมบ้าหมูเป็นแล้วติดถึงลูกถึงหลาน หรือบางคนบอกว่าเป็นแล้วห้ามแต่งงาน ห้ามเล่นกีฬาและไม่ควรเรียนหนังสือด้วย เท็จจริงเป็นอย่างไร
ลมบ้าหมูบางชนิดนั้นอาจติดถึงลูกถึงหลานได้ก็จริง แต่จะเป็นกับลูกกับหลานได้ก็จริง แต่จะเป็นกับลูกกับหลานเพียงบางคนและน้อยคนเท่านั้น ไม่เป็นหมดทุกคน ไม่จำเป็นเลยที่ว่า ถ้าพ่อแม่เป็นลมบ้าหมูแล้วลูกก็จะพลอยฟ้าพลอยฝนเป็นไปด้วยทุกคนเสมอไป
และสำหรับเรื่อง การเล่นกีฬา เรียนหนังสือ หรือแต่งงานไม่ได้นั้น เป็นความเข้าใจผิดที่มีมานานแล้ว ทำให้คนเป็นลมบ้าหมู รู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ กังวลใจและเป็นทุกข์
ขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่า คนที่เป็นลมบ้าหมูนั้น สามารถเล่นกีฬาได้ เรียนหนังสือได้ตามปกติ และแต่งงานก็ได้

 

⇒ เป็นลมบ้าหมูแล้วจะมีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นอีกหรือไม่
อันนี้เห็นจะไม่มี แต่ควรระวังอันตรายที่อาจจะได้รับ เช่น ขณะที่ชัก กำลังอยู่ในที่สูง ๆ อยู่ใกล้ไฟ ใกล้ของร้อน อาจพลัดตกหล่นไปได้ ขอแนะนำว่า ผู้ที่เป็นลมชักลมบ้าหมู จะต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันเกี่ยวกับตัวเองเป็นสำคัญ อย่าปีนต้นไม้ อย่าว่ายน้ำ หรือให้ระวังการข้ามทางม้าลาย การข้ามถนน และถ้าเป็นไปได้ไม่ควรประกอบอาชีพ ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ เช่น ขับรถโดยสาร ซึ่งในบางประเทศเขาจะไม่อนุญาตให้มีใบขับขี่

 

⇒สมัยนี้ว่ากันว่า ใครเป็นลมบ้าหมูต้องไปเช็คสมองด้วยคอมพิวเตอร์จริงหรือ
เรื่องนี้ไม่จริงเสมอไป จะตรวจด้วยคอมพิวเตอร์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แพทย์สงสัย เช่น ถ้าสงสัยว่า มีก้อนเนื้องอกในสมอง ก็ต้องตรวจดู เป็นต้น

 

⇒ จำเป็นต้องไปพบแพทย์ทุกปีไหม
คนที่เป็นลมบ้าหมู หรือลมชักนั้น ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ทุกปี แต่ครั้งแรกควรพบ เพราะจะได้รู้ว่า จะกินยาติดต่อกันอย่างไร ถ้าอยู่ไกลโรงพยาบาล ก็จะได้แนะนำให้กินยา เป็นระยะเวลานาน ถ้าไม่ลำบากมาก อาจไปหาทุก 6 เดือน หรือทุกปี ก็ได้
บางคนมีเนื้องอกในสมอง ทำให้ชักอยู่บ่อย ๆ พอไปโรงพยาบาล หมอผ่าเอาเนื้องอกออกก็ไม่ชักอีกเลย

 

⇒ หมอมีหลักการให้ยากันชักแก่คนไข้ที่เป็นลมบ้าหมูอย่างไร

ถ้าคนไข้ชักแล้วมีแขนขาเกร็ง และกระตุกด้วย ก็มียารักษาให้เลือกหลายอย่าง แต่ยาชนิดที่ได้ผลดีคือ บาร์บิทูเรท (หรือ ฟีโนบาร์บิทาล) ยานี้ออกฤทธิ์นาน มี 2 ขนาด โดยในยา 1 เม็ดจะมีตัวยา 30 หรือ 60 มิลลิกรัม ราคาก็ถูกมาก เม็ดละ 10 สตางค์ และได้ผลดีด้วย กิน 1 เม็ดวันละ 1- 2 ครั้ง

แต่มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่กินยานี้คือ เมื่อกินแล้วจะเกิดอาการง่วงซึมในระยะหนึ่งถึงสองสัปดาห์แรกของการใช้ หลังจากนั้นมักจะหายไป เด็กบางคนกินแล้วมีอาการตรงกันข้ามคือมีอาการตื่นเต้น อยู่ไม่สุข ผิดปกติได้ ถ้าขนาดของยามากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการเดินเซ พูดไม่ชัด หรือบางคนกินแล้ว มีผื่นขึ้นด้วย

ยาอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี คือ ไดเฟนิลไฮแดนโทอิน หรือที่เรียกกันว่า ไดแลนทิน เป็นแค็ปซูล ผู้ใหญ่ใช้ขนาดแค็ปซูลละ100 มิลลิกรัม วันละ 2-4 แค็ปซูล ยานี้ ราคาแพงกว่า ฟีโนบาร์บิทาล คือ ราคาแค็ปซูลละ 60 สตางค์ มีฤทธิ์ผลข้างเคียงและอาการจากพิษยาหลายอย่าง แต่พบได้ไม่บ่อย

 

 

อาการที่พบในคนที่เป็นโรคลมชัก

 

 

 

 

1. คนไข้จะมีอาการเตือนก่อนชัก คือ ปวดศีรษะ หงุดหงิด ชา ตากระตุก แขนกระตุก แน่นท้อง ได้กลิ่นหรือรสแปลก ๆ หรือมองเห็นภาพหลอน

 

 

 

 

 

 

 

 

 


2. หลังจากนั้นจะเป็นลมล้มพับกับพื้น ขากรรไกรแข็ง กัดลิ้น

 


3. แล้วมีอาการชักกระตุกทั้งตัว น้ำลายฟูมปาก กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่

 

                            หลักในการรักษาอาการลมชักด้วยยาที่น่าสนใจ

1. แพทย์จะรักษาอาการลมชัก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดจำนวนครั้งที่จะชัก (ชักบ่อย) ให้น้อยลงและลดความรุนแรงของการชักลงมีผู้ป่วยจำนวนมากทีเดียวที่แพทย์สามารถรักษาอาการลมชักให้หายได้เด็ดขาด แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนเสมอไป

2 . ถ้ามีประวัติหรือเคยชักเพียงครั้งเดียว อย่างนี้ต้องให้แพทย์ตรวจ อาจจะไม่ต้องใช้ยาในการรักษาเลยก็ได้ นอกจากจะมีอาการเกิดขึ้นซ้ำอีกในเวลาไม่ห่างจากครั้งแรก เพราะมีหลายคนที่ชักเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ชักอีกเลยตลอดชีวิต

3. เวลาไปหาแพทย์ แพทย์จะไม่ให้ยาทันที แต่จะต้องหาวิธีการรักษาสาเหตุอื่น ๆ ก่อนที่จะใช้ยา ดังนั้นอย่าหวังว่าจะได้ยากันชักจากแพทย์แน่ ๆ เสมอไป

4. เมื่อแพทย์ ตัดสินใจว่าควรให้ใช้ยาแล้ว ผู้ที่เคยมีอาการชักแล้วไม่มีอาการชักอีกเลยแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยานั้นติดต่อกันไปอีกอย่างน้อย 3 ปี และมักจะค่อย ๆ ลดขนาดยาลง จนในที่สุดบางรายหยุดกินยาได้

5. แพทย์จะพยายามใช้ยาตัวเดียวและขนาดต่ำสุด เพื่อไม่ให้ยาตีกันเอง ยามีปฏิกิริยาแย้งกันถ้าใช้หลายพวก) เพื่อลดฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ของยา (ยาย่อมมีพิษด้วยเสมอ ใช้ยามาก พิษก็มากขึ้นด้วย ถ้าใช้ไม่ถูก)

6. ถ้าแพทย์เห็นว่าควรเปลี่ยนยา แพทย์จะเปลี่ยนยาอย่างช้า ๆ และค่อยๆ ทำ จะไม่หยุดยาชนิดใดชนิดหนึ่งทันที เพราะการทำเช่นนั้น อาจทำให้คนที่กำลังกินยาเกิดอาการลมชักติดต่อกันไม่หยุดได้ และเมื่อแพทย์เห็นว่าควรจะเลิกใช้ยาแล้ว เพราะได้ผลดีมาก ก็จะไม่หยุดยางลงอย่างปุ๊บปั๊บแต่จะทำอย่างช้า ๆ (ลดทีละน้อย)

7. ที่สำคัญคือ แพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตัวหรือหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดอาการชัก และโอกาสที่จะได้รับอันตรายเมื่อเกิดอาการชักขึ้นมา
ซึ่งข้อนี้สำคัญพอ ๆ กับให้ยารักษาทีเดียว

 

 

ข้อมูลสื่อ

21-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 21
มกราคม 2524
โรคน่ารู้
ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ