• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดแผลไฟไหม้

บาดแผลไฟไหม้

เราคงประสบกับผิวหนังถูกความร้อนจนไหม้พองกับตัวเองมาแล้ว ถ้าพอทนได้ ปล่อยทิ้งไว้ มันก็หายไปเอง ถ้าเป็นมากกินบริเวณกว้างประกอบไฟที่ร้อนจัด หรือความร้อนนั้นถูกกับผิวหนังอยู่นานจนเป็นแผลลึกปล่อยไว้ไม่ได้ มักไม่หายเอง อาจมีโรคแทรกซ้อน ซึ่งทำให้ทุพลภาพ หรือมากจนกระทั่งเสียชีวิตได้

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับผิวหนัง

ผิวหนังของคนเรา โดยทั่วๆ ไป จะหนาประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและธรรมชาติของเจ้าของผิวหนังนั้นด้วย เช่น บริเวณหน้าจะบาง บริเวณฝ่าเท้าจะหนา ดังนี้เป็นต้น

ถ้าเอาผิวหนังมาขยายให้ใหญ่ (รูปที่ 1) จะพบว่า ผิวหนังประกอบด้วยส่วนต่างๆ หลายชนิด แบ่งเป็นหนังกำพร้า และ หนังแท้

หนังกำพร้าเอง ยังแบ่งออกเป็นหลายชั้น ความสำคัญอยูที่ชั้นล่างสุด ชั้นนี้จะมีเซลล์ผิวหนังที่เกิดมาใหม่อยู่เรื่อยๆ ดันเซลล์ผิวหนังที่เกิดมาแล้วให้ขึ้นมาเป็นชั้นบนๆ เซลล์ที่เกิดใหม่ ลักษณะกลม เมื่อมีอายุมากเข้าก็จะถูกเบียดขึ้นบนให้แบนลง และในที่สุดก็ตาย กลายเป็นแผ่นบางๆ ใสๆ อยู่ชั้นนอกสุด คนที่อาบน้ำทุกวัน ก็จะลอกหลุดออกมาเป็นขี้ไคล คนที่ไม่อาบน้ำก็จะล่อนออกมาเองเป็นแผ่นๆ หรือ ขุยๆ

หนังแท้อยู่ถัดจากหนังกำพร้าลงมา ชั้นนี้หนากว่าหนังกำพร้ามาก มีทั้งขุมขน ต่อมเหงื่อ และต่อมน้ำมันอยู่ มีหลอดเลือด และปลายประสาทที่รับความรู้สึก ทั้งหมดนี้ถูกยึดไว้ด้วยพังผืดที่เหนียว ชั้นนี้จึงแข็งแรง และไม่ถลอกหรือฉีกขาดง่ายเหมือนหนังกำพร้า

ผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ ความร้อนจะถูกกับหนังกำพร้ามากที่สุด ยิ่งลึกลงไป ความร้อนก็ลดน้อยลง ในคนที่หนังแท้ไฟไหม้ ความร้อนจึงต้องสูง หรือไม่ก็ถูกความร้อนอยู่นาน

ความร้อนที่ทำให้หนังกำพร้าเท่านั้นที่ตาย ถือว่าเป็นบาดแผลไฟไหม้ชนิดต่ำ หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า ดีกรีที่ 1 โดยมากจะทำให้เกิดตุ่มพอง มีน้ำใสขังอยู่ภายใน เกิดจากการแยกของหนังกำพร้าออกจากหนังแท้ ตุ่มอาจแตกออกเอง หรือถูกกระทบกระแทก เมื่อตุ่มแตกน้ำใสภายจะไหลออกมา ถ้ารักษาความสะอาดดี ไม่ให้อักเสบเป็นหนองแผลจะหายไปเอง เซลล์ชั้นล่างสุด จะค่อยๆ สร้างเซลล์ขึ้นมาแทนหนังที่พองและหลุดไป เวลาหายจะสนิทไม่เหลือร่องรอย

ความร้อนที่ถูกกับผิวหนังนานจะทำให้ผิวหนังที่ลึก กว่าหนังกำพร้าตาย หนังแท้ส่วนตื้นๆ อาจตาย แต่ไม่ตายตลอด เรียกไฟไหม้ชนิดนี้ว่า ดีกรีที่ 2 และถ้าความร้อนมากจนทำให้หนังแท้ตายหมด ก็เรียกว่าเป็นดีกรี 3

ความสำคัญของแผลไฟไหม้ อยู่ที่ดีกรีที่ 2 และที่ 3 เพราะจะทำให้เกิด ความเจ็บปวดมากมีโรคแทรกได้เยอะ ตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั้งแผลหาย ถ้าเป็นบริเวณกว้าง คือ เกินครึ่งหนึ่งของผิวหนังของร่างกาย มีโอกาสรักษาให้รอดได้น้อย

  • การปฐมพยาบาลและการรักษาแผลไฟไหม้ดีกรีที่ 1

ในกรณีที่มีผิวหนังแคบ หรือเป็นสีคล้ำ จะมีอาการบวมแสบ ปวดร้อนเป็นสำคัญ วิธีลดความปวดแสบปวดร้อนดีที่สุด คือ ใช้ความเย็น อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือชุบน้ำแช่น้ำแข็งประคบ หรือใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งผสมน้ำวางตรงบริเวณที่ถูกไฟไหม้ เพราะจะลดความเจ็บปวด และทำให้เนื้อถูกทำลายโดยความร้อนน้อยลง ที่เคยนิยมทำกันมาก่อน เช่น ทายาหม่อง ราดด้วยน้ำปลา หรือทาด้วยยาสีฟัน เป็นต้น ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้เกิดโทษมากกว่าคุณ

ตุ่มพอง ผิวหนังพองจากความร้อน เจาะออกดีไหม ถ้ามีตุ่มพองเล็กน้อยอันสองอัน เกิดที่ฝ่ามือหรือด้านฝ่ามือของนิ้วและตุ่มไม่โตนักไม่ควรเจาะออก โดยปกติจะหายไปเองภายใน 3-7 วัน โดยจะแห้งและหลุดล่อนไปเอง

ถ้าเกิดที่แขน ขา หลังมือ หลังเท้า โอกาสจะแตก จากการกระทบกระแทกมีมาก เจาะเอาออกดีกว่าเพราะเวลาเจาะ เรารักษาความสะอาดได้ ถ้าปล่อยให้แตกเองมักสกปรกมีอาการอักเสบจากการติดเชื้อ กลายเป็นแผลเรื้อรังได้บ่อย

การเจาะต้องล้างทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่ กรรไกรหรือมีดที่เจาะต้องทำให้ปราศจากเชื้อ เมื่อเจาะแล้ว ใช้ผ้ากล๊อสที่ปราศจากเชื้อแล้วกดเพื่อให้ซับน้ำเหลืองในตุ่มพองออกให้หมด ใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาแสด หรือทิงเจอร์ เมอร์ไธโอเลต ทา แล้วพันด้วยพายืด (Elastic bandage) ให้ผิวที่พองกดแนบสนิท เป็นการปิดแผลด้วยหนังของตัวเอง ภายใน 2-3 วัน หนังที่พองนี้จะล่อนหลุด และมีหนังใหม่เกิดมาแทน

ถ้าตุ่ม พองเป็นบริเวณกว้าง ต้องตัดเอาหนังที่พองทิ้งให้หมด เพราะถ้าไม่เอาออกเชื้อโรคจะแอบแทรกอยู่ระหว่างชั้นหนัง พองกลายเป็นโรคติดเชื้อ อักเสบทำให้แผลกลายจากดีกรีที่ 1 เป็นที่ 2 หรือที่ 3 ได้

เมื่อเอาหนังพองออกแล้ว ควรล้างด้วยน้ำเกลือนอร์มัล ให้สะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อชนิดครีม หรือน้ำมัน เช่น แบ๊คทราซีน ออยท์เม้นท์ ซิลเวอร์ ซัลฟาครีม และอื่นๆ อาจใช้สเปรย์ ปรีเด๊กซ์ (Predex spray) พ่นก็ได้ ถ้าเป็นบริเวณ แขน ขา ควรพันผ้า กันความสกปรก ถ้าเป็นที่หน้าหรือลำตัว พันผ้ายาก หรือสิ้นเปลืองมาก อาจไม่พันก็ได้ เมื่อทายา หรือพ่นปรีเด๊กซ์แล้ว ก็ทิ้งไว้เช่นนั้น

  • แผลไฟไหม้ดีกรีที่ 2

ความสำคัญของแผลชนิดนี้ อยู่ที่ความเจ็บปวด ซึ่งมีมาก และถ้าปฐมพยาบาล หรือรักษาไม่ดี มักจะเกิดโรคติดเชื้อ และทำให้เป็นแผลดีกรีที่ 3 ได้

ถ้าเกิดขึ้นเป็นบริเวณแคบ ใช้วิธีคะเนง่ายๆ โดยใช้ความกว้างของฝ่ามือเป็นเกณฑ์ เช่น ถ้า 2-3 ฝ่ามือ และเกิดตามตัว หรือแขนขาใช้การปฐมพยาบาล และรักษาอย่างเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในดีกรีที่ 1

ถ้าเกิดเป็นบริเวณกว้าง เช่น ประมาณ 10-15 ฝ่ามือ หรือเกิดบริเวณหน้า มักมีอันตรายจากการเสีย น้ำ โปรตีน และเกลือแร่ออกจากร่างกายตามแผลไฟไหม้ ในระยะแรกทำให้ช็อค ในระยะต่อมา แผลบริเวณกว้างมักติดเชื้อเกิดอักเสบเป็นหนอง แผลชนิดนี้ต้องส่งโรงพยาบาลทุกราย ขณะที่คอยจะส่งโรงพยาบาล เราช่วยได้โดย

1. เปลื้องเสื้อผ้าออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้ ถ้าถอดออกลำบาก ควรตัดออกเป็นชิ้นๆ ไปเลย ถ้าเสื้อผ้าติดกับแผลไฟไหม้ดึงออกยาก ไม่ต้องดึงออก เพราะจะเจ็บมาก ควรใช้ผ้าสะอาดคลุม

2. ให้นอนเอนยกเท้าขึ้นสูงเล็กน้อย (รูปที่ 2)

3. ถ้ามีกำไล หรือแหวนให้ถอดออกเสียก่อน เพราะถ้าปล่อยเอาไว้นิ้วหรือข้อมือบวมจะถอดไม่ออก

4. ถ้าผู้ป่วยกระหายน้ำ ให้กินน้ำได้ควรให้แต่น้อย ไม่ควรให้น้ำอัดลมเพราะท้องจะอืด และอาเจียน ควรใส่เกลือลงในน้ำเล็กน้อย (ครึ่งช้อนโต๊ะในน้ำ 1 ขวดแม่โขง) หรืออาจใช้น้ำผลไม้ เช่น น้ำผลส้มคั้นผสมน้ำตาล และเกลือ ก็ได้

5. ควรใช้ผ้าสะอาดบางๆ คลุม ไม่ควรใช้ผ้าห่มคลุมลงไปบนตัวผู้ป่วยโดยตรง เพราะผ้าห่มเป็นแหล่งของเชื้อที่ทำให้เกิดหนอง ถ้าจำเป็น เช่น ในหน้าหนาว หรือ อากาศเย็น อาจใช้ผ้าห่ม คลุม ทับผ้าสะอาดอีกหนึ่งก็ได้

6. ให้ยาระงับความเจ็บปวด ถ้าเป็นมาก ไม่มีอะไรดีเท่า มอร์ฟีนฉีด 10 มิลลิกรัม ในผู้ใหญ่ (หรือ 0.15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 10 มิลลิกรัม) ถ้าไม่มีอาจให้ พาราเซตามอล 1 เม็ดร่วมกับไดอาซีแพม 5 มิลลิกรัม ก็ได้


 

  • แผลไฟไหม้ดีกรีที่ 3

ดังได้กล่าวแล้วว่า หนังแท้ถูกทำลายหมด ดังนั้น แผลชนิดนี้จะไม่หายเองได้ ต้องรับการดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องเอาหนังบริเวณอื่นมาปะให้เมื่อแผลดีแล้ว ถ้าปล่อยให้หายเอง จะเกิดแผลเป็นเหนี่ยวยึดให้อวัยวะติดกัน และเคลื่อนไหวไม่ได้

การปฐมพยาบาลและการรักษา

ทำได้อย่างเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ในดีกรีที่ 1 และ 2 แผลไฟไหม้ดีกรีที่ 3 นี้ ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ถ้าเป็นมาก หมายถึง บริเวณที่ถูกไฟไหม้ ถ้าเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นผิวร่างกายในเด็กหรือ 15 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวร่างกายผู้ใหญ่ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการช็อค จากการเสียน้ำและเกลือแร่ รวมทั้งโปรตีนของร่างกายออกไปได้มาก การคิดเปอร์เซ็นต์ของแผลไฟไหม้ คะเนคร่าวๆ จากความกว้างของฝ่ามือของผู้ป่วยก็ได้ 1 ฝ่ามือ เท่ากับ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่มีวิธีที่แน่นอนกว่า โดยดูจากภาพ (รูปที่ 3 ) ตัวเลขแสดงเปอร์เซ็นต์ของบริเวณที่ถูกไฟไหม้การคิดเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนอาจคำนวณได้จากภาพนี้


 

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับแผลไฟไหม้

1. แผลไฟไหม้ ตอนเกิดใหม่ๆ อาจบอกดีกรีได้ยาก เพราะมองดูมักไม่หนักหนาอะไร ต่อเมื่อ2-3 วันผ่านไป จึงพอบอกได้ชัดเจน โดยมากตอนแรกๆ มักจะปรากฏว่า เป็นน้อยกว่าความจริงดังนั้น ผู้ป่วยไฟไหม้ทุกราย ต้องป้องกันและรักษาอาการช็อคไว้ก่อนเสมอต่อมา ก็คือ ป้องกันและรักษาโรคติดติดเชื้อจากแผลไฟไหม้

2. ผู้ป่วยที่ตกอยู่ใกล้เปลวเพลิง แม้ตัวจะไม่ถูกไฟไหม้โดยตรง แต่อาจสูดเอาอากาศร้อนเข้าปอด เวลาหายใจได้ พวกนี้อาจมีอันตรายต่อทางหายใจ อาจมีหลอดลมบวม และปอดอักเสบ ต้องระวังเรื่องทางเดินหายใจให้ดี เพราะอาจบวมจนหายใจไม่ออกหรือหายใจลำบาก ตอนแรกอาจไม่เป็นอะไร อย่านิ่งนอนใจ รีบส่งแพทย์ เพราะถ้าปล่อยจนเป็นมากจะส่งไม่ทัน

ข้อมูลสื่อ

4-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์