• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

เล่ามาตั้งยาวกว่าหนึ่งปี ผู้อ่านบางท่านคงจะเบื่อหน่าย แม้บางท่านอาจจะชอบใจบ้างก็ตาม โดยเขียนจดหมายถามไถ่มาถึงผม อย่างไรก็ตาม เห็นว่าได้พูดอะไรมายาวพอแล้วจากที่ได้ดูมา แม้จะยังมีอะไรจะเล่าอยู่อีกมากก็ตาม เห็นทีว่าน่าจะจบเรื่องของประเทศจีนลงตรงนี้ก่อน เพื่อที่จะข้ามไปสู่เรื่องอื่นต่อไป

ก่อนที่จะจบก็อดไม่ได้ที่จะต้องสรุปว่าผมไปดูงานสาธารณสุขมูลฐานในเมืองจีนนั้น ได้ให้บทเรียนอะไรกลับมาบ้าง สำหรับการปรับใช้กับการดำเนินงานของเราในอนาคต

บทเรียนที่ได้ก็คงจะมีทั้งข้อเสียและข้อดี อยากจะเริ่มขากข้อเสียก่อน เพราะเล่าของดีไปมากแล้ว
1. อย่างน้อยในบทก่อนหน้านี้คงจะเห็นอยู่บ้างแล้วว่า จีนได้เปลี่ยนการพัฒนาประเทศโดยเน้นการพัฒนาที่จะเรียกว่า “สี่ทันสมัย” เพื่อให้ประเทศจีนพ้นจากสภาพที่ยากจนและด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ประเทศจีนสามารถมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่ขณะเดียวกัน การกระตุ้นแรงจูงใจที่จะได้รับผลตอบแทน ทำให้ประชาชน ชาวไร่ชาวนาบางกลุ่มร่ำรวยขึ้น บางกลุ่มยากจนลง กลุ่มที่ร่ำรวยขึ้นแต่เดิมเคยแสวงหาบริการจากใกล้บ้าน ตอนนี้ก็เริ่มข้ามขั้นต่อไป “ซื้อ” บริการจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ กลุ่มคนที่ยากจนลงก็ไม่สามารถจะ “ซื้อ” บริการจากบริการใกล้บ้านได้เท่าเดิม เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ปัญหาการรับบริการ ซึ่งเป็นอยู่เหมือนบ้านเราซึ่งประสบปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลใหญ่ ศรัทธาต่อสถานีอนามัยน้อย คนจนเข้าถึงบริการไม่ได้เพราะไม่มีเงิน คงจะเกิดมากขึ้นในประเทศจีน ประเทศไทยเรามีนโยบายรักษาพยาบาลฟรีแก่ผู้มีรายได้น้อย ทำให้ช่วยให้คนจนมีโอกาสมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บัตรสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย บางส่วนยังไม่ได้ตกอยู่กับผู้มีรายได้น้อย แต่กลับไปตกอยู่กับผู้มีรายได้มาก

ดังนั้นข้อเสียข้อที่หนึ่งน่าจะบอกว่า ในเรื่องการรักษาพยาบาล ประเทศจีนจะมีปัญหาการรับบริการมากขึ้น โดยช่องว่างหรือความแตกต่างของผู้ที่จะรับบริการจากรัฐจะมีมากขึ้น ทำให้การพัฒนาสาธารณสุขไม่มีประสิทธิภาพดีเท่ากับที่เคยผ่านมา

2. การพัฒนาด้านนโยบาย “สี่ทันสมัย” ทำให้ประเทศจีนที่ครั้งหนึ่งเคยปิดประเทศ หันกลับมาเปิดประเทศ เพื่อรับเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามากมาย การรับเอาสิ่งที่เรียกว่าความเจริญต่างๆบางครั้งก็ก่อให้เกิดผลบวก บางครั้งก็ก่อให้เกิดผลลบ

ดังนั้นจะต้องทำการจำแนกการรับเอาความเจริญเข้ามา หรือไม่ก็หาวิธีป้องกันผลลบที่จะเกิดตามมาจากการรับ มีตัวอย่างหนึ่งที่พบกับผมโดยตรงก็คือ การรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกของคนหนุ่มคนสาวชาวจีน สถานที่ที่ผมมาดูงานห่างจากปักกิ่งถึงกว่า 17 ชั่วโมงการเดินทาง แต่เราก็พบการเต้นรำจังหวะตะวันตกในงานเลี้ยงคืนหนึ่งที่เจ้าภาพจัดให้เรา การเต้นรำจังหวะตะวันตกไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หากจะเป็นของดีเสียอีกหากนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์ เช่น การเต้นรำเป็นความสนุกและได้ออกกำลังกาย แต่จิตใจของวัยรุ่นที่หมกมุ่นหลงใหลไปกับสิ่งที่ตามมาจากการเต้นรำนั้นซิถึงเป็นปัญหา

ลองถามล่ามคนหนึ่งในคณะของเราว่า เดี๋ยวนี้มีการเต้นรำแบบนี้แล้วหรือ เขาตอบอย่างภาคภูมิใจว่ามีไม่เพียงเท่านี้ ทางใต้ๆของจีนแถวกวางเจาจะมีแสงวูบๆวาบๆจากลูกแก้วขณะเต้นรำด้วย มีที่ให้ดูมากมายที่เป็นเช่นนั้น แสงสีเขียว-แดง-น้ำเงิน วูบๆวาบๆสลับกัน ล่ามคนนั้นจะทราบหรือไม่ผมไม่มั่นใจ แต่ทำให้ผมคิดถึงดิสโก้เธคที่มีมากในบ้านเราว่า บรรยากาศคงจะใกล้ๆกัน และถ้าพูดถึงความหรูหราบ้านเราอาจจะฟู่ฟ่ากว่าด้วยซ้ำไป

ผมไม่มั่นใจว่าล่ามคนนี้ทราบหรือเปล่าว่า หากควบคุมไม่ดี ดิสโก้เธคเหล่านี้คือบ่อเกิดของปัญหาในวัยรุ่นมากมาย พอดีผมได้อ่านหนังสือพิมพ์จีนในวันรุ่งขึ้นเขียนบอกว่าอาชญากรรมเพิ่มขึ้นทุกขณะ ขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการปฏิวัติในจีนเป็นต้นมา และพบมากขึ้นในเขตทางใต้ของจีน ซึ่งมีอาณาเขตติดกับฮ่องกงและเมื่อท่าอื่นๆ ที่ติดต่อกับต่างประเทศได้มาก

นโยบายสี่ทันสมัยเป็นความจำเป็นที่จะพัฒนาให้ประเทศจีนพ้นความล้าหลัง แต่การปิดประเทศมานาน แล้วฉับพลันมาเปิดประเทศเพื่อรับเอาความเจริญต่างๆเข้าไป เชื่อว่าประเทศจีนจะพบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้และทั่วโลกในอนาคต การพัฒนาทางวัตถุหากไม่พร้อมๆกับการพัฒนาทางจิตใจ ปัญหาใหม่ๆก็จะเกิดมากขึ้นตามมา

กล่าวถึงข้อเสียซึ่งสะท้อนภาพที่พึงสังวรแล้ว ก็อยากจะมาสรุปถึงข้อดีบ้าง อย่างน้อยภาพสะท้อนของประเทศจีนก็ให้อะไรที่เป็นข้อดีที่น่าศึกษาหลายประการ

1. สุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหมายถึงการทะนุบำรุงให้ประชาชนในชาติเป็นคนที่แข็งแรง ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะเกรียงไกรโดยประชาชนในประเทศของตนอมโรคเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยๆ ดังนั้นรัฐบาลของเราควรจะให้ความสนใจกับสุขภาพของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังเช่นประเทศจีนซึ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนตนเองมากจนสร้างเครือข่ายบริการครบไปจนถึงประชาชนทุกคนในชาติได้

2. การพัฒนาสาธารณสุขที่ถูกทิศทาง
ควรจะเน้นที่การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาพยาบาล เพราะประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องมาทุ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคจำนวนมาก ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้มันเกิดได้...ประเทศของเราแม้จะเริ่มนโยบายสาธารณสุขมูลฐานมาถึง 10 ปีแล้วก็ตาม ความสนใจของรัฐบาลยังให้ความสนใจกับการรักษาพยาบาลมากกว่า เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ของรัฐบาลยังไปสู่การรักษาพยาบาลมากกว่า

3. การพัฒนาสาธารณสุขที่เป็นธรรมจะต้องเน้นที่ชนบท
เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังมีปัญหาทางด้านสุขภาพมากกว่าในเมืองอีกมาก การลดการสร้างโรงพยาบาลใหญ่ๆในเมืองซึ่งมีสถานบริการเพียงพออยู่แล้วจะสามารถนำงบประมาณมาใช้ในการก่อสร้างสถานบริการที่เล็กจำนวนมากมาย ซึ่งประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถมารับบริการได้ เคยมีการประมาณการคร่าวๆว่า การลดการสร้างตึกรักษาพยาบาลใหญ่ๆในกรุงเทพฯ เพียง 1 หลัง จะทำให้มีงบประมาณมาสร้างสถานีอนามัยตำบลในชนบทได้ถึง 600 แห่ง!

4. ควรมีการนำของเก่ามารับใช้ปัจจุบัน คือควรจะมีการพัฒนาพื้นความรู้เก่าๆ ที่มีอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ความรู้ในเรื่องสมุนไพร หมอตำแย การนวดไทย และอื่นๆ เพื่อนำมารับใช้ปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้บริการให้มากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนมาก เพราะหมอตำแย หมอสมุนไพร หมอนวดไทยพื้นบ้านมีอยู่ตามชนบททั่วไปยังเป็นการรักษาของเดิมที่เป็นประโยชน์ไม่ให้สูญหายไปไหนอีกด้วย เพียงแต่นำมาขัดเกลาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพิ่มขึ้นเท่านั้น

5. ข้อสุดท้ายที่สำคัญคือ พลังประชาชน มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาสาธารณสุขของประเทศจีน พลังประชาชนไทยก็เช่นกัน ในขณะนี้ก็มีการพยายามสนับสนุนให้มีมากขึ้นเรื่อยๆอยู่ ทำอย่างไรเราจะช่วยกันขยายและทำให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อจะได้ร่วมกับรัฐบาลในการพัฒนาประเทศชาติให้มากยิ่งขึ้นได้

ผมอยากจะจบบทการเดินทางนี้ด้วยข้อความที่ว่า
“เอาของดีของเขามาปรับของเรา และรักษาของดีของเราให้ยืนยงต่อไป”

 

ข้อมูลสื่อ

107-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์