• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

บทที่ 1
เด็กหัวดี เด็กหัวไม่ดีต่างกันที่ตรงนี้


10. ยิ่งฝึกสมองเร็วยิ่งดี
ผมได้กล่าวไว้ในบทก่อนแล้วว่า น้ำหนักสมองของเด็กมีประมาณ 400 กรัม และของผู้ใหญ่ประมาณ 1,400 กรัม ท่านทราบไหมว่าอะไรคือความแตกต่างอันนี้?

ความแตกต่างของน้ำหนักอยู่ที่ขนาดของเซลล์สมอง และขนาดของเส้นโลหิตแต่ละเส้นซึ่งเติบใหญ่ขึ้นตามอายุ ยิ่งกว่านั้นสิ่งแตกต่างที่สำคัญคือ จุดประสานประสาท (synapse) ซึ่งเชื่อมเซลล์สมองมีจำนวนเพิ่มขึ้น ผมได้อธิบายไว้แล้วว่า จุดประสานประสาทมีหน้าที่เหมือนสวิตช์ไฟฟ้า ความเร็วในการทำงาน และสภาพการสื่อของมันเป็นตัวกำหนดว่า ใครหัวดี ใครหัวไม่ดี

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของสมองจากแรกเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักแตกต่างกันอยู่ 1,000 กรัมนี้ มิได้เติบโตเฉลี่ยเท่ากันทุกปี ช่วงที่สมองเติบโตอย่างรวดเร็ว คือวัยแรกเกิดจนถึง 7-8 ขวบ หลังจากนั้นจนถึงอายุประมาณ 20 ปี สมองจะเติบโตอย่างเชื่องช้ามาก

ถ้าจะอธิบายให้ละเอียดขึ้นไปอีกก็คือ น้ำหนักสมอง 400 กรัม ตอนแรกเกิดจะเพิ่มเป็น 800 กรัม เมื่ออายุได้ประมาณ 6 เดือน กล่าวคือเพิ่มเป็น 2 เท่า หลังจากนั้นก็เพิ่มเป็น 1,200 กรัมเมื่ออายุประมาณ 7-8 ขวบ หมายความว่า น้ำหนักสมองของเด็กจะเป็น 90% ของผู้ใหญ่ภายในช่วงเวลาที่อยู่ชั้นประถมต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราคงตระหนักดีว่า การศึกษาในระยะปฐมวัยของเด็กนั้นสำคัญเพียงใด ข่าวเกี่ยวกับเด็กหญิงอมราและเด็กหญิงกมลา ลูกหมาป่าที่เราได้ยินนานมาแล้ว ย้ำให้เรารู้ว่าถ้าเด็กพลาดโอกาสเรียนรู้ในช่วงสำคัญนี้ แม้แต่การพูดหรือการยืน 2 ขา เด็กก็ยังทำไม่ได้

ถ้าเช่นนั้น พอเด็กเริ่มเดินเตาะแตะ เราสอนภาษาอังกฤษให้แกเสียเลย แกจะได้เป็นเด็กเก่งหัวดีใช่ไหม? ผมขอบอกว่า ไม่ใช่ มันยากตรงนี้แหละครับ

แน่นอน ถ้าเราอยากให้ลูกเป็นเด็กหัวดี เด็กควรจะมีการฝึกสมองซึ่งยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เราต้องฝึกสมองให้เหมาะสมกับอายุ มิฉะนั้นจะไม่ได้ผล หากเรายัดเยียดความรู้ต่างๆใส่สมองเด็กก่อนวัยเรียน ความรู้เหล่านั้นก็จะท่วมล้นออกมาหมด มิได้มีอะไรติดกาย ดีไม่ดีเด็กอาจจะเป็นโรคเกลียดการเรียนตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนเสียด้วย

การฝึกสมองที่ได้ผลคืออะไร?

ผมขอตอบว่า คือการฝึกร่างกายและจิตใจของเด็ก เพื่อสร้างความอยากรู้อยากเห็น และความเป็นตัวของตัวเอง

เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน ถ้าเด็กไม่มีพื้นฐานรองรับที่ดี ความรู้ที่ทางโรงเรียนสั่งสอนก็จะรั่วไหลไม่ติดกาย เปรียบเสมือน อาหารอร่อยเลิศ หากรองรับด้วยกระบุง ตะกร้า ย่อมรั่วไหล กินมิได้

สิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับเด็กคือการทำให้เด็กเป็นจานรองรับที่ดี ยิ่งเป็นจานใบใหญ่และลึกมากก็ยิ่งจุมาก

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเสิร์ฟอาหาร เราต้องสร้างจานเสียก่อน เมื่อสร้างจานได้สำเร็จแล้ว เราจึงจะกินอาหารอร่อยได้สบายในภายหลัง

ผมขอเสนอแนะว่า ถ้าอยากมีลูกหัวดี ก่อนอื่นต้องฝึกจิตใจ (Spirit) และร่างกาย (Body) ของเด็ก

Spirit หรือจิตใจ คือความรู้สึกนึกคิดพื้นฐานของเด็ก หมายถึง ความเป็นตัวของตัวเอง (independency) ความมุมานะพยายาม (endeavour) และความมุ่งมั่นปรารถนา (volition)

Body หรือร่างกายก็ต้องสมบูรณ์แข็งแรงเช่นเดียวกัน เพราะหัวคนนั้นอยู่บนร่างคน ร่างกายควรมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วยเป็นหวัดง่ายๆ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ สุขภาพสมองต้องดีด้วย

ในเมื่อหัวเราอยู่ติดกับตัวเรา เวลาตัวเราไม่สบายหัวเราก็ช่วยบอกโดยแสดงอาการมีไข้บ้าง รู้สึกอยากอาเจียนบ้าง เป็นการเตือนให้เรารู้ตัว

แต่เวลาหัวสมองเกิดสุขภาพไม่ดี กลับไม่มีอะไรเตือน อาหารสำเร็จรูป อาหารผสมสี เป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพสมองและมีวางขายอยู่อย่างเกลื่อนกลาด พ่อแม่มักซื้อให้ลูกกินโดยไม่คิดอะไรมาก ผลก็คือสุขภาพสมองของลูกถูกทำลายลงไปทีละน้อย โดยไม่มีใครมองเห็น เด็กๆกินขนมเหล่านั้นอย่างเอร็ดอร่อยด้วยใบหน้า ซึ่งมีแต่รอยยิ้มชอบใจ พ่อแม่จึงมองไม่เห็นภัยซึ่งอยู่เบื้องหลัง

ถ้าอยากมีลูกหัวดี ควรเริ่มฝึกสมองของลูกโดยเร็ว แต่มิใช่ฝึกโดยการยัดเยียดความรู้ใส่สมอง ต้องฝึกตัวสมองโดยตรง และก่อนจะฝึกคุณพ่อคุณแม่ควรรู้เสียก่อนว่า หัวดีในความหมายที่แท้จริงคืออะไร?
 

ข้อมูลสื่อ

107-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า