• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฮีสทีเรีย

ฮีสทีเรีย

‘มักมีผู้เข้าใจผิดว่า โรคฮีสทีเรียเป็นโรคขาดเพศตรงข้ามไม่ได้ ที่จริงเป็น “โรคหิวรัก” มากกว่า แต่มิใช่รักของเรื่องทางเพศหรอก เป็นรักแบบเด็กๆ เป็นส่วนมาก หรือไม่อีกที ก็เข้าใจว่าเกิดจากผีเข้า ปอบทำหรือถูกของ ไปต่างๆ นานา ..ที่แท้โรคนี้เป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถป้องกันและรักษาได้’

เมื่อเอ่ยถึงโรคฮีสทีเรีย (Hysteria) หลายคนคงนึกถึงผู้หญิงสาวทั้งสวยและไม่สวยที่มีอาการเป็นลม หรืออาการชักเมื่อถูกขัดใจ บางคนก็เหมาว่า อาการเกิดเพราะมีความต้องการทางเพศมากกว่าปกติ และมิได้รับการตอบสนองที่พอเพียงผู้เป็นโรคนี้ส่วนมากจะถูกมองว่าแกล้งทำหรือแกล้งมีอาการ ที่จริงฮีสทีเรียเป็นชื่อโรคประสาทอย่างหนึ่ง

ที่จริงแล้วโรคนี้เป็นได้ทั้งหญิงและชาย และพบในผู้หญิงมากกว่าพบได้ทั้งในวัยเด็ก คนหนุ่มสาว และวัยกลางคน ฮีสทีเรียเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีความขัดแย้งในใจอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดความวิตกกังวลมาก ผู้นั้นพยายามที่จะหาทางลดความกังวลโดยใช้กลไกทางจิตใจไปเปลี่ยนความกังวลเป็นอาการทางร่างกายเสีย ซึ่งเขามิได้แกล้งทำ แต่เป็นการทำงานของจิตใต้สำนึกของเขา ตัวอย่างต่อไปนี้อาจทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

หญิงพนักงานพิมพ์ดีดผู้หนึ่งมีความมั่นใจในตนเองอยู่แล้ว ทำงานผิดพลาดบ่อย และถูกหัวหน้างานดุ เธอรู้สึกขายหน้าผู้ร่วมงาน คิดจะลาออกหลายครั้ง แต่ก็จำเป็นต้องทำงานเลี้ยงตนเองและมารดา ยิ่งถูกดุก็ยิ่งทำงานผิดพลาดมากขึ้น ความกังวลก็เพิ่มขึ้นเพราะเกรงจะถูกไล่ออกจากงาน โกรธทั้งตัวเองและหัวหน้างาน วันหนึ่งเมื่อมาทำงานตอนเช้ารู้สึกว่า มือทั้งสองข้างชาและไม่มีแรงไม่สามารถจะพิมพ์ดีดได้ ไปหาหมอตรวจพบอาการชาและไม่มีแรง ได้ลาพักงาน 3 วันอาการก็ดีขึ้นแต่พอกลับมาทำงานก็มีอาการอีก เมื่อหมอได้พูดคุยซักถามประวัติข้างต้นและประวัติชีวิตความเป็นมาในวัยเด็กที่แสดงถึงการขาดความอบอุ่น และชอบกดเก็บความรู้สึกที่รุนแรงไว้บ่อยและได้ช่วยให้ผู้มีอาการเข้าใจถึงลักษณะนิสัยของตนเอง และเริ่มปรับตัวโดยแก้ไขความบกพร่องของตน สร้างความเชื่อมั่นและหัดระบายความรู้สึกในทางที่เหมาะสม ความกังวลก็จะลดลง

ข้างบนนี้เป็นตัวอย่างอาการโรคฮีสทีเรียที่ออกทางกาย ที่พบบ่อยก็มีอาการชาตามแขนขาหรือตามตัวอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย กะพริบตาบ่อย หน้ากระตุก หรือคอเกร็ง หลังแอ่น ทั้งนี้ต้องตรวจแล้วไม่พบสาเหตุของโรคทางกายของอวัยวะนั้นๆ นอกจากนั้นยังมีอาการตามัว หรือตาบอด หูหนวก พูดไม่มีเสียงก็ได้

อีกพวกหนึ่งเป็นอาการทางด้านการเป็นลมหมดสติ อาจมีอาการชักและลืมตัวไป บางคนก็มีอาการเผลอสติไปชั่วครู่ นอนละเมอบ่อยๆ รู้สึกคล้ายๆ ลืมตัวไปชั่วครู่ แต่อาการไม่เหมือนพวกชักลมบ้าหมู ซึ่งหมดสติเป็นพักๆ เวลาเช้า โรคฮีสทีเรียหลายรายก็มีอาการแบบผีเข้า

อาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถ้าถามถึงรายละเอียดและเวลาที่เกิด จะได้ประวัติของความขัดแย้งที่เกิดจากความต้องการของผู้นั้นที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ความต้องการมีหลายอย่าง เช่น ต้องการสิ่งของต้องการความพึงพอใจ เกียรติยศชื่อเสียง ต้องการให้คนรักเอาใจ

อาการ เกิดได้ 3 แบบ

1.มีความขัดแย้งทางจิตใจอย่างรุนแรงโดยไม่มีโรคทางร่างกาย

2. มีโรคทางกายมาก่อน แต่ได้รับการดูแลที่เป็นที่พอใจมาก โรคหายแล้ว แต่อาการทางกายยังมีอยู่ต่อไป

3. มีโรคทางกายแต่มีอาการรุนแรงกว่าที่ควร แต่มิได้หมายความว่าผู้ป่วย “แกล้งทำ” เขาเป็นจริงๆแต่เป็นปัญหาทางจิตใจ

สาเหตุ สาเหตุของปัญหาทางจิตใจมีได้ 3 ทาง

ทางกาย คือ มีโรคทางกายเป็นเหตุ ทำให้จิตใจอ่อนแอลงหรือเป็นเหตุให้ วิถีทางชีวิตเปลี่ยนแปลงไป

ทางสิ่งแวดล้อม มีเหตุการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว การงาน หรือผู้ใกล้ชิด ที่เป็นสาเหตุของความกังวล

ทางใจ คือ จิตใจของผู้นั้นเอง

ในมากรายที่สาเหตุเกิดทางกายและทางสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดปัญหาอยู่เพียงชั่วคราว ถ้าผู้นั้นหาทางแก้ไขได้เอง อาการก็หายไปได้

ส่วนในรายที่สาเหตุภายนอกน้อยหรือเป็นสาเหตุธรรมดาที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไป แต่ผู้นั้นทนไม่ได้ เพราะจิตใจอ่อนแอ เป็นสาเหตุทางจิตใจโดยตรง การแก้ปัญหาก็เป็นได้ยาก อาการคงอยู่นานกลายเป็นปัญหาเรื้อรังซึ่งทำความลำบากให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่บ่อยๆ

จิตใจที่อ่อนแอ ส่วนมากมีสาเหตุจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่เหมาะสม เช่น

1. การถูกตามใจมากเกินไป ทำให้เป็นคนเอาแต่ใจตนเอง ต้องการให้ผู้อื่นยอมรับตน อยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักการให้ เมื่อโตขึ้นก็มีนิสัยชอบพึ่งพาผู้อื่น อารมณ์หงุดหงิดถ้าไม่ได้สิ่งใดตามที่ต้องการ เจ้าอารมณ์ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เรียกร้องความสนใจอยู่เสมอ ถ้ามีอะไรเกิดบกพร่องก็จะโทษผู้อื่น ไม่สามารถพิจารณาแก้ไขตนเองได้

2. การอบรมเลี้ยงดูที่ไม่สม่ำเสมอ บิดามารดาหรือผู้ใหญ่ในบ้านเป็นคนเจ้าอารมณ์ แสดงอารมณ์รุนแรงเป็นแบบอย่างกับเด็ก ผู้ใหญ่อาจขัดแย้งกันเอง จนไม่ได้ให้ความสนใจแก่ลูกหลาน เด็กรู้สึกว้าเหว่ขาดที่พึ่ง เมื่อเติบโตขึ้นก็เป็นคนที่รู้สึกขาดความรัก ต้องการให้คนสนใจมากกว่าที่ควร เมื่อประสบปัญหาชีวิตก็ไม่มีจิตใจที่เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้โดยการใช้เหตุผล

3. บิดามารดาที่แยกกันอยู่หรืออยู่ด้วยกันแต่มีความเห็นไม่ตรงกัน มีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงทำให้เด็กๆในบ้านวิตกกังวล รู้สึกขาดที่พึ่ง โตขึ้นก็อาจไม่สามารถช่วยตนเองได้ ต้องการพึ่งพาผู้อื่นมากเกินไป เมื่อมีความขัดแย้งในใจเพียงเล็กน้อยก็แก้ไขไม่ได้ เกิดความวิตกกังวลได้ง่าย

4. เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอบรมในบรรยากาศที่ไม่อำนวยให้เด็กแสดงความรู้สึกได้ เมื่อมีปัญหาคับแค้นใจก็เก็บกดไว้ หาทางระบายออกที่เหมาะสมไม่ได้ ถ้ามีมากก็จะเป็นคนวิตกกังวลมากเกินไป และเมื่อเมื่อพบกับสิ่งไม่พอใจในชีวิตก็จะยอมรับไม่ได้ สิ่งที่เก็บกดไว้ก็จะระเบิดออกมาเป็นอารมณ์วู่วามเกินกว่าเหตุ อารมณ์ที่เก็บกดไว้อาจเป็นอารมณ์โกรธ อารมณ์ว่าเหว่ อารมณ์โกรธ อารมณ์ว้าเหว่ อารมณ์ซึมเศร้าก็มีได้ มิได้เจาะจงว่ามีความต้องการทางเพศที่กดดันไว้เสมอไปดังที่เข้าใจกันผิดๆ

การป้องกันแก้ไข

1.โดยการที่ผู้เลี้ยงดูเด็กๆ ควรให้ความรักความสนใจในเด็กให้พอเพียงใช้หลักเดินสายกลาง ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่พอเหมาะพอควร ฝึกความอดทน มีเหตุผล และให้เด็กได้ช่วยตนเองเมื่อทำได้ หัดให้เด็กรู้มักสำรวจแก้ไขตนเอง

2. สำรวจดูบุคลิกภาพของตนเอง ว่ามีส่วนใดที่ยังบกพร่องหรือลักษณะที่ควรแก้ไข โดยรับฟังคำวิจารณ์ของผู้อื่น ยอมรับคำตำหนิหรือศึกษาผล จากการกระทำของตนเอง การยอมรับเป็นของสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขทีละน้อย ในบางครั้งการไต่ถามผู้อื่นถึงความคิดเห็นของเขาต่อการกระทำของเราเองก็ช่วยได้มาก

3. เมื่อเกิดความวิตกกังวลอยู่นานๆ หรือกลุ้มอกกลุ้มใจมากๆ ก็ควรสำรวจสาเหตุว่ามีความขัดแย้งกันในเรื่องใดบ้าง แก้ไขในสิ่งที่ทำได้ง่ายก่อน ที่สำคัญคือไม่ควรโทษผู้อื่นเร็วนัก การมองตนเองนั้นทำได้ยาก แต่เป็นวิธีที่หัดได้และมีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาทางจิตใจ

4.หาที่พึ่งทางใจ ที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เช่น ปรึกษาเพื่อนสนิท หารือกับผู้ใหญ่ที่นับถือปฏิบัติตามหลักทางศาสนาต่างๆ ก็ช่วยให้ทุกข์ลดลงได้

5.ถ้ามีอาการทางกายมากดังกล่าว ก็ควรไปพบแพทย์ทั่วไปก่อน เพื่อให้แน่ใจว่ามิได้เป็นโรคทางกายแม้ว่าจะมีเหตุขัดข้องทางจิตใจเกี่ยวข้องด้วย ถ้าแพทย์ตรวจไม่พบโรคทางกาย ก็ควรพิจารณาเรื่องจิตใจ แพทย์อาจให้ยาระงับความกังวลมากิน (เช่น ยาเม็ดไดอาซีแพม ขนาด 2 มิลลิกรัมวันละ 2-4 ครั้งๆละ 1 เม็ด ราคาเม็ดละ 25 สตางค์)

6.การทำจิตบำบัดหรือการรักษาทางจิตใจกับจิตแพทย์ หรือผู้ที่ได้รับการอบรมทางด้านการแก้ไขปัญหาทางอารมณ์จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของปัญหา ลักษณะบุคลิกภาพของตน และวิธีแก้ไขปรับปรุงตนเอง

ที่จริงโรคนี้มิได้เป็นที่น่ารังเกียจเท่าใดนัก ข้อสำคัญก็คือ มีหนทางรักษาและป้องกันได้ มีผู้เข้าใจผิดว่าโรคนี้เป็นโรคขาดเพศตรงข้ามไม่ได้ที่จริงเป็น “โรคหิวรัก” มากกว่าแต่มิใช่รักของเรื่องทางเพศหรอกเป็นรักแบบเด็กๆ เป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นจึงมีลักษณะบุคลิกภาพอย่างหนึ่งที่เรียกว่าบุคลิกภาพแบบฮีสทีเรีย ซึ่งก็สมควรได้รับการแก้ไขจากเจ้าตัวเสีย จะได้ไม่ต้อง “ประสาท” ภายหลัง

ข้อมูลสื่อ

7-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 7
พฤศจิกายน 2522
ใจเขาใจเรา
พญ.ศรีธรรม ธนะภูมิ